การเลี้ยงผึ้งโพรง

2 กันยายน 2555 สัตว์ 0

การเลี้ยงและการจัดการผึ้งโพรงที่ดี เพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำผึ้งที่ปลอกภัยจากสารพิษและมีคุณภาพ
1. การเริ่มต้นการเลี้ยงผึ้งโพรง
ผึ้งโพรง เป็นผึ้งพันธุ์ของเมืองไทยชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในทุกภาค ซึ่งในธรรมชาติของผึ้งโพรงจะทำรังด้วยการสร้างรวงซ้อนเรียงกัน อยู่ในโพรงไม้หรือโพรงหิน โดยมีปากทางเข้าออกค่อนข้างเล็กเพื่อป้องกันศัตรูจากภายนอก แต่ภายในจะมีพื้นที่กว้างพอให้ผึ้งสร้างรวงได้ ผึ้งโพรงเป็นผึ้งที่มีอัตราการแยกรังค่อนข้างบ่อย และจะทิ้งรังเดิมเมื่อสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น ขาดแคลนอาหารและมีศัตรูรบกวน

ฉะนั้น การเลี้ยงผึ้งโพรงให้ประสบความสำเร็จนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องมีใจรัก อดทน มีเวลา มีความรู้ในเรื่องชีววิทยา พฤติกรรมของผึ้ง การจัดการรังผึ้ง และอาศัยประสบการณ์ในการเลี้ยงผึ้ง เพื่อจะได้จัดการ รังผึ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จต่อไป
การเริ่มต้นเลี้ยงผึ้งโพรง เป็นสิ่งที่ง่ายมากสำหรับผู้สนใจ พบว่าผึ้งดังกล่าวอาศัยอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทยอยู่แล้วสำหรับสถานที่ที่มีแหล่งอาหารของผึ้งอุดมสมบูรณ์จะพบผึ้งอาศัยอยู่การเริ่มนำผึ้งมาเลี้ยงเราสามารถดำเนินการได้ 3 วิธี คือ

1). โดยการซื้อผึ้งมาเลี้ยง เป็นวิธีการที่สะดวก และรวดเร็ว แต่ต้องลงทุนมาก การซื้อผึ้งมา
เลี้ยงเป็นวิธีหนึ่งในการจัดหาผึ้งมาเลี้ยง มีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้ คือ
– สภาพความสมบูรณ์ของผึ้ง ผึ้งที่ซื้อมาเลี้ยงต้องตรวจดูว่ามีจำนวนประชากรพอ
สมควรหรือไม่ ผึ้งที่สมบูรณ์จะต้องมีตัวอ่อน น้ำผึ้ง และเกสรเพียงพอ เพื่อป้องกันการหนีรัง
– ช่วงระยะเวลาการซื้อ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะว่าถ้าหากซื้อผึ้งในช่วงฤดูกาล
อพยพหรือช่วงที่ขาดแคลนแหล่งอาหารนับว่าเป็นการเสี่ยงต่อการหนีรังมาก ฉะนั้นการดำเนินการตัดสินใจ ซื้อควรพิจารณาซื้อผึ้งในช่วงที่ดอกไม้ตามธรรมชาติชุกชุม เป็นช่วงที่ผึ้งอยู่กับที่ไม่หนีรัง จากการศึกษา
พบว่าในช่วงปลายเดือนเมษายน จนถึงเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ผึ้งหนีรังน้อยที่สุด การซื้อผึ้งควรดำเนินการซื้อตั้งแต่ฤดูกาลที่ดอกไม้สมบูรณ์ ไม่ควรซื้อปลายฤดูหรือช่วงที่ผึ้งกำลังอพยพทิ้งรัง

beeplong

2). โดย การล่อผึ้ง การล่อผึ้งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในขณะนี้ ควรพิจารณาดังนี้ รังที่เหมาะสม
ในการล่อผึ้งควรทำจากไม้เก่า ๆ รังล่ออาจทำด้วยใบหรือทางมะพร้าว รังที่ทำด้วยไม้เก่า ๆ ในทำเลที่ล่อเหมือนกัน ผึ้งจะเข้าอยู่อาศัยในรังที่ทำด้วยใบหรือทางมะพร้าว มากกว่าส่วนรังล่อที่ทำด้วยทางมะพร้าวนั้น มีข้อเสียตรงที่ว่า เมื่อนำรังล่อไปวางไว้นาน ๆ ในขณะที่ผึ้งยังไม่เข้าไปอยู่อาศัยนั้น มักจะมีมดดำและมดชนิดอื่น ๆ เข้ามาทำรังอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ผึ้งไม่เข้าอยู่อาศัยการใช้รังล่อโดยใช้ทางมะพร้าวนั้นควรระวังอย่าให้มดเข้าอยู่อาศัย ทั้งนี้ เป็นการใช้วัสดุเหลือใช้ให้เป็นประโยชน์ และประหยัดอีกด้วย
ข้อควรคำนึงถึงการล่อผึ้ง
– แหล่งที่มีอาหารสำหรับผึ้ง และมีผึ้งอยู่อาศัย เช่นในสวนมะพร้าว สวนเงาะ ทุเรียน กาแฟ ชมพู่
– สถานที่ล่อต้องเป็นที่ร่มรื่น และใกล้แหล่งน้ำ
– เสาควรใช้ไม้ ความสูงของเสารังล่อควรอยู่ในระดับ ประมาณ 1 เมตร และใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องพันรอบเสา เพื่อป้องกันมดแดง
– เพื่อป้องกันการตกหล่นและเคลื่อนไหวของรังล่อ
– ตรวจดูรังล่อสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้มด แมลงสาบ แมงมุม ปลวก และศัตรูอื่น ๆ เข้าไปในรังล่อ
– เลือกสถานที่ที่มีการคมนาคมสะดวก สามารถเดินทางเข้าไปในบริเวณลานเลี้ยงได้ทุกเวลาและใช้เวลาในการเดินทางไม่นานจนเกินไป

การเตรียมรังล่อผึ้ง
การเตรียมรังล่อผึ้งโพรง ก่อนที่จะนำไปวางล่อผึ้ง ณ สถานที่ที่เตรียมไว้จะต้องเตรียมไขผึ้งโพรงที่บริสุทธิ์ ในการทาฝารังผึ้งเก่า ๆ โดยวิธีการทา ดังนี้
วิธีการที่ 1 นำไขผึ้งบริสุทธิ์มาต้มด้วยไฟความร้อนอ่อน ๆ พอไขผึ้งร้อนละลาย แล้วเอาแปรงสีฟันหรือแปรงอะไรก็ได้ ชุบไขผึ้งที่ละลายแล้วไปทาที่ตรงกลางฝารังด้านใน มีความกว้างประมาณ 1/3 ของฝารัง
วิธีการที่ 2 นำฝารังผึ้งโพรงไปลนไฟเพื่อให้ไม้ฝารังร้อนแล้วเอาไขผึ้งบริสุทธิ์ทากลับไปกลับมา ตรงกลางฝารังด้านใน กว้างประมาณ 1 ฝ่ามือ 2-3 ครั้ง
วิธีการที่ 3 นำฝารังผึ้งโพรงมาถูด้วยไขผึ้งบริสุทธิ์บริเวณตรงกลางฝาด้านใน กว้างประมาณ 1 ฝ่ามือ

3). การบังคับผึ้งเข้าคอน ผึ้งที่อาศัยอยู่ตามโพรงไม้ โพรงหิน หรือซอกหิน หรือกำลังอพยพเกาะรวมกลุ่มกันบนกิ่งไม้ การบังคับผึ้งประเภทนี้ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ดังนี้ คือ
อุปกรณ์ที่ใช้
อุปกรณ์ที่จะใช้นี้ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานและสถานที่ที่ ได้แก่

