การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่นำเอาส่วนตาหรือกิ่งของพืชต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ดีหรือ กิ่งพันธุ์ดี ไปติดเข้ากับพืชอีกต้นหนึ่ง เพื่อให้ตาของพืชเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ต่อไป ส่วน ต้นตอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นระบบราก นั้น เป็นต้นพืชที่มีความแข็งแรง หาอาหารเก่ง เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี พืชที่นิยมขยายพันธุ์ด้วยการติดตา มีทั้งไม้ดอก ไม้ประดับและไม้ผล
การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่งที่มีความสำคัญทางด้านการช่วยเปลี่ยนยอดต้นพืชที่มีลักษณะไม่ดี ให้เป็นพันธุ์ดีได้ ทำให้พันธุ์พืชมีความแข็งแรง ต้านทานศัตรูและความแห้งแล้งได้ดี เพราะมีต้นตอที่แข็งแรง สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก เพราะกิ่งพันธุ์แต่ละกิ่งจะมีหลายตา นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพันธุ์ไม้ด้วย โดยเฉพาะการผลิตพืชแฟนซี ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลผลิตหลายอย่างในต้นเดียวกัน เช่น มะม่วงอกร่องมะม่วงเขียวเสวย มะม่วงน้ำดอกไม้ ในต้นเดียวกัน หรือไม้ดอก เช่น กุหลาบ จะมีดอกหลายสีในต้นเดียวกัน ฯลฯ ทั้งนี้ การติดตา สามารถ ทำได้สะดวก รวดเร็ว โดยสามารถนำตาจากกิ่งพันธุ์ดี จากแหล่งหนึ่งไปทำการติดตาอีกแหล่งหนึ่งได้ แต่อาจต้องใช้เวลาในการบังคับและเลี้ยงตาใหม่ให้เป็นต้นพืช ยาวนานกว่าการต่อกิ่ง ดังนั้นผู้ที่ทำการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการติดตา ได้ดี ต้องมีความชำนาญและประณีตในการขยายพันธุ์
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการติดตา ได้แก่
- ) ต้นตอ
- ) กิ่งพันธุ์ดี
ต้นตอ หมายถึง ส่วนของต้นพืชที่ทำหน้าที่เป็นระบบราก หาอาหารหล่อเลี้ยงต้นพืช มี 2 ชนิด คือ
- ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด ส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภทไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ทุเรียน มะขาม เป็นต้น ต้นตอที่มีลักษณะดี จะต้องมีลำต้นตั้งตรง ไม่บิดคด หรือมีรอยต่อระหว่างต้นและราก เป็นแบบคอห่าน ซึ่งเกิดจากการวางเมล็ดลงเพาะผิดวิธี
- ต้นตอที่ได้จากการตัดชำ ตอนกิ่ง หรือแยกหน่อ บางครั้งเรียกว่า ต้นตอตัดชำ ส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภทไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กุหลาบ ชบา เข็ม โกสน เฟื่องฟ้า ผกากรอง โมก ฯลฯ เป็นต้น ข้อเสียของต้นตอตัดชำ คือ มีระบบรากตื้น แต่ถ้านำไปเป็นต้นตอสำหรับไม้ผล จะต้องทำการเสริมราก เพิ่มขึ้น
การเลือกพันธุ์พืชสำหรับใช้เป็น ต้นตอ ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
