กล้วยน้ำว้าเป็นพืชบ้านที่ทุกคนรู้จักดี เพราะปลูกง่ายโตเร็ว ออกดอก ให้ผลแล้วก็จากไปพร้อมกับทิ้งทายาทใหม่โดยขยายพันธุ์ด้วยหน่อไว้มากมาย กล้วยน้ำว้าจัดเป็นผลไม้ เป็นผัก เป็นอาหารคาว อาหารหวาน อาหารว่าง ได้ทุกประเภทอาหารเพราะส่วนต่างๆ ของกล้วยใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น ใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นภาชนะ เป็นวัสดุอุปกรณ์ เป็นของเล่น และเป็นส่วนสำคัญในพิธีกรรมต่างๆหลายอย่าง กล้วยทุกสถานะไม่ว่าดิบ ห่าม หรือสุก สามารถนำมาประกอบอาหาร ได้หลายรูปแบบ และรสชาติความอร่อยก็ไม่ซ้ำแบบกัน ตัวอย่างเช่น กล้วยน้ำว้าสุกงอม นำมาครูดหรือขูดเบาๆ สามารถใช้เป็นอาหารเริ่มต้นที่ดีสำหรับเด็กทารก เนื่องจากย่อยง่าย ช่วยระบายท้อง ส่วนกล้วยน้ำว้าดิบและห่าม นำมาใช้ทำแกงคั่ว ทำกล้วยฉาบ ปิ้ง นึ่ง ทอด อบ กวน และเชื่อม สำหรับกล้วยน้ำว้าสุก ก็จะนำมาทำเป็นของหวาน เช่น กล้วยบวชชี กล้วยแขก กล้วยตาก ขนมกล้วย นอกจากนั้นแล้วส่วนที่เป็นดอกกล้วย หรือที่เรียกว่า หัวปลี สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของแกงเลียง ใช้เป็นอาหารบำรุงน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอด หรือใช้ใส่ต้มข่า ต้มยำ ยำหัวปลี หรือลวกและเผาจิ้มน้ำพริก ตลอดจนใช้เป็นเครื่องเคียง ผัดไทย ผัดหมี่ เต้าเจี้ยวหลน กะปิหลน ขนมจีนน้ำพริก ก็ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยมากยิ่งขึ้นได้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Musa ABB cv. Kluai Namwa
ชื่อวงศ์: MUSACEAE
ชื่อสามัญ: Banana
ชื่ออื่น : กล้วยมะลิอ่อง (จันทบุรี) กล้วยใต้ (เชียงใหม่, เชียงราย) กล้วยอ่อง (ชัยภูมิ) กล้วยตานีอ่อง (อุบลราชธานี)
ลักษณะทั่วไป:
ต้น พืชล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ 3.5 เมตร ลำต้นที่อยู่เหนือดิน รูปร่างกลม กาบเรียงเวียนซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม สีเขียวอ่อน ลำต้นสั้นอยู่ใต้ดิน
ใบ ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 25-40 ซม. ยาว 1-2 เมตร ปลายใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ด้านล่างมีนวลสีขาว เส้นใบขนานกันในแนวขวาง ก้านใบเป็นร่องแคบ
ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอดห้อยลง เรียกว่า หัวปลี มีใบประดับขนาดใหญ่หุ้มสีแดงเข้ม เมื่อบานจะม้วนงอขึ้น ด้านนอกมีนวล ด้านในเกลี้ยง
ผล รูปรี ยาว 11-13 ซม. ผิวเรียบ ปลายเป็นจุก เนื้อในมีสีขาว พอสุกเปลือกผลเป็นสีเหลือง เนื้อมีรสหวาน รับประทานได้ หวีหนึ่งมี 10-16 ผล
เมล็ด บางครั้งมีเมล็ด เมล็ดกลม สีดำ
กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยพันธุ์หนึ่ง พัฒนามาจากลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี บริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปลูกง่าย รสชาติดี สำหรับกล้วยน้ำว้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้าทั้งผลสด ต้ม ปิ้ง และนำมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีกล้วยน้ำว้าดำ ซึ่งเปลือกมีสีครั่งปนดำ แต่เนื้อมีสีขาว รสชาติอร่อยคล้ายกล้วยน้ำว้าขาว สำหรับกล้วยตีบเหมาะที่จะรับประทานผลสด เพราะเมื่อนำไปย่าง หรือต้มจะมีรสฝาด