  • รังเลี้ยงผึ้งพร้อมคอนเปล่า
  • เครื่องพ่นควัน
  • ไม้กระดานสำหรับรองรับรวงผึ้งที่จะเข้าคอน
  • มีด cutter สำหรับตัดรังผึ้ง
  • โต๊ะสำหรับปฏิบัติการ
  • แปรงสำหรับปัดตัวผึ้ง
  • กลักขังนางพญา (กรณีเข้าคอนตอนกลางวัน)
  • ไฟฉาย (กรณีเข้าคอนตอนกลางคืน)
  • ภาชนะใส่น้ำผึ้ง
  • เชือกหรือยางเส้น
  • สวิงใช้จับผึ้ง
  • น้ำมันเครื่องเก่า ๆ สำหรับใช้ทาเสารังผึ้งป้องกันศัตรูต่าง ๆ

ก่อนจับ
ต้องสังเกตดูว่าผึ้งมีความสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าหากไม่สมบูรณ์ก็บังคับเอาเฉพาะตัวผึ้ง เพื่อนำเข้ารังเลี้ยง และขังนางพญาไว้ในกลักขังนางพญาแขวนไว้ในรังถ้าหากว่ารังผึ้งสมบูรณ์ก็นำเข้าคอนได้เลย และดูว่าผึ้งสร้างรวงผึ้งมีอายุไม่น้อยกว่า 25 วันขึ้นไป หรือมีรวงอย่างน้อยประมาณ 4-5 รวงขึ้นไป โดยทำการบังคับผึ้งเข้าคอน ปฏิบัติตามขั้นตอน โดยเอานางพญาขังไว้ในกลักขังนางพญา นำมาแขวนไว้ในรังที่จะเลี้ยงนานประมาณ 2-3 วัน จึงปล่อย ในกรณีที่หานางพญาไม่พบก็ควรกวาดหรือจับตัวผึ้งงานที่เกาะอยู่นิ่ง ๆ อย่างเบา ๆ ให้เข้ารังเลี้ยงจนหมด

การเข้าคอน

1. ลักษณะของรังผึ้งที่เข้าคอนได้ รังจะต้องสมบูรณ์ คือ มีน้ำผึ้ง ตัวอ่อน ตัวแก่สมบูรณ์ ถ้ารวงแก่เกินไปเมื่อเข้าคอนไปแล้วรังจะเก่า หลอดรังจะตื้นขึ้น นางพญาจะไม่วางไข่ รังที่เหมาะสมในการเข้าคอนควรมีรวงผึ้งประมาณ 5-8 รวง
2. วิธีเข้าคอน การเข้าคอนต้องเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อม และผู้ปฏิบัติงานจะต้องแต่งกายชุดจับผึ้งให้รัดกุม และเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมและปฏิบัติ ดังนี้
2.1 เมื่อเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ และเครื่องมือเรียบร้อยแล้ว ยกรังผึ้งที่จะนำเข้าคอนวางไว้บนโต๊ะที่วางอุปกรณ์แล้วเอารังที่จะใส่คอนโดยเอาคอนออกให้หมด จากนั้นก็ใช้เครื่องพ่นควันใส่รังผึ้งเบา ๆ แล้วเปิดรังผึ้ง ยกคอนที่มีรวงผึ้งอยู่หงายขึ้น ใช้แปรงปัดตัวผึ้งในรวงผึ้ง พอตัวผึ้งบินออกไปก็มองเห็นรวงผึ้งได้ชัดเจน จึงเริ่มลงมือทำการตัดรวงชั้นนอกออกเข้าคอน ใช้มือจับรวงผึ้งไว้แล้วใช้มืออีกข้างตัดรวงผึ้งด้วยมีดคัตเตอร์ ใช้แปรงปัดให้ผึ้งลงไปในรังใหม่ นำรวงผึ้งมาวางบนไม้กระดานตัดรวงผึ้ง นำคอนวางบนรวงผึ้งใช้มีดกรีดตามรอยเส้นลวดลงไปบนรวงผึ้ง การกรีดนั้นใช้มีดกรีดลงไปเพียงครั้งเดียวประมาณครึ่งหนึ่ง
ถ้ากรีดลงไปลึกทำให้รวงผึ้งขาด ซึ่งจะทำให้รวงผึ้งไม่ติดกับเส้นลวด การกดเส้นลวดนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือ
ทั้งสองกดเส้นลวดทั้งสองข้างเบา ๆ ตรงส่วนกลางใช้ส่วนปลายหน้าตัดของมีดกดเส้นลวดลง
2.2 เมื่อทำการเข้าคอนเสร็จแล้ว ยกไม้กระดานที่วางรวงผึ้งคว่ำลงโดยใช้มือจับคอนผึ้งไว้ไม่ให้ตก แล้วยกไม้กระดานออกใช้ยางรัดคอนผึ้งไว้แล้วนำรวงผึ้งที่เข้าคอนเรียบร้อยไปวางในรัง ทำแบบนี้จนครบหมดทุกคอน ตามลำดับชั้นของรวงผึ้ง หน้ารังอยู่ทางไหนก็ควรหันไปทางนั้น ไม่ควรสับเปลี่ยนกัน หน้ารังและท้ายรังสังเกตได้ง่าย คือ หน้ารังจะเป็นส่วนป้าน ส่วนท้ายรังจะแหลม และส่วนรวงที่อยู่ข้าง ๆ มักจะสั้นกว่าตรงกลาง รวงตรงกลางจะยาวกว่าเสมอ เมื่อทำการตัดรวงผึ้งเข้าคอนใกล้หมด การตรวจหานางพญาควรกระทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากปฏิบัติงานในตอนกลางวันควรจับนางพญาใส่กลักขังนางพญาไว้ก่อนในรังใหม่นำมาแขวนในรังใกล้ ๆ คอน เมื่อผึ้งงานได้กลิ่นนางพญาก็จะบินตามเข้าไปในรังใหม่ ถ้าหากยังไม่พบนางพญาในขณะที่กำลังเข้าคอนให้มองหานางพญาไปด้วย ให้ตรวจหาอีกครั้ง เพราะนางพญาอาจจะหลบซ่อนอยู่ตามซอกมุมรัง หรือจะซ่อนปะปนอยู่ในกลุ่มผึ้งงานก็ได้ หากพบหรือไม่พบนางพญาผึ้งให้ใช้แปรงกวาดผึ้งที่เกาะหรือคลานอยู่กับฝารังเก่าลงในรังใหม่อย่างเบา ๆ ถ้าผึ้งจับกลุ่มกันอยู่มากก็ใช้มือที่ใส่ถุงมือโกยใส่ในรังใหม่จนผึ้งงานที่เหลืออยู่ข้างนอกกลับเข้ารังใหม่จนหมด ถ้าผึ้งยังไม่ออกจากรังเก่าก็ใช้วิธีการพ่นควันใส่กลุ่มผึ้งดังกล่าวให้กระจายและกลับเข้าไปรังใหม่ ข้อคำนึงในการจับบังคับผึ้ง ไม่สมควรตัดน้ำผึ้งออกทั้งหมด ถ้าหากน้ำผึ้งมีน้อยไม่ควรตัดเพื่อเก็บไว้เป็นอาหารสำรองแก่ผึ้งบ้าง

1. การเตรียมจัดการภายในรังผึ้ง ควรพิจารณาดังนี้

  • เวลาที่ทำการตรวจเช็ค ควรเป็นช่วงเช้าหรือในตอนเย็น มีอากาศแจ่มใส ท้องฟ้าปลอดโปร่งไม่ร้อน การตรวจเช็คในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ผึ้งไม่ดุ
  • ความถี่ในการตรวจเช็ค ถ้าทำการตรวจเช็คบ่อยครั้งเป็นการรบกวนผึ้ง ทำให้ผึ้งตื่นตกใจ ควรตรวจเช็คทุก 10 วัน/ครั้ง
  • การเตรียมตัวในการตรวจเช็ค