- เจริญเติบโตเร็ว ปราศจากโรคและแมลง และทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี
- ขยายพันธุ์ได้ง่าย ทั้งด้วยวิธีเพาะเมล็ด ตัดชำหรือตอนกิ่ง
- สามารถเชื่อมต่อกับกิ่งพันธุ์ดีต่าง ๆ ได้มาก
- หาเมล็ดหรือต้นได้ง่าย
- เป็นพืชที่มีความบริสุทธิ์ของพันธุ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด
ตาจากกิ่งพันธุ์ดี หมายถึง ส่วนของพืชที่ทำหน้าที่เป็นระบบยอดในต้นพืช สำหรับการขยายพันธุ์โดยวิธีการติดตา
การเลือกพันธุ์พืชสำหรับใช้เป็น กิ่งพันธุ์ดี ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
- เป็นกิ่งที่มีตาแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นตายอดหรือตาข้าง
- ควรเลือกจากกิ่งกระโดง หรือกิ่งน้ำค้าง
- เป็นกิ่งที่มีความสมบูรณ์ปานกลาง โดยสังเกตจากข้อ ที่ไม่ถี่หรือห่างเกินไป
- ตาของกิ่งพอเหมาะ คือ มีขนาดพอประมาณเท่าดินสอดำ
- เป็นกิ่งที่ได้จากต้นแม่ที่แข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีโรค
- ถ้าเป็นกิ่งแก่ ควรมีอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะถ้าอายุมากเกินไป ตาที่ติดจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
วิธีการติดตา
การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่ประหยัดกิ่งพันธุ์ดี เพราะแทนที่จะใช้
กิ่งพันธุ์ดีหลายตาเหมือนการต่อกิ่ง กลับใช้กับกิ่งพันธุ์ดีเพียงตาเดียว ซึ่งจะอยู่บนส่วนของแผ่นเปลือกไม้ ซึ่งอาจจะมีเนื้อไม้หรือไม่มีเนื้อไม้ ก็ได้ ขบวนการประสานเนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นจากการติดตา มีลักษณะเช่นเดียวกับการต่อกิ่งทุกประการ
เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตา
- ส่วนของพืชที่จะขยายพันธุ์ คือ กิ่งพันธุ์ดี
- ส่วนของพืชที่เป็นระบบราก คือ ต้นตอ
- มีดขยายพันธุ์หรือคัตเตอร์หรือมีดติดตาต่อกิ่ง
- กรรไกรตัดแต่งกิ่ง
- แถบพลาสติกพันกิ่ง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการติดตาที่ได้ผลดี มีดังนี้
- ตาต้องอยู่ในสภาพพร้อมที่จะเจริญเติบโต และอยู่ในระยะพักตัว คือช่วงฤดูหนาว และสังเกต ตาจะนูนออกมาคล้ายๆ กับตาที่กำลังจะแตกยอดใหม่
- ต้นตอต้องอยู่ในช่วงที่ไม่พักตัวคือ เป็นช่วงที่กำลังเจริญเติบโต เนื้อเยื่อเจริญกำลังแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว สังเกตจากเวลาใช้มีดกรีดเปลือกไม้จะมีน้ำยางไหลออกมา
- รอยแผลที่เฉือนแผ่นตาจะต้องเรียบ แผ่นตาไม่ช้ำและฉีกขาด
- การพันพลาสติก ควรพันให้แน่นและปิดรอยแผลไม่ให้น้ำเข้าได้ เพราะถ้าหากน้ำเข้าไปที่แผลติดตา จะทำให้ตาของพืชเน่าตายได้
- ตาที่ติดนั้นจะต้องทำให้เนื้อเยื่อเจริญสัมผัสกับต้นตอมากที่สุดและไม่ให้ถูกแดดจัดส่องตลอดเวลา เพราะจะทำให้ตาเหี่ยวและแห้งตาย
- มีดและมือจะต้องสะอาดปราศจากเชื้อโรคหากเชื้อโรคเข้าแผล อาจทำให้แผลเน่าและตาไม่ติดและเน่าตายได้
