กะทกรก พืชคลุมดินกลิ่นเหม็นเขียว

1 ธันวาคม 2557 ไม้เลื้อย 0

กะทกรก เป็นสมุนไพรประเภทไม้เถาล้มลุก ลำต้นมีริ้วและขนสั้นนุ่มกระจาย มีขนต่อมยาวตามหูใบ ก้านใบ และแผ่นใบ หูใบเป็นชายครุย แฉกลึก ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กว้างหรือแกมรูปขอบขนาน มีต่อมน้ำต้อยใกล้ขอบใบกระจาย ใบประกอบ 2-4 ใบ คล้ายเส้นด้าย มีต่อมที่ปลาย ดอกสีขาวหรืออมม่วง มีก้านชูเกสรร่วม เกสรเพศผู้ 5-8 อัน รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมีย 3-4 อัน ผลมีเนื้อหลายเมล็ด รีกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ซม. เกลี้ยง เมล็ดจำนวนมาก

ชื่อสามัญ : Stinking Passion Flower
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Passiflora foetida L.
ชื่อวงศ์ : PASSIFLORACEAE
ชื่อพื้นเมือง : กระโปรงทอง (ภาคใต้), เคือขนตาช้าง (ศรีสะเกษ), ตำลึงฝรั่ง (ชลบุรี), เถาสิงโต เถาเงาะ (ชัยนาท), ผักแคบฝรั่ง (ภาคเหนือ), หญ้ารกช้าง (พังงา), กะทกรก (ภาคกลาง), ผักขี้หิด (เลย), เยี่ยววัว (อุดรธานี), ละพุบาบี (มลายู-นราธิวาส, ปัตตานี), หญ้าถลกบาต (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์)

ลักษณะ
ไม้เถาเนื้ออ่อน ไม้เลื้อยล้มลุกมีมือเกาะ ต้นและใบมีขน ใบเป็นใบเดี่ยวแผ่กว้าง ขอบใบจักลึกแยกเป็น 3 แฉกใหญ่ กว้าง 8-12 ซม. ยาว 8-13 ซม. โคนใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ก้านใบยาว 3-4 ซม. ดอกสีขาว ด้านในเป็นวงสีม่วง ออกเดี่ยวตามซอกใบ มีใบประดับแตกแขนงเป็นริ้ว 3 ใบ ซึ่งจะติดหุ้มผลไม่หลุดร่วง กลีบรองดอกและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ รูปไข่กลับคล้ายกัน กลีบรองดอกเรียงอยู่ด้านนอก กลีบดอกอยู่ด้านใน ตรงกลางดอกมีกลีบลดรูปจำนวนมากเรียงรายเป็นวงชั้นพิเศษ ที่โคนมีสีม่วงที่ปลายสีขาวแตกเป็นสองง่าม เกสรผู้ 5 อัน เกสรเมียปลายยอดเปน 3 แฉก ผลเป็นผลสดรูปกลมขนาด 1.5-2 ซม. สีเขียวเมื่อแก่สีส้ม เมล็ดมีจำนวนมาก รูปไข่สีดำ เมล็ดมีเนื้อหุ้มลักษณะคล้ายเมล็ดแมงลักแช่น้ำ รสหวานปะแล่มๆ ทุกส่วนของพืชนี้เมื่อขยี้หรือทำให้ช้ำจะมีกลิ่นเหม็นเขียว

katogrogbai katogrogdoks katogrogpol katogrogpon katogrogpons katogrogmed

ประโยชน์
นำมาปลูกเป็นพืชคลุมดินและทำปุ๋ยหมัก เนื่องจากมีกลิ่นเหม็นเขียวจึงป้องกันไม่ให้สัตว์มาทำลายได้ ยอดอ่อนต้มกินได้

โทษ
ผลอ่อนเป็นพิษเพราะมี cyanogenetic glucoside เปลือกผล เมล็ด และใบมีสารที่ไม่คงตัว เมื่อสารนี้สลายตัวจะให้ acetone และ hydrocyanic acid ซึ่งสารตัวหลังนี้เป็นสารพิษ ทำให้เม็ดโลหิตแดงขาดออกซิเจน ผลทำให้เกิดการอาเจียน

ในแพทย์พื้นบ้าน เวียตนาม ใช้ใบกะทกรก เป็นยาสงบระงับ จ่ายในผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลและเครียด โดยใช้ใบแห้ง 10-15 กรัมต่อวัน นำมาต้ม นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบชาชง สารสกัดเหลว หรือไซรับ และส่วนรากซึ่งใช้แก้ความดันโลหิตสูง สรรพคุณทางยาพื้นบ้าน ไทย ใช้เถาและรากสด ต้มเป็นยาแก้ปัสสาวะขุ่นข้น สำหรับการวิจัย ค้นพบว่า ใบอ่อนและผลอ่อนสีเขียวซึ่งเป็นผลที่ยังไม่สุก

มีสารประกอบไซยาไนด์คือ ไซยาโนจีนิก ไกลโคไซด์ อีกรายงานพบว่าใบมีกรดไฮโดรไซยานิก ความร้อนที่นานพอ จึงจะมีผลทำลายสารประกอบไซยาไนด์ดังกล่าว ในงานวิจัยของคณาจารย์ คณะเภสัชศาสตร์ ใช้ส่วนลำต้นและใบ นำมาประเมินคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีโดยอ้างอิงวิธีการตามเภสัชตำรับสมุนไพรไทย นำมาสกัดด้วยวิธีการสกัดต่อเนื่องโดย เครื่องสกัดต่อเนื่อง ด้วยเอธาทอล 95% ได้ปริมาณสารสกัดเท่ากับ 23.37% โดยน้ำหนัก สารสกัดที่ได้เป็นของเหลวข้นหนืด สีน้ำตาล มีกลิ่นเฉพาะตัว

katogrogtao

ในการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดกระทกรกต่อการทำงานของระบบประสาทในสัตว์ทดลองนั้นใช้หนูตัวผู้พันธุ์วิสตาร์น้ำหนักอยู่ในช่วง 180-220 กรัม ให้สารสกัดทางปาก เป็นเวลา 28 วัน พบว่าสารสกัดกระทกรกมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางอย่างกว้างขวางสามารถระงับความวิตกกังวล ลดอาการซึมเศร้า ลดอาการความจำบกพร่องและเพิ่มความหนาแน่นของเซลล์ประสาทในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์ทำให้สงบระงับได้

katogrogtaw

จะเห็นว่าฤทธิ์สารสกัดกระทกรกต่อระบบประสาทส่วนกลางที่พบในครั้งนี้ค่อนข้างครอบคลุมอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบมากในผู้สูงอายุ การพัฒนาสารสกัดกะทกรกด้วยเอทานอลในรูปแบบของยาเม็ดขนาด 125 มิลลิกรัมต่อเม็ด ได้ยาเม็ดที่มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของการผลิตยาจากสมุนไพร และสารสำคัญยังมีความคงตัวอยู่ภายหลังการผลิต การผลิตใช้กรรมวิธีการทำแกรนูลเปียก ยาเม็ดที่พัฒนาได้ ประกอบด้วยสารสกัดกะทกรก 25.28 % corn starch 55.62 %, microcrystalline cellulose 8.10 %, pregelatinized starch 8.10 %, และสารอื่น

katogrogdok

ที่มา
ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
คอลัมน์ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้เลื้อย

แสดงความคิดเห็น