ความเชื่อมั่นในตัวเอง คือ ผู้เลี้ยงไม่ต้องกลัวผึ้งต่อย พิษของผึ้งคือยารักษาโรคไขข้ออักเสบ ถ้าผู้เลี้ยงปฏิบัติงานที่เบามีความนิ่มนวล ผึ้งจะไม่ตกใจ การทำงานของผึ้งก็เป็นไปโดยปกติ ผู้เลี้ยงผึ้งสามารถดูพฤติกรรมการทำงานของผึ้ง เช่น ดูแหล่งอาหารว่าผึ้งเก็บมาจากที่ใด ดูผึ้งอนุบาลห้อมล้อมดูแลนางพญาในการป้อนอาหารและทำความสะอาดนางพญาป้อนอาหารตัวอ่อนและปฏิบัติงานอื่น ๆ ของผึ้งภายในรังได้ การปฏิบัติงานกับผึ้งนั้น ถ้าผึ้งต่อยต้องใจเย็นใช้เล็บเขี่ยเอาเหล็กไนออกแล้วปฏิบัติงานต่อไป
เครื่องแต่งกายในการปฏิบัติงาน ผึ้งโพรงเป็นผึ้งที่มีความดุกว่าผึ้งพันธุ์ต่างประเทศ การแต่งกายควรสวมด้วยชุดกันผึ้งต่อยให้รัดกุม ไม่มีช่องว่างให้ผึ้งเข้าต่อยได้โดยเฉพาะบริเวณเนื้ออ่อน ๆ เช่น ใบหน้า ซอกคอ บริเวณขา เป็นต้น
2. การตรวจเช็ครังผึ้ง
เมื่อแต่งชุดกันผึ้งเรียบร้อยแล้วเครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่ลืมไม่ได้ คือ เครื่องพ่นควัน ควรติดไฟเครื่องพ่นควันให้เรียบร้อย การยืนควรยืนข้างรัง การตรวจควรตรวจการเข้า-ออกของผึ้งมีสม่ำเสมอหรือไม่ บริเวณปากรังสกปรกหรือไม่ (ถ้าผึ้งแข็งแรงปากรังจะมีความสะอาด) ถ้าผึ้งสุขภาพดีผึ้งจะเข้า-ออกจากรังอยู่ตลอดเวลา ก่อนเปิดรังควรพ่นควันเบา ๆ เข้าทางปากรัง ถ้าผึ้งไม่แตกตื่นก็ไม่ควรพ่นควัน การใช้เครื่องพ่นควันควรใช้พอประมาณเท่าที่จำเป็น การพ่นควันไม่ควรให้ถึงตัวผึ้งและไม่ร้อนจนเกินไป

  • การตรวจดูปริมาณผึ้ง ว่ามีความสัมพันธ์กับจำนวนคอนหรือไม่
  • การตรวจดูนางพญา เช่น การวางไข่ การสร้างหลอด และสภาพของนางพญา
  • การตรวจดูการเก็บน้ำหวานและเกสร
  • การตรวจดูศัตรูผึ้ง
  • การตรวจดูสภาพรวงรังผึ้ง

2.1 การตรวจดูปริมาณผึ้ง จำนวนประชากรกับจำนวนคอนจะต้องมีความสมดุล คือ ปริมาณผึ้ง ควรเกาะเต็มทุกด้านของคอน ถ้าผึ้งแน่นเกินไปแสดงว่าผึ้งต้องการที่อยู่เพิ่ม ถ้าว่างเกินไปควรลดจำนวนคอนให้น้อยลงพอดีกับจำนวนประชากร ถ้าหากผึ้งสมบูรณ์ดีมี พืชอาหารในช่วงนั้นสมบูรณ์ควรเสริมคอนเปล่าไว้ให้ผึ้งงานสร้างหลอดรวงสังเกตุจากผึ้งงานจะสร้างไขผึ้งขาว ๆ หลังคอน (แต่โดยปกติควรใส่คอนเปล่าไว้ในรัง)
การเขย่าผึ้งออกจากคอนหรือรวงผึ้งมีเทคนิคไม่ให้ผึ้งตื่นคือควรเขย่าให้แรงและมีความนิ่มนวล เขย่าตัวผึ้งลงบนสันคอนหรือที่ว่างของรัง สำหรับผึ้งที่ถูกเขย่าตกลงบนหญ้าจะดีกว่าผึ้งที่ตกลงบนพื้นดิน เพราะผึ้งจะลงไปคลุกดินจำกลิ่นกันไม่ได้ การเขย่าควรทำ 2-3 ครั้ง ผึ้งก็จะหลุดออกจากรวงหมด
2.2 การดูนางพญาผึ้ง (Queen) นางพญามักจะอยู่คอนกลาง ๆ ของรัง การตรวจดูผึ้งไม่จำเป็นต้องหานางพญาทุกครั้ง เพียงแต่ตรวจดูไข่ ถ้าพบไข่แสดงว่า นางพญายังอยู่ โดยเฉพาะไข่ที่วางอยู่ตรงกลางก้นหลอดทุกครั้งมีสีขาวๆ เล็กๆ ยาวรี คล้ายเมล็ดข้าวสาร ถ้าไข่ยังตั้งอยู่แสดงว่านางพญาวางไข่ไม่เกิน 1 วัน
ลักษณะการวางไข่ผิดปกติ

  • มีไข่หลายฟองในหลอดเดียวกัน สาเหตุเกิดจากการขาดนางพญา ผึ้งงานจะทำหน้าที่แทน (ไข่ที่ออกจะเป็นผึ้งตัวผู้ทั้งหมด) อีกสาเหตุ คือ นางพญาสาวเพิ่งวางไข่ นางพญาไม่มีที่วางไข่ หรือการผสมพันธุ์ที่เลวของนางพญา
  • กรณีไข่ไม่ยอมฟัก เนื่องจากปริมาณผึ้งมีน้อย ควบคุมอุณหภูมิในรังไม่ได้ หรือรังตากแดดร้อนเกินไป หรือความผิดปกติของนางพญา ควรทำลายนางพญา หรือยุบรังหรือเสริมรัง
  • ข้อสังเกตในการวางไข่ของนางพญาตัวผึ้งตัวผู้โดยปกตินางพญาสร้างผึ้งตัวผู้เป็นสัญชาติญาณ

ผึ้งจะขยายพันธุ์เพื่อดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์โดยธรรมชาติ สำหรับผึ้งโพรงจะพบการวางหลอดนางพญาตลอดทั้งปี โดยเฉพาะรังที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว นางพญาอาจจะควบคุมรังไม่ทั่วถึงหรืออาจหมดน้ำเชื้อของผึ้งตัวผู้ที่เก็บไว้ใช้หรือเป็นการเสื่อม สมรรถภาพของนางพญา และการวางไข่ผึ้งตัวผู้เป็นสัญชาติญาณอย่างหนึ่งในช่วงระยะเวลาต่อมาจะพบหลอดนางพญาเกิดขึ้น จะทำลายนางพญาหรือทำลายหลอดผึ้งตัวผู้หรือทำลายหลอดผึ้งนางพญา ควรตรวจเช็คการวางไข่ของนางพญา ถ้ามีการวางไข่ลดจำนวนลงมาก ควรทำลายนางพญาและปล่อยหลอดผึ้งนางพญาไว้ 2-3 หลอดหรือนำหลอดผึ้งนางพญาจากที่คัดเลือกพันธุ์ไว้แล้วมาเปลี่ยน

การสร้างหลอดนางพญา มี 3 ลักษณะคือ

  1. หลอดนางพญาฉุกเฉิน ผึ้งจะสร้างเมื่อขาดนางพญา ใช้ตัวอ่อนผึ้งงานอายุไม่เกิน 3 วัน นางพญาที่ได้จากหลอดนี้จะมีคุณภาพไม่ดี
  2. หลอดนางพญาทดแทน ผึ้งจะสร้างในกรณีนางพญามีอายุมากหรือไม่สมบูรณ์ นางพญาที่ได้จากหลอดนี้จะมีคุณภาพไม่ดี
  3. หลอดนางพญาแยกรังพบอยู่ที่ปลายรวง เป็นหลอดเหมือนถั่วลิสง สามารถปล่อยแยกหรือเปลี่ยนนางพญาตัวใหม่เทคนิคของการทำลายหลอดนางพญา โดยการใช้นิ้วบี้บิดหลอดนางพญาออกทิ้ง หลอดนางพญามีรอยัล เยลลี่ อยู่มากไม่ควรทิ้ง ควรนำมารับประทาน

