ชุมชนมัสยิดกมาลุลอิสลาม

9 มิถุนายน 2556 แหล่งเรียนรู้ 0

กมาลุลอิสลามชุมชนต้นแบบพัฒนาชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การบริหาร และพัฒนาท้องถิ่น ชี้ทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้ เน้นสร้างสามัคคีภายในชุมชน ปลูกฝังสิ่งดีงาม ทำด้วยใจ ชุมชนมัสยิดกมาลุลอิสลาม ถือเป็นชุมชนมุสลิมตัวอย่างที่ได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนให้ดีขึ้นด้วยตนเอง เป็นชุมชนที่รักษาคูคลองริมคลองแสนแสบ และถือเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมเครือข่ายชุมชนหมู่บ้านจำนวน ๒๔ ชุมชน มีประชากรมากกว่า ๑๕,๐๐๐ คน กว่า ๒,๐๐๐ ครัวเรือน ชุมชนทั้งหมดตั้งขนานไปกับคลองแสนแสบ อยู่ในพื้นที่เขตมีนบุรีและเขตคลองสามวา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง ประชาชนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคีอันดีต่อกัน มีความผูกพันกับคลองแสนแสบในฐานะมรดกของบรรพบุรุษ และมีมัสยิดกมาลุลอิสลามเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน

ชุมชนในเครือข่ายมัสยิดกมาลุลอิสลาม ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ ในเขตคลองสามวา เป็นชุมชนชานเมืองที่ประสบความสำเร็จในการจัดการปัญหามลภาวะทางน้ำ โดยยึดมั่นในคำสอนของศาสนาอิสลามที่เน้นว่า “ความสะอาด เป็นส่วนหนึ่งของศรัทธา” และมีจุดเริ่มต้นของการทำงานเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินประพาสคลองแสนแสบในวันที่ 20 กันยายน 2537 ก่อให้เกิดการเป็น ชมรมรวมใจภักดิ์รักษ์คลองแสนแสบ เพื่อทำกิจกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาคลองแสนแสบ และเป็นที่มาของ “วันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง แห่งชาติ” มาจนถึงทุกวันนี้

ชุมชนในเครือข่ายมัสยิดกมาลุลอิสลาม ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ หมู่ที่ 5 แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร บรรพบุรุษของชุมชนเป็นชาวมลายูมุสลิมจากรัฐไทรบุรีและเปอร์ลิส รัฐหนึ่งในสยามสมัยอดีต ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 บรรพบุรุษเหล่านี้ขึ้นมาช่วยก่อร่างสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองแสนแสบขึ้น และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ถือครองที่ดินบริเวณริมฝั่งคลองแสนแสบนับแต่นั้นมา

ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างมัสยิดขึ้นเป็นหลังแรก บริเวณเหนือเมืองมีนบุรีไปทางทิศตะวันออก ระยะแรกเป็นมัสยิดที่ก่อสร้างด้วยไม้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสทางชลมารคจากบางกอกไปเมืองแปดริ้วเพื่อปราบปรามอั้งยี่ ผ่านมาทางคลองแสนแสบ แต่เรือกลไฟพระที่นั่งเกิดขัดข้อง แก้ไขอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ทรงรำพึงขึ้นว่า หากบริเวณนี้มีผู้มีบุญญาธิการสถิตอยู่ ขอให้เครื่องยนต์เดินได้ตามปกติด้วย และจะสร้างอนุสรณ์ไว้เป็นกุศลแก่หมู่บ้านนี้ ทันใดนั้นเครื่องยนต์ก็ทำงานได้ตามปกติ จึงรับสั่งให้มหาดเล็กขึ้นฝั่งไปสอบถามว่ากองดินกองทรายที่กองไว้ริมคลองนั้นจะสร้างอะไร ได้คำตอบว่าจะสร้างมัสยิดหรือสุเหร่า พระองค์จึงรับสั่งกับมหาดเล็กว่าเมื่อเสร็จกิจแล้ว ให้นำอิฐ หิน ทรายมาสมทบบริเวณนี้อย่างละ 7 ลำเรือ เพื่อพระราชทานสมทบสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ สถานที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นชื่อเรียกว่า “ทรายกองดิน”

มัสยิดที่เป็นอาคารคอนกรีตจึงได้เกิดขึ้นมานับแต่นั้น และพระองค์ยังได้พระราชทานที่ดิน 40 ไร่ เป็นใบเดินทุ่งให้กับทรัสตีสุเหร่าทรายกองดินด้วย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งอาคารมัสยิด โรงเรียน และสุสานประจำมัสยิด เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมเครือข่ายชุมชนหมู่บ้านจำนวน 24 ชุมชน มีประชากรประมาณ 15,000 คน กว่า 2,000 ครัวเรือน ชุมชนทั้งหมดตั้งขนานไปกับคลองแสนแสบ อยู่ในพื้นที่เขตมีนบุรีและเขตคลองสามวา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง ฐานะโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ประชาชนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคีอันดีต่อกัน มีความผูกพันกับคลองแสนแสบในฐานะมรดกของบรรพบุรุษ และมีมัสยิดกมาลุลอิสลามเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน

winaisamaunmy

คลองแสนแสบถือว่าเป็นคลองที่มีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านการรบ การขนส่ง คลองแสนแสบเป็นคลองที่ขุดขึ้นมาแต่ครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ขุดคลองเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน เพื่อใช้เป็นที่ลำเลียงเสบียงและยุทโธปกรณ์ในยามสงคราม ในเวลานั้นไทยทำสงครามยืดเยื้อกับเวียดนาม

ที่มาของคำว่า “แสนแสบ” มีผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ขนานลำคลองสายยาวนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยนาข้าว ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงชั้นดี กัดทีหนึ่งแสบไปทั้งตัว ชาวบ้านริมน้ำและนักเดินทางจึงเรียกคลองยาวสายกันเล่นๆ ว่า คลองแสนแสบ ถึงจะแสบ แต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ลำน้ำนี้ก็ใสสะอาด ผู้คนใช้ดื่มกิน ทำการเกษตร เป็นเส้นทางคมนาคม สัตว์น้ำในคลองมีมากมาย

เมื่อกรุงเทพฯ ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางความเจริญทางด้านวัตถุอย่างต่อเนื่อง ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่กันหนาแน่น การปล่อยน้ำเสียจากอาคารสำนักงาน บ้านเรือนริมคลอง โรงงาน โรงพยาบาล โรงแรม คือต้นเหตุของน้ำเสียส่วนใหญ่ เป็นผลที่เกิดจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองโดยไม่มีระบบที่เหมาะสมรองรับ จำนวนผักตบชวาที่ขยายตัวเต็มลำคลองเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เล่ากันว่าความแน่นขนัดของกอผักตบชวาบางจุดในคลอง ถึงขนาดคนเดินข้างฟากไปหากันได้

หลักศาสนากับศรัทธาเรื่องสิ่งแวดล้อม

มุสลิมทุกคนต้องเรียนรู้หลักคำสอนของศาสนาอิสลามจากอัลกุรอาน คำสอนของท่านศาสดาเรียกว่า “อัลหะดิษ” เมื่อเข้าใจแล้ว ต้องนำมาสู่การปฏิบัติ “มุสลิมทุกคนต้องเชื่อว่าพระเจ้าสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายเพื่อยังประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ” คำกล่าวนี้เป็นการเตือนใจว่ามนุษย์ได้รับประโยชน์จากสรรพสิ่งทั้งปวงด้วยความเมตตาของพระเจ้า มนุษย์จึงต้องช่วยกันดูแลรักษาสรรพสิ่งเหล่านั้น

การนำปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาพูดคุยในเวลาละหมาด ทำให้ชาวบ้านเริ่มคิดได้ว่า คลองที่เน่าเหม็น คือการทรยศต่อพระเจ้า ทำร้ายตนเอง เพราะชาวมุสลิมจะต้องใช้น้ำชำระกายก่อนละหมาด สตรีที่หมดรอบเดือนก็ต้องชำระร่างการให้สะอาด ชาวมุสลิมสองฝั่งคลองจึงผูกพันกับสายน้ำ อัลกุรอานบอกว่า “ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา” ในคัมภีร์บอกถึงสัญลักษณ์ของสวรรค์ว่าเป็นที่มีธารน้ำไหลริน อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ ดังนั้นชาวมุสลิมจึงพยายามทำให้ท้องถิ่นเปรียบเสมือนสวรรค์บนดิน ซึ่งเป็นที่มาการร่วมแรงร่วมใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเริ่มต้นในปี 2535 ผู้นำชุมชนมีแนวคิดรณรงค์ให้ชาวบ้านที่อาศัยริมคลองมาร่วมกันฟื้นฟูสภาพคลองแสนแสบ โดยเริ่มจากการไม่ทิ้งขยะริมคลอง ไม่ปล่อยน้ำเสียลงคลอง มีการระดมกำลังคนกำจัดผักตบชวาเป็นระยะ และเกิดโครงการต่างๆ ในการร่วมแก้ไขปัญหา แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ผู้นำชุมชนจึงได้ปรึกษากับ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น) และผู้บริหารหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งได้มาเยี่ยมพื้นที่เพื่อสนับสนุนการทำงาน และเป็นจุดเริ่มต้นทำของการก่อตั้ง “ชมรมรวมใจภักดิ์รักคลองแสนแสบ” จากนั้น ดร.โกวิท จึงได้ประสานงานกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินประพาสคลองแสนแสบตลอดสาย ตั้งแต่ท่าเรือสะพานผ่านฟ้าลีลาศ กรุงเทพมหานคร จนถึงท่าเรือประตูท่าไข่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทราในวันที่ 20 กันยายน 2537 ทรงเสด็จเยือนมัสยิดกมาลุลอิสลาม ทรงปลูกต้นตะแบกไว้เป็นอนุสรณ์

kamalunlklong

หลังจากการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น คณะกรรมการจัดงานได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็น ชมรมรวมใจภักดิ์รักษ์คลองแสนแสบ ดำเนินการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนและเยาวชนร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาคลองแสนแสบ และแหล่งน้ำทั่วไป จนทำให้รัฐบาลในสมัยนั้น (นายบรรหาร ศิลปอาชา-นายกรัฐมนตรี) ประกาศให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง แห่งชาติ”

ถอดรหัสความสำเร็จ

การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการอนุรักษ์คลองแสนแสบของชุมชนฯ มาจนถึงปัจจุบัน มีการกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ จัดระบบกำจัดขยะมูลฝอยจากบ้านเรือน ทำให้สภาพน้ำในคลองระยะทาง 3 กม. ในเขตคลองสามวา สะอาด ไม่มีผักตบชวา สามารถทำกระชังเลี้ยงปลาได้ ความสำเร็จนี้ ทำให้ชุมชนกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็นวันประชุมเพื่อทำกิจกรรมอนุรักษ์คลองมาจนถึงทุกวันนี้

kamalunlbio

รูปแบบการทำงานประกอบด้วยอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และคณะกรรมการจากการคัดเลือกโดยสัปปุรุษ รวม 15 คน ผู้ช่วยกรรมการมัสยิด จากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการมัสยิดประมาณ 100 คน ผู้ช่วยอิหม่าม 10 คน ผู้ช่วยคอเต็บ 11 คน ผู้ช่วยบิหลั่น 5 คน ที่ปรึกษาคณะกรรมการมัสยิด 11 คน คณะกรรมการเครือข่ายชุมชนที่ชาวบ้านคัดเลือกเอง แบ่งเป็น 23 กลุ่ม มีกรรมการเครือข่ายกลุ่มละ 7 คน รวม 161 คน คณะครูพี่เลี้ยงประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนมัสยิดกมาลุลอิสลาม 29 คน คณะนายช่างก่อสร้าง 20 คน กลุ่มเยาวชน 70 คน ชมรมครูสอนศาสนาเครือมัสยิดฯ 50 คน รวมทั้งกรรมการและผู้นำชุมชนที่ขับเคลื่อนการทำงานเป็นเครือข่ายทั้งสิ้นจำนวน 497 คน

นโยบายการบริหารงานในรูปเครือข่าย

  • การพัฒนาการศึกษา ทั้งด้านศาสนา สายสามัญ สายวิชาชีพ แก่ปวงสัปปุรุษในทุกรูปแบบ
  • การพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงสัปปุรุษให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งตนเองได้
  • การพัฒนาอุดมการณ์อิสลามให้ขยายผลสู่รูปธรรมอย่างครบถ้วน
  • การพัฒนามัสยิดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน
  • พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคลให้มีศักยภาพ เพื่อการสร้างสรรค์ประสานนโยบายและประสานงานกับหน่วยงานรัฐทุกระดับ
  • รักษาวัฒนธรรมอิสลามให้ยั่งยืนตลอดไป เป็นต้น

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา นอกจากผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาที่มีการทำงานในรูปของเครือข่ายทั้ง
24 หมู่บ้านแล้ว การทำงานเชิงรุกที่ได้ผลในอีกมิติหนึ่ง ก็คือการใช้เสียงตามสาย แจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหวในกิจกรรมด้านต่างๆ ผ่านลำโพงที่กระจายไปทั่วชุมชน 740 ตัว เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม การสร้างจิตสำนึก

kamalunltrain

อิหม่ามวินัย สะมะอุน มักจะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านเสียงตามสาย โดยเน้นว่านโยบายของท้องถิ่น คือการ “พัฒนาคน พัฒนาสังคม” งานประชาสัมพันธ์ที่ทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านเกิดสำนึกความรับผิดชอบท้องถิ่นที่อยู่อาศัย โดยเริ่มจากรับผิดชอบครอบครัวตัวเอง เพื่อนำไปสู่การรับผิดชอบคนรอบข้าง และรับผิดชอบสังคม

นโยบายพัฒนาคน พัฒนาสังคม มีทั้งการให้ความรู้ทางศาสนา ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อลดการจับปลาที่มีปล่อยเพื่ออนุรักษ์คลอง มีการจัดสวนริมคลอง การเลี้ยงปลาในคลองหน้ามัสยิด การจัดกิจกรรมจัดตั้งทัวร์ 3 ศาสนา (อิสลาม พุทธ คริสต์) เพื่อส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวในชุมชน ในรูปแบบของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและประวัติศาสตร์ เป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาวบ้านที่ต่างประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อและศาสนา กิจกรรมนี้มีการตอบรับที่ดีจากประชาชนและนักท่องเที่ยวทั่วไป

kamalunlact

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมอาชีพ ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีความรู้ความสามารถผลิตสินค้าโอท็อปออกจำหน่าย ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยการจัดทำป้ายเศรษฐกิจพอเพียงติดตั้งให้ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการทำงานเชิงจิตวิทยา สร้างกระแสความตื่นตัว

นอกจากกระบวนการภายในชุมชนแล้ว ยังมีการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานเขตคลองสามวา ให้การสนับสนุนจัดเรือเก็บขยะ และส่งเจ้าหน้าที่พัฒนาสิ่งแวดล้อมเข้ามาประสานงานร่วมกับชุมชน สำนักงานเขตมีนบุรีและสำนักงานเขตหนองจอก ให้ความร่วมมือในกิจกรรมของมัสยิด มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ช่วยประชาสัมพันธ์และส่งนักศึกษาเข้ามาฝึกงาน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาช่วยฝึกอบรมการทำน้ำหมักชีวภาพ สนับสนุนอุปกรณ์และวัตถุดิบในการทำน้ำหมักชีวภาพ และหนังสือพิมพ์มติชนก็ช่วยในการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมต่างๆ

kamalunlnam

สำหรับการทำงานในกลุ่มเยาวชน มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศแก่เยาวชน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนภาษาเพิ่มเติมอีก 2 ภาษา คือ ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ

ลำน้ำใสของเส้นทางยุทธศาสตร์เมื่อร้อยปีก่อนเหลือเพียงเรื่องเล่า แต่ลำน้ำเดียวกันนี้ในช่วง 3 กิโลเมตร ที่เรียกว่า “คลองสามวา” กลับมีปลาว่ายเวียน เด็กๆ ดำผุดดำว่ายในน้ำสะอาด…แทบไม่เชื่อว่านี่คือคลองสายเดียวกัน

kamalunlmap

มัสยิดกมาลุลอิสลาม
เลขที่ 129 ซอยประชาร่วมใจ 48 ถนนประชาร่วมใจ
แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10510
โทรศัพท์ 0-2916-8779 โทรสาร 0-2543-7369
E-Mail : vinai_samaun@hotmail.com

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น