กับดักกาวเหนียวกำจัดแมลง

19 กุมภาพันธ์ 2560 วิชาเกษตรพึ่งตน 0

การใช้กับดักกาวเหนียวเป็นทางเลือกหนึ่งของการป้องกัน แมลงศัตรูพืชแบบผสมผสาน เพื่อลดการระบาดของแมลงศัตรู ลดการใช้สารเคมี ใช้ดักจับแมลงศัตรูพืชในสวนผัก สวนไม้ผล ได้ผลดีลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกือบ 100 % หรือไม่ต้องใช้เลย โดยเฉพาะแมลงศัตรูพืช พวกเพลี้ยไฟ ที่ทำความเสียหายให้กับพืชได้รับความเสียหาย พืชจำพวกพริกขี้หนู พืชตระกูลแตง ทำให้เกิดโรคใบหงิก โรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม้ผลต่างๆ เช่น เงาะ ทุเรียน ทำให้ดอกแห้งและร่วง โดยเฉพาะมังคุด จะทำให้ผิวลาย จำหน่ายไม่ได้ราคา ต่างประเทศไม่ให้นำเข้าผลผลิต นอกจากนี้แมลงศัตรูพืชอื่นๆ ก็ใช้ได้ผล ซึ่งกาวเหนียวมีคุณสมบัติเหนียว มีสีไส ไม่มีกลิ่นทนแดด ทนฝน สามารถอยู่ได้นานในกลางแจ้ง โดยใช้กาวเหนียวทาบนวัสดุเหลือใช้ สีเหลืองบาง ๆ เช่น ถุงพลาสติก กระป๋อง ฟิวเจอร์บอร์ด แกลลอนน้ำมัน และนำไปปักไว้บริเวณแปลงผักโดยเฉพาะบริเวณรอบนอกแปลงเป็นหลัก เนื่องจากตามธรรมชาติแมลงศัตรูพืชเมื่อเห็นสีเหลืองจะบินเข้าหาและจะไปติดกาวในที่สุด

กลุ่มแมลงเป้าหมาย
แมลงศัตรูพืชผัก เช่น เพลี้ยอ่อน ด้วงหมัดผัก แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ แมลงวันเจาะผล แมลงวันหนอนชอนใบ ผีเสื้อหนอนคืบ หนอนใยผัก และผีเสื้อกลางวันชนิดต่างๆ

หลักการ
กับดักกาวเหนียวเป็นการใช้วัสดุทาด้วยสารที่มีลักษณะเหนียว คล้ายกาว เพื่อดักแมลงที่บินมาให้ติดกาวเหนียว ทำให้แมลงเหล่านั้นไม่สามารถเคลื่อนที่หรือบินหนีไปได้

ส่วนประกอบ
อุปกรณ์ที่ใช้ทำกาวเหนียว ประกอบด้วย น้ำมันละหุ่ง น้ำมันยางสน และไขคาร์นัววา (Canova wax) ซึ่งกาวที่ใช้ดักแมลงจะมีลักษณะต่างจากกาวทั่วไป ที่ไม่แห้งและ คงความเหนียวได้นาน หากไม่มีกาวเหนียวอาจใช้ จารบีแทนได้ แต่มีข้อจำกัด ในเรื่องของกลิ่นซึ่งอาจมีผลต่อแมลง แผ่นกระดาษ หรือพลาสติก เช่น ฟิวเจอร์บอร์ด ขวดน้ำมันเครื่องยนต์ หรืออื่นๆ ที่มีสีขาว หรือสีเหลือง การติดตั้งกับดักชนิดนี้ อาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการวัดความหนาแน่นของประชากรแมลงในพื้นที่ หรือใช้ในการควบคุมประชากรของศัตรูพืช เช่น การใช้สารสกัดกลิ่นเพศของแมลงชนิดนั้นๆ หรือการขังตัวเมียไว้ที่แผ่นกับดัก เพื่อล่อให้ตัวผู้เข้ามาติดกับดัก

วิธีการทำกับดักกาวเหนียว

  1. ใช้น้ำมันละหุ่ง 550 ซีซี มาเคี่ยวจนเดือดแล้วเติมน้ำมันยางสน 380 กรัม และ ไขคาร์นัววา 60 กรัม ลงไป คนช้าๆให้เข้ากันดีแล้วยกลงจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นก่อนนำไปใช้เป็นกับดักกาวเหนียวต่อไป
  2. ทากาวเหนียวที่ผสมไว้ บนวัสดุที่เตรียมไว้ให้ทั่ว ด้วยแปรงสีฟัน
  3. แขวนกับดักตามต้นไม้หรือยึดติดกับหลักที่เตรียมไว้ ซึ่งในทางป่าไม้ใช้กับดักกาวเหนียวในการหาความหนาแน่นของประชากร และความหลากหลายของชนิดแมลง ในระดับความสูงต่างๆ เช่น ในระดับยอดทรงพุ่ม กลางทรงพุ่ม เป็นต้น

การใช้กับดักกาวเหนียวในแปลงผัก กรณีที่มีศัตรูพืชระบาด ควรติดตั้งกับดักให้สูงประมาณ 30 ซม หรือสูงกว่ายอดต้นผักเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว โดยใช้กับดักประมาณ 60-80 กับดัก/พื้นที่ 1 ไร่ ส่วนในฤดูที่มีการระบาดของศัตรูพืชน้อยอาจใช้เพียง 15 20 กับดัก/ไร่

เนื่องจากกาวเหนียวไม่ค่อยมีจำหน่ายในท้องตลาด เกษตรกรจึงไม่ค่อยนิยมใช้ จึงได้ทำการทดลองใช้สารอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับกาวเหนียว ดังนั้นได้นำ วาสลีน มาใช้กับการปลูกพริกขี้หนูซึ่งเพลี้ยไฟมักระบาดมาก ทำให้ยอดหงิก มีโรค ชะงักการเจริญเติบโต ต้องทำลายทิ้ง เนื่องจากวาสลีนมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันกับกาวเหนียว ซึ่งมีความเหนียว ลื่นและหาซื้อได้ง่ายมีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปราคาถูก มีความปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ วาสลีนเป็นสารที่ใช้ในทางการแพทย์ เช่น เครื่องสวนทวารเด็ก หล่อลื่นเครื่องมือแพทย์ ผู้หญิงใชทาฝ่าเท้าแตก ใช้ทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้หล่อลื่นลูกสูบในการประกอบเครืองมือต่าง ๆ ที่เป็นพลาสติกหรือยาง เมื่อใช้วาสลีนแล้วปรากฎว่า พริกขี้หนูไม่เป็นโรคยอดหงิก เจริญเติบโตดี โดยไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลงตลอดอายุการปลูก ผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษ


วิธีการใช้ โดยการนำวาสลีน มาทาบนวัสดุเหลือใช้สีเหลืองตามที่กล่าวข้างต้น โดยทาให้หนาพอประมาณ นำไปปักไว้บนเสาไม้ให้สูงกว่ายอดผักอย่างน้อย 20 ซม. โดยเน้นบริเวณรอบนอกแปลงผัก ส่วนข้างในแปลงใช้น้อย ๆ เพื่อล่อแมลงให้ออกนอกแปลงผักมาติดกับดักวาสลีน สำหรับสวนไม้ผล ปักให้สูงจากระดับผิวดินประมาณ 2 เมตร บริเวณที่ว่างภายในสวน

ที่มา
ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 2
ตู้ ปณ.3 ปท.โนนหัน อ. ชุมแพ จ. ขอนแก่น 40290

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด วิชาเกษตรพึ่งตน

แสดงความคิดเห็น