ต้นกะพ้อ เป็นพืชตระกูลปาล์ม ชอบขึ้นอยู่ในป่าพรุ เป็นปาล์มที่แตกหน่อเป็นกอ แทงช่อดอกออกลูกสุกแดงทุกปี ในป่าธรรมชาติปัจจุบันเหลือน้อย กะพ้อใช้ประโยชน์จากใบ ยอดอ่อน มาห่อขนม ที่เรียกว่าต้มใบพ้อ และยังสามารถนำใบแก่มาใช้ประโยชน์ในการสานเครื่องใช้ในบ้าน เช่นทำหมวก ทำพัด
กะพ้อเป็นไม้ยืนต้นตระกูลปาล์มแตกหน่อเป็นกอรอบบริเวณโคนต้น ใบเดี่ยวรูปใบพัดเรียงเวียนโดยรอบลำต้น ก้านใบยาว ขอบก้านใบมีหนามแข็ง บางโค้ง ดอกช่อแตกจากยอดหรือซอกใบ ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 2 เมตร ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ผลสดแบบมีเนื้อ เมล็ดเดียว ผลแก่สีเขียว
ชื่อสามัญ : Fan palm
ชื่อวิทยาศาสตร์ Licuala spinosa Thumn.
ตระกูล : PALMAE
ชื่อพื้นเมือง กะพ้อ (ภาคกลาง) ต้นพ้อ(ภาคใต้-พัทลุง)
ถิ่นกำเนิด : ทางภาคใต้ของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ลักษณะ
ประเภทของใบกะพ้อ
มี 3 ประเภท คือ ใบกะพ้อแดง ใบกะพ้อเขียว และใบกะพ้อขาว หรือกะพ้อสี่สิบ
กะพ้อแดง
ชื่อท้องถิ่น : พ้อพรุ กะพ้อแดง เป็นพืชพวกปาล์ม แตกหน่อขึ้นรวมกันเป็นหมู่ใหญ่ในป่าพรุ ลำต้นสูง 3-5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร ใบ เป็นใบประกอบรูปฝ่ามือเรียงเวียนสลับ แผ่นใบค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 100-150 เซนติเมตร สีเขียวมีใบย่อยมาก ก้านใบสีเหลืองส้มยาว 100-200 เซนติเมตร ขอบก้านมีหนามงอสั้นๆยาว 1-3 เซนติเมตร เรียงเป็นระเบียบจากใหญ่ไปหาเล็ก ช่อดอก เป็นช่อแยกแขนงกาบหุ้มช่อดอกรูปห่อ 3-5 กาบ ดอกสีขาวแก้มเขียว รังไข่แยกกัน 3 อัน ผล กลมสีแดงถึงดำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร
กะพ้อเขียว
ชื่อท้องถิ่น : ขวน กะพ้อเขียว ลักษณะคล้ายกะพ้อแดง ต่างกันที่ขึ้นตามที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ลำธาร และชายขอบพรุ ด้านนอกก้านใบสีเขียวถึงเหลืองแกมเขียว หนามยาว 0.3-1 เซนติเมตร เรียงไม่เป็นระเบียบ ขนาดสั้นยาวเรียงปะปนกัน มีผลเดี่ยวในดอก
กะพ้อสี่สิบ
ชื่อท้องถิ่น : พ้อพรุ ขวน มีลักษณะที่เป็นลำต้นสูง มีความเหนี่ยวและยืดหยุ่น มีลำต้นผอมเหมาะที่จะนำมาทำเป็นด้านมีด จอบ เสียม ต้น เป็น ปาล์ม ลำต้นเตี้ย เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 4-6 เซนติเมตร สูง 4-6 เมตร ลำต้นแตกหน่อเป็น ใบ เป็นใบประกอบรูปฝ่ามือ กาบใบสีส้ม ขอบกาบใบ มี รกเป็นเส้นใยสี น้ำตาลดำหุ้มลำต้น และมีลิ้นใบสี น้ำตาลแดงยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ก้านใบสีเหลืองส้ม ยาว 1-3 เมตร ที่ขอบมีหนามสั้นๆ แผ่นใบสีเขียวค่อนข้างกลม ขนาด 1 x 1เมตร มีใบย่อย 8-12 ใบ
ประโยชน์
ยอดอ่อน(หัวพ้อ) ใช้ประกอบอาหาร ทำแกงเลียง แกงส้ม ต้มจิ้มน้ำพริก ใบอ่อนใช้ห่อข้าวเหนียวเป็นขนมต้ม(ช่วงลากพระ-ออกพรรษา) ใช้ทำพัด(พัดใบพ้อ) ก้านใบใช้ทำตอกมัดกล้าข้าวหน้าดำนา ใช้ทำเสื่อ ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ สรรพคุณด้านสมุนไพร ใช้ยอดอ่อนเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรแก้สะดืออักเสบในลูกวัว (ใช้ยาฉุน 2 ขีด ปูนแดงกินกับหมาก 1ขีด ยอดอ่อนกะพ้อ 2 ขีด น้ำสะอาดพอประมาณไม่เปียกหรือแห้งเกินไป เจ้าของภูมิปัญญานี้ชื่อนายปฏิวัติ ไกรบำรุง อยู่หมู่ที่ 4 ต.บางหมาก อ.เมือง จ.ชุมพร)
กะพ้อเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้งสามารถปลูกในสนามหญ้าเพื่อให้มันแตกกอเป็นพุ่มหรือจะทำเป็นสวนหย่อมก็ได้
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง