กระทือ พืชหัวดอกสวย

12 มีนาคม 2559 ไม้ใต้ดิน 0

กระทือเป็นพืชตระกูลเดียวกับพวกขิง ข่า ลักษณะดอกสวยงาม กระทือเป็นพืชที่พบได้ตามบ้านในชนบททั่วไป เป็นพืชล้มลุกฤดูแล้งจะลงหัว เมื่อถึงฤดูฝนจะงอกขึ้นมาใหม่ หัวมีขนาดใหญ่ เนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ต้นสูง 3-6 ศอก ใบยาวเรียว ออกตรงข้ามกัน ดอกเป็นช่อกลม อัดกันแน่นสีแดง และแทรกด้วยดอกสีเหลืองเล็กๆ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber zerumbet (L.) Sm.
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae
ชื่ออื่นๆ กระทือป่า กระทือบ้าน กะแวน กะแอน แฮวดำ (ภาคเหนือ), เฮียวแดง เฮียวดำ (แม่ฮ่องสอน) แสมดำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเทียมสูงได้ถึง 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน แตกแขนงเป็นกอ เปลือกเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม จะแทงหน่อใหม่ช่วงฤดูฝน ใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปใบหอก กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 14-40 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีเขียวนวล ก้านใบสั้นมาก ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร กาบใบเรียงตัวกันแน่น หุ้มเป็นลำต้นเทียม ดอกช่อ แบบช่อเชิงลด ก้านช่อดอกยาว 14-45 เซนติเมตร ตั้งตรง แทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน ดอกทรงกระบอก กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ปลายมน ใบประดับสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม มี 10-25 ใบ เรียงซ้อนกันแน่นเป็นระเบียบ รูปไข่กลับกว้างหรือเกือบกลม กว้าง 3.0-3.2 ซม. ยาว 2.0-2.3 ซม. ปลายมน ขอบพับเข้าด้านใน ดอกบานสีขาวอมเหลืองโผล่ออกมาจากซอกใบประดับ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบบนรูปไข่กว้าง 0.9 ซม. ยาว 1.7 ซม. ปลายแหลม ผิวเกลี้ยง กลีบข้างรูปหอก กว้าง 0.5 ซม. ยาว 1.8 ซม. ปลายเรียวแหลม ผิวเกลี้ยง ดอกบานไม่พร้อมกัน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้าง 0.1-0.35 ซม. ยาว 1.6-1.7 ซม. ปลายแยกเป็น 3 แฉก ผิวเกลี้ยง สีขาว เกสรเพศผู้ 1 อัน อับเรณูขนาดใหญ่ โค้ง มีรยางค์ที่ปลาย กว้าง 0.4 ซม. ยาว 1 ซม. ก้านชูอับเรณูสั้นมากยาว 0.1 ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันด้านข้าง 2 อัน สีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้เป็นหมันอันกลาง สีเหลืองอ่อน ตรงโคนมีแต้มสีเหลืองเข้ม เกสรเพศเมีย รังไข่รูปวงรี กว้าง 0.3 ซม. ยาว 0.4 ซม. ผิวเกลี้ยง มี 3 ช่อง พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 2.5 ซม. ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยหรือเกือบกลม ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่กลับ ขนาดเล็ก ผิวเรียบ สีแดง ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมล็ดรูปขอบขนาน ค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นริ้วสีขาว เมล็ดสีดำเป็นมัน ชอบขึ้นบริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือที่ชื้นริมลำธาร หรือดินที่ร่วนซุย ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ติดผลราวเดือนตุลาคม หน่ออ่อน เนื้ออ่อนในลำต้น ช่อดอกอ่อน รับประทานเป็นผักสดได้

kratuuebai kratuuepom kratuuedoks

สรรพคุณ
ตำรายาไทยใช้ เหง้า รสขมขื่นปร่า แช่น้ำดื่ม แก้ร้อนใน บำรุงน้ำนม บำรุงธาตุ ผสมเหง้าไพล เผาไฟคั้นเอาน้ำดื่ม แก้บิด ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับปัสสาวะ แก้ปวดท้อง แก้ปวดเบ่ง แน่นท้องปวดบวม ขับเสมหะ เบื่ออาหาร เหง้ากระทือนำมาหมกไฟฝนกับน้ำปูนใสรับประทาน แก้บิดปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม ขับน้ำย่อยให้ลงสู่ลำไส้ แก้จุกเสียด ราก รสขมขื่นเล็กน้อย แก้ไข้ตัวเย็น ใบ รสขมขื่นเล็กน้อย ขับลม ขับเลือดเสียในมดลูก ขับน้ำคาวปลา ดอก รสขมขื่น แก้ผอมเหลือง แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวเย็น ไข้จับสั่น เกสร รสเฝื่อนปร่า แก้ลม บำรุงธาตุ ต้น รสขมขื่น ทำให้เจริญอาหาร แก้ไข้

kratuuedok

เหง้า บำรุงน้ำนมสตรีให้บริบูรณ์ ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ลมจุกเสียด ช้ำบวม ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิด แก้ไอ บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ เหง้าหมกไฟ ฝนกับน้ำปูนใสรับประทาน แก้บิด ปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม ขับน้ำย่อยอาหารให้ลงสู่ลำไส้ แก้จุกเสียดและบำรุงน้ำนม ใช้หัวกะทือรวมกับหัวไพล เผาไฟคั้นเอาน้ำรับประทาน แก้บิด แก้ปวดเบ่ง แก้พิษเสมหะ แก้ปวดมวน แก้แน่น ราก รสขมขื่นเล็กน้อย แก้ไข้ตัวเย็น แต่รู้สึกร้อนภายใน
ตำรายาไทย: มีการใช้กระทือใน พิกัดตรีผลธาตุ คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ธาตุทั้งสี่ 3 อย่าง มีเหง้ากระทือ เหง้าไพล หัวตะไคร้หอม มีสรรพคุณบำรุงไฟ แก้ไข้ตัวร้อน แก้กำเดา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:

  1. แก้ท้องอืดเฟ้อ และปวดท้อง
    ใช้เหง้าสดขนาด 20 กรัม ย่างไฟพอสุก ตำ เติมน้ำปูนใส ประมาณ 1/2 แก้ว (110 มิลลิลิตร) ดื่มแต่น้ำ ขณะที่มีอาการ
  2. แก้บิด (ปวดเบ่ง และมีมูก หรืออาจมีเลือดด้วย)
    ใช้เหง้า หรือหัวสดครั้งละ 2 หัว (ประมาณ 15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใส คั้นเอาน้ำดื่ม

การปลูก
ใช้หัวหรือเหง้าปลูกได้ทั่วไป ชอบดินร่วนซุยและมีความชุมชื้น มีการระบายน้ำได้ดี ปลูกได้ทุกฤดูกาล เวลาปลูกใช้วิธีแยกเหง้าจากกอแม่และตัดใบที่ติดมาทิ้งไป เพื่อลดการสูญเสียน้ำ ปลูกลงดินไม่ต้องลึกมากนักคอยดูแลให้ความชุ่มชื้นอยู่เสมอ

kratuuepa

ที่มา
ฐานข้อมูลสมุนไพรไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ใต้ดิน

แสดงความคิดเห็น