กรรณิการ์ หรือฝรั่งเรียกว่า Night flower jasmine บางที่ก็เรียกกณิการ์ กรณิการ์ กันลิกา ดอกคล้ายกับดอกมะลิ แต่บริเวณโคนหลอดจะมีสีส้มแต้ม และเวลาที่ร่วงจากต้นจะขาวพร่างแต้มด้วยสีส้มดูสดใสและสวยงาม คนโบราณใช้ดอกกรรณิการ์เป็นยา เมื่อดอกร่วงพูจากต้นในเวลาเช้าก็จะถือตะกร้าเล็กๆ ค่อยๆ บรรจงเก็บดอกที่ร่วงใส่ตะกร้าใบน้อยอย่างเบาๆ มือ ไม่เช่นนั้นกลีบดอกที่ขาวที่ชวนมองนั้นอาจช้ำได้ จากนั้นก็จะนำไปผึ่งลมให้แห้งแล้วเก็บใส่โหลไว้ปรุงยาหอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nyctanthes arbor-tristis L.
ชื่อสามัญ : Night blooming jasmine
วงศ์ : OLEACEAE
ชื่ออื่น : กณิการ์ , กรณิการ์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2 เมตร กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสาก ใบ เดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 2-6 ซม. ยาว 3.5-10 ซม. ปลายแหลมหรือยื่นเป็นติ่งแหลม โคนมน ขอบเรียบหรือจักแหลมใกล้ๆ โคนใบ แผ่นใบหนาสากมือ มีขนแข็งตามแผ่นใบและเส้นใบ ตามขอบใบอาจมีขนแข็งๆ เส้นแขนงใบข้างละ 3-4 เส้น ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. ช่อดอกออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว 1.2-2 ซม. มีใบประดับรูปคล้ายใบเล็กๆ 1 คู่ที่ก้านช่อดอก แต่ละช่อมี 3-7 ดอก กลิ่นหอม บานตอนเย็นและจะร่วงในเช้าวันรุ่งขึ้น ไม่มีก้านดอก แต่ละดอกมีใบประดับ 1 ใบ ดอกตูมมีกลีบดอกเรียงซ้อนกันและบิดเป็นเกลียว กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ติดกันเป็นหลอดรูปกรวยปลายตัดหรือหยักตื้นๆ 5 หยัก ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดสีแสด ยาว 1.1-1.3 ซม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนยาวๆ สีขาวที่โคนหลอด ปลายหลอดแยกเป็นกลีบสีขาว 5-8 กลีบ แต่ละกลีบยาว 0.9-1.1 ซม. โคนกลีบแคบ ปลายกลีบกว้างและเว้าลึก เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอกตรงบริเวณปากหันด้านหน้าเข้าหากัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับหลอดดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กลม มี 2 ช่อง มีออวุลช่องละ 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียมีอันเดียว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มมีขน ผลรูปไข่หรือกลม ค่อนข้างแบน ปลายมีติ่งสั้นๆ
ต้นกรรณิการ์เป็นพืชในวงศ์ VERBENACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ Nyctanthes arbor – ristis Linn. สามารถขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือปักชำกิ่ง เหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านได้ มีลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3-5 เมตร กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขน ใบ หนา ค่อนข้างแข็ง โคนใบมน ปลายใบแหลมขนาดใบโตเท่ากับใบมะยมพื้นผิวใบหยาบ สากระคายมือ
ดอกกรรณิการ์ออกเป็นช่อตามง่ามใบ คล้ายกับดอกพริกป่าหรือพุดฝรั่ง ดอกย่อยสีขาวคล้ายดอกมะลิ โคนดอกเป็นหลอด ปลายดอกแยกเป็นกลีบประมาณ 5-7 กลีบ มีลักษณะเป็นจานคล้ายรูปกงจักรดอกมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่วนก้านดอกมีสีแดง หรือสีส้ม
ดอกมีสาร carotenoid nyctanthin ให้สีเหลืองอมแสด ใช้ทำสีย้อมผ้า ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ใช้ดอกเป็นยาขับประจำเดือน ในอินเดียใช้ใบซึ่งมีรสขมเป็นยาแก้ไข้ และใช้ขับพยาธิ ในประเทศไทยใช้ใบสดตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ถ้ากินมากทำให้ระบาย หรือนำไปแช่กับน้ำมันมะพร้าว 1-2 คืนจะได้น้ำมันที่มีสีเหลืองอ่อนๆ ใช้ทาหมักผมก่อนนอนช่วยให้ผมไม่หงอกก่อนวัย
ประโยชน์ของกรรณิการ์
กรรณิการ์เป็นสมุนไพรตามวิธีการของแพทย์แผนไทยได้ดี เพราะมีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น
หลอดดอกกรรณิการ์มีสีแสดแดง ใช้ผสมอาหารให้มีสีสวยงาม และใช้ย้อมผ้าไหมได้ด้วย
ในอินเดียนับถือต้นกรรณิการ์เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง จึงอาจถือได้ว่าเป็นไม้มงคล
งานวิจัยการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดแอลกอฮอล์จากใบ ผลและเมล็ดกรรณิการ์เพื่อยับยั้งโรคไขข้อเสื่อมในหนูทดลองที่ถูกทำให้ติด เชื้อวัณโรค (Mycobacterium tuberculosis) จนเกิดอาการไขข้อเสื่อม แล้วให้สารสกัดจากกรรณิการ์กับหนูทดลองทางปาก 25 มก./กก. นาน 47 วัน พบว่า สารสกัดจากใบและผลสามารถช่วยยับยั้งการเกิดไขข้อเสื่อมได้ โดยสารสกัดช่วยลดปริมาณการตายของเซลล์ที่เกิดการติดเชื้อได้ และยังมีรายงานการวิจัยต่อเนื่องระบุว่า สารสกัดคลอโรฟอร์มจากใบและดอกกรรณิการ์ความเข้มข้น 50, 100, 200 มก/กก.เป็นเวลา 27 วัน กับหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นโรคเบาหวานด้วยสาร Streptozotocin พบว่า สารสกัดจากใบและดอกกรรณิการ์มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจึงช่วยลดระดับ LPO, SGPT, Alk Phos, คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของไขมันอุดตันได้
ในการแพทย์แผนไทยกรรณิการ์จัดเป็นตัวยาสำคัญอีกชนิด แม้ว่าในปัจจุบันจะลดบทบาทหรือมีคนรู้จักน้อยลงก็ตาม แต่ยังเป็นไม้สมุนไพรที่มีความสำคัญ มีความงามและการใช้ประโยชน์ได้หลากหลายในการพึ่งตนเองได้
สรรพคุณของต้นกรรณิการ์ตามตำราการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ราก แก้อุจจาระเป็นพรรดึก แก้วาโยกำเริบเพื่ออากาศธาตุ บำรุงธาตุ แก้ลมและดี บำรุงผิวหนังให้สดชื่นสดใส แก้ไอสำหรับสตรีคลอดบุตรใหม่ๆ บำรุงกำลัง แก้ผมหงอก แก้อ่อนเพลีย ต้น แก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ แก้ไอสำหรับสตรีคลอดบุตรใหม่ๆ
ใบ บำรุงน้ำดี ขับน้ำดี แก้ไข้เพื่อดี แก้ปวดข้อ เป็นยาระบาย เป็นยารสขมเจริญอาหาร แก้ตานขโมย แก้ปวดท้อง แก้ไข้ แก้ไข้จับสั่นชนิดจับวันเว้นวัน ดอก แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ แก้พิษทั้งปวง แก้โลหิตตีขึ้น แก้ไข้มิรู้สติสมปฤดี เป็นไข้บาดทะจิต แก้ไข้ผอมเหลือง แก้ตาแดง แพทย์ชนบทในสมัยก่อนจะใช้ต้นและราก ต้มหรือฝนรับประทานแก้ไอสำหรับสตรีที่คลอดบุตรใหม่ๆ
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด, ตอนกิ่ง, ปักชำกิ่ง
การปลูกและดูแลรักษา
กรรณิการ์เป็นไม้ที่ชอบที่ร่มรำไรและมีความชุ่มชื้นพอควร ดินที่ใช้ปลูกควรจะเป็นดินอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี ไม่ควรมีน้ำขังอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้รากเน่าได้ ต้องการน้ำเพียงปานกลางเท่านั้น
ที่มา : โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ป้ายคำ : ไม้ดอก