กกขนาก กกต้นเล็ก

21 ธันวาคม 2559 ไม้น้ำ 0

กกขนาก ลำต้นมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมไม่มีข้อปล้อง ใบไม่แยกเป็นก้านใบและแผ่นใบ ก้านชูดอกสูง 30-40 ซ.ม. ดอกเป็นดอกช่อ ลักษณะแน่นกลม คล้ายร่มที่ซ้อนกัน ออกดอกตลอดปี เมื่ออายุ 2-3 เดือน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ชอบขึ้นในที่ชื้นแต่ไม่งอกใต้น้ำ เมื่องอกแล้วเจริญเติบโตได้ในที่น้ำขัง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyperus difformis L.
ชื่อสามัญ small flower umbrella sedge

ลักษณะ
กกขนาก (kok khannaak) (ไทย) หญ้าสลาบ (เชียงใหม่) เป็นกกต้นเล็ก มีอายุปีเดียว (annual) หรือข้ามปี (perennial) ซึ่งการมีอายุข้ามปีพบไม่บ่อยนัก สูง 10-60 ซม. ลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยม เห็นได้ชัดตอนปลายยอด การมีอายุข้ามปีที่โคนต้นมีสีนํ้าตาลแดง และมักมีหน่อเจริญออกมา มีรากฝอยสีแดงจำนวนมาก

  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกที่โคนของลำต้น ใบยาวเรียว โคนของใบแผ่ออกเป็นกาบหุ้มลำต้น ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ มีจำนวนไม่มาก ใบกว้าง 2-5 มม.
  • ดอก เป็นช่อ (simple or compound umbel) เส้นผ่าศูนย์กลางช่อดอก 8-15 มม. ที่โคนก้านช่อดอกมีแผ่นสีเขียวคล้ายใบ (bract) ยาว 10-25 ซม. 1-4 ใบรองรับอยู่ ช่อดอกประกอบด้วย ช่อดอกย่อยจำนวนมาก (มากกว่า 40 ดอก) เรียงกันอยู่บนก้านช่อดอก ในลักษณะที่เป็นกลุ่มและค่อนข้างกลม ช่อดอกย่อยมีลักษณะ เป็นรูปหอกที่มีขอบขนาน และแบน ประกอบด้วยดอกย่อย 8-25 ดอก ซึ่งเรียงสลับกัน ดอกย่อยจะมีกาบ (glume) เป็นรูปไข่กลับ ด้านบนกว้าง ยาวประมาณ 0.6 มม. ปลายกลม มีลายเส้นค่อนข้างใส 3 เส้น เกสรตัวผู้ 1-2 อัน ก้านสั้นมาก อับละอองเรณู 2 เซล เกสรตัวเมียมีรังไข่อยู่เหนือฐานดอก ท่อรังไข่สั้น ปลายแยกเป็น 3 แฉก
  • ผล (achene) เป็นรูปไข่กลับ มีสันเป็นสามเหลี่ยม สีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ และเป็นมัน ยาวประมาณ 6 มม. พบทั่วไปในนาข้าว หรือตามตลิ่ง คูนํ้า

กกขนากพบได้ในเขตร้อนและเขตเส้นศูนย์สูตรของทวีปเอเชีย นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งมักขึ้นในนาข้าวและตามแหล่งน้ำทั่วไป โดยเฉพาะในดินชื้นแฉะในนาหว่านน้ำตม นาดำและนาหว่านข้าวแห้ง ชอบขึ้นในที่ชื้นแต่ไม่งอกใต้น้ำ กกขนากที่งอกออกมาใหม่ จะมีลักษณะเหมือนปลายมีดแหลมโผล่ขึ้นจากผิวดินและมีสีเขียวอ่อน งอกขึ้นแข่งต้นข้าวได้อย่างรุนแรง เพราะต้นจะสูงกว่าและมีอายุสั้น อาจทำให้ต้นข้าวล้มและผลผลิตลดลงได้

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้น้ำ

แสดงความคิดเห็น