วิธีการติดตา
1. การติดตาแบบตัวที (T)
เป็นวิธีการติดตาที่เปิดปากแผลบนต้นตอแบบตัว T สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนทำการติดตาแบบนี้ คือ
ต้นตอต้องสมบูรณ์ ลอกเปลือกไม้ง่าย ไม่เปราะหรือฉีกขาด และตาพันธุ์ดีสามารถลอกแผ่นตาออกได้ง่าย
ต้นตอต้องมีขนาดไม้ใหญ่โตเกินไป ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ นิ้ว
- การติดตาแบบตัวที (T-Budding)
1. ทำแผลบนต้นตอ โดยเลือกตรงส่วนที่ใกล้ข้อ กรีดเปลือกไม้ขวางกิ่งหรือลำต้นทำเป็นหัวตัว T ยาวประมาณ ๑-๑.๕ เซนติเมตร ลงมาในแนวขนานกับต้นหรือกิ่ง จากนั้นใช้ปลายมีดเปิดหัวตัว T และเผยอเปลือกไม้ตามแนวยาวที่กรีดไว้
2. เฉือนกิ่งตาพันธุ์ดีเป็นรูปโล่โดยให้ติดเนื้อไม้เล็กน้อย และเพื่อให้การติดตาได้สนิท ควรลอกเนื้อไม้ออกจากเปลือก แผ่นตาโดยลอกจากด้านล่างของแผ่นตาขึ้นด้านบน
3. สอดแผ่นตาพันธุ์ดีเข้าไปในเปลือกไม้รูปตัว T ให้แนบสนิทกับเนื้อไม้ของต้นตอ กรณีมีส่วนแผ่นตาพันธุ์ดีโผล่เลยหัวตัว T ให้ตัดส่วนเกินทิ้งตรงบริเวณรอยแผลหัวตัว T เดิม
4. พันด้วยพลาสติกใสให้แน่น โดยพันจากด้านล่างขึ้นด้านบนแบบมุงหลังคา
- การติดตาแบบตัวทีแปลง (Terminal Budding) เป็นวิธีการติดตาเหมือนการติดตาแบบตัว T แต่แตกต่างกันคือ วิธีนี้จะใช้สำหรับตาที่พักตัว โดยมีวิธีทำดังนี้
1. เปิดปากแผลต้นตอแบบตัว T แล้วเฉือนเนื้อไม้เหนือหัวตัว T ลงมาหาแผลหัวตัว T เดิม
2. เฉือนแผ่นตาพันธุ์ดีแบบรูปโล่และตัดส่วนล่างหลังแผ่นตาเป็นรูปหน้าสิ่ว
3. สอดแผ่นตาเข้าไปในเปลือกไม้รูปตัว T โดยให้ตาพันธุ์ดีแนบสนิทกันพอดี
4. พันด้วยพลาสติกใสให้แน่น
2. การติดตาแบบเพลท หรือแบบเปิดเปลือกไม้ (Plate Budding)
เป็นวิธีการติดตาที่คล้ายการติดตาแบบตัว T แต่ขนาดต้นตอใหญ่กว่าแบบตัว T เหมาะสำหรับพืชที่มีน้ำยาง เช่น ยางพารา ขนุน หรือพืชที่สร้างรอยประสานช้า เช่น มะขาม และที่สำคัญคือ ต้นตอและตาพันธุ์ดีต้องลอกเนื้อไม้ออกจากเปลือกได้ง่าย
วิธีการทำแผลบนต้นตอ
- การทำแผลรูปเข็มเย็บกระดาษ (Plate Budding) โดยกรีดเปลือกไม้เป็นแนวยาวขนานกับลำต้นหรือกิ่งต้นตอ ๒ แนว ห่างกันประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓-๕ เซนติเมตร จากนั้นตัดรอยขนานด้านบนแบบรูปเข็มเย็บกระดาษคว่ำเผยอเปลือกไม้ แล้วตัดเปลือกไม้ออกประมาณ ๒/๓ ของความยาวแผล
- การทำแผลแบบตัว H หรือสะพานเปิด (H Budding) เป็นวิธีการทำแผลเป็นรูปคล้ายสะพานเปิดโดยการกรีดเปลือกไม้เป็นแนวขนานกับลำต้น ๒ แนว แล้วกรีดตรงกลางขวางรอยแนวกรีดขนาน เผยอเปลือกไม้ด้านบนขึ้นและส่วนด้านล่างของแผลเผยอลงคล้ายสะพานเปิด
- การทำแผลแบบเปิดหน้าต่าง ๒ บาน (I Budding) โดยกรีดเปลือกไม้ตามแนวยาวของลำต้น ๑ แนว แล้วกรีดขวางลำต้น ๒ แนว ทั้งด้านบนและด้านล่าง แล้วเผยอเปลือกไม้ออกทางด้านข้างคล้ายการเปิดหน้าต่าง
