ต้นกระถินณรงค์ จัดเป็นไม้โตเร็ว เป็นไม้ในกลุ่มพืชตระกูลถั่ว จึงมีระบบรากที่สามารถสะสมไนโตรเจนได้ เป็นต้นไม้พื้นเมืองของประเทศปาปัวนิวกินี เป็นไม้ที่นิยมมาปลูกกันทั่วโลกเพื่อใช้ฟื้นฟูดินและฟื้นฟูสภาพของป่าเสื่อมโทรม เป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว ทนแล้ง และทนน้ำท่วมขังแฉะ จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา ให้ความสวยงามตามที่สาธารณะ ถนนหนทาง หรือตามชายหาดทะเลสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด
ปลูกเป็นไม้ประดับและปลูกเป็นสวนป่า เหมาะสำหรับ ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ยังใช้เยื่อกระดาษ นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา ให้ความสวยงามตามที่สาธารณะหรือตามถนนหรือตามชายหาดทะเล เป็นแหล่งอาหารการเกิดของ เห็ดชนิดหนึ่งที่คล้ายกับเห็ดเสม็ดซึ่งสามารถ เก็บมารับประทานเป็นอาหารได้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia auriculiformis A. Cunn.ex Benth.
ชื่อวงศ์ : Leguminosae-Mimosoideae
ชื่อสามัญ : Kra thin narong (ไทย), Tan wattle, Darwin black wattle, Papua wattle และ Kasia (อินโดนีเซีย)
ชื่อพื้นเมือง กระถินณรงค์
กระถินณรงค์เป็นพันธุ์ไม้ต่างถิ่นของประเทศออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย เมื่อปี 2478 โดยธรรมชาติกระจายพันธุ์ในสภาพอากาศเขตร้อนชื้น มีถิ่นกำเนิดทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย และพบทางด้านตะวันตกและด้านใต้ของประเทศปาปัวนิวกินี รวมทั้งบริเวณเขตแดนของประเทศอินโดนีเซียที่ติดต่อกับปาปัวนิวกินี ส่วนในประเทศไทยจะพบปลูกขึ้นได้ทั่วทุกภาค แต่ขึ้นได้ดีในท้องที่ภาคใต้
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลมทึบ กิ่งห้อยย้อย เปลือกสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องตามยาว ไม่เป็นระเบียบ
ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ทางด้านเนื้อไม้ มีสีสวย กระพี้มีสีเหลือง แก่นไม้ออกสีน้ำตาลจนถึงแดงเข้มและทนทาน โดยมีค่าความแข็งของเนื้อไม้สูงกว่า 500 กก. ส่วนเสี้ยนของเนื้อไม้ ตรงและละเอียดขัดชักเงาได้ดี เหมาะสำหรับใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์และไม้ปาร์เก้ นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมผลผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งไม้ชนิดนี้ให้ผลผลิตเยื่อสูงถึงประมาณ 50% และใช้ทำฟืนและถ่านได้เป็นอย่างดี ให้ค่าความร้อนสูง 4,800-4,900 Kcal/kg ส่วนเปลือกให้น้ำฝาดแทนนินใช้ในอุตสาหกรรมการฟอกหนังสัตว์ และให้สีธรรมชาติในอุตสาหกรรมผ้าปาติกในอินโดนีเซีย
การใช้ไม้กระถินณรงค์เป็นเชื้อเพลิง กระถินณรงค์ ให้เนื้อไม้ เหมาะที่จะใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้ดีมาก ให้ความร้อนสูง ถ้านำไปเผาถ่านจะได้ถ่านที่มีคุณภาพดี ถ่านที่ได้จากไม้กระถินณรงค์เมื่อนำไปใช้จะไม่แตก ไม่มีควัน และติดไฟได้ดี กระถินณรงค์ จึงเหมาะสำหรับการปลูกเป็นป่าฟืน เพื่อใช้สอยในครัวเรือนและชุมชน
การใช้ไม้กระถินณรงค์ทำเครื่องเรือนและก่อสร้าง กระถินณรงค์ เป็นไม้ที่มีแก่น เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อน ความแข็งแรงปานกลาง นำมาเลื่อยตกแต่งได้ง่ายและมีการยืดหดตัวน้อยมาก เหมาะที่จะนำไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และพื้นปาร์เก้ ถึงแม้ว่ากระถินณรงค์โดยทั่วๆ ไปจะไม่ค่อยตรง แต่สามารถนำมาใช้ทำพื้นปาร์เก้ได้เพราะการทำไม้ปาร์เก้ใช้ไม้ขนาดสั้น
การใช้ไม้กระถินณรงค์ทำเยื่อกระดาษ ไม้กระถินณรงค์ สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกระดาษได้ดี เยื่อกระดาษที่ได้จากไม้กระถินณรงค์มีความเหนียวดีพอสมควร