กล้วยแบ่งออกตามลักษณะได้ 3 กลุ่มดังนี้คือ
1. กล้วยน้ำว้าไส้แดง โดยมีคุณสมบัติดังนี้ ผลดก ไส้กลวงแข็ง, รสฝาด ทำกล้วยบวชชีไม่ดี เหมาะทำกล้วยเชื่อม, ข้าวต้มมัด ทำกล้วยตากสีจะคล้ำเหมือนกล้วยเก่า ทำกล้วยอบน้ำผึ้งได้ โดยรวมแล้วกล้วยน้ำว้าไส้แดงเหมาะกับการแปรรูปมากกว่าทานสดเพราะไส้แข็งไม่เละง่าย
2. กล้วยน้ำว้าไส้เหลือง เช่น พันธุ์ปากช่อง 50 ที่เหมาะสมทั้งการทานสดและแปรรูป เหมาะสำหรับกินสด แปรรูปกล้วย, กล้วยอบสีเหลืองตาก เชื่อม, บวชชี, กล้วยทอด, แป้งกล้วย โดยรวมแล้วกลุ่มนี้เหมาะสมทั้งการทานสดและแปรรูปจึงเหมาะกับเชิงการค้ามากที่สุด
3. กล้วยน้ำว้าไส้ขาว เช่นพันธุ์กล้วยกาบขาวสุพรรณบุรี หรือกล้วยน้ำว้าท่ายาง, กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ไส้ขาว ผลป้อม, อ้วน, ทำกล้วยตาก, อบกรอบ เปลือกบาง, เนื้อสีจำปา, สุกเนื้อเหนียว , ไม่หยาบ, รสหวาน, กลิ่นหอม โดยส่วนใหญ่แล้วกลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้ขาวนี้เหมาะสมกับการทานสดมากกว่า เพราะว่าไส้เละง่ายจัดการแปรรูปลำบาก
คุณค่าทางอาหารและยา
กล้วยน้ำว้าเมื่อเทียบกับกล้วยหอมและกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้าจะให้พลังงานมากที่สุด กล้วยน้ำว้าห่ามและสุกมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กินกล้วยน้ำว้าสุก จะช่วยระบายท้องและสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยกินวันละ 4-6 ลูก แบ่งกินกี่ครั้ง ก็ได้ กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี เห็นผลได้ใน 1 สัปดาห์ กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคตินมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษา อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ 1 ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย
สารเคมีที่พบ :
การปลูกกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยที่นิยมบริโภคในประเทศมีคุณค่าทางอาหาร เหมาะสมสำหรับการรับประทานทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ปลูกค่อนข้างง่าย
การคัดเลือกพันธุ์ปลูก กล้วยขนาดพันธุ์โดยใช้หน่อ หน่อมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่
หน่อที่ควรเลือกควรเป็นหน่อใบแคบที่เกิดชิดโคนต้นแม่ เลือกหน่อที่มีลักษณะอวบสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นต้นกล้วยที่แข็งแรงให้ผลผลิตที่ดีต่อไปข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ หน่อที่แข็งแรงควรจะมีเหง้าอยู่ใต้ดินรากลึก ส่วนหน่อที่โผล่ลอยอยู่บนผิวดินนั้นเป็นหน่อที่ไม่แข็งแรง ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรเลือกหน่อเหล่านี้
