การเลี้ยงเป็ดไข่

28 ตุลาคม 2558 สัตว์ 0

เป็ดไข่เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ทนทานต่อโรค สามารถใช้วัสดุท้องถิ่นหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นอาหารได้ ประชาชนนิยมบริโภคไข่เป็ด นอกจากนี้ไข่เป็ดสามารถนำไปประกอบอาหารและทำขนมได้หลายชนิด เหมาะสำหรับการนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ การทำไข่เค็ม เป็นต้น

ไข่ เป็ด เป็นแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนสูง และนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายวิธี แต่ในปัจจุบันไข่เป็ดที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้อง การของผู้บริโภค เพราะเป็ดไข่เลี้ยงค่อนข้างยาก หากเป็ดเกิดอาการตกใจหรือดูแลไม่ดีพอก็จะไม่ยอมไข่ การเลี้ยงเป็ดไข่นิยมเลี้ยงเป็ดพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์กากีแคมเบลล์กับ พันธุ์พื้นเมือง เพราะเลี้ยงง่ายกว่า ทนทาน ให้ไข่ดกประมาณ 260 ฟองต่อปี และให้เนื้อดี ลักษณะของเป็ด พันธุ์กากีแคมเบลล์ผสมกับเป็ดพื้นเมือง จะมีขนสีน้ำตาล ขนที่หลังและปีกมีสีสลับอ่อนกว่า ปากดำค่อนข้างไปในทางเขียว จงอยปากต่ำ ตาสีน้ำตาลเข้ม ตัวเมียตัวโตเต็มที่หนักประมาณ 2-5 กิโลกรัม จะเริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 4 เดือนครึ่ง

ปัจจัยที่จำเป็นต้องใช้
1. พันธุ์เป็ดไข่ พันธุ์เป็ดไข่ที่กรมปศุสัตว์แนะนำ คือ เป็ดไข่พันธุ์กบินทร์บุรีและเป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ
1.1 ลักษณะของเป็ดไข่พันธุ์กบินทร์บุรี
เพศเมีย มีสีขนเป็นสีกากีตลอดลำตัว แข้งสีส้ม ปากสีน้ำเงินปนดำเริ่มไข่เมื่ออายุ 150-160 วัน น้ำหนักเริ่มไข่ 1,450-1,500 กรัม ไข่ได้ 300-320 ฟอง/ตัว ไข่มีขนาด 65 กรัม กินอาหารวันละ 145-160 กรัม/ตัว อายุการให้ไข่ 1-2 ปี แต่ปีแรกจะให้ไข่มากที่สุด
เพศผู้ ตัวใหญ่กว่าเพศเมีย น้ำหนักอยู่ระหว่าง 1,700-1,800 กรัม/ตัว หัวมีขนสีเขียวแก่คลุมลงมาจนถึงกลางลำคอ โดยเฉพาะเป็ดหนุ่มอายุ 5-7 เดือน ขนหัวและคอจะมีสีเขียวแก่ชัดเจนและสีนี้จะค่อยๆ จางลงจนเป็นสีน้ำเงินปนดำเมื่อเป็ดมีอายุมากขึ้น ขนหาง 2-3 เส้นจะโค้งงอขึ้นด้านบน ปลายขนหางและปลายขนปีกจะมีสีน้ำตาลดำ ขนลำตัวสีเทา แต่ขนจากกลางคอจนถึงไหล่และหน้าอกด้านหน้าจะสีน้ำตาลเข้ม แข้งสีส้ม ปากสีน้ำเงินปนดำ
1.2 ลักษณะของเป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ
มีลักษณะประจำพันธุ์คือ ขนสีดำตลอดลำตัว บางตัวหน้าอกด่าง เพศผู้มีลักษณะพิเศษ ที่ขน หัว คอ และปลายปีก จะมีสีเขียวเข้ม ทั้งเพศผู้และเพศเมียมีปากและขนสีดำเริ่มไข่เมื่ออายุ 145-183 วัน น้ำหนักตัว เมื่อเริ่มไข่ 1450-1550 กรัม/ตัว สามารถไข่ได้ปีละ 270-300 ฟอง น้ำหนักไข่เฉลี่ย 62 กรัม กินอาหารวันละ 135 กรัม และสามารถไข่ได้ 1-2 ปี แต่ปีแรกจะไข่มากที่สุด เลี้ยงง่ายเลี้ยงได้ทุกสภาพพื้นที่ทั้งที่เป็นพื้นที่ลุ่มหรือดอน ต้านทานโรคระบาดไม่ฟักไข่เอง

