กลุ่มออมทรัพย์

9 มิถุนายน 2557 ภูมิปัญญา 0

กลุ่มออมทรัพย์เศรษฐศาสตร์ชุมชนเพื่อการพัฒนา คือ กลุ่มออมทรัพย์ประเภทหนึ่ง จัดตั้งขึ้นในหมู่สมาชิกที่มีวงสัมพันธ์เดียวกัน ดำเนินการภายใต้หลักประชาธิปไตย คือ หนึ่งคนต่อหนึ่งเสียง สมาชิกจะมาสะสมทรัพย์รวมกันเพื่อเป็นทุนดำเนินการให้สมาชิกที่มีความจำเป็นเดือนร้อนกู้ยืมนำไปใช้ คณะกรรมการได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกและโดยสมาชิกของกลุ่มนี้เอง ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะได้รับการจัดสรรสู่มวลสมาชิกในรูปของดอกเบี้ยและเงินปันผล

วงสัมพันธ์หมายถึง

  • การมีที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นเดียวกัน
  • การมีอาชีพการงานเดียวกัน
  • การเป็นสมาชิกในสมาคมเดียวกัน

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่ออะไร
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งขึ้นเพื่อบริการขั้นพื้นฐาน 3 ประการให้แก่มวลสมาชิก คือ

  • จัดระบบบริการสะสมทรัพย์ที่ง่ายและสะดวก
  • ให้บริการเงินกู้แก่สมาชิกในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
  • ให้การศึกษาแก่สมาชิกในด้านการจัดการและการควบคุมการเงินของตนเอง

กลุ่มออมทรัพย์ ต่างจากธนาคาร แชร์ และนายทุนเงินกู้อย่างไร
กลุ่มออมทรัพย์ ต่างจากธนาคาร แชร์ และนายทุนเงินกู้ โดยสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์การดำเนินงาน การควบคุมกิจการ ผู้เป็นเจ้าของและผลประโยชน์ตอบแทน โดยสรุปได้ดังนี้

  • กลุ่มออมทรัพย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจของสมาชิก ดำเนินงานโดยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการรับสะสมเงินจากสมาชิกและให้สมาชิกที่มีความเดือดร้อนกู้เงินไปใช้ ควบคุมโดยสมาชิก สมาชิกคือเจ้าของผลประโยชน์ตอบแทนทุกบาททุกสตางค์ เป็นของสมาชิกในรูปของเงินปันผล และบริการอื่น
  • แชร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินหมุนเวียนในระยะสั้น ดำเนินงานโดยบุคคลผู้ที่รับความเชื่อถือจากสมาชิกผู้ร่วมวงแชร์ ไม่มีระบบการควบคุม มีการรวมเงินจากสมาชิก ทุกคนเป็นเงินก้อนแล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปใช้จนครบ จำนวนสมาชิกทุกคนสมาชิกผู้ต้องการใช้เงินต้องเสนอผลตอบแทนสูงกว่าคนอื่นๆ จึงมีสิทธิ์นำเงินไปใช้ก่อนได้
  • ธนาคาร มีวัตถุประสงค์เพื่อหาผลกำไรจากบริการเงินฝาก เงินกู้ยืม และอื่นๆ ดำเนินการและควบคุมโดยเจ้าของธนาคาร ผลกำไรส่วนใหญ่ตกเป็นของเจ้าของธนาคาร
  • นายทุนเงินกู้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ตอบแทนจากการนำเงินไปให้ผู้อื่นกู้ยืม ดำเนินงานและควบคุมโดยเจ้าของทุนแต่ละราย นายทุนเงินกู้จะได้รับดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมตามแต่ที่ตนจะกำหนด