เมื่อเลือกหน่อที่ดีได้แล้ว ในการแยกหน่อออกจากต้นแม่ควรกระทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้ช้ำ เวลาขุดหน่อไม่ควรโยกหน่อให้กระเทือน เมื่อขุดหน่อขึ้นมาแล้วใช้มีดตัดรากออกให้เกลี้ยง เพื่อให้รากใหม่แตกออก มาแทนรากเก่า ซึ่งจะทำให้แข็งแรงหน่อที่ได้ถ้ามีใบมากเกินไป หรือมีใบที่เสียหาย ก็ควรตัดแต่งเอาใบที่เสียหายหรือมากเกินไปออก บางครั้งถ้าหน่อสูงมากเกินไป ก็สามารถจะเฉือน ทอนลำต้นลงได้ แต่ควรกระทำก่อนแยกหน่อออกจากต้นแม่ หน่อที่แยกออกจากต้นแม่นี้ สามารถนำไปปลูกได้ทันที แต่ถ้ายังไม่พร้อมที่จะปลูก ควรนำมาไว้ในร่มและชื้นก่อน
เคล็ดลับในการปลูกกล้วยน้ำว้า
1. การปลูกกล้วยในฤดูฝนควรพูนดินกลบโคนต้นให้สูงไว้เพื่อป้องกันน้ำขัง ส่วนในการปลูกในฤดูอื่นๆ ไม่ควรพูนดินกลบโคนให้สูงนัก เพราะไม่ต้องการให้น้ำไหลออก
2. ถ้าต้องการให้กล้วยออกปลีไปทิศทางเดียวกันควรหันรอยแผลที่เกิดจากการแยก
วิธีปลูก:
ระยะปลูก:
2.5 x 3 เมตร , 2.5 x 2.5 เมตร
จำนวนต้นต่อไร่: จำนวนต้นเฉลี่ย 200 ต้น/ไร่ , 250 ต้น/ไร่
การดูแลรักษา
การใส่ปุ๋ย:
ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 15-15-15 อัตรา 1 กิโลกรัม ต้น/ปี โดยแบ่งใส่ 4 ครั้ง ๆ ละ 250 กรัม ดังนี้
ครั้งที่ 1 ใส่หลังปลูก 1 สัปดาห์ ใช้สูตร 15-15-15
ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากครั้งที่ 1 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 15-15-15
ครั้งที่ 3 ใส่หลังจากครั้งที่ 2 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 15-15-15
ครั้งที่ 4 ใส่หลังจากครั้งที่ 3 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 13-13-21
การให้น้ำ:
ปริมาณของน้ำนั้นขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ความชุ่มชื้นของดิน ปริมาณลมที่พัดผ่านจะทำให้การคายน้ำมาก จึงไม่ควรปล่อยให้ผิวหน้าดินแห้งติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากรากจะหาอาหารอยู่บริเวณผิวดิน จึงทำให้หยุดชะงักการเจริญเติบโต
การตัดแต่งหน่อ:
ตัดแต่งหน่อหลังจากปลูกประมาณ 3-4 เดือน จะมีหน่อขึ้นมารอบ ๆ โคนให้ตัด ไปเรื่อยจนกว่าจะเริ่มออกปลี หรือหลังปลูกแล้วประมาณ 7-8 เดือน ควรมีการไว้หน่อทดแทน 1-2 หน่อ โดยหน่อที่ 1 และที่ 2 ควรมีอายุห่างกันประมาณ 4 เดือน เพื่อให้ผลกล้วยมีความอุดมสมบูรณ์ โดย เลือกหน่อที่อยู่ในทิศทางที่ตรงกันข้าม
การตัดแต่งใบ:
ควรตัดแต่งใบช่วงที่ต้นเริ่มโตจนถึงเก็บเกี่ยว โดยเลือกใบแก่ และใบที่เป็นโรคออก ตัดให้เหลือประมาณ 7-12 ใบ เพื่อป้องกันต้นกล้วยโค่นช่วงออกปลี เพื่อใช้ใบปรุงอาหาร และเพิ่มความเจริญเติบของผลกล้วย
การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวกล้วยระยะใดขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการขนส่ง หากขนส่งไปขายไกล ๆ อาจตัดกล้วยเมื่อความแก่ประมาณ 75% การดูลักษณะความอ่อนแก่ของกล้วย อาจดูจากลักษณะผล เช่น ดูขนาดลูกกล้วย เหลี่ยมกล้วย หรือใช้วิธีการนับอายุจากวันแทงปลี หรือวันตัดปลีในการตัดจะต้องพิจารณาถึงต้นสูงหรือเตี้ย ถ้าสูงก็ให้ตัดบริเวณโคนต้น เพื่อให้ต้นเอียงลงมา โดยให้อีกคนหนึ่งจับหรือรับเครือกล้วยไว้ จะต้องเหลือก้านให้ยาวพอสมควร นำไปยังโรงเรือนเพื่อคัดขนาดบรรจุต่อไป
การปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว
นำเครือกล้วยแขวนไว้บนราว ปล่อยให้ยางไหลจนแห้ง
ทำความสะอาดถูกผลหรือบริเวณปลายผลที่มีกลีบแห้งติดอยู่ออกให้หมด แยกเครือกล้วยออกเป็นหวี ๆ อย่างระมัดระวังอย่าให้รอยตัดช้ำ คัดเลือกผลที่มีรอยตำหนิ หวีที่ไม่ได้ขนาดออก จุ่มในน้ำผสมสารไธอาเมนตาโซล แล้วผึ่งลมหรือเป่าให้แห้ง บรรจุหีบห่อ/บรรจุลงเข่งโดยมีใบตองรอง เพื่อป้องกันบอบช้ำ
การปลูกกล้วยเพื่อเพิ่มผลผลิตและประหยัดพื้นที่
เกษตรกรหลาย ๆ ท่านที่ได้ทำการปลูกกล้วยน้ำว้า ส่วนใหญ่จะปลูกกล้วยได้ 400 ต้น ในพื้นที่จำนวน 1 ไร่ แต่ในส่วนของคุณบุญส่ง อังคาสัย เกษตรกรผู้ทำสวนผสมผสานในพื้นที่จังหวัดสระบุรี นั้น สามารถปลูกกล้วยได้ถึง 1,600 ต้น ในพื้นที่ 1 ไร่ เท่ากับเกษตรกรรายอื่น ๆ โดยคุณบุญส่งบอกว่า ในการปลูกกล้วยแบบนี้ จะช่วย เพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ เป็นการประหยัดพื้นที่ได้ดีอีกด้วย โดยจะปลูกตามวิธีการและรายละเอียดดังนี้
เทคนิคการปลูกกล้วยเพื่อเพิ่มผลผลิตและประหยัดพื้นที่
***การปลูกกล้วย ในระยะ 1*1 เมตร จะช่วยให้ประหยัดเนื้อที่ในการปลูก ช่วยให้มีผลผลิต ขายได้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ จะช่วยป้องกันวัชพืชได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เพราะถ้าปลูกกล้วยในระยะ ชิด ๆ อย่างนี้ ใบของกล้วย จะให้ร่มเงา และควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชได้เป็นอย่างดีทั้งนี้วิธีการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อขนาดและคุณภาพของกล้วย
กล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50
สถานีวิจัยปากช่อง เป็นสถานีที่วิจัยงานทางด้านไม้ผลเขตร้อนของมหาวิทยาลัย- เกษตรศาสตร์มากว่า 50 ปี กล้วยเป็นไม้ผลที่ทางสถานีฯให้ความสนใจได้รวบรวมและทำงานวิจัยมาช้านาน ในวาระครบรอบ 50 ปีของสถานีฯ ในปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา ทางสถานีฯได้เปิดตัวกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ กล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 ที่เกิดจากการคัดเลือกสายพันธุ์กล้วยน้ำว้าไส้เหลืองที่เก็บรวบรวมพันธุ์ไว้ที่สถานีฯกว่า 10 สายพันธุ์ โดยพบว่าสายพันธุ์ที่คัดเลือกได้นี้มีคุณสมบัติที่เหมาะในการปลูกเพื่อการค้า ลักษณะเด่นคือ เครือใหญ่น้ำหนักเครือมากกว่า 30 กิโลกรัม(ไม่รวมก้านเครือ) จำนวนหวีมากกว่า 10 หวี จำนวนผลต่อหวีประมาณ 18 ผล ผลกล้วยใหญ่อ้วนดีน้ำหนักผลโดยเฉลี่ยประมาณ 140 กรัม/ผล ไส้กลางไม่แข็งออกสีเหลืองเนื้อแน่นเมื่อสุกมีความหวานประมาณ 26 %Brix แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกลับการดูแลรักษาเนื่องจากกล้วยเป็นไม้ผลที่ตอบสนองได้ดีกลับสภาพอากาศ ดินและปุ๋ยเป็นอย่างมาก หากการดูแลรักษาไม่ดีขาดน้ำ ขาดปุ๋ย สภาพพื้นที่แห้งแล้งเกินไป กล้วยพันธุ์นี้จะให้ผลผลิตเพียง 7-8 หวีเท่านั้นแต่ผลยังอ้วนใหญ่ไส้กลางไม่แข็งเนื้อยังแน่นเหมือนเดิม ดังนั้นการนำกล้วยสายพันธุ์นี้ไปปลูกให้ได้ได้ผลคุ้มค่าสูงสุดจึงจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาที่ดีควบคู่ไปด้วย
ต้นกล้วยที่ได้รับจากสถานีฯจะเป็นต้นกล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีความสูงมากกว่า 15 ซม. ซึ่งสามารถลงปลูกในแปลงปลูกได้เลย ข้อดีของการใช้ต้นกล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือ ขนย้ายต้นพันธุ์สะดวก ต้นพันธุ์ปลอดจากโรคและแมลงที่เป็นปัญหาในปัจจุบันได้แก่โรคตายพราย และหนอนกอ การเก็บเกี่ยวทำได้พร้อมกันจำนวนมาก ส่วนการให้ผลผลิตจะเร็วหรือช้ากว่าหน่อพันธุ์ขึ้นอยู่กับขนาดต้นพันธุ์และการดูแลรักษา
การปลูกและดูแลรักษา
ใช้ต้นกล้วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีขนาดตั้งแต่ 15 ซม.ขึ้นไป การเตรียมแปลงให้เตรียมหลุมขนาด 50x50x50 ซม.(หลุมปลูกขนาดใหญ่ การขึ้นโคนของต้นกล้วยที่ทำให้ต้นกล้วยล้มจะช้ากว่าหลุมขนาดเล็ก) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2-3 กก./หลุม (ห้ามใช้ขี้วัวเพื่อป้องกันหนอนกอระบาด) ปลูกต้นกล้วยกลบดินให้สูงจากโคนประมาณ 5 ซม. รดน้ำให้ชุ่มและอย่าให้น้ำขังเกิน 3 วันต้นจะตาย เมื่อต้นโตครบ 1 เดือนให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 100-150 กรัม/ต้น โรยรอบโคนและรดน้ำตาม ในช่วงนี้ต้องถากหญ้ารอบโคนให้สะอาดและรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอต้นกล้วยจะตั้งตัวได้เร็ว เมื่อต้นกล้วยเริ่มแตกใบใหม่และลอกกาบเก่าทิ้งให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรอบโคนและสับปุ๋ยผสมกับดิน หรือใส่ปุ๋ยสูตรเสมอตามอัตราข้างต้น จนครบเดือนที่ 4 ต้นกล้วยจะเจริญเติบโตสูงใหญ่เทียบเท่ากับหน่อพันธุ์ ในเดือนนี้ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ถ้าไม่มีใส่ปุ๋ยสูตรเสมอก็ได้ และจะใส่ทุกๆ 3 เดือนจนกระทั่งเก็บเกี่ยว การให้น้ำจะให้อาทิตย์ละ 1-2 ครั้งตามสภาพอากาศ การกำจัดวัชพืชหลังจาก 4 เดือนสามารถใช้สารเคมีจำจัดวัชพืชกลุ่ม พาราควอต ได้แต่พยายามอย่าให้โดนใบโดยเฉพาะใบอ่อนเพราะจะทำให้ชงักการเจริญเติบโตหรือถึงตายได้ การขยายพันธุ์สามารถใช้หน่อจากต้นปลูกขยายต่อไปได้เลย
การซื้อหรือสั่งจองต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้าปากช่อง ๕๐
ต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้าปากช่อง ๕๐ สามารถซื้อหรือสั่งจองได้ที่ สถานีวิจัยปากช่อง อ.ปากช่อง นครราชสีมา ๓๐๑๓๐ โทร. ๐๔๔-๓๑๑-๗๙๖ แฟกซ์ ๐๔๔-๓๑๓-๗๙๗ และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ไร่สุวรรณ อ. ปากช่อง นครราชสีมา
หลุมพอเพียง ใช้กล้วยเป็นไม้เบิกนำ
ป้ายคำ : สมุนไพร, เกษตรประณีต