การต่อกิ่ง เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชโดยไม่ใช้เพศที่สามารถทำได้โดยการนำกิ่งพันธุ์ดีที่มีตามากกว่า 1 ตา มาต่อบนต้นตอ เพื่อให้เนื้อเยื่อเจริญทั้งสอง เชื่อมประสานเป็นต้นเดียวกัน การขยายพันธุ์ด้วยวิธีต่อกิ่ง จะดีกว่าการติดตามาก เพราะจะได้รอยต่อที่แข็งแรงกว่ามาก การต่อกิ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลาย และได้ผลดีกับพืชบางชนิด เช่น เฟื่องฟ้า ชบา โกสน เล็บครุฑ มะม่วง พุทรา ขนุน องุ่น ฯลฯ
ความมุ่งหมายที่สำคัญของต่อการกิ่งพืช คือ เพื่อต้องการเชื่อมประสานเนื้อเยื่อของพืชที่เป็นต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีเข้าด้วยกัน ให้มีชีวิตและเจริญเติบโตร่วมกัน เสมือนเป็นพืชต้นเดียวกัน ทั้งนี้ การต่อกิ่งพืช สามารถเลือกทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ฤดูกาลและความชำนาญของผู้ต่อกิ่ง
การต่อกิ่งมีคุณค่าและความสำคัญต่อวงการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผลมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มและช่วยเปลี่ยนยอดพันธุ์เดิมที่ปลูกอยู่แล้ว ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มยอดกิ่งเฟื่องฟ้าให้มีหลากหลายสี การเปลี่ยนยอดต้นโมกเขียวให้เป็นโมกด่าง การเปลี่ยนยอดมะม่วงให้เป็นมะม่วงแฟนซี คือมีหลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน นอกจากนี้ การต่อกิ่ง ยังเป็นการช่วยซ่อมแซมส่วนของต้นพืชที่ได้รับอันตรายจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากต้นตอที่มีลักษณะทนทานต่อสภาพแวดล้อมและศัตรูพืช
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการต่อกิ่ง
ข้อควรพิจารณาในการต่อกิ่ง ได้แก่
เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อกิ่ง
วิธีการต่อกิ่งที่นิยม วิธีการต่อกิ่งมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละวิธีมีความเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน แต่ที่ชาวสวนหรือผู้ประกอบการผลิตพันธุ์ไม้ปฏิบัติมาก เพราะสามารถทำได้ง่ายและได้รับความสำเร็จสูง โดยเฉพาะไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผล วิธีที่นิยม ได้แก่
1) การต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม
พันธุ์ไม้ที่นิยม เช่น เฟื่องฟ้า โกสน น้อยหน่า ทับทิม มีขั้นตอน ดังนี้
(1) ตัดยอดต้นตอที่แตกใหม่ ให้เหลือยาวประมาณ 4 นิ้ว แล้วผ่ากลางกิ่งพืชที่ต้องการเสียบยอด ให้ลึกประมาณ 2 นิ้ว
(2) เฉือนยอดพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่ม ยาวประมาณ 2 นิ้ว
(3) เสียบยอดพันธุ์ดีลงในแผลของต้นตอ ให้รอยแผลทั้งสองตรงกัน แล้วใช้เชือกมัดด้านบนและล่างรอยแผลต้นตอให้แน่น
(4) คลุมต้นที่เสียบยอดแล้วด้วยถุงพลาสติกหรือนำไปเก็บในโรงอบพลาสติก (ถ้าต้นพืชที่ทำการเสียบยอดอยู่กลางแจ้งควรใช้ถุงกระดาษเล็กหุ้มก่อน เพื่อป้องกันความร้อน)
(5) ประมาณ 5-7 สัปดาห์รอยแผลจะประสานกันดีแล้วให้นำออกมาพักไว้ในโรงเรือนที่รอการปลูกต่อไป
2) การต่อกิ่งแบบฝานบวบ
พันธุ์ไม้ที่นิยม ได้แก่ประเภทไม้อวบน้ำ และไม้เนื้ออ่อน เช่น ฤาษีผสม แค็คตัสชนิดต่าง ๆ มะเขือเทศ ฟักทอง มะละกอ แตงชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
มีขั้นตอน ดังนี้
(1) เฉือนต้นตอให้เฉียงขึ้น เป็นลักษณะเช่นเดียวกับฝานบวบ ให้ความยาวของรอยเฉือน ประมาณ 1 1.5 นิ้ว รอยแผลที่ได้จะมีลักษณะคล้ายโล่
(2) เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับต้นตอ แต่เฉือนลง (ตรงข้ามกับต้นตอ)
(3) นำกิ่งพันธุ์ดี ประกบเข้ากับต้นตอ โดยให้รอยแผลประกบกันให้สนิท
(4) ใช้แถบพลาสติกพันรอบรอยแผลให้แน่น โดยพันจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน
(5) หลังจากกิ่งเชื่อมประสานกันดีแล้ว ให้แกะพลาสติกออก เพื่อให้ต้นพืชเจริญเติบโตและขยายออกได้เต็มที่
3) การต่อกิ่งแบบเข้าลิ้น
นิยมต่อกิ่งกับพันธุ์ไม้ประเภทอวบน้ำและเนื้ออ่อน เช่นเดียวกับการต่อกิ่งแบบฝานบวบ มีขั้นตอน ดังนี้
(1) เฉือนต้นตอเฉียงขึ้นในลักษณะการฝานบวบ ให้รอยแผลยาวประมาณ 1 1.5 นิ้ว
(2) ผ่ารอยแผลให้มีลักษณะเป็นลิ้น
(3) เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เฉียงลง ลักษณะและขนาดรอยแผลเช่นเดียวกับต้นตอ
(4) ผ่ารอยแผลกิ่งพันธุ์ดี ให้มีลักษณะเป็นลิ้น
(5) นำกิ่งพันธุ์ดี สวมลงบนต้นตอให้ลิ้นขัดกัน
(6) ใช้คลิปหนีบหรือพันด้วยพลาสติก
(7) หลังจากรอยแผลของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ประสานเชื่อมติดกันสนิทแล้ว (ประมาณ 1 เดือน) หลังจากต่อกิ่ง ให้เอาคลิปหรือแกะพลาสติกออก
4) การต่อกิ่งเสียบข้าง
พืชที่นิยมทำได้แก่ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น โกสน เล็บครุฑ สนชนิดต่าง ๆ โป๊ยเซียน ฯลฯ และไม้ผล เช่น ขนุน กระท้อน ฯลฯ มีขั้นตอน ดังนี้
(1) เฉือนต้นตอจากปลายไปสู่โคน โดยเฉือนลึกเข้าไปในเนื้อไม้เล็กน้อย ให้แผลยาวประมาณ 1.5 2 นิ้ว
(2) ตัดยอดกิ่งพันธุ์ดี ยาวประมาณ 2 3 นิ้ว เฉือนให้เป็นรูปปากฉลาม รอยแผลยาวประมาณ 1.5 2 นิ้ว เฉือนด้านหลังของรอยแผล เพื่อให้แผลมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม
(3) นำยอดกิ่งพันธุ์ดี เสียบเข้ารอยแผลของต้นตอ จัดให้รอยแผลแนบสนิทกัน โดยจัดให้ส่วนของเนื้อเยื่อเจริญของกิ่งพันธุ์ดีและต้นตอตรงกัน
(4) พันด้วยพลาสติก หุ้มรอยแผลให้แน่น โดนพันจากล่างขึ้นบน
(5) ประมาณ 2 3 สัปดาห์ จึงแกะพลาสติกออก แล้วพันใหม่ โดยเว้นส่วนของยอดกิ่งพันธุ์ดีไว้ เพื่อให้ตาแตกยอดใหม่ออกมาได้
(6) หลังจากกิ่งใหม่เจริญดีแล้ว จึงตัดยอดเดิมของต้นตอทิ้งไป เพื่อให้ยอดใหม่เจริญได้เต็มที่
5) การต่อกิ่งเสียบเปลือก
พันธุ์ไม้ที่นิยมส่วนมากเป็นไม้ผลที่มีเปลือกหนา ล่อน และลอกเปลือกได้ง่าย ได้แก่ มะม่วง ขนุน กระท้อ มีขั้นตอน ดังนี้
(1) ตัดต้นตอ ตั้งฉากกับกิ่งบริเวณใต้ข้อและชิดข้อ
(2) กรีดเปลือกต้นตอตามแนวตั้ง ยาวประมาณ 2 นิ้ว แล้วเผยอเปลือกต้นตอที่กรีดไว้
(3) เลือกยอดพันธุ์ดีที่มีตายอดเต่ง พร้อมที่จะแตกเป็นยอดใหม่ ตัดยอดพันธุ์ดี ประมาณ 3 นิ้ว แล้วเฉือนจากปลายไป โดยให้รอยแผลเป็นรูปปากฉลาม ยาวประมาณ 2 2.5 นิ้ว หรือเท่ากับรอยแผลของต้นตอ จากนั้น ตัดปลายส่วนของด้านหลังของรอยแผลเฉียง ประมาณ 45 องศา เพื่อให้รับกับรอยแผลของต้นตอที่เตรียมไว้
(4) นำยอดกิ่งพันธุ์ดีมาสอดเข้ารอยแผลของต้นตอ จัดให้รอยแผลสนิทกัน
(5) พันกิ่งให้แน่นด้วยแถบพลาสติก โดยพันจากด้านล่างขึ้นบน
(6) ประมาณ 2 3 สัปดาห์ หากยอดพันธุ์ดีเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แสดงว่ารอยแผลไม่เชื่อมประสานกัน จึงแกะออกทิ้ง แต่ถ้ายอดพันธุ์ยังเขียวดีอยู่ แสดงว่า ยังมีชีวิตอยู่ จึงแกะพลาสติกที่พันไว้ออก แล้วพันใหม่ โดยพันคร่อมยอดให้ยอดโผล่ เพื่อให้ตาเจริญออกมาได้ ถ้าหากฝนตก ควรกรีดพลาสติกด้านล่าง เพื่อให้น้ำซึมออกได้
(7) บากเตือนต้นตอ โดยบากเหนือรอยแผลเล็กน้อย บากลึกประมาณ 1 ใน 3 ของลำต้น และเมื่อยอดใหม่เจริญดีแล้ว จึงตัดยอดของต้นตอทิ้งไป เพื่อให้ยอดกิ่งพันธุ์ดีเจริญ เป็นต้นใหม่แทน
ป้ายคำ : การขยายพันธุ์