การกำจัดเศษอาหารในครัวเรือน รวมถึงจากวัสดุที่สลายตัวได้ เป็นสิ่งที่นิยมทำกันในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและมาตรการลดภาษีสิ่งแวดล้อมกับครัวเรือนในชุมชนที่มีรูปแบบการกำจัดขยะสดด้วยตนเอง เป็นแรงผลักดันโดยรูปแบบการจัดการจะสามารถทำได้โดยใช้ชุดเลี้ยงไส้เดือนดินที่เป็นการค้า และออกแบบดัดแปลงเองจากวัสดุหาง่ายที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ตู้ลิ้นชักพลาสติก ท่อคอนกรีต บ่อดิน กระถาง เป็นต้น
ขั้นตอนการเตรียมภาชนะหรือโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไส้เดือนดิน การเตรียมพื้นเลี้ยงไส้เดือนดิน การคัดเลือกสายพันธุ์ไส้เดือนดิน การปล่อยไส้เดือนดินลงภาชนะเลี้ยง การป้องกันไส้เดือนดินหลบหนี และการใส่ขยะอินทรีย์
ขั้นตอนในการเลี้ยงไส้เดือนดิน
1. เตรียมภาชนะหรือโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไส้เดือนดิน
2. การเตรียมพื้นเลี้ยงไส้เดือนดิน
3. คัดเลือกสายพันธุ์ไส้เดือนดิน
4. การปล่อยไส้เดือนดินลงภาชนะเลี้ยง
5.การป้องกันไส้เดือนดินหลบหนี
6. การใส่ขยะอินทรีย์
ไส้เดือนดินสามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ในระยะเวลา 5-7 วัน
ปริมาณผลผลิตที่ได้รับจากการเลี้ยงไส้เดือนดิน (ขยะอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์)
เลี้ยงไส้เดือนดินผลิตปุ๋ย ขจัดขยะ ผลงานเยี่ยม ของ ดร.อานัฐ ตันโซ แม่โจ้
เมื่อ ปี 2541 ดร.อานัฐ ตันโซ แห่งภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เล็งเห็นประโยชน์ของไส้เดือนดิน จึงได้ทำการศึกษาวิจัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เครือข่ายภาคเหนือ ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ไส้เดือนดินสามารถกำจัดขยะได้อย่างเร็วรวด และยังถ่ายมูลเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพอีกด้วย
“เมื่อ ปี 2540 เกิดปัญหาขยะที่จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนมาก ทำให้เกิดแนวความคิดและความรู้ที่เคยศึกษามาว่า ทำอย่างไร ถึงจะกำจัดขยะได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลสร้างเตาเผาขยะ รวมถึงไม่เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย จึงได้ศึกษาเรื่องไส้เดือนดินขึ้นมา ซึ่งในต่างประเทศอย่างเช่น อเมริกา เบลเยียม และออสเตรเลีย เป็นต้น ทำมานานแล้ว และได้ผลเป็นอย่างดี แต่ในเมืองไทยเพิ่งเริ่มและเป็นเรื่องยากในการของบประมาณเพื่อทำให้โครงการลุล่วงไปอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังหลายๆ ฝ่ายให้ความสนใจและสนับสนุนค่อนข้างดีแล้ว” ดร.อานัฐ กล่าว
งานศึกษาวิจัยดังกล่าวของ ดร.อานัฐ ช่วงแรกนำสายพันธุ์ไส้เดือนดินจากต่างประเทศมาทดลองเลี้ยง ปรากฏว่า ได้ผลดีมาก กล่าวคือ เลี้ยงไส้เดือนดิน 1 กิโลกรัม ภายใน 24 ชั่วโมง สามารถกำจัดเศษผักหรือขยะ1 กิโลกรัม เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ดร.อานัฐ ไม่สามารถขยายผลสู่ผู้ที่สนใจได้ ด้วยเหตุผลสองประการคือ ราคาซื้อขายไส้เดือนพันธุ์ต่างประเทศแพง และที่สำคัญอาจจะทำให้ระบบนิเวศวิทยาหรือสายพันธุ์ไส้เดือนพื้นเมืองเปลี่ยนแปลงไปได้
