กกทรายเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นกกที่มีอายุเพียงฤดูเดียว เป็นพืชล้มลุกอายุฤดูเดียว ชอบขึ้นตามนาข้าว คูน้ำ หรือที่น้ำท่วมขัง ต้นแตกเป็นกอสูงประมาณ 10-60 ซม. ใบเรียวยาวปลายแหลม ใบยาวประมาณ 10-20 ซม. โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกออกเป็นช่อสีเหลืองทอง ดอกย่อยมีขนาดเล็กรูปร่างมนเรียงซ้อนกันเป็น 2 แถว ขยายพันธุ์โดยอาศัยเมล็ด แตกต้นเป็นกอ การแพร่กระจายจะพบทั่ว ๆ ไปตามข้างถนนที่มีคูน้ำ ตามนาข้าวหรือตามดินทราย ที่ชื้น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในไร่ถั่วเหลือง ไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ในแปลงผัก และตามสวนผลไม้ สวนยางพารา
ชื่อสามัญ: umbrella sedge
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyperus iria L
ชื่ออื่นๆ: กก กกทราย หญ้ากกทราย กกหัวแดง หญ้ากกเล็ก หญ้ารังกาข้าว หญ้าหัวแดง ฮังกาขาว
ลักษณะ
ลำต้น ตั้งตรง สูง 20 – 60 เซนติเมตร ลำต้นส่วนที่ชูช่อดอกเป็นสามเหลี่ยม มีรากฝอยสีน้ำตาลเป็นจำนวนมาก ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกที่โคนต้น ใบเรียวยาว ส่วนมากจะสั้นกว่าลำต้น กว้าง 3 – 6 มิลลิเมตร (บางครั้งอาจพบถึง 8 มิลลิเมตร) โคนใบค่อนข้างบาง และเชื่อมติดกัน หุ้มส่วนของลำต้นเอาไว้ ขอบใบเรียบแต่ส่วนปลายจะขรุขระเล็กน้อย ปลายใบแหลม ดอก ออกเป็นช่อเดี่ยวหรือช่อซี่ร่มประกอบ (simple or compound umbel) เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 – 30 เซนติเมตร ที่โคนก้านช่อดอกแบบช่อเชิงลด (spike) ก้านช่อดอกยาวไม่เท่ากัน ยาว 2 – 5 เซนติเมตร ช่อดอกประกอบด้วยช่อดอกย่อย ซึ่งแผ่ตรงออกไปแน่น ก้านสั้น ๆ มีจำนวน 6 – 24 ช่อดอก ซึ่งเรียงสลับข้างกัน ดอกย่อยมีกาบ เป็นรูปไข่กว้าง ยาว 1.2 – 1.5 มิลลิเมตร ตอนปลายหยักเว้าเข้าเล็กน้อย สีเขียวอ่อน มีลายเส้น 3 เส้น เกสรตัวผู้มี 2 อัน ก้านเกสรตัวผู้สั้นกว่ากาบเล็กน้อย อับละอองเรณู 2 เซลล์ เกสรตัวเมียมีรังไข่อยู่เหนือฐานดอก ท่อรังไข่สั้นมาก ปลายแยกเป็นสามแฉก ผล แบบผลแห้งเมล็ดล่อน (achene) สั้นกว่ากาบเล็กน้อย ลักษณะคล้ายกระสวย ครึ่งบนกว้างกว่าครึ่งล่าง สีน้ำตาล และเป็นรูปสามเหลี่ยมตามแนวตัดขวาง ยาว 1 – 1.5 มิลลิเมตร เมื่อแก่จะร่วงโดยมีกาบหุ้มติดอยู่
ประโยชน์: เป็นอาหารสัตว์ ในอินเดียใช้ลำต้นใต้ดินเป็นยาบำรุงกำลัง – สานเสื่อ – เป็นพืชอาหารสัตว์จำพวกวัวควาย
ป้ายคำ : หญ้า