การจัดคอน ควรจัดคอนริมสุดเป็นคอนน้ำหวาน , คอนตัวอ่อน ไว้ตรงกลางเพื่อให้ผึ้งควบคุมอุณหภูมิให้ตัวอ่อนได้แล้วถัดมาเป็นคอนไข่และคอนดักแด้แก่
นางพญาที่ดี วางไข่ดีในช่วงระยะเวลานานพอสมควร ผึ้งไม่ดุผึ้งงานหาอาหารเก่ง ไม่มีโรค มีน้ำผึ้งมาก ลักษณะนางพญาจะมีส่วนอกกว้าง ตัวโต มีสีสดใสและส่วนท้องยาว
2.3 การตรวจดูการเก็บน้ำหวานและเกสร ผึ้งโพรงจะมีตัวอ่อน เกสร น้ำหวาน รวมอยู่ในรวงเดียวกัน แต่น้ำหวานจะวางอยู่ด้านบนของคอน ผึ้งโพรงไม่สามารถจัดคอนได้มากนัก การตรวจดูว่ามีเกสรน้ำหวานมากพอหรือไม่ พอที่จะตัดน้ำผึ้งได้หรือไม่ น้ำผึ้งพร้อมที่จะเก็บได้หรือไม่
2.4 การตรวจดูโรคและศัตรูของผึ้งโพรง
โรค ผึ้งโพรงนับว่าเป็นผึ้งที่ไม่ค่อยมีโรครบกวน และพบโรคของผึ้งโพรงน้อยมาก โรคผึ้ง ถ้าพบควรนำคอนนั้นไปทำลาย โดยการไปเผาทิ้ง เช่น โรคแซกบรูด
ศัตรูที่ควรตรวจเช็ค คือ ผีเสื้อกินไขผึ้ง ถ้าพบควรทำลายเสีย,มดแดง , แมลงสาบ , แมงมุม , ตัวต่อ เป็นต้น
2.5 การตรวจสภาพรวงรังผึ้ง รวงผึ้งที่มีสภาพเก่าสีจะดำควรตัดทิ้งไป หรือสภาพรังที่ผึ้งสร้างไม่เป็นระเบียบ ควรคัดออกหรือตัดแต่งใหม่

3. การคัดเลือกสถานที่หรือทำเลที่ตั้งรังผึ้ง

การเลี้ยงผึ้ง คือ การเลียนแบบความเป็นอยู่ของผึ้งตามธรรมชาติ ให้ผึ้งอยู่ในแหล่งที่เราต้องการ ปัจจัยต่าง ๆ ในการพิจารณาประกอบการเลี้ยงผึ้งจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น มีปัจจัยหลายอย่าง ผู้เลี้ยงผึ้งควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สถานที่ใดไม่มีแหล่งอาหารผึ้งหรือมีปัจจัยอื่น ๆ ไม่เหมาะสมการเลี้ยงผึ้งไม่สามารถทำได้
ปัจจัยต่าง ๆ ในการพิจารณาประกอบการเลี้ยงผึ้งโพรง

pungluangsuan

3.1 สภาพพื้นที่ใช้เลี้ยงผึ้งและลานเลี้ยงผึ้ง ซึ่งได้สอบถามแนวความคิดของนักเลี้ยงผึ้งและนักวิชาการหลายท่านที่ได้ทำการศึกษาวิจัยด้านผึ้ง ได้แบ่งการเลี้ยงผึ้งของประเทศไทยออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  1. เขตพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเลี้ยงผึ้งของประเทศไทยมากที่สุด คือ เขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงผึ้งพันธุ์
  2. เขตพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารผึ้งสมบูรณ์ปานกลาง คือ เขตพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลหลากหลายโดยเฉพาะมะพร้าว ยางพารา เงาะ กาแฟ เป็นต้น เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงผึ้งโพรง
  3. เขตพื้นที่ที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์น้อยหรือขาดแคลน หมายถึง พื้นที่ที่มีการปลูกข้าว อ้อย ตามพื้นที่บางส่วนของภาคกลาง ภาคตะวันตก หรือบางส่วนของภาคใต้ เช่น ท้องที่อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นต้น

3.2 สถานที่เลี้ยงผึ้ง
สำหรับแหล่งพืชอาหารผึ้งผู้เลี้ยงจะต้องมีความรอบคอบเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นที่ตั้ง
รังผึ้ง ปัจจัยต่าง ๆ ที่ควรคำนึงถึง คือ

  • ชนิดของพันธุ์ไม้ที่ให้น้ำหวานและเกสร รวมทั้งระยะเวลาและปัจจัยการออกดอกของไม้แต่ละชนิดเพื่อให้มีพืชอาหารผึ้งตลอดปี
  • ความหนาแน่นของดอกไม้ต่อพื้นที่นั้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการบินไปหาอาหารของผึ้งงาน
  • จำนวนผึ้งและรังผึ้งในแหล่งอาหารควรประเมินว่าในบริเวณลานเลี้ยงผึ้งแต่ละแห่งมีปริมาณอาหารเพียงพอสำหรับผึ้งกี่รัง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการมากที่สุด
  • ระยะห่างระหว่างลานเลี้ยงผึ้ง ระหว่างผู้เลี้ยงต่างเจ้าของกัน
  • ลักษณะภูมิประเทศเป็นแหล่งที่ปลอดสารเคมี ตำแหน่งที่ตั้งรังผึ้งหรือเรียกว่า ลานเลี้ยงผึ้ง นอกจากจะอยู่บริเวณใกล้แหล่งอาหารแล้ว ควรจะเป็นพื้นที่โล่ง แห้ง ไม่อับชื้น และผิวดินเรียบได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน ลานเลี้ยงไม่ควรอยู่ในย่านชุมชน และควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

3.3 พืชอาหารผึ้งที่ทำการสำรวจในท้องที่

  • มะพร้าว จากการศึกษามะพร้าวการออกจั่นของมะพร้าว พบว่า ช่วงที่มะพร้าวออกจั่นน้อย ประมาณเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคมและกุมภาพันธ์ คือ ให้จั่นเฉลี่ยร้อยละ 15 จั่น/เดือน ส่วนช่วงที่มีจั่นมะพร้าวอุดมสมบูรณ์ คือ มีนาคม เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฏาคม และสิงหาคม จำนวนจั่นเฉลี่ย ร้อยละ 40.33 จั่น/เดือน
    สรุป การเลี้ยงผึ้งในสวนมะพร้าว การเลี้ยงผึ้งจะมีอาหารผึ้งสมบูรณ์เพียง 6 เดือน และในสวนมะพร้าวช่วงขาดแคลนหรือมีปริมาณจั่นน้อย 6 เดือน
  • เงาะ และทุเรียน ออกดอกในเดือนมกราคม-เมษายน จะช้าหรือเร็วแล้วแต่สภาพภูมิอากาศของแต่ละปีหรือปริมาณการจัดการ สำหรับท้องที่หรือบางที่เงาะออกดอกอีกช่วงหนึ่งคือเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม ความชอบของผึ้งมีปริมาณมาก สามารถเลี้ยงผึ้งได้ ช่วงออกดอกแต่ละต้นประมาณ 1 เดือน
  • ยางพารา ผลัดใบมีใบเพสลาด ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ช่วงผลัดใบ ประมาณ 1 เดือน ใบอ่อนมีน้ำหวานมาก และมีเนื้อที่ปลูกมาก
  • มะม่วงหิมพานต์ ออกดอกในเดือนมกราคม จนถึงเดือนมีนาคม ดอกมีน้ำหวานและพื้นที่ปลูกไม่มากนัก
  • พืชผัก พืชไร่ และไม้ดอกบางชนิด เช่น ดอกแตง ฟักทอง บานชื่น โหระพา ดาวกระจาย กระถิน ถั่ว คุณนายตื่นสาย แต่พื้นที่ปลูกพืชไร่และไม้ดอกทางภาคใต้แต่ละท้องที่มีปริมาณปลูกไม่มากนัก
  • สาบเสือ มีการออกดอกในเดือนธันวาคม กุมภาพันธ์ อยู่ในพื้นที่สวนโดยทั่วไปมีปริมาณมากพอสมควร
  • ยูคาลิปตัส เดือนที่ออกดอก มี 2 ช่วง คือ มีนาคม เมษายน และพฤศจิกายน ธันวาคม ดอกมีน้ำหวานมาก แต่พื้นที่มีปลูกไม่มากนัก
  • ไม้ป่าชายเลน เช่น ลำพู สำโรง พวงตาตุ่ม ออกดอกช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมผึ้งชอบเพราะ ฤดูนี้มีน้ำหวานจากดอกไม้ป่าชายเลนมาก แต่ยังไม่ได้ทำการศึกษาชนิดของพืชในป่าชายเลน
  • ข้าว ช่วงออกดอกเดือนธันวาคม กุมภาพันธ์ ให้เกสร
  • ต้นเสม็ด ได้ทำการศึกษาตั้งแต่เดือนมกราคม 2528 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2529 พบว่ามีดอกตลอดปี แต่ปริมาณดอกที่ออกแต่ละเดือนมีไม่มากนัก ช่วงที่มีปริมาณออกดอกมากที่สุด คือ เดือนมิถุนายน ให้น้ำหวานและเกสร
  • กาแฟ เริ่มบานเป็นช่วง ๆ ละ 5-7 วัน เป็นพืชที่มีปริมาณเนื้อที่ปลูกมาก ช่วงระยะการออกดอกน้อยมาก
  • กระถินเทพา จะออกดอก 3-4 เดือนต่อครั้ง ให้เกสร
  • พืชตระกูลส้ม ออกดอกตลอดปี
  • กล้วย ออกดอกตลอดปี
  • ต้นตำเสา จะออกดอกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ให้น้ำหวานมาก

 

4. เทคนิคการรวมรัง
บางครั้งผึ้งที่เลี้ยงเกิดขาดนางพญา หานางพญาใหม่ไม่ทัน โดยเฉพาะผึ้งโพรงที่ล่อมาได้มีประชากรไม่มากพอ หรือรังผึ้งที่ไม่สมบูรณ์ควรที่จะรวมรังให้เป็นรังเดียว มีความแข็งแรงพอที่จะได้รับน้ำหวานในช่วงที่ดอกไม้กำลังจะบาน ในการรวมรังใช้เทคนิค ดังนี้

  • รังผึ้งที่จะรวมกันควรขนย้ายมาไว้ใกล้ ๆ กัน
  • ทำลายนางพญารังที่ไม่สมบูรณ์ล่วงหน้า 1 วัน ในกรณีที่มีนางพญาทั้งสองรัง
  • นำผึ้งทั้งสองรังมารวมกันทันที โดยฉีดพ่นน้ำหวาน ให้ทั่วรัง ผึ้งทั้งสองรัง
  • ควรปฏิบัติงานในช่วงเย็นหรือพลบค่ำ

ข้อควรระวังในการรวมรัง
– อย่านำรังผึ้งที่เป็นโรคและศัตรูที่สำคัญของผึ้งมารวมกับรังอื่น ๆ

5. เทคนิคการสร้างความแข็งแกร่งให้ผึ้งแต่ละรัง

ปัจจัยที่สำคัญการเสริมรังให้ผึ้งนางพญามีการวางไข่และเสริมสร้างประชากรให้มากขึ้นต้องมีปัจจัยต่าง ๆ คือ

  • มีเกสรดอกไม้พอเพียง โดยธรรมชาติมีมากพอ ถ้าไม่มีควรให้เกสรเทียม
  • มีน้ำหวานจากดอกไม้
  • มีนางพญาที่มีคุณภาพดี
  • สถานที่เลี้ยงดี ทำเลดี สภาวะอากาศเอื้ออำนวย
  • มีการจัดการดี

หมายเหตุ เกสรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ดอกข้าวโพด ดอกข้าว ดอกไม้ป่าหลายชนิด ดอกบัว ดอกไมยราบ ดอกวัชพืช และดอกมะพร้าว เป็นต้น

วิธีการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผึ้งแต่ละรัง

  • การรวมรัง
  • โดยการเสริมตัวอ่อนที่ปิดฝาแล้ว (Seal Brood) จากรังสต๊อกไว้แยก
  • โดยการสลับรัง ทำให้ผึ้งอ่อนแอ แข็งแกร่งขึ้นและควรทำในตอนกลางคืนหรือพลบค่ำ จะช่วยแก้ไขปัญหารังใกล้เคียงต่อสู้แย่งน้ำผึ้ง


6. การล่อผึ้งควบคู่กับการเลี้ยง

การเลี้ยงผึ้งโพรงปัญหาที่สำคัญ คือ ผึ้งหนีรัง ผู้เลี้ยงไม่สามารถเพิ่มปริมาณผึ้งได้ตามความต้องการ และไม่สามารถคงสภาพผึ้งที่มีอยู่ให้เท่าเดิมได้ ผึ้งอพยพไปตามแหล่งอาหารแต่ละฤดูกาล การล่อผึ้งควบคู่กับการเลี้ยงผึ้ง พบว่า ผึ้งที่หนีรัง แยกรัง และผึ้งป่าตามธรรมชาติ จะอพยพหนีรัง แยกรัง หรือหารัง จะไปเข้ารังล่อ ปริมาณผึ้งที่เลี้ยงไว้จะมีผึ้งทดแทนจากการล่อ และจะมีปริมาณผึ้งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการทดลองมีผึ้งเพียง 10 รัง ปัจจุบันมีผึ้งประมาณ 100 กว่ารัง ฉะนั้นการเลี้ยงผึ้งโพรงควรมีการล่อควบคู่กันไปด้วย

7. การจัดการผึ้งนางพญา
ผึ้งนางพญาที่ดีเป็นหัวใจการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • วางไข่สม่ำเสมอทั้งคอน
  • ผลิตผึ้งงานมีคุณภาพ
  • เป็นนางพญาที่แข็งแรง

นางพญาผึ้งโพรงมีความสามารถในการควบคุมและผลิตผึ้งงานได้มีประสิทธิภาพให้สังเกตว่าถ้าพบว่าการวางไข่ลดลงมาก หรือนางพญาพิการ ควรทำการเปลี่ยนนางพญา อาจจะใช้หลอดนางพญาภายในรังหรือใช้หลอดนางพญาจากรังผึ้งที่ดีมาเปลี่ยน

pungluanglang

การเปลี่ยนนางพญาโดยใช้ Queen cell (หลอดรวงผึ้งแม่รัง)
ภายในรังเมื่อพบว่า ผึ้งนางพญาไข่ลดลงประชากรในรังน้อยลง และผึ้งงานไม่สร้างรวงรัง ทั้งที่มีอาหารสมบูรณ์ ในช่วงที่ภายในรังมีหลอดนางพญา ผู้เลี้ยงควรคัดเลือกหลอดนางพญาที่สมบูรณ์ไว้ประมาณ 2-3 หลอด และในช่วงที่หลอดนางพญาที่เก็บไว้ใกล้จะแตกออกเป็นตัวเต็มวัย ให้ฆ่านางพญาตัวเดิม ตัวใหม่ที่ออกมาจะไม่ต้องต่อสู้กัน คัดเลือกเหลือนางพญาเพียงตัวเดียว หลังจากนั้นผสมพันธุ์เองตามธรรมชาติ และเป็นนางพญาตัวใหม่
การเปลี่ยนนางพญา โดยใช้หลอดนางพญาจากรังอื่น ๆ คัดเลือกจากรังผึ้งที่ดี ลักษณะนางพญาที่ดี กล่าวคือ จะวางไข่สม่ำเสมอ ผลิตผึ้งงานมีคุณภาพ และเป็นนางพญาที่ดีแข็งแรง และไม่สร้างหลอดนางพญาบ่อย ๆ ผู้เลี้ยงต้องการเปลี่ยนนางพญาจากรังอื่น (นางพญาจากรังที่มีคุณภาพที่คัดเลือกไว้แล้ว) เอาหลอดนางพญามาเหน็บลงไปในคอนผึ้งที่ต้องการจะเปลี่ยนโดยใช้หัวแม่มือกดบริเวณรวงผึ้งที่มีน้ำหวานให้บุ๋มลงไป มีน้ำหวานไหลออกมาเล็กน้อยหลอดนางพญาที่เปลี่ยนควรมีอายุหลังจากปิดฝาประมาณ 6 วัน ทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้หลอดนางพญากระเทือน ใช้ปลายเล็บย้ำเบา ๆ ให้ขอบของฐานหลอดติดกับไขผึ้งรอบ ๆ รอยบุ๋มที่ใช้นิ้วมือกดลงไปและต้องแน่ใจว่าผึ้งไม่ได้สร้างหลอดนางพญา หรือมีหลอดนางพญาไว้แล้ว ถ้าพบให้ทำลายเสียมิเช่นนั้นผึ้งรังใหม่จะไม่ยอมรับนางพญาที่นำไปใส่ให้ และควรตรวจดูทุกระยะว่าผึ้งยอมรับหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับควรใช้คอนผึ้งที่มีหลอดนางพญาอยู่แล้ว ยกมาใส่ในรังใหม่ในช่วงกลางคืน อย่าลืมว่า ก่อนใส่หลอดนางพญาเข้าไปในรังผึ้งที่ต้องการทำลายนางพญาตัวเก่าก่อน 1 วัน

8. การจัดการผึ้งในช่วงดอกไม้บาน
จากการสำรวจการเลี้ยงผึ้งโพรงโดยทั่วไปพบว่า ผู้เลี้ยงผึ้งโพรงไม่สนใจย้ายผึ้งไปเก็บดอกไม้บานตามแหล่งอาหารต่าง ๆ ๆแต่ละฤดูกาล ทั้งนี้ มีปัจจัยอื่น ๆ ที่มาเกี่ยวข้องให้ผู้เลี้ยงผึ้งไม่สนใจที่จะเคลื่อนย้ายผึ้งไปเก็บดอกไม้ต่าง ๆ ที่ดีกว่า การเลี้ยงผึ้งในสวนมะพร้าวสาเหตุเพราะ

  1. ไม่มีตัวอย่างหรือข้อมูลพอที่จะเชื่อถือได้ว่า เคลื่อนย้ายผึ้งไปเก็บดอกไม้บานแล้วจะคุ้มทุน
  2. ผู้เลี้ยงผึ้งโพรงเป็นเกษตรกรรายย่อยไม่มีเวลาและกำลังพอที่จะขนย้ายได้
  3. สภาพของผึ้งก่อนดอกไม้บาน โดยเฉพาะดอกเงาะ ทุเรียน และยางพารา (ทางภาคใต้) จะออกดอกเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม สภาพผึ้งโดยทั่วไปในช่วงนี้ผึ้งที่ปักหลักเลี้ยงในสวนมะพร้าวไม่สมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่
  4. การเก็บน้ำผึ้งโดยทั่วไปใช้วิธีการตัด บางรายไม่ได้เข้าคอน การตัดน้ำผึ้งแต่ละครั้ง ทำให้ผึ้งชงักความสมบูรณ์ เนื่องจากต้องไปสร้างรังใหม่ กว่ารังจะสมบูรณ์ใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน

จากผลการทดลอง สลัดน้ำผึ้งด้วยเครื่องสลัด ในช่วงที่มะพร้าวออกจั่นมาก ๆ (ประมาณเดือนเมษายน กรกฏาคม) สามารถสลัดน้ำผึ้งได้ประมาณ 20-30 วันต่อครั้ง และได้น้ำผึ้งประมาณ 600-3,100 กรัม ต่อรังต่อครั้ง สำหรับช่วงอื่น ๆ สามารถสลัดน้ำผึ้งในสวนมะพร้าวได้บ้าง ช่วงระยะเวลาที่มะพร้าวออกจั่น (สิงหาคม-มีนาคม) การสลัดแต่ละครั้งต้องห่างออกไป ทั้งนี้ แหล่งอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ การสลัดน้ำผึ้งของผึ้งโพรงนับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มผลผลิตการเลี้ยงผึ้งโพรงให้สูงขึ้นได้

9. การขนย้ายผึ้ง

ข้อควรคำนึงถึงการนำผึ้งที่ล่อได้มาไว้บริเวณลานเลี้ยง

  1. ควรให้ผึ้งสร้างรวงประมาณ 2 รวงขึ้นไป และภายในรวงควรประกอบด้วย น้ำผึ้ง เกสร และตัวอ่อน
  2. ก่อนทำการขนย้ายควรเตรียมเสาหลัก แหล่งที่ขนย้ายไว้ให้พร้อมในช่วงเวลากลางวัน
  3. การขนย้ายผึ้งควรขนย้ายในเวลากลางคืน เพื่อป้องกันผึ้งตกค้างน้อยที่สุด
  4. การขนย้ายรังล่อ ควรให้ผึ้งมีตัวอ่อนและน้ำหวานอยู่มากพอสมควร เพื่อป้องกันการหนีรังหลังการขนย้าย
  5. การขนย้ายควรกระทำอย่างนิ่มนวล เพื่อป้องกันรวงผึ้งขาดในกรณีที่ผึ้งยังไม่เข้าคอน หรือปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่จำเป็น

การขนย้ายผึ้งในช่วงระยะทางไกล ๆ
การขนย้ายในระยะทางไกล ๆ ควรคำนึงถึงปัญหาผึ้งย้ายที่อยู่ จะทำให้ประชากรของผึ้งตายไปเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นการขนย้ายผึ้งเพื่อให้ผึ้งบอบช้ำน้อยและตายน้อยที่สุด
ควรปฏิบัติ ดังนี้
1. การขนย้ายผึ้งในระยะทางไกล ๆ ควรย้ายผึ้งเฉพาะผึ้งที่เข้าคอนเท่านั้น
2. ควรขนย้ายผึ้งในช่วงเวลากลางคืน ถ้าหากมีความจำเป็นต้องขนย้ายในเวลากลางวัน ควรปฏิบัติ ดังนี้

  • ใช้ตะแกรงมุ้งลวดปิดปากทางเข้า-ออก เพื่อให้อากาศระบายเข้าไปในรังได้บ้าง
  • ควรฉีดพ่นน้ำให้ผึ้งในช่วงขนย้าย
  • เมื่อขนย้ายผึ้งถึงลานเลี้ยงใหม่ ควรปล่อยผึ้งทันที และผู้ปล่อยผึ้งไม่ควรยืนตรงหน้ารัง
  • หลังจากขนย้ายผึ้งเสร็จแล้ว วันถัดไปควรตรวจภายในรังผึ้ง

10. การเก็บน้ำผึ้งในรังเลี้ยงผึ้ง
ผู้เลี้ยงผึ้งแบบเก่า ซึ่งเลี้ยงผึ้งในโพรงไม้หรือกล่องไม้ที่ไม่มีคอน เมื่อผึ้งมาอยู่ในกล่องได้ประมาณ 1-3 เดือน ให้เปิดดูรวงผึ้งที่ผึ้งสร้างนั้น ถ้ามีประมาณตั้งแต่ 4 รวงขึ้นไปมีขนาดใหญ่พอควรให้ใช้มีดตัดรวงผึ้งออกจากรังประมาณรังละ 1-3รวง ให้เหลือรวงผึ้งไว้ในรังประมาณ 3-4 รวง นำรวงผึ้งที่ตัดออกมาตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำผึ้ง นำมาสับบนตะแกรงให้น้ำผึ้งไหลลงในถังเก็บ ไม่ควรใช้วิธีบีบด้วยมือ หรือคั่นรวงผึ้งเพราะจะทำให้เศษผงหรือชิ้นส่วนของรวงผึ้ง และตัวอ่อนผึ้งผสมไปกับน้ำผึ้ง ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน ส่วนของเศษผงต่าง ๆ จะลอยขึ้นส่วนบนให้ตัดเอาเศษผงออก ซึ่งจะได้น้ำผึ้งบริสุทธิ์บรรจุขวดต่อไป การเก็บน้ำผึ้งแบบนี้จำเป็นต้องตัดทั้งรวงทำให้ส่วนของตัวอ่อนผึ้งเสียไป ซึ่งมีผลกระทบต่อความแข็งแรงและความสมดุลภายในรังผึ้งด้วย
ในกรณีไม่มีถังสลัด มีวิธีตัดน้ำผึ้งจากรวง 2 แบบ คือ

  1. ตัดเอาเฉพาะส่วนของน้ำผึ้งทั้งหมดด้านบนคอน โดยเหลืออาหารให้ผึ้ง 3-4 คอน การตัดแบบนี้ผึ้งงานจะสร้างหลอดรวงใหม่ได้ช้า
  2. ตัดเอาเฉพาะส่วนของน้ำผึ้งเป็นช่วง ๆ การตัดน้ำผึ้งวิธีนี้ สามารถตัดได้ทุกรวง เพราะยังมีส่วนของน้ำผึ้งเหลือไว้ให้เป็นอาหารของผึ้ง และจะทำให้ผึ้งซ่อมแซมรังได้รวดเร็วกว่าวิธีแรก

11. การเก็บไขผึ้ง นำเศษรวงผึ้งที่เหลือจากการเอาน้ำผึ้งออกหมดแล้วหรือจากรวงผึ้งเก่า ๆ ถ้ามีน้ำผึ้งอยู่นำไปวางในที่เลี้ยงผึ้ง ให้ผึ้งดูดน้ำผึ้งเป็นอาหารให้หมด นำเศษรวงผึ้งที่ได้ไปใส่ในน้ำเดือด แต่ห้ามต้มไขผึ้งในภาชนะที่เป็นอลูมิเนียม จากนั้นไขผึ้งบริสุทธิ์จากรวงผึ้งจะหลอมละลายออกมา ใช้ตะแกรงลวดตักเศษผงต่าง ๆ ออกให้หมดหรือใช้ผ้ากรองอีกที หรือใช้ตาข่ายมุ้งลวดสีฟ้ากรอง แล้วตั้งไฟอีกครั้งแล้วกรองด้วยผ้าขาวบางอีกที ทิ้งให้ไขผึ้งเย็นลง ก็จะได้ไขผึ้งบริสุทธิ์ ลอยจับตัวแข็งอยู่ที่ผิวหน้าด้านบน นำส่วนไขผึ้งนี้ไปใส่กะทะตั้งบนไฟอีกครั้ง ไขผึ้งจะหลอมละลายเป็นไขผึ้งเหลว (ไม่ต้องผสมน้ำ) แล้วนำไปใส่หล่อแบบพิมพ์ที่ต้องการ

12.อุปกรณ์ในการเลี้ยงผึ้งโพรง
1). หีบหรือรังเลี้ยงผึ้งมาตรฐาน ประกอบจากไม้ที่มีน้ำหนักเบา ไม่ยืด ไม่หด และไม่โค้งบิดงอ ไม้ที่นำมาประกอบควรมีความหนาประมาณ 1.40 ซม. โดยมีสัดส่วนของหีบเลี้ยง ดังนี้

  • แผ่นไม้ที่ใช้มีขนาดความหนา 1.40 ซม.
  • ความสูง 25 ซม.
  • ความยาวภายนอก 53.50 ซม.
  • ความยาวภายใน 50.70 ซม.
  • ความกว้างภายนอก 30.50 ซม.
  • ความกว้างภายใน 27.70 ซม.

2). คอนผึ้ง เป็นส่วนที่สำคัญที่จะยืดรวงผึ้ง การเลือกไม้ที่มาทำคอนควรเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงสามารถตอกตะปู และมีความคงทนในการใช้งาน ขนาดของคอนมาตรฐานที่ใช้ในผึ้งโพรง ซึ่งประกอบด้วยไม้ 4 ชั้น คือ ด้านบน ด้านล่าง อย่างละ 1 ชิ้น และด้านข้าง 2 ชิ้น โดยมีสัดส่วนของคอน ดังนี้

  • ความหนาของไม้คอน 1.6 ซม.
  • ความกว้างของไม้คอน 2.0 ซม.
  • ความยาวด้านบน 48.0 ซม.
  • ความยาวด้านล่าง 42.0 ซม.
  • ความยาวด้านข้าง 22.5 ซม.
  • ความหนาของไม้ด้านข้าง 2.5 ซม.

3). รังล่อผึ้งโพรง มีความจำเป็นมาก ผู้เลี้ยงผึ้งโพรงจะต้องใช้รังล่อควบคู่ไปกับการเลี้ยงตลอดเวลา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผึ้งหนีรังหรือผึ้งแยกรัง ถ้าผึ้งออกไปจะได้เข้ารังล่อ รังล่อต้องเปิดทุกด้าน ยกเว้นฝาด้านบน ขนาดรังล่อไม่จำกัดขนาด แล้วแต่ผู้เลี้ยงจะกำหนดขนาดแต่ถ้าหากสามารถทำได้เท่ากับรังเลี้ยงก็ยิ่งดี เพราะถ้าหากผึ้งเข้ารังล่อมาก ๆ ในบางฤดูกาล รังเลี้ยงเตรียมไว้ไม่พอก็สามารถใช้รังล่อแทนได้ โดยรังล่อที่เข้าคอนสามารถนำมาเลี้ยงผึ้งได้เช่นกัน
4). ชุดป้องกันผึ้งต่อย การเลี้ยงผึ้งโพรงโดยทั่วไปเราจะใช้ชุดง่าย ๆ ที่มีอยู่คือ กางเกงขายาว เสื้อแขนยาวและอาจจะใช้หนังยางรัดที่ปลายขากางเกง และปลายแขนเสื้อ เพื่อ
ป้องกันผึ้งมุดเข้าไปต่อยส่วนในของร่างกาย โดยบางครั้งจะมีถุงมือยางหรือหนังที่หนาสวมมือ
ป้องกันผึ้งต่อยทุกครั้ง
5). หมวกกันผึ้งต่อย ใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นบ้านก็คือใช้ตาข่ายถี่ที่ผึ้งลอดเข้าไม่ได้ มาทำเป็นหมวกครอบศรีษะ โดยด้านล่างใช้ผ้าเย็บยาวลงมาให้ปิดช่วงลำคอไว้ ด้านหน้าจะทำเป็นตาข่ายสีดำช่วงระหว่างตา เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเมื่อต้องการปฏิบัติงานในการเลี้ยงผึ้ง
6). แปรงปัดตัวผึ้ง เป็นแปรงที่มีขนอ่อนนุ่มไม่ทำอันตรายผึ้ง ใช้สำหรับปัดผึ้งลงในรังหรือในช่วงเก็บน้ำผึ้ง และช่วงตัดผึ้งเข้าคอน
7). เครื่องพ่นควันสยบผึ้ง (Smoker) เป็นเครื่องมือสำคัญที่นักเลี้ยงผึ้งทุกคนจะต้องมีและนำไปใช้ทุกครั้ง เวลาทำงานอยู่กับรังผึ้ง ทำด้วยกระป๋องสังกะสี อลูมิเนียม หรือสแตนเลส มีฝาครอบ เป็นรูปทรงกรวยสำหรับปิดพ่นควันออก ด้านหลังเจาะรูให้ลมเข้าและมีที่ปั้มลมประกอบด้วยไม้ 2 แผ่นบาง ๆ ที่ปั้มลมทำด้วยผ้าหนังมีช่องลม ตรงกับรูของกระป๋อง เวลาบีบลมจากกระเปาะจะพุ่งตรงเข้าไปในกระป๋อง ทำให้เชื้อไฟในกระป๋องติดไฟ เกิดควันพุ่งออกจากกรวย วัสดุที่ใช้เผาให้เกิดควัน นิยมใช้ใบไม้ใบหญ้าแห้ง ๆ หรือกาบมะพร้าวแห้งก็ได้ เวลาเผาถ้ามีเปลือกส้มแห้ง ๆ ก็ใส่เข้าไปด้วย จะทำให้ควันมีกลิ่นดีขึ้น ถ้าควันที่มีกลิ่นเหม็นผึ้งก็ไม่ค่อยชอบ
8). กลักขังนางพญา ทำด้วยตาข่ายอลูมิเนียมมีขนาดเท่ากล่องไม้ขีด ใช้สำหรับจับผึ้งนางพญาขังไว้เวลาตัดผึ้งเข้าคอน
9). มีด ใช้มีด cutter หรือมีดบางปลายแหลม สำหรับใช้ตัดรวงผึ้งช่องเข้าคอน
10). ลวดสแตนเลส เป็นลวดสแตนเลสขนาดเล็ก สำหรับใช้ขึงคอนยึดรวงผึ้งช่วงที่ตัดผึ้งเข้าคอน
11). ไขผึ้ง ใช้สำหรับทาฝารัง หรือข้างกล่องผึ้ง เพื่อล่อให้ผึ้งเข้ารังล่อ
12). อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ภาชนะสำหรับใส่รวงผึ้งและน้ำผึ้ง ยางเส้นใช้สำหรับรัดรวงผึ้ง เมื่อตัดรวงผึ้งเข้าคอน ใช้จำนวน 2 เส้นต่อ 1 คอน ถังพักน้ำผึ้ง และอุปกรณ์ช่าง เช่น ค้อน ตะปู คีม เลื่อย กรรไกร ยาหม่อง ฯลฯ

ศัตรูของผึ้ง
การเลี้ยงผึ้งโพรงนั้นนอกจากผู้เลี้ยงผึ้งจะประสบปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการรังผึ้งแล้ว ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำความเสียหายให้กับผึ้งที่เลี้ยงก็คือ ปัญหาเรื่องโรคและแมลงที่เป็นศัตรูของผึ้ง ซึ่งแบ่งออกเป็น
1. พวกสัตว์ที่กินผึ้งเป็นอาหาร
ได้แก่ แมงมุม จิ้งจก ตุ๊กแก คางคก กบ อึ่งอ่าง นกต่าง ๆ เช่นนกกิ้งโครง นกแอ่นลม กิ้งก่า จิ้งเหลน เป็นต้น สัตว์เหล่านี้จะจับกินผึ้งเป็นอาหาร เมื่อพบในแหล่งเลี้ยงผึ้งให้กำจัดทิ้งหรือไล่ไป และทำความสะอาดรังอยู่เสมอ
2. พวกแมลง

  • หนอนผีเสื้อกินไขผึ้ง (Wax Moth) เป็นศัตรูที่สำคัญของผึ้งโพรงและพบในรังผึ้งที่อ่อนแอมีประชากรน้อย ตัวแก่เป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง มาวางไข่ในรังผึ้งที่อ่อนแอ มีประชากรน้อย ตัวอ่อนซึ่งเป็นตัวหนอนจะไปกัดกินรวงผึ้งให้เสียหาย ป้องกันโดยทำให้ประชากรผึ้งแข็งแรง
  • มดต่าง ๆ จะเข้าไปกัดกินตัวอ่อน ตัวแก่ของผึ้งและจะขโมยน้ำผึ้งในรัง ป้องกันโดยการใช้เศษผ้าชุบน้ำมันเครื่องเก่าพันรอบเสาหรือขาตั้งรังผึ้ง เช่น มดแดง
  • ปลวก จะกัดกินรังผึ้งทำให้รังเลี้ยงผึ้งผุกร่อนพังไปไม่สามารถใช้เลี้ยงผึ้งได้ ให้หมั่นตรวจทำความสะอาดรังผึ้งอย่างสม่ำเสมอ
  • ไร ซึ่งดำรงชีวิตแบบตัวเบียนจะดูดกินของเหลวภายในตัวผึ้งหรือเลือดผึ้ง ไรที่เป็นศัตรูของผึ้งโพรง คือ ไรวาร์รัว ผึ้งที่ถูกไรเบียนถ้ารอดชีวิตอยู่ได้จะพิการ รูปร่างผิดปกติ ปีกไม่แผ่ออกในสภาพปกติตามธรรมชาติ ผึ้งโพรงจะมีความต้านทานต่อการระบาดของไรศัตรูผึ้ง โดยจะพบเห็นไรถูกผึ้งงานกัดทำลาย และถ้าในรังผึ้งโพรงมีไรระบาดมาก ผึ้งโพรงจะย้ายทิ้งรัง การใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดไรจึงไม่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงผึ้งโพรง
  • ตัวต่อ จะเข้าทำลายผึ้งโดยการบินโฉบจับตัวผึ้งงาน ตัวเต็มวัยที่บินอยู่นอกรังกินเป็นอาหาร ถ้ารังผึ้งรังไหนอ่อนแอตัวต่อจะเข้าไปกินตัวหนอนภายในรังจนหมด

3. โรคผึ้ง
โรคของผึ้งโพรงที่พบคือโรคแซกบรูดที่ระบาด เกิดจากเชื้อไวรัส ลักษณะของโรคตัวอ่อนจะตายก่อนปิดฝาและระยะปิดฝาตัวอ่อนมีสีขาวขุ่นถึงเหลืองหรือน้ำตาลเข้มต่อมาจึงค่อย ๆ แห้ง โดยส่วนหัวจะหด ส่วนท้ายจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นถุงน้ำ การรักษาและป้องกันกำจัดโดยวิธีทำให้รังผึ้งแข็งแรงต้านทานโรค เปลี่ยนรวงตัวอ่อนที่เป็นโรคทิ้ง นำไปเผาทำลายทิ้งและเปลี่ยนนางพญาใหม่ เพราะอาจเกิดการแพร่เชื้อจากการวางไข่ของผึ้งนางพญา โดยการถ่ายทอดเชื้อทางกรรมพันธุ์
ลักษณะของผึ้งโพรงโดยธรรมชาติ จะมีศัตรูผึ้งน้อยมาก ไม่ต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัด เนื่องจากผึ้งโพรงเป็นแมลงในธรรมชาติปราดเปรียว ต้านทานโรค เอาตัวรอดได้ดี เช่น การอพยพทิ้งรังหนีในกรณีเกิดโรคแซกบรูดรบกวนหรือมีศัตรูอื่น ๆ รบกวน จะทิ้งรังไปหาที่สร้างรังใหม่ ปล่อยให้รังที่มีศัตรูและโรคตายไปเอง ศัตรูของผึ้งโพรงที่สำคัญจริง ๆ คือ มดแดง การป้องกันมดแดงโดยการใช้น้ำมันเครื่องเก่า ๆ ชุบเศษผ้าแล้วเอามาทารอบเสาของรังผึ้งโพรง ทำให้มดไม่สามารถขึ้นไปทำลายผึ้ง

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สัตว์

แสดงความคิดเห็น