- การทำแผลเป็นรูปจะงอยปากนก (Triangle Budding) โดยกรีดเปลือกไม้ขนานไปตามความยาวของลำต้นหรือต้นตอโดยให้ส่วนล่างของแผลเรียวเข้าหากันเป็นรูปปากนก แล้วเผยอปากแผลจากด้านล่างคล้ายปากนกขึ้น ตัดเปลือกทิ้ง ๒/๓ ของความยาวรอยแผล
การเตรียมแผ่นตาพันธุ์ดี
ทำการเฉือนแผ่นตาแบบรูปโล่แล้วลอกเนื้อไม้ที่ติดมากับแผ่นตาออก (ทุกแบบของการติดตาแบบเพลทจะเตรียมแผ่นตาแบบรูปโล่)
การสอดแผ่นตา
สอดแผ่นตารูปโล่เข้าไปในแผลของต้นตอสัมผัสกับเนื้อไม้โดยให้เปลือกไม้ที่เผยอออกหุ้มแผลตาไว้ บางวิธีเปลือกไม้อาจต้องหุ้มแผ่นตาไว้ หรือตัดส่วนเปลือกไม้ที่เกินออก ๒/๓ ของรอยแผลเพื่อให้ส่วนตาโผล่พ้นรอยแผล
การพันพลาสติก
พันพลาสติกให้แน่นโดยพันจากส่วนล่างขึ้นบนให้หุ้มแผ่นตาทั้งหมด
3. การติดตาแบบแพทซ์ หรือแผ่นปะ (Patch Budding)
เป็นการติดตาอีกแบบหนึ่งโดยนำแผ่นตาพันธุ์ดีปะไปบนรอยแผลของต้นตอที่เตรียมไว้เป็นรูปต่าง ๆ นิยมใช้กับพืชที่เกิดรอยประสานเร็วและไม่มีน้ำยาง เช่น ต้นลูกเนยและชบา เป็นต้น
- การติดตาแบบแผ่นปะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Patch Budding)
– เตรียมแผลบนต้นตอโดยการกรีดเปลือกไม้บนต้นตอเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วลอกเปลือกไม้ออก
– กรีดและลอกแผ่นตาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเท่ากับแผลบนต้นตอ
– นำแผ่นตาที่ได้ไปปะบนรอยแผลของต้นตอ โดยเอาส่วนตาหงายขึ้น แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
- การติดตาแบบวงแหวน (Ring Budding)
– เตรียมแผลบนต้นตอโดยการควั่นรอบกิ่งหรือต้นตอเป็นวงแหวนเหมือนการตอนกิ่งแบบควั่นกิ่ง แล้วลอกเปลือกที่ควั่นออก
– เตรียมแผ่นตาพันธุ์ดีเป็นรูปวงแหวนขนาดเท่ากับรอยแผลบนต้นตอ
– นำแผ่นตาที่ได้ไปปะบนรอยแผลของต้นตอแล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
- การติดตาแบบวงแหวนแปลง (Flute Budding)
– เตรียมแผลบนต้นตอเป็นแบบวงแหวน แต่ให้เปลือกไม้ไว้เป็นสะพานเชื่อมโยงรอยแผลที่ควั่นทั้ง ๒ ด้าน ขนาด ๑/๕ ของเส้นรอบวง
– เตรียมแผ่นตาพันธุ์ดีในลักษณะวงแหวนเท่ากับแผลของต้นตอ
– นำแผ่นตาที่ได้ไปปะลงบนแผลของต้นตอแล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
- การติดตาแบบลอกเปลือกแบบรูปโล่ (Skin Budding)
– เตรียมแผลบนต้นตอแบบรูปโล่ แต่ไม่ติดเนื้อไม้แล้วลอกเปลือกไม้ออก
– เตรียมแผ่นตาเป็นรูปโล่ขนาดเท่ากับรอบแผลบนต้นตอและลอกเนื้อไม้ทิ้ง
– นำแผ่นตาที่ได้ไปปะบนรอยแผลของต้นตอแล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
4. การติดตาแบบชิปหรือไม่ลอกเนื้อไม้ (Chip Budding)
วิธีการติดตาแบบนี้นิยมใช้กับพืชที่ลอกเปลือกไม้ออกยากหรือเปลือกไม้บางและเปราะ ขนาดต้นตอประมาณ ๐.๕ นิ้ว เหมาะสำหรับการติดตาองุ่น เงาะ และไม้ผลอื่นที่ลอกเปลือกไม้ยาก
- วิธีการติดตาแบบชิบ (Chip Budding)
เตรียมแผลต้นตอโดยการเฉือนเนื้อไม้และทำบ่าด้านบนและด้านล่างของปากแผลในลักษณะบ่าเอียงเข้าหากัน เฉือนแผ่นตาเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาดที่สามารถสอดเข้ารอยแผลของต้นตอได้ สอดแผ่นตาเข้าไปในรอยแผลของต้นตอทางแนวด้านข้าง และจัดให้แผ่นตารับกับรอยบ่าที่ทำไว้ให้สนิท แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
- วิธีการติดตาแบบชิปแปลงวิธีที่ ๑ (Modified Chip Budding I)
1. เตรียมแผลต้นตอโดยการเฉือนเนื้อไม้เป็นรูปโล่ และทำบ่าที่ด้านล่างของรอยแผล
2. เตรียมแผ่นตาพันธุ์ดีแบบรูปโล่โดยตัดหลังปากแผลด้านล่างเป็นรูปหน้าสิ่วสำหรับที่จะสอดแผ่นตาเข้าไปรับบ่าของรอยแผลบนต้นตอได้ผลดี
3. สอดแผ่นตาจากด้านบนลงด้านล่างให้เข้ากันสนิท แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
- วิธีการติดตาแบบชิปแปลงวิธีที่ ๒ (Modified Chip Budding II)
1. เตรียมแผลบนต้นตอเหมือนวิธีที่ ๑ เพียงแต่เฉือนปากแผลส่วนบนขึ้นไปเข้าเนื้อไม้
2. เตรียมแผ่นตาพันธุ์ดีแบบวิธีติดตาแบบชิปแปลงวิธีที่ ๑
3. สอดแผ่นตาเข้าไปขัดในร่องบ่าด้านล่างและให้ปลายแผ่นตาด้านบนเข้าตรงรอยผ่าของปากแผลด้านบนพอดี แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
- วิธีการติดตาแบบชิปแปลงวิธีที่ ๓ (Modified chip Budding III)
1. เตรียมแผลต้นตอเหมือนวิธีที่ ๑ เพียงแต่เฉือนบ่าลึกเข้าเนื้อไม้ในแนวขนานกับลำต้น
2. เตรียมแผ่นตาพันธุ์แบบชิปแปลงวิธีที่ ๑
3. สอดแผ่นตาพันธุ์ดีเข้าตรงรอยผ่าจากบ่าลงไปในเนื้อไม้บนต้นตอ แล้วพันพลาสติกให้แน่น
การปฏิบัติหลังจากทำการติดตา
- ประมาณ ๗-๑๐ วัน ให้สังเกตดูแผ่นตาที่ทำการติดไว้ ถ้ายังสดหรือมีสีเขียวแสดงว่าแผ่นตาติดและเริ่มประสานกับเยื่อเจริญของต้นตอ จึงทำการกรีดพลาสติกที่พันให้ตาโผล่ออกมา
- เมื่อตาโผล่ออกมาเป็นยอดอ่อนแล้วจึงแก้พลาสติกที่พันไว้เดิม แล้วพันด้วยพลาสติกใหม่บริเวณส่วนเหนือและใต้ยอดอ่อนที่โผล่ออกมาใหม่จนกว่ารอยประสานบริเวณที่ทำการติดตานั้นประสานกันสนิทเป็นเนื้อเดียวกันจึงค่อยแก้พลาสติกออกให้หมด
- กรณีที่ตาที่ติดไม่แตกยอดออกมาเป็นยอดอ่อนจำเป็นต้องทำการบังคับซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
วิธีการบังคับตา ทำได้หลายวิธีดังนี้
- ใช้วิธีโน้มยอดของต้นตอลงมาในทิศทางตรงกันข้ามกับส่วนที่ติดตา
- ควั่นหรือบากเปลือกต้นตอเหนือบริเวณที่ทำการติดตาซึ่งอยู่ด้านเดียวกับตาที่ติด
- ตัดยอดดต้นตอให้สั้นลง โดยให้มีใบติดอยู่ประมาณ ๔-๕ ใบ เหนือบริเวณที่ทำการติดตา
- ตัดยอดต้นตอให้สั้นชิดตาที่ติด
- บังคับตาโดยใช้ฮอร์โมนป้ายที่ตาเพื่อให้ตาแตกออกมาใหม่ การบังคับตาอาจต้องทำหลาย ๆ วิธีช่วยกันเพื่อให้ตาแตกเร็วขึ้น
ที่มา
ห้องสมุดความรู้ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดย สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
https://web.ku.ac.th/nk40/nk/