ทำไมจึงต้องรวมกันเป็นกลุ่มออมทรัพย์เศรษฐศาสตร์ชุมชนเพื่อการพัฒนา
ชีวิตคนเราต้องเผชิญกับปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ เช่น การจัดหาข้าวของเครื่องใช้ ค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียนของลูก ๆ ตกงาน เจ็บไข้ได้ป่วย จนต้องเข้าโรงพยาบาล ประสบภัยพิบัติต่างๆ บุคคลในครอบครัวถึงแก่กรรมเป็นต้น ความเดือนร้อนนี้เราอาจไม่สามารถสู้กับมันตามลำพัง อุปมากับความเดือดร้อนเป็นขยะมูลฝอยกองหนึ่งแล้วเรากวาดด้วยทางมะพร้าวเส้นเดียวย่อมจะขจัดขยะมูลฝอยได้ยาก แต่ถ้าหากเรามัดทางมะพร้าวรวมกันเป็นมันใหญ่หลายเส้น ก็จะทำให้แข็งแรงสามารถกวาดขยะมูลฝอยได้อย่างง่ายดาย เช่นกันการแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ได้สำเร็จย่อมหมายถึงเราต้องรวมพลังกัน

amthuptr amthupop amthupo

ประการสำคัญอันหนึ่งคือ ปัญหาความเดือดร้อนมักจะมาหาเราโดยคาดไม่ถึง เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านั้น

เราจะเริ่มต้นแก้ปัญหาความยากจนโดยการงดหรือลดสิ่งฟุ่มเฟือยลง เพื่อนำเงินส่วนนั้นมาฝากไว้ที่กลุ่มออมทรัพย์ เพื่อสมาชิกคนไหนเดือดร้อนหรือมีปัญหาก็สามารถกู้ยืมไปใช้ได้

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละฝ่าย

  • คณะกรรมการอำนวยการ
    มีหน้าที่รับติดต่อและบริการสมาชิกโดยทั่วไป เช่น การรับเงินสะสม การจ่ายเงินกู้ รวมทั้งการจัดระบบ ระเบียบ เอกสารและดูแลความเรียบร้อย พิจารณารับสมาชิก ควรคุมดูแลการเงินและการบัญชี รวมทั้งเสนอแนะกรรมการดำเนินการในการร่างระเบียบหรือแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบต่างๆ
  • คณะกรรมการเงินกู้
    มีหน้าที่พิจารณาใบคำร้องขอกู้เงินของสมาชิกตามระเบียบที่กลุ่มกำหนด ตรวจสอบควบคุมหลักประกันเงินกู้และดูแลการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา
  • คณะกรรมการศึกษา
    มีหน้าที่ในด้านการพัฒนาคุณภาพสมาชิกโดยการให้การศึกษาอบรม การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของกลุ่ม การขยายจำนวนสมาชิกรวมทั้งการติดตามข่าวคราวความคืบหน้าในวงการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเสนอแนะกรรมการในการจัดบริการใหม่ แก่สมาชิก
  • คณะผู้ตรวจสอบกิจการ
    มีหน้าที่คอยตรวจสอบ กิจการงานต่างๆ ของสหกรณ์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบัญชี การเงินการอนุมัติเงินกู้เอกสารการประชุมกรรมการคณะต่างๆ การดำเนินงานของคณะกรรมการตามแผนงานและงบประมาณ เป็นต้น

กรรมการคณะต่างๆ อยู่ในวาระนานเท่าไร และจะเลือกตั้งซ่อมได้อย่างไร
คณะผู้ตรวจสอบกิจการ อยู่ในวาระคราวละ 1 ปี คือจะต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งคณะทุกปี
สำหรับคณะกรรมการดำเนินการอยู่ในวาระคราวละ 2 ปี โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกจากตำแหน่งในปีหนึ่งๆ ในจำนวน กึ่งหนึ่งของกรรมการ กรรมการที่ออกไปนั้นจะรับเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้แต่ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกคนอื่นได้มีโอกาสมาช่วยทำงานบ้าง