ขั้นตอนการดำเนินงาน
1. การเลี้ยงลูกเป็ด อายุ 0-2 สัปดาห์
การเลี้ยงเป็ดจะสำเร็จหรือไม่นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกเป็ดระยะ 2 สัปดาห์แรกเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าลูกเป็ดนั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์ม ถ้าลูกเป็ดแข็งแรง เติบโตสม่ำเสมอ สมบูรณ์มีภูมิคุ้มกันโรคระบาดและไม่อมโรคแล้ว การเลี้ยงในระยะต่อไปจะไม่ประสบปัญหา โดยปกติแล้วลูกเป็ดอายุ 0-2 สัปดาห์ มีความต้องการอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือการเตรียมพร้อมก่อนนำลูกเป็ดเข้ามาเลี้ยง การกกลูกเป็ด การให้น้ำและอาหารลูกเป็ด

pedloog
1.1 การเตรียมพร้อมก่อนนำลูกเป็ดไข่เข้ามาเลี้ยง มีดังนี้
1.1.1 ทำความสะอาดโรงเรือนและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับลูกเป็ดระยะแรก โดยการล้างน้ำและนำออกตากแดด การเตรียมกรงกก หรือห้องสำหรับกกลูกเป็ดจะต้องเตรียมล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถ้ากกลูกเป็ดบนพื้นคอกจะต้องเปลี่ยนวัสดุรองพื้นใหม่ทุกๆ ครั้งที่นำลูกเป็ดเข้าคอก
1.1.2 การสั่งจองลูกเป็ด ก่อนที่จะเลี้ยงเป็ด ควรจะได้มีการวางแผนว่าควรจะเลี้ยงในช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม และเมื่อตัดสินใจแล้วควรจะสั่งจองลูกเป็ดไว้ล่วงหน้า และควรสั่งซื้อสั่งจองจากโรงฟักลูกเป็ดที่มีชื่อเสียงที่ผลิตลูกเป็ดที่มีคุณภาพ และต้องส่งลูกเป็ดในถึงฟาร์มได้ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หากโรงฟักอยู่ไกลเกิน การขนส่งลูกเป็ดเกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้ลูกเป็ดสูญเสียน้ำโดยระเหยออกจากตัว ทำให้ลูกเป็ดน้ำหนักลด มีผลต่อความแข็งแรงในระยะเวลาต่อมา
1.1.3 การให้น้ำสะอาด ในระยะแรกที่ลูกเป็ดมาถึงฟาร์ม น้ำที่เตรียมไว้ควรเป็นน้ำสะอาด เช่น น้ำใต้ดิน น้ำบาดาลหรือบ่อน้ำตื้น หรือน้ำฝน หลีกเลี่ยงการใช้น้ำประปา เพราะว่าลูกเป็ดจะตายหรืออ่อนแอมากเมื่อได้กินน้ำที่มีสารเคมี ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำประปาก็อาจทำได้โดยเปิดน้ำเก็บไว้ในถึงเป็นเวลานานข้ามคืน
1.1.4 โรงเรือนที่ใช้กกลูกเป็ด ควรป้องกันลมและฝนได้ พร้อมที่จะต้องป้องกันสัตว์ต่างๆ ที่เป็นศัตรูและเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่ลูกเป็ด เช่น สุนัข แมว หนู นกต่างๆ
1.1.5 การระบายอากาศ โรงเรือนควรมีช่องระบายอากาศที่ดี ส่วนใหญ่แล้วโรงกกลูกเป็ดมักมีฝา ประตูและหน้าต่าง ค่อนข้างจะมิดชิด เพื่อเก็บความอบอุ่นและป้องกันลมแรง การมีช่องระบายอากาศจึงมีความสำคัญฟาร์มจะต้องตระเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะนำลูกเป็ดเข้าฟาร์ม

1.2 การกกลูกเป็ดอายุ 1-2 สัปดาห์
เป็นการทำให้ลูกเป็ดอบอุ่น อาจจะกกบนพื้นดินที่โรยด้วยขี้เลื่อย ฟาง หรือซังข้าวโพด หนาประมาณ 1-2 นิ้ว หรืออาจเป็นพื้นดินที่มีดินทรายรองพื้นก็ได้ การกกควรแบ่งลูกเป็ดออกเป็นคอกๆ ละ 150-200 ตัว โดยใช้แผงไม้ขัดแตะหรือแผงกระดาษ หรือพลาสติกสูงประมาณ 1 นิ้ว กั้นระหว่างคอก เพื่อป้องกันลูกเป็ดนอนสุมกันในเวลากลางคืน ขนาดของคอกขึ้นกับอายุลูกเป็ด โดยเป็ดอายุ 0-1 สัปดาห์ พื้นที่ 1 ตารางเมตร กกได้ 30 ตัว ถ้าอายุ 1-2 สัปดาห์ พื้นที่ 1 ตารางเมตร กกได้ 23 ตัว และอายุ 2-3 สัปดาห์ ใช้อัตราส่วน 15 ตัว/พื้นที่ 1 ตารางเมตรแหล่งความร้อนใช้หลอดไฟฟ้าขนาด 60 วัตต์ 2 หลอด/ลูกเป็ด 200 ตัว หรืออาจใช้โคมไฟสังกะสีที่มีหลอดไฟใต้โคมแขวนสูงจากพื้น 1.5-2 ฟุต อาจกกลูกเป็ดในตะกร้าไม้ไผ่หรือกล่องกระดาษ หรือสุ่มไก่โดยมีหลักว่าใช้ผ้าหรือกระสอบคลุมเพิ่มความอบอุ่นให้ลูกเป็ด หรืออาจกกบนตาข่ายยกสูงจากพื้น 10-15 ซ.ม. ลวดข่ายหรือตาข่ายพลาสติก หรือไม้ไผ่ขัดแตะปูไปบนไม้หนา 2×4 นิ้ว ซึ่งวางเรียงกันบนพื้นซีเมนต์ที่ลาดเอียง ลูกเป็ดจะปล่อยเลี้ยงบนพื้นลวดตาข่ายและมีรางน้ำ รางอาหาร และไฟกกอยู่พร้อมลูกเป็ดถ่ายมูลออกมาและน้ำที่หกก็ตกลงบนพื้นซีเมนต์ เราสามารถล้างคอกได้ทุกวัน วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาความเปียกชื้นของพื้นคอก และนิยมมากในปัจจุบัน ใช้เวลากกลูกเป็ด 1-2 สัปดาห์เท่านั้น ในฤดูร้อนอาจจะกกเพียง 9-10 วันก็พอ แต่ฤดูหนาวอาจจะกก 10-21 วัน แล้วปล่อยออกไปเลี้ยงในบ่อน้ำที่จัดไว้ให้เป็ดเล่น หรือถ้าหากไมมีบ่อน้ำก็สามารถเลี้ยงลูกเป็ดปล่อยในแปลงหญ้า หรือรอบๆ โรงเลี้ยงเป็ดที่มีชายคาหรือร่มไม้ มีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา ถ้าอากาศร้อนก็ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟกกลูกเป็ด

peddeks

1.3 การให้น้ำและอาหารลูกเป็ด
ในระยะ 2 วันแรก ควรให้อาหารผสมชนิดผงคลุกน้ำพอหมาดๆ ใส่ในภาชนะแบนราบ เช่น ถาดสังกะสีหรือไม่ก็โรยบนกล่องกระดาษที่แกะเป็นแผ่นเรียบๆ บนพื้น อาหารควรเป็นอาหารลูกเป็ดระยะ 0-3 สัปดาห์ มีโปรตีน 17-18% พลังงานใช้ประโยชน์ได้ 2,890 กิโลแคลอรี่ มีน้ำสะอาดวางให้กินห่างจากไฟกกประมาณ 30-50 ซ.ม. การให้อาหารและน้ำหลังจาก 2 วันแรกให้วางอาหารค่อยๆ ห่างจากไฟกก 1.5-2 เมตร และขยับให้ห่างออกเรื่อยๆ สุดท้ายให้ห่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การให้น้ำใส่ในขวดพลาสติกสำหรับให้น้ำเป็ดให้วางอยู่ใกล้อาหาร ควรเป็นน้ำสะอาดปราศจากสารเคมีคลอรีน ถังน้ำ ขวดน้ำ รางน้ำ ควรทำความสะอาดทุกวันๆ ละ 1-2 ครั้ง

peddekped1dern

2. การเลี้ยงลูกเป็ด อายุ 3-8 สัปดาห์
ลูกเป็ดอายุครบ 2 สัปดาห์ ความต้องการทางด้านกกเพื่อให้ความอบอุ่นจะลดลงหรือไม่ต้องการเลย เพราะลูกเป็ดมีขนขึ้นเต็มตัว และกินอาหารได้ดีจนสามารถสร้างความอบอุ่นขึ้นได้เองอย่างเพียงพอ ลูกเป็ดอายุ 3-8 สัปดาห์จะมีการเจริญเติบโตสูง ดังนั้น จึงควรเอาใจใส่ด้านอาหาร การให้อาหารและส่วนประกอบของอาหารที่ถูกต้อง จำนวนอาหารที่ให้เป็ดกินและการจัดการเลี้ยงดูที่เหมาะสม

pedloa

  • 2.1 การจัดการเลี้ยงดูที่เหมาะสม อาจเลี้ยงอยู่ในโรงเรือนมีหลังคาและกั้นห้องให้อยู่รวมกันเป็นห้องๆ หรืออาจจะเลี้ยงปล่อยทุ่งไล่ต้อนกลับคอกในเวลาเย็นๆ หรืออาจจะเลี้ยงในโรงเลี้ยงเป็ดที่มีลานดินยื่นออกมานอกโรงเรือนให้ลูกเป็ดเล่นและพักผ่อนในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนในขังไว้ในโรงเรือน ข้อสำคัญคือ อย่าขังเป็ดรวมกันให้แน่นเกินไป เพราะเป็ดจะจิกกัน โดยเฉพาะถ้าให้อาหารไม่เพียงพอ หรืออาหารมีส่วนประกอบไม่ได้สัดส่วน ลูกเป็ดจะยิ่งจิกขนและกินขนกันมากขึ้น ข้อแนะนำคือ ให้ลูกเป็ดอยู่ระหว่าง 5-6 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีน้ำสะอาดให้กินเพียงพอ
  • 2.2 การให้อาหาร ระยะนี้ลูกเป็ดมีการเจริญเติบโตสูง อาหารที่ใช้จึงควรเป็นอาหารที่มีคุณภาพสูง โดยปกติแล้วจะให้อาหารลูกเป็ดวันละ 2 ครั้ง คือเช้า 7-8 โมง และบ่าย 2-3 โมง อาหารที่ให้เป็นอาหารชนิดผงคลุกน้ำให้ชื้นพอหมาดๆ ไม่ถึงกับเปียกแฉะ ซึ่งจะทำให้ลูกเป็ดกินได้ง่าย และไม่ตกหล่นมาก อาหารที่คลุกน้ำแล้วจะถูกเทใส่ในรางไม้หรือถังใส่อาหารสัตว์ชนิดแขวน ขนาดบรรจุ 4-5 ก.ก. หรือกองอาหารที่ผสมเสร็จแล้วลงบนกระสอบหรือภาชนะแบนราบวางอยู่กลางคอก และไกลจากน้ำดื่ม 5-6 เมตร

ped1derns

ped2dern

3. การเลี้ยงลูกเป็ด อายุ 9-20 สัปดาห์
เมื่อลูกเป็ดระยะเจริญเติบโตที่เลี้ยงไว้เป็นฝูงๆ นั้น อายุได้ 8 สัปดาห์ ต้องทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์เป็ด ตัวละ 2 ซี.ซี. สำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงเป็ดไข่แบบกรงตับขังเดี่ยว ก็ให้แยกเป็ดขึ้นกรงตับได้เมื่อเริ่มสัปดาห์ 8 กรงตับมีลักษณะและส่วนประกอบเช่นเดียวกับกรงสำหรับเลี้ยงไก่ไข่ที่มีจำหน่ายทั่วไป แต่กรงเป็ดมีขนาดกว้างกว่า คือ ขนาด 30x30x30 ซ.ม. การเลี้ยงเป็ดอายุ 9-16 สัปดาห์นี้ จะต้องเลี้ยงแบบจำกัดอาหาร เพื่อประหยัดต้นทุน และควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป เพราะถ้าอ้วนเป็ดจะไข่น้อย แนวทางปฏิบัติการเลี้ยงเป็ดอายุ 9-20 สัปดาห์ การให้น้ำ ต้องสะอาด ควรทำความสะอาดรางน้ำและเติมน้ำสะอาดก่อนให้อาหาร เพราะอาหารตกค้างทำให้น้ำเสียได้ง่าย ถ้ามีตะไคร่น้ำหรือคราบอาหารติดอยู่ควรทำความสะอาดให้เรียบร้อย รางอาหาร ควรใช้แปรงถูรางอาหารให้สะอาดก่อนให้อาหาร เนื่องจากอาหารที่ใช้เลี้ยงอาจติดตามรางอาหารเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคหรือเชื้อราได้ง่าย การให้อาหาร ถ้าเป็นอาหารผสมต้องคลุกน้ำพอหมาดๆ ให้อาหารกระจายอย่างสม่ำเสมอตลอดราง หลังให้อาหารเป็ดแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง ควรใช้แปรงถูขอบรางอาหารเพื่อให้อาหารที่เกาะติดอยู่ร่วงหล่น พร้อมทั้งเกลี่ยอาหารให้กระจายสม่ำเสมอซึ่งจะทำให้เป็ดได้รับอาหารในปริมาณที่เท่าๆ กัน น้ำหนักเป็ดสม่ำเสมอทั้งฝูง เมื่อเป็ดอายุได้ 17 สัปดาห์ขึ้นไป ให้เป็ดได้กินอาหารอย่างเต็มที่ เพื่อเป็ดจะได้มีความสมบูรณ์ พร้อมที่จะให้ไข่ได้เมื่ออายุ 21 สัปดาห์

pedkog

4. การเลี้ยงลูกเป็ด อายุ 21 สัปดาห์ขึ้นไป
เมื่อเป็ดอายุได้ 21สัปดาห์ก็จะเริ่มไข่ในระยะนี้เป็ดต้องการอาหารสำหรับเป็ดไข่ที่มีคุณค่าทางโภชนะค่อนข้างสูง ปริมาณอาหารที่ให้ขึ้นอยู่กับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เมื่อเป็ดเริ่มไข่จะกินอาหารวันละประมาณ 100 กรัม/ตัว/วัน ก็เพียงพอสำหรับการผลิตไข่ในช่วงแรก น้ำหนักไข่ประมาณ 45 กรัม นอกจากนี้ขนาดไข่เพิ่มขึ้นตามปริมาณอาหารที่ให้และตามอายุของเป็ด เมื่ออายุมากขึ้นขนาดของไข่ก็ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย ปริมาณอาหารที่ใช้จะอยู่ระหว่าง 140-160 กรัม/ตัว/วัน ถ้าหากให้อาหารไม่เต็มที่ขนาดของไข่ก็จะเล็กลงเช่นกัน ทั้งนี้ปริมาณอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ผู้เลี้ยงจะต้องพิจารณาว่าอาหารที่ใช้เลี้ยงมากน้อยเพียงใด ถ้าอาหารหมดเร็วก็ให้เพิ่มขึ้น ถ้าอาหารเหลือก็ลดปริมาณลง สำหรับการจัดการเรื่องรางน้ำ รางอาหาร การทำความสะอาดโรงเรือนและการทำความสะอาดกรงเป็ด ก็ดำเนินการเช่นเดียวกับเป็ดรุ่น แต่ในช่วงเป็ดกำลังให้ไข่ควรพิถีพิถันมากกว่าเป็ดรุ่น เพราะถ้าเป็ดเกิดตกใจ หรือได้รับความเครียดจากสภาพทั่วไป จะทำให้ผลผลิตน้อยลง ซึ่งในช่วงนี้มีข้อปฏิบัติดังนี้

  • 4.1 การทำความสะอาดโรงเรือน และอุปกรณ์ต่างๆ ควรระมัดระวังให้เป็ดตกใจน้อยที่สุด และควรทำให้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้เป็ดเกิดความเคยชิน
  • 4.2 การเปลี่ยนสูตรอาหารในแต่ละครั้ง ควรค่อยๆ เปลี่ยน หากเปลี่ยนโดยทันทีอาจทำให้เป็ดท้องเสีย ผลผลิตลดลงได้
  • 4.3 การจับเป็ดในเวลาทำวัคซีน ต้องพยายามจับให้นิ่มนวลที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • 4.4 อย่าให้หนู แมว หมา มาป้วนเปี้ยนบริเวณกรงตับ หรือโรงเรือนที่เลี้ยง
  • 4.5 ในเวลากลางคืน ควรมีน้ำให้เป็ดได้กินตลอดคืน

pedsuan pedlaos

5. อาหารเป็ด

  • 5.1 อาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีใช้เลี้ยงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงระยะไข่ ซึ่งมีผลดีก็คือการจัดการให้อาหารสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพการใช้อาหารสูงกว่า เป็ดใช้พลังงานในการกินอาหารน้อยกว่าแบบอื่น รางน้ำสะอาดไม่ค่อยสกปรก ประหยัดอาหารได้ 15-20% เพราะหกหล่นน้อยถึงแม้มีการหกหล่นก็สามารถเก็บกินได้อาหารที่ให้จะไม่ติดตามรางอาหารทำให้รางอาหารสะอาดอยู่เสมอ ไม่หมักหมมเชื้อโรค แต่มีข้อเสียคือ อาหารมีราคาแพง ซึ่งทำให้ผู้เลี้ยงต้องพิจารณาถึงความคุ้มทุนด้วย
  • 5.2 เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้หัวอาหารเป็ด เป็นหลักในการประกอบสูตรอาหาร หัวอาหารเป็นอาหารเข้มข้นที่ผสมจากวัตถุดิบอาหารสัตว์พวกโปรตีนจาก พืช สัตว์ ไวตามิน แร่ธาตุและยาบางชนิด ยกเว้น พวกธัญพืช หรือวัตถุดิบบางอย่าง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและลดต้นทุนค่าอาหารของผู้ซื้อแต่ละท้องถิ่นที่มีวัตถุดิบบางอย่างราคาถูก เช่น ปลายข้าว รำละเอียด และรำหยาบ เมื่อผสมกันแล้วจะได้อาหารที่มีโภชนาการต่างๆ ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายสัตว์ ก่อนนำอาหารผสมนี้ไปเลี้ยงเป็ดต้องคลุกน้ำให้พอหมาดๆ ร่วนไม่เกาะเป็นก้อน จะช่วยให้เป็ดกินอาหารได้ดี ลดการฟุ้งกระจายและการหกหล่นได้มาก วิธีนี้จะมีความยุ่งยากกว่าวิธีแรก แต่ก็เป็นที่นิยมใช้เพราะอาหารผสมมีราคาถูก

pedbannpedboo
6. การให้แสงสว่าง แสงสว่างมีความสำคัญต่อเป็ดระยะต่างๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถแบ่งระยะการให้แสงสว่างออกเป็น 2 ระยะคือ

  • 6.1 ระยะเป็ดเล็ก ในระยะนี้แสงช่วยให้ลูกเป็ดสามารถกินน้ำและอาหารได้ตลอดเวลา ทำให้การเจริญเติบโตของลูกเป็ดไม่ชะงัก และยังทำให้ลูกเป็ดสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น ควรให้แสงสว่างตลอดคืนในช่วงที่เป็ดเล็กจนถึงอายุ 8 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงระยะที่ควบคุมปริมาณอาหารที่ให้แต่ละวัน ในช่วงนี้ควรงดการให้แสงสว่างในตอนกลางคืน
  • 6.2 โรคดั๊กเพลก (กาฬโรคเป็ด) ในระยะนี้มีความสำคัญมาก เป็ดถ้าได้รับการเพิ่มช่วงแสงของแต่ละวัน จะช่วยกระตุ้นความเจริญทางเพศให้มีการสร้างไข่อย่างสมบูรณ์เต็มที่

pedboonum

7. โรคเป็ดและการป้องกัน เป็ดเป็นสัตว์ปีกที่มีปัญหาเรื่องโรคน้อยกว่าไก่ หากทำการเลี้ยงในกรงตับด้วยแล้วปัญหาเรื่องโรคและอัตราการตายน้อยมาก โรคเป็ดที่สำคัญมีดังนี้

  • 7.1 โรคอหิวาต์เป็ด
    7.1.1 สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง
    7.1.2 อาการ เป็ดจะซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด มีไข้สูงถ้าคลำดูที่คอและเท้าจะร้อน มักจะจับกลุ่มกันอยู่ใกล้บริเวณรางน้ำ อุจจาระมีสีขาวปนเขียวและมีลักษณะเป็นยางเหนียว บางครั้งเป็ดจะตายอย่างกระทันหัน หรือถ้าเป็นเรื้อรังจะทำให้ข้อเข่า ข้อเท้าอักเสบบวม ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ในเป็ดไข่จะทำให้ไข่ลดลงได้
    7.1.3 การรักษา ใช้ยาซัลฟา หรือยาปฏิชีวนะจะช่วยลดความเสียหายในฝูงเป็ดที่เริ่มเป็นระยะแรก ยาซัลฟา (ยาซัลฟา, ซัลฟาเมอราซีน, ซัลฟาเมทธารีน) ยาปฏิชีวนะ (คลอเตตร้าซัยคลิน, ออกซีเตตร้าซัยคลิน) ผสมอาหาร 500 กรัม ต่ออาหาร 1 ตัน จะช่วยลดความรุนแรงได้
    7.1.4 การป้องกัน ทำวัคซีนป้องกันอหิวาต์เป็ด โดยทำครั้งแรกเมื่อเป็ดอายุ 2 เดือนและทำซ้ำทุก 3 เดือน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้ออกตัวละ 1 ซี.ซี.
  • 7.2 โรคดั๊กเพลก (กาฬโรคเป็ด)
    7.2.1 สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส
    7.2.2 อาการ เมื่อเป็นเป็ดจะแสดงอาการซึม ท้องร่วง เบื่ออาหาร ปีกตกไม่ค่อยเคลื่อนไหว มีน้ำตาไหลออกมาค่อนข้างเหนียว เมื่อเป็นมากจะมีน้ำมูกไหลออกมาด้วย อุจจาระสีเขียวปนเหลือง บางครั้งมีเลือดปน บริเวณรอบๆ ทวารจะแดงช้ำ หายใจลำบาก
    7.2.3 การรักษา ไม่มียารักษาโรคนี้ที่ได้ผล คงมีแต่การป้องกันเท่านั้น
    7.2.4 การป้องกันโดยการทำวัคซีนป้องกัน ดังนี้ ฉีดครั้งแรกเมื่อเป็ดอายุ 1 เดือน ฉีดครั้งที่สองเมื่อเป็ดอายุ 3 เดือน ฉีดครั้งที่สามเมื่อเป็ดอายุ 6 เดือน ทำซ้ำทุกๆ 6 เดือน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก ตัวละ 1 ซี.ซี. หรือตามคำแนะนำในฉลากข้างขวด วัคซีนทั้งสองชนิด ซื้อได้ที่กรมปศุสัตว์ หรือที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ

8. การคัดเป็ดออกจากฝูง
การพิจารณาคัดเป็ดที่ไม่ไข่ออกจากฝูง เป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญมาก เพราะเป็ดที่ไม่ไข่หรือไข่น้อย จะกินอาหารทุกวัน ทำให้ต้นทุนการผลิตไข่ต่อฟองสูงขึ้น เกษตรกรมีโอกาสขาดทุนได้ง่าย จึงควรพิจารณาดังนี้

  • 8.1 ประวัติการให้ไข่ ในกรณีเลี้ยงแบบกรงตับ ดูว่การให้ไข่มีความสม่ำเสมอหรือไม่ หากไข่ไม่สม่ำเสมอ เช่น ไข่ 1 ฟอง หยุดไข่ 3 วัน แล้วไข่ใหม่อีก 3 ฟอง แล้วหยุด 10 วัน ก็ทำการคัดออกทันที
  • 8.2 ดูลักษณะรูปร่างของเป็ด เปอร์เซนต์การไข่จะน้อยลง ซึ่งปกติเป็ดกบินทร์บุรี (กากีแคมเบลล์) จะมีอายุการไข่ประมาณ 15 เดือน ดังนั้นการที่จะปลดเป็ดไข่ออกนั้นจะต้องพิจารณาถึงราคาไข่ด้วย ถ้าราคาไข่ดี ถึงแม้ไข่น้อย ก็ยังมีกำไร แต่ถ้าพิจารณาแล้วว่าถ้าเลี้ยงต่อไปไม่คุ้มต่อต้นทุนการผลิต ก็ควรทำการคัดออก หรือปลดออกทั้งฝูง เพื่อขายส่งตลาด ปกติพ่อค้าจะรับซื้อในราคาเป็นตัวๆ ละ ประมาณ 55-65 บาท

pedkai

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สัตว์

แสดงความคิดเห็น