“ห้องเลี้ยงไส้เดือนดินพันธุ์ต่างประเทศนั้น ผมจะกั้นผนังทั้งสี่ด้าน และล็อกประตูเข้าออกด้วย เพราะว่ากลัวมีใครเข้าไปขโมย ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่ได้เสียดายพันธุ์ แต่กลัวหลุดออกไปสู่ธรรมชาติ เดี๋ยวมันสร้างความเสียหายเหมือนกับหอยเชอรี่ หรือผักตบชวา เป็นต้น” ดร.อานัฐ กล่าว
ระยะหลัง ดร.อานัฐ แก้ปัญหาดังกล่าวโดยเสาะหาไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยจากทุกภาคมาศึกษาการเพาะขยายพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่กินอาหารเก่งและทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ปรากฏว่าไส้เดือนดินของไทยที่ดีที่สุด ตอนนี้อยู่ข้างๆ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชื่อ “คิตะแร่”
“เมื่อเปรียบเทียบพันธุ์ไทย หรือ คิตะแร่ กับพันธุ์ต่างประเทศนั้น ของเราสู้เขาไม่ได้เลย คือกินอาหารน้อยกว่าเกือบเท่าตัวทีเดียว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผมกำลังทำโครงการปรับปรุงพันธุ์ไส้เดือนไทย เพื่อคัดพันธุ์ที่กินอาหารเก่งๆ เหมือนกับต่างประเทศ หากได้สายพันธุ์ที่ดีแล้ว ต่อไปจะขยายพันธุ์ให้เกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไป เพื่อช่วยกันผลิตปุ๋ยราคาถูกและช่วยกำจัดขยะอีกทางหนึ่งด้วย” ดร.อานัฐ กล่าว
ดร.อานัฐ ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ไส้เดือนดินมีเพศเป็นกะเทย มีทั้งรังไข่และอัณฑะอยู่ในตัวเดียวกัน แต่ไม่ผสมในตัวเอง เนื่องจากตำแหน่งของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศไม่สัมพันธ์กัน และมีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ไม่พร้อมกัน ไส้เดือนดินทั้งสองตัวจึงต้องมีการแลกเปลี่ยนสเปิร์มซึ่งกันและกัน และเกิดการปฏิสนธิแบบข้ามตัว
“การผสมพันธุ์เริ่มด้วยไส้เดือนดินสองตัวจับคู่กลับหัวกลับหางเอาท้องประกบกัน โดยให้รูตัวผู้ของตัวหนึ่งไปตรงกับรูสเปิร์มมาติกาช่องใดช่องหนึ่งของไส้เดือนดินอีกตัวหนึ่ง จากนั้นแต่ละฝ่ายก็จะปล่อยสเปิร์มเข้าไปเก็บไว้ในถุงสเปิร์มมาติกาของอีกตัวหนึ่ง เสร็จแล้วจึงแยกออกจากกัน ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการผสมข้ามตัวต่อมาเมื่อไข่สุก ไคลเตลลัม จะเริ่มสร้างถุงไข่ขึ้น ถุงไข่เกิดขึ้นจากไคลเตลลัม ปล่อยน้ำเมือกออกมานอกร่างกาย เมื่อถูกกับอากาศจะแห้งกลายเป็นถุงไข่ที่สุกแล้วจะออกจากรูออกไข่ตรงปล้องที่ 14 เข้าไปอยู่ในถุงไข่ที่สร้างเสร็จแล้ว จากนั้นถุงไข่จะค่อยๆ เลื่อนออกมาทางส่วนหัวและรับสเปิร์มมาติกา ตรงปล้องที่ 9,8 และ 7 มาผสมกับไข่ในถุงไข่ ต่อมาถุงไข่จะไปข้างหน้าจนหลุดออกจากหัว แล้วผนึกติดกันกลายเป็นถุงตกอยู่บนพื้นดิน และเจริญเติบโตเป็นไส้เดือนดินต่อไป โดยไม่มีระยะตัวอ่อนเลย”
เตรียมโรงเรือนผลิตปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือนดิน
ในการสร้างโรงเรือนเพื่อผลิตปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือนดินนั้น ดร.อานัฐ บอกว่า สามารถออกแบบได้ตามสะดวกของพื้นที่และงบประมาณ แต่ต้องมีการพรางแสง เนื่องจากไส้เดือนดินไม่ชอบแสงสว่างมากนัก ในบริเวณบ่อเลี้ยงต้องมีตาข่ายปิดด้านบนด้วย เพื่อป้องกันศัตรูของไส้เดือน เช่น หนู นก และมด นอกจากนี้ ด้านล่างของบ่อควรมีท่อ เพื่อรองรับน้ำหมักที่ได้จากการย่อยสลายขยะของไส้เดือน
“ตามปกติไส้เดือนดินเป็นสัตว์รักสงบชอบอยู่ในธรรมชาติ การที่จะนำไส้เดือนมาเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ รวมถึงกำจัดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้ารู้จักดัดแปลงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญของไส้เดือนดิน ซึ่งภาชนะที่นำมาเลี้ยงไส้เดือนนั้น จะมีทั้งที่เป็นบ่อดินถัง กระถาง กล่อง ถุง หรือ ถังขยะ ร่องน้ำ กระบะ หรือวัสดุอีกหลายๆ ชนิดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวก”
ดร.อานัฐ บอกว่า สมมุติว่าต้องการกำจัดขยะสดจากชุมชนที่มีอัตรา 5 ตัน ต่อวัน เราต้องเตรียมพื้นที่บ่อหมักประมาณ 100 ตารางเมตร (โดยคิดค่าความหนาแน่นของขยะสด เท่ากับ 0.5 ตัน ต่อลูกบาศก์เมตร)ความสูงของกระบะควรอยู่ตั้งแต่ 0.8-1.0 เมตร เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ง่าย โดยมีความกว้าง ประมาณ 1 เมตร และความยาวที่ไม่จำกัด
“ขยะสดจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ในขณะที่หมักและการสลายขยะอินทรีย์โดยไส้เดือนดิน จะมีของเหลวหรือน้ำหมักจากมูลไส้เดือนไหลออกมาจากกองขยะจำนวนมาก การสร้างบ่อรวบรวมน้ำหมักจากมูลไส้เดือนดินจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก จะทำให้น้ำหมักไม่แช่ขังอยู่ในโรงผลิตปุ๋ยหมัก ซึ่งทำให้ไส้เดือนจะหนีขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ เนื่องจากหายใจไม่ออก ซึ่งน้ำหมักเหล่านี้มีแร่ธาตุอาหารและปริมาณจุลินทรีย์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปการหมักที่สมบูรณ์จะทำให้น้ำหมักที่ได้ไม่มีกลิ่นเหม็น และสามารถนำไปใช้ในการผลิตพืชได้อย่างสมบูรณ์” ดร.อานัฐ กล่าว
เตรียมวัสดุรองพื้น เพื่อเป็นที่อาศัยของไส้เดือนดิน
โดยทั่วไปมักจะใช้วัสดุอินทรีย์สดๆ เป็นวัสดุรองพื้นหนาประมาณ 6 นิ้ว โดยเน้นส่วนที่เป็นผักสีเขียว วัชพืช ขยะสด โดยจะใช้ปุ๋ยคอก โรยบนหน้าให้หนาประมาณ 2 นิ้ว โรยปูนขาวให้ทั่วบริเวณ แล้วจึงให้ความชื้นเล็กน้อย ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักขยะสดหรือให้เปียกชุ่ม แต่ไม่ให้มีน้ำแช่ขังทิ้งไว้ ประมาณ 2-3 วัน จะพบว่าเกิดกระบวนการหมัก สังเกตได้โดยมีความร้อนที่สูงขึ้น ทิ้งไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ ความร้อนที่เกิดขึ้นจะหายไปหรืออาจเร็วกว่านี้
“การสร้างกองหมักที่หนาเกินไป จะทำให้ระยะเวลาในการหมักนานออกไปเนื่องจากจะเป็นการหมัก โดยกระบวนการที่ไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งมีผลทำให้ยังไม่พร้อมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของไส้เดือนดิน”
ดังนั้น การเตรียมที่อยู่สำหรับไส้เดือนก่อนเริ่มกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ชนิดนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องเตรียมการอย่างระมัดระวัง
เลี้ยงไส้เดือนดิน
ดร.อานัฐ กล่าวว่า ปริมาณเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนดินที่ควรใช้เพื่อเชื่อมกระบวนการกำจัดขยะอินทรีย์ โดยไส้เดือนดินควรเป็นเท่าไร เป็นคำถามยอดฮิตที่ผู้สนใจเทคนิควิธีการกำจัดขยะด้วยวิธีนี้จะถามเป็นคำถามแรก ตามปกติการกำจัดขยะอินทรีย์จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อไส้เดือนดินมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัม ต่อจำนวนขยะอินทรีย์ที่เริ่มบูดแล้ว ปริมาณ 1 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นด้วยปริมาณไส้เดือนในอัตรานี้จะเป็นวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้น ในระยะเตรียมการจึงควรมีปริมาณไส้เดือนดินอย่างน้อย 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ก็จะทำให้ปริมาณไส้เดือนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และทวีจำนวนมากขึ้นตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
“ปริมาณอาหารที่ไส้เดือนต้องการจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ และจำนวนไส้เดือน ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ โดยปกติไส้เดือนดินชอบอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูง ซึ่งรวมถึงในดินที่มีปริมาณอินทรียวัตถุจำนวนมาก จากการศึกษาของนักวิจัยต่างประเทศพบว่า ปริมาณของถุงไข่ไส้เดือนจะเพิ่มขึ้นมากตามปริมาณอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น จากมูลสัตว์จะมีอัตราการเพิ่มถุงไข่ดีกว่าการให้ตอซังข้าวเป็นอาหารกับไส้เดือน และในอาหารที่มีปริมาณไนโตรเจนสูง ไส้เดือนจะโตเร็ว และสืบพันธุ์ออกลูกได้เป็นจำนวนมากรุ่นกว่าการเลี้ยงในอาหารที่มีปริมาณไนโตรเจนต่ำ”
ดร.อานัฐ กล่าวว่า ปริมาณขยะสดที่ควรเตรียมให้ไส้เดือนดิน ควรจะมีการเตรียมการหมักให้เริ่มบูดเสียก่อน ก่อนที่จะนำมาใส่ในกระบะเลี้ยงไส้เดือน เนื่องจากไส้เดือนไม่กินของสด ไส้เดือนกินอาหารด้วยการดูดเข้าไปในร่างกายจึงกินได้เฉพาะของที่เริ่มบูดเน่าและกำลังสลายตัวเป็นของเหลว ดังนั้น การเตรียมปริมาณขยะสดที่เริ่มบูดเน่าในปริมาณที่พอดีกับจำนวนไส้เดือนดิน หรือมากกว่าเล็กน้อยจึงเป็นสิ่งที่ควรจะนำมาปฏิบัติ เนื่องจากจะเป็นวิธีที่เพิ่มจำนวนออกถุงไข่ของไส้เดือนดิน โดยปกติไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยจะตกถุงไข่ทุกๆ 14 วัน ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ในวัสดุที่ใช้เป็นอาหารของไส้เดือนที่มีปริมาณสารโพลีพีนอล (ใบสน,รากสน) และมีปริมาณลิกนินเป็นองค์ประกอบที่มาก ซึ่งมักจะมีในพืชที่ยืนต้น จะมีส่วนในการลดจำนวนประชากรของไส้เดือน เมื่อนำมาใช้เป็นอาหารของไส้เดือนดิน
ดร.อานัฐ กล่าวอีกว่า ไส้เดือนสายพันธุ์ไทย Pheretima peguana และ Pheretima posthum จะกินอาหารเฉลี่ย 120-150 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กรัม ต่อวัน ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน โดยปกติไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย 1 กิโลกรัม จะมีจำนวนประมาณ 1,200 ตัว จึงควรได้รับอาหารประมาณ 120-150 กรัม ต่อวัน ส่วนไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศนั้นจะกินอาหารประมาณ 240-300 กรัม ต่อวัน ต่อน้ำหนักไส้เดือน 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวน 2 เท่า ของอาหารไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย
“เราศึกษาแล้วว่า พันธุ์ต่างประเทศกินอาหารเก่ง แต่เราจะไม่ส่งเสริมให้เลี้ยงกัน เพราะว่าหากหลุดไปอยู่ในดินตามธรรมชาติ อาจจะทำให้ระบบนิเวศวิทยาเปลี่ยนไป ซึ่งในอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน เราไม่อยากเห็นเหมือนกับการระบาดของหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นสัตว์ที่นำเข้ามา แล้วกลับเป็นโทษ”
“ใครอยากเลี้ยงไส้เดือนเพื่อการค้าหรือเพื่อผลิตปุ๋ยหมักหรือกำจัดขยะ อยากแนะนำให้เป็นสายพันธุ์ไทยมากกว่า แม้ว่ากินอาหารไม่เก่ง แต่ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศวิทยา ซึ่งขณะนี้ผมพยายามเสาะหาสายพันธุ์ที่กินอาหารเก่งๆ มาขยายพันธุ์ คิดว่าอีกไม่นานคงได้สายพันธุ์ที่กินอาหารเก่งขึ้น” ดร.อานัฐ กล่าวย้ำถึงสายพันธุ์ไส้เดือนดิน
การจัดการโรงเรือน
ในขณะที่ไส้เดือนกำลังกินขยะสดที่ให้ในปริมาณที่เหมาะสม จะพบว่าชั้นของไส้เดือนในกระบะจะมีความสูงมากขึ้นเรื่อยๆ การจัดการอาหารที่ให้กับไส้เดือนดินกินหมดในระยะเวลา 2-3 วัน จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม ทำให้สามารถคำนวณจำนวนของไส้เดือนดินที่มีอยู่ในโรงเรือนได้ อีกทั้งยังทำให้กำหนดปริมาณของปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือนดิน และน้ำหมักจากมูลไส้เดือนดินที่สามารถผลิตได้อีกด้วย
“หลักการในการจัดการโรงเรือนก็คือ การพยายามควบคุมไม่ให้เกิดความร้อนขึ้นในกระบะที่ไส้เดือนดินอาศัยอยู่ เนื่องจากจะเป็นสิ่งที่จำกัดการเจริญเติบโตของไส้เดือนดิน และลดจำนวนไส้เดือนดิน รวมถึงลดการกินขยะสดที่จัดเตรียมเอาไว้ด้วย”
สำหรับเทคนิคการแยกไส้เดือนดินออกจากปุ๋ยหมักมูลสัตว์ชนิดนี้นั้น ดร.อานัฐ บอกว่าสามารถทำได้หลายเทคนิค เช่น การใช้แสงไฟไล่ เนื่องจากไส้เดือนดินไม่ชอบแสง หรือใช้ตะแกรงร่อนด้วยมือก็ได้
ใครอยากเห็นการเลี้ยงไส้เดือนดินด้วยสายตาตัวเอง โปรดติดต่อไปได้ที่ ภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม้โจ้ ที่นี่มีโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือนดินทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
ไม่แน่ขยะที่เป็นปัญหาของสังคมเมือง อาจแก้ไขได้ด้วยไส้เดือนดิน สัตว์ที่หลายคนรังเกียจ แต่มีประโยชน์มหาศาล
*ศัตรูของไส้เดือนดิน
สำหรับศัตรูไส้เดือนดินนั้น ดร.อานัฐ บอกว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกล่าโดยศัตรูหลายชนิด ซึ่งรวมถึงมนุษย์ด้วยเช่นกัน ในบางประเทศจะนำไส้เดือนดินมาเป็นอาหารของมนุษย์ เนื่องจากมีโปรตีนสูง มีสารบำรุงที่เหมาะสมสำหรับคนเป็นโรคหัวใจ อีกทั้งยังมีสรรพคุณในการเป็นยาบำรุงเพศในตำราจีน รวมถึงสรรพคุณในการแก้ช้ำใน ที่นักโทษในเรือนจำหลายแห่งในประเทศไทยรู้จักสรรพคุณกันดี
“ไส้เดือนดิน จะถูกล่าโดยสัตว์ปีก โดยจะเป็นอาหารของเป็ด ไก่ นก สุกร พังพอน และสัตว์อีกหลายชนิด ดังนั้น ในการสร้างโรงเรือนจึงจำเป็นที่จะต้องมีตาข่ายมิดชิดในการป้องกันไม่ให้สัตว์เหล่านั้นเข้ามาในโรงเรือน และทำให้ปริมาณไส้เดือนลดลง” ดร.อานัฐ กล่าว
ที่มา เกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ป้ายคำ : ปุ๋ยหมักชีวภาพ
วิธีกำจัดขยะอินทรีย์แบบไม่ใช้ไส้เดือนมีมั๊ยครับ