กำจัดวัชพืช ประหยัด ได้ปุ๋ย

28 กรกฏาคม 2557 วิชาเกษตรพึ่งตน 0

วัชพืช คือ พืชชนิดหนึ่งที่เกิดหรือขึ้นในที่ๆไม่ต้องการ มีวัฏจักรชีวิต (เกิด แก่ เจ็บตาย ขยายพันธุ์)และต้องการปัจจัยพื้นฐาน (ดิน-น้ำ-แสงแดด/อุณหภูมิ/ฤดูกาล-สารอาหาร-สายพันธุ์-โรค) เช่นเดียวกับพืชอื่นๆ และพืชที่ถูกเรียกว่าวัชพืชมักเจริญเติบโตดีกว่าพืชหลักที่คนปลูก วัชพืชนั้นแก่งแย่งนํ้า อาหาร และแสงแดด ทําให้พืชผักที่ปลูกเจริญเติบโตช้า ไม่แข็งแรง และวัชพืชยังเป็นที่อยู่อาศัย หลบซ่อนของแมลงศัตรูพืช และเชื้อโรค ต่าง ๆ วัชพืชทําความเสียหายให้แก่พืชผักทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น

  • ก. ทําให้ผลผลิตลดลง ทําให้การเจริญเติบโตและผลผลิตของพืชปลูกลดลง
  • ข. ทําให้คุณภาพของผลผลิตลดลง เนื่องจากการปลอมปนของเมล็ดวัชพืช
  • ค. เป็นแหล่งหลบซ่อนและที่อยู่อาศัยของ โรคและแมลงศัตรูพืช
  • ง. เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในแปลง เช่น การพ่นยา การใส่ปุ๋ย และการเก็บเกี่ยว
  • จ. บดบังแสงแดด ทําให้พืชผักและวัชพืชยืดลําต้นสูง แต่ผอม ไม่อวบอ้วน
  • ฉ. เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ วัชพืชบางชนิดทําให้เกิดอาการระคายเคือง และอาจเป็นพิษต่อคนและสัตว์

ในความเป็นจริงนั้น ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าหญ้าหรือสารกำจัดวัชพืชใดๆ ในโลกนี้ สามารถฆ่าหรือกำจัดวัชพืชให้ตายอย่างเด็ดขาดแน่นอนได้เมื่อใช้ตามอัตราที่ระบุบนฉลาก อาการที่เห็นนั้นเป็นเพียงใบไหม้เท่านั้น ในขณะที่ หัว-เหง้า-เมล็ด ยังอยู่ ซึ่งไม่นานก็จะแตกยอดแทงหน่อขึ้นมาใหม่…..ดังนั้น การโฆษณาว่ายาฆ่าหญ้าหรือสารกำจัดวัชพืชชนิดนี้หรือชนิดนั้นสามารถกำจัดได้ถึงรากและเหง้าจึงเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงโฆษณาชวนเชื่อทั้งสิ้น และผู้ใช้ก็โกหกตัวเองว่าได้ผล

นอกจากนี้ ยาฆ่าหญ้าหรือสารกำจัดวัชพืช (ทุกชนิดหรือทุกยี่ห้อในท้องตลาด) ให้ผลเสียมากกว่าผลดี อาทิ มีสถานะเป็นกรดจัดจึงทำให้ดินเป็นกรด…..เป็นพิษต่อจุลินทรีย์ในดิน……ทำให้เดินเสียสมดุล…..เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคพืช…..สภาพแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงเสีย…..ละอองเป็นพิษต่อพืชประธาน

ประเภทของวัชพืชที่พบในแปลงพืชผัก
วัชพืชที่ขึ้นอยู่ในแปลงพืชผักมีมากมายหลายชนิด แต่จะแตกต่างกันตามสถานที่และความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งนํ้าและความสมบูรณ์ของ ดิน ส่วนมากวัชพืชจะเป็นวัชพืชฤดูเดียว หรือล้มลุก มีอายุประมาณ 1-4 เดือนเท่านั้น ถ้ารู้จักชนิดของวัชพืชแล้วจะทําให้เราสามารถหาหรือเลือกวิธีในการป้องกัน และกําจัดได้อย่างเหมาะสมและได้ผล
* นักวิชาการเกษตร 5 สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ การแบ่งวัชพืชตามสัญฐานวิทยาได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. วัชพืชใบแคบวงศ์หญ้า (Grasses weeds) Narrow leave ส่วนมากจะเป็นวัชพืชใบเลี้ยงเดี่ยว งอกมาจากเมล็ดที่สุกแก่แล้วร่วงหล่นลงในดิน เมื่อสภาพเหมาะสมก็จะงอกขึ้นมา จุดเจริญจะอยู่ส่วนยอดหรือตาข้างมีกาบใบหุ้มอยู่ เส้นใบจะขนานกัน มีทั้งวัชพืชล้มลุกและวัชพืชข้ามปี
1.1 วัชพืชล้มลุกหรือวัชพืชฤดูเดียว คือ วัชพืชที่เมล็ดสุกแก่แล้วจะให้เมล็ด และเมล็ดร่วงหล่นลงบนดินและก็จะตายไป เช่น

  • หญ้าตีนนก Digtaria adscendens L.
  • หญ้าดอกขาว Leptochloa chinensis Ness
  • หญ้านกสีชมพู Echinochloa colonum (L.) Link.
  • หญ้าข้าวนก Echinochloa crusgalli (L.) Beauv.
  • หญ้าตีนนก Eleusine indica (L.) Gaertnet

watchapedkawnok

1.2 วัชพืชข้ามปี คือวัชพืชที่มีการขยายพันธุ์โดย สามารถใช้ส่วนต่าง ๆ นอกเหนือจากเมล็ด เช่น ส่วนของลําต้น ราก เหง้า ไหล หรือลําต้นสะสมอาหารอยู่ในดิน เมื่อถูกตัดหรือกําจัดส่วนที่อยู่เหนือดินแล้ว จะไม่ตายแต่จะสามารถเจริญเติบโตและแตกต้นใหม่จากส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ดินได้ เช่น

  • หญ้าคา Imparata cylindrica (L.) Beauv.
  • หญ้าตีนติด Brachiaria reptans (L.) Gard & C.E. Hubb.
  • หญ้าแพรก Cynodon dactylon (L.) Pers.
  • หญ้าขน Brachiatia mutica Forsk.

watchapedyaka

2. วัชพืชใบกว้าง (broad leave weeds) วัชพืชประเภทนี้มีทั้งใบเลี้ยงคู่และใบเลี้ยงเดี่ยว ส่วนมากจะเป็นพวกใบเลี้ยงคู่ ใบค่อนข้างกว้าง เส้นใบเป็นร่างแห ส่วนมากเรียกพวกผัก เช่น

  • ผักเบี้ยใหญ่ Pertulaca oleraoea L.
  • ผักเบี้ยหิน Trianthema portulachastum L.
  • ผักโขมหนาม Amaranthus spinosus L.

watchapedpag

3. พวกกก (Cyperaceae Weeds) วัชพืชชนิดนี้ลักษณะใบจะยาวเรียว ลําต้นจะเป็นสามเหลี่ยม เป็นทั้งวัชพืชล้มลุกและวัชพืