กังหันน้ำชัยพัฒนา หรือเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตระหนัก ห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงของปัญหาน้ำเน่าเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ สระน้ำ หนองน้ำ คลอง บึง ลำห้วย ฯลฯ
กังหันน้ำชัยพัฒนา ยังถือเป็นเครื่องกลที่ทำให้ชนรุ่นหลังได้เกิดความคิดต่อยอดกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่สร้างประโยชน์ในแนวทางเดียวกันมากมาย
โรงเรียนพยัคฆภูมิวิทยาคาร เป็นโรงเรียนประจำอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เปิดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา ปัจจุบัน จัดอยู่ในประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
โรงเรียนแห่งนี้มีเยาวชนนักประดิษฐ์ ที่ได้น้อมนำแนวคิดของพระองค์ท่านเพื่อคิดค้นกังหันพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้บำบัดน้ำเสียในบ่อเลี้ยงปลาขนาดเล็ก
คุณศุภกิจ งอกศรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็น 1 ใน 3 คน ของกลุ่มที่คิดอุปกรณ์ชิ้นนี้ เปิดเผยว่า มีแนวคิดต้นแบบจากกังหันชัยพัฒนาของในหลวง แล้วนำมาดัดแปลง เนื่องจากคิดว่าควรจะลองทำกังหันที่มีขนาดเล็กและเบา สะดวกในการเคลื่อนย้าย เหมาะสำหรับชาวบ้านที่มีเนื้อที่บ่อน้ำขนาดไม่ใหญ่
สำหรับจุดเด่นของกังหันน้ำที่เด็กนักเรียนกลุ่มนี้คิดค้นคือ ต้องการให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ฉะนั้น จึงต้องมีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่มีกำลังไฟฟ้า ขนาด 40 วัตต์ หรือ 21.5 โวลล์ เข้ามาแปลงไฟในชุดชาร์จโซล่าเซลล์ แล้วไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ จากนั้นไฟจากแบตเตอรี่จะจ่ายเข้ามอเตอร์ เป็นมอเตอร์ที่ดัดแปลงมาจากที่ปัดน้ำฝนรถยนต์
คุณวทัญญู ลาดคำจันทร์ เพื่อนสมาชิกอีกคนเสริมว่า วัสดุที่นำมาใช้ประกอบเป็นกังหัน ใช้สิ่งของที่เหลือในโรงเรียนและในชุมชน โดยมีเหตุผลที่จะช่วยลดปัญหาเศษวัสดุที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม โดยมีส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ มอเตอร์ แผงโซล่าเซลล์ ไทเมอร์ สวิตช์ แบตเตอรี่
โดยการทำงานของกังหันจะควบคุมการทำงานได้ 2 แบบ คือเปิด-ปิด ด้วยสวิตช์ หรืออาจใช้ไทเมอร์ตั้งเวลาอัตโนมัติ เพื่อความสะดวก เป็นการตั้งเวลาได้สูงสุด 7 วัน กังหันนี้มีแรงขับ 1 นาที ต่อ 45 รอบ เหมาะกับขนาดบ่อ 25-50 ตารางเมตร แล้วยังมีอีกเป็นชุดเล็กที่เหมาะกับการใช้ในบ่อเลี้ยงปลาสวยงาม
คุณสุรวุฒิ พะวัดทะ สมาชิกคนสุดท้ายของกลุ่ม ให้รายละเอียดว่า อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทำ ได้แก่ วงล้อจักรยาน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร ใช้ใบพัดลมเก่า จำนวน 6 ใบ เจาะรูให้ทั่ว เพื่อใช้พัดน้ำเป็นการทวนน้ำ แผงโซล่าเซลล์ ขวดน้ำพลาสติกใส ขนาด 1.5 ลิตร ท่อ พีวีซี และแบตเตอรี่ เขาบอกว่าชุดนี้ใช้งบประมาณ 3,000-3,500 บาท ซึ่งอายุการใช้งานเกือบ 2 ปี หลังจากนั้น อาจเปลี่ยนชิ้นส่วนบางอย่างเท่านั้นที่หมดอายุ เช่น ใบพัดลม ขวดน้ำ สำหรับแผงโซล่าเซลล์มีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปีกว่า
เด็กนักเรียนกลุ่มนี้บอกว่า กังหันพลังงานแสงอาทิตย์ชุดนี้มีกลไกที่ไม่ซับซ้อน อีกทั้งวัสดุยังหาได้ง่าย โครงการสร้างต่อระบบไฟ ตลอดจนการประกอบตัวกังหันไม่ได้ยุ่งยาก ดังนั้น สามารถผลิตเองได้ เพียงแต่มีที่ต้องซื้อคือ แผงโซล่าเซลล์และชุดชาร์จ
สำหรับผลงานกังหันพลังงานแสงอาทิตย์ของเด็กกลุ่มนี้เคยผ่านการได้รับรางวัลชมเชยในฐานะสิ่งประดิษฐ์ในการเข้าประกวดงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมาแล้ว
แม้จะเป็นงานประดิษฐ์คิดค้นที่มีขนาดเล็กจากความคิดของเยาวชนตัวน้อย แต่เมื่อเทียบกับผลที่ได้จากการใช้งานแล้ว ดูเหมือนจะเกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่กว่ามาก ไม่แน่…ใครจะไปคิดว่าอีกไม่นานทั้ง 3 คนนี้ อาจได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนสำคัญกับการผลิตกังหัน เพื่อใช้ประโยชน์ของชาติก็ได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์นิคม อุ่นใจ โทรศัพท์ (084) 958-5838
ข้อมูล: นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน www.technologychaoban.com
ป้ายคำ : บำบัดน้ำเสีย