ควรเลือกบุคคลประเภทใดเข้าเป็นกรรมการ

  1. มีความซื่อสัตย์สุจริตมั่นคง
  2. มีความประพฤติดี เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป
  3. มีความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่
  4. มีความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี
  5. มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนเพื่อความเจริญก้าวหน้าของกลุ่มออมทรัพย์
  6. มีจิตใจเป็นธรรม เป็นนักประชาธิปไตย เป็นต้นว่ายอมรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกและรับพิจารณาด้วยดี

กลุ่มออมทรัพย์ ชุมชนสามัคคีพัฒนา
ชุมชนับถือศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ดั้งเดิมและเป็นคนที่ปักหลักในพื้นที่หัวหมากนาน ได้สอบถามจากคนเฒ่าคนแก่ซึ่งมีอายุ 87 ปีเล่าให้ฟังว่า พื้นที่ตรงนี้เดิม ตำบลหัวหมากน้อยบางกะปิ แรกๆ มีคนเข้ามาอาศัยอยู่ประมาณ 10 -20 หลังคาเรือน โดยมีนายแลห์ สอนเขียว นางโสม สอนเขียว สองสามีภรรยามีลูก 9 คนสองคนนี้เป็นต้นตระกูล “สอนเขียว” ต่อมามีการแต่งงานเชื่อมกันหลายตระกูล เช่น ตระกูลมิตรยิ้ม ตระกูลชุ่มชื่น ตระกูลวงษ์ศรี และตระกูลบุญมาเลิศ รวมแล้วมีสี่ตระกูลใหญ่ที่เป็นคนในพื้นที่รวมกันเป็นชุมชนชานเมืองเรียกว่าชุมชนหัวหมากน้อย หรือชุมชนวังโสม ปัจจุบันชาวหัวหมากน้อยรวมตัวกันเรียกว่า “ชุมชนสามัคคีพัฒนา”

การออมทรัพย์ในความหมายของความมุ่งหวังของชุมชนคือ การที่กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มีความเข้มแข็งด้านการเงินได้นำเงินบางสวนมารวมเป็นเงินของกลุ่มอาชีพที่มีความอ่อนแอด้านการเงิน เมื่อรวมกันได้จะเกิดเป็นจำนวนเงินที่มีมากกว่าเงินในมือของตนเองพียงลำพังผู้เดียว ซึ่งถ้ามีการร่วม (ออม) กันได้สักระยะเวลาหนึ่งก็จะเกิดเงินที่มากขึ้น ซึ่งเงินก้อนที่มีจำนวนมากนี้ทำให้เกิดความเข้มแข็งด้านการเงิน ซึ่งส่งผลทำให้ผู้อ่อนแอด้านการเงิน ได้รับความช่วยเหลือ และได้รับการผ่อนคลายความเดือดร้อน ด้านการเงินให้บรรเทาลงได้บ้าง ส่วนผู้เข้มแข็งเรานี้จะเกิดความเข้มแข็งกันด้วยสำนึกร่วมกันเท่านั้น

ดังนั้นภายใต้การดำเนินงานของชุมชนสามัคคีพัฒนา โดยการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กลุ่มออมทรัพย์ ขอให้สัญญาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมายที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้โดยมิได้หวังผลจากการออมทรัพย์ของท่านสมาชิกแต่อย่างใด

คณะกรรมการได้จัดประเภทการออมทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. ออมทรัพย์กิตติมศักดิ์
    การออมทรัพย์ประเภทนี้สำหรับผูที่ให้การสนับสนุนชุมชนสามารถ ตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของประเทศได้
  2. การออมทรัพย์ประเภทออมทรัพย์
    การออมทรัพย์ประเภทนี้สำหรับบุคคลที่เป็นสมาชิกกลุ่ม และเป็นบุคคลทั่วไป เพื่อร่วมสร้างความเข็มแข็งให้สังคมและตัวเอง

การออมทรัพย์ประเภทออมทรัพย์

  1. เงินออมประเภทนี้รับออมแค่ผู้เป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ และบุคคลทั่วไป
  2. วิธีการร่วมออมโดยบอกวิธีการรับเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์
  3. การออมทรัพย์กับกลุ่มออมทรัพย์นี้ไม่มีดอกเบี้ย
  4. การชำระเงินออมครั้งแรกต้องไม่ต่ำกว่า 100 บาท ต่อ 1 หุ้น
  5. เงินออมครั้งต่อไปต้องไม่ต่ำกว่า 10 บาท ต่อ 1 หุ้น
  6. เงินประเภทออมทรัพย์นี้ ผู้ออมต้องเอาเงินเข้าออมเป็นประจำทุกเดือน
  7. ให้ผู้ออมนำเงินส่งเจ้าหน้าที่ได้เฉพาะวัน เสาร์และวันอาทิตย์ต้นเดือน
  8. ระยะเวลาการออมของเงินออมประเภทนี้จะต้องออมได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนจึงจะใช้สิทธิ์ต่าง ๆ ได้
  9. การฝาก การถอน ใช้สมุดออมทรัพย์พร้อมบัตรสมาชิก
  10. การปิดปิดบัญชีด้วยเหตุเสียชีวิต ให้ญาตินำใบมรณะบัตร (ใบตาย) บัตรสมาชิก สมุดออมทรัพย์มาแสดง
  11. การขาดออมเงินงวดใดผู้ออมต้องนำส่งเงินออมงวดที่ขาดให้ครบพร้อมเงินออมงวดปัจจุบัน

การหมดสมาชิกสภาพกลุ่มออมทรัพย์

  1. ตายหรือย้ายที่อยู่ที่ไม่สามารถนำส่งเงินออมได้
  2. ลาออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์

สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ออมทรัพย์ประเภทออมทรัพย์

  1. สิทธิในการกู้ยืม (ไม่มีดอกเบี้ย)
  2. สิทธิในการรับทุนไปประกอบพิธีฮัจย์ฟรี
  3. สิทธิในเงินปันผลจากการดำเนินงานหาประโยชน์จากเงินที่เกินสภาพคล่อง

ประเภทเงินกู้

  1. เงินกู้เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจของสมาชิกในชุมชน
  2. เงินกู้เพื่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
  3. เงินกู้เพื่อไถ่ถอนหนี้นอกระบบ
  4. เงินกู้เพื่อประกอบอาชีพสำหรับผู้ว่างงาน
  5. เงินกู้ฉุกเฉิน (ตาย ประสบอุบัติเหตุ)

คุณสมบัติ

  1. เป็นสามาชิกกลุ่มออมทรัพย์ประเภทออมทรัพย์ และมีระยะเวลาการออมไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
  2. ต้องเป็นผู้มีประวัติการออมสม่ำเสมอ
  3. ต้องเป็นผู้ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนที่จัดขึ้น
  4. ต้องไม่เป็นผู้ที่ทำผิดกฏหมาย หรือศีลธรรมอยู่เป็นเนือง ๆ
  5. ต้องไม่เป็นลูกหนี้ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในชุมชน

ระเบียบเงินกู้ประเภทต่าง ๆ

  1. ยอดเงินที่กู้ต้องไม่เกิน 3 เท่าของยอดเงินยอม
  2. ต้องมีผู้ค้ำประกัน 2 ท่าน ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์ และไม่ได้เป็นลูกหนี้กลุ่ม
  3. ต้องทำหนังสือขอกู้ หนังสือสัญญาเงินกู้ สัญญาผู้ค้ำประกัน
  4. การจัดลำดับผู้กู้ให้จัดลำดับตามวันในหนังสือขอกู้
  5. ท่านจะต้องใช้เงินที่ขอกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ขอกู้
  6. การขอกู้สำหรับผู้เป็นลูกหนี้ของกลุ่มจะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อได้ชำระคือเงินกู้เกิน 80 %

วิธีปฏิบัติการขอกู้

  1. ยื่นคำขอกู้ตามแบบของกลุ่มอื่นกับฝ่ายเงินกู้ (สินเชื่อ) พร้อมบัตรสมาชิก
  2. รอการพิจารณาจากประธานกลุ่ม และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่ออนุมัติให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน ยกเว้นการกู้ฉุกเฉินให้อยู่ในดุลยพินิจของปรานกลุ่ม
  3. ทำสัญญาเงินกู้ ทำสัญญาค้ำประกัน ให้เสร็จภายใน 5 วัน
  4. จ่ายเงินให้ผู้กู้ โดยผู้กู้จะต้องเป็นผู้รับมาเอง

การชำระเงินกู้

  1. การชำระคืนเงินกู้ท่านต้องชำระด้วยเงินสดเท่านั้น
  2. วันรับชำระเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์เท่านั้น
  3. การชำระคืนเงินให้ชำระตามงวดที่ตกลงไว้ในสัญญาเงินกู้
  4. การชำระคืนเงินให้ใช้สมุดเงินกู้ยืมต่อฝ่ายเงินกู้
  5. การชำระคืนเงินกู้ วงเงินไม่เกิน 10000 บาท ต้องชำระคืนภายใน 1 ปี ถ้าเกินกว่า 10000 บาท ให้อยู่ในดุลยพินิจของกรรมการ

สิทธิในรับทุนประกอบพิธีฮัจย์

  1. ท่านจะขอใช้สิทธินี้ได้ก็ต่อเมื่อมีเงินออมที่เกินกว่าสภาพคล่อง 5 %
  2. ผู้ขอใช้สิทธิจะต้องไม่เคยประกอบพิธีฮัจย์มาก่อน
  3. จะต้องเป็นผู้ผ่านการอบรมการทำฮัจย์จากกลุ่ม หรือสถาบันอื่น ๆ ที่ให้การอบรม

การเสียสิทธิในการกู้ยืมเงิน

  1. ไม่ชำระเงินกู้ให้ตรงตามสัญญาการชำระเงินคืน
  2. มีการกระทำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดร้ายแรง เช่น ยาบ้า ผงขาว
  3. มีการกระทำผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง

ระเบียบวินัยการปฏิบัติงานของฝ่ายต่าง ๆ

  1. ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
  2. ต้องใช้คำพูด และกิริยาที่สุภาพอ่อนน้อมต่อผู้มาติดต่อ
  3. สร้างความเป็นกันเองกับผู้มาติดต่อทุกระดับโดยเท่าเทียมกัน
  4. ต้องปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในระเบียบที่กำหนด
  5. การปฏิบัติงานที่ผิดระเบียบ หรือวินัย ให้พิจารณาตัวเองภายใน 2 วัน
  6. ให้ความสะดวกด้านต่าง ๆ แก่ฝ่ายที่ร้องขอ และฝ่ายตรวจสอบ
  7. ให้ชี้แจ้งข้อขัดข้องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน

ระเบียบเงินออมประเภทเงินออมกิตติมศักดิ์

  1. การออมประเภทนี้ท่านจะต้องออมเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
  2. การออมให้วิธีปฏิบัติ เช่น เดียวกับเงินออมประเภทออมทรัพย์
  3. เงินออมประเภทนี้ไม่มีค่าตอบแทน
  4. เงินออมประเภทนี้ผู้ออมจะบริจาคให้กลุ่มเพื่อให้การสนับสนุนก็ได้

ระเบียบการเงิน
ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินจะต้องถือปฏิบัติ

  1. ทุกฝ่ายที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินมีสิทธิรักษาเงินได้ไม่เกิน 1000 บาท ในวันที่ปฏิบัติหน้าที่ ยกเว้นฝ่ายตรวจสอบให้เก็บรักษาเงินได้ไม่เกิน 5000 บาท
  2. เงินที่เกินกว่าที่ระเบียบกำหนดไว้ในข้อ 1 ให้นำฝากสถาบันการเงิน (ธนาคาร)
  3. ฝากเงินกับสถาบันการเงิน และการถอนเงินในกลุ่มหน้าที่ของฝ่ายเหรัญญิกและฝ่ายบัญชี และประธานกลุ่ม

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น