การใช้ไม้กระถินณรงค์ในการฟอกหนัง เปลือกต้นกระถินณรงค์ให้น้ำฝาดที่ละลายน้ำได้ เรียกว่าเทนนินใช้ในอุตสาหกรรมการฟอกหนังสัตว์ ซึ่งหนังสัตว์ที่ฟอกด้วยเทนนินจากเปลือกต้นกระถินณรงค์จะมีคุณภาพดีแต่สีของหนังสัตว์ที่ได้จะค่อนข้างแดง
การใช้ประโยชน์ทางด้านนิเวศน์ ใช้ปลูกเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ดินที่มีสภาพเสื่อมโทรมภายหลังจากการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฟื้นฟูดินที่ผ่านการทำเหมืองแร่ และปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างผิวหน้าดิน
การใช้ประโยชน์ทางด้านภูมิสถาปัตย์ กระถินณรงค์เป็นพันธุ์ไม้ที่มีรูปทรงพุ่มกลม พุ่มใบแน่น มีดอกสีเหลืองสดออกหมุนเวียนตลอดปี มีกลิ่นหอมตอนเช้า ปลูกง่าย โตเร็ว ทนแล้ง และทนน้ำท่วมขังแฉะ จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา ให้ความสวยงามตามที่สาธารณะหรือตามถนนหนทางหรือตามชายหาดทะเล
การใช้ประโยชน์ทางด้านโภชนาการ พันธุ์ไม้กระถินณรงค์ไม่สามารถใช้เป็นพืชอาหารได้ แต่สวนป่าไม้กระถินณรงค์จะเป็นแหล่งอาหารการเกิดของเห็ดชนิดหนึ่งที่คล้ายกับเห็ดเสม็ดซึ่งสามารถเก็บมารับประทานเป็นอาหารได้
ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก
ดิน สามารถปรับตัวขึ้นได้บนดินหลายประเภทตั้งแต่ดินร่วนปนทราย ดินเหนียว ดินลูกรัง และดินที่มีค่าความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีค่า pH 3.0-9.0 แต่ดินที่เหมาะสมที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย ซึ่งมีสภาพเป็นกรดเล็กน้อย
ความชื้น ชอบสภาพอากาศค่อนข้างชื้น-ชื้น เจริญเติบโตได้ดี บริเวณที่มีปริมาณน้ำฝน 1,500- 2,000 มม. และมีความสามารถปรับตัวขึ้นได้ในพื้นที่แห้งแล้ง และพื้นที่น้ำท่วมแฉะ
แสง ชอบแสงมาก
การปลูกดูแลบำรุงรักษา
ในปีแรกต้องคอยดูแลไม่ให้กล้าไม้ถูกวัชพืชขึ้นปกคลุมกล้าไม้ และเมื่อหมดฤดูฝน ให้ดายวัชพืชอีกครั้งเพื่อกำจัดเชื้อเพลิง เพราะอาจจะก่อให้เกิดไฟไหม้ได้
การคัดเลือกพื้นที่และเตรียมพื้นที่ปลูก
การเตรียมพื้นที่ปลูกควรเก็บและเผาเศษไม้ กิ่งไม้ให้หมด ไถพรวนพื้นที่ทำให้หน้าดินร่วนซุยจะทำให้กล้าเจริญเติบโตได้ดี
วิธีการปลูกและระยะปลูกที่เหมาะสม
ให้ทำการปักหลักหรือโรยปูนขาว ตามระยะปลูก เพื่อความสะดวกในหารตรวจสอบอัตราการรอดตาย เตรียมหลุมโดยการขุดให้กว้างกว่าถุงบรรจุกล้าไม้ให้มากๆ ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์รองก้นหลุม ถ้าสภาพดินในแปลงปลูกเป็นดินเลว ขณะนำกล้าไม้ไปปลูกให้ฉีกถุงที่บรรจุกล้าไม้ก่อนวางกล้าไม้ในหลุม แล้วกลบดินให้เต็มหลุมและกดดินให้แน่นพอประมาณ ระยะปลูก วัตถุประสงค์ถ้าต้องการปลูกเพื่อใช้ไม้ฟืนหรือเผาถ่าน ปลูกควรระยะ 2 x 2 เมตร แต่ถ้าปลูกเพื่อต้องการเนื้อไม้ ทำเครื่องเรือนหรือก่อสร้าง ระยะปลูกห่างขึ้น คือ 2 x 4 เมตร หรือ 4 x 4 เมตร
โรคและแมลง
ศัตรูที่เป็นอันตราย คือ ด้วงเจาะกิ่งและลำต้น (Sinoxylon sp) 2 ชนิด ชนิดหนึ่งมีหนวดเป็นรูปหวี อีกชนิดหนึ่งมีหนวดเป็นรูปตุ้มมีขนาดเล็ก ลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก หัวมน ท้ายตัด ปีกหุ้มส่วนท้อง โดยจะเข้าทำลายเจาะลำต้นที่มีอายุไม่เกิน 2 ปี นอกจากนี้ยังจะมีพวกปลวกที่ทำลายเจาะและกัดลำต้น
อัตราการเจริญเติบโต
ไม้กระถินณรงค์จัดเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่ง ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมในช่วง 10-12 ปี จะมีความสูงถึง 15-18 ม. และความโตทางเส้นผ่าศูนย์กลาง 15-20 ซม. ในประเทศอินโดนีเซียบริเวณพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝน 2,000 มม. และดินมีความอุดมสมบูรณ์จะให้ผลผลิตระหว่าง 15-20 ม3/เฮกแตร์/ปี (2.4-3.2 ม3/ไร่/ปี) ส่วนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำผลผลิต 8-12 ม3/เฮกแตร์/ปี (1.28-1.92 ม3/ไร่/ปี) ในประเทศไทยได้มีการศึกษาการเจริญเติบโตและผลผลิตในท้องที่ต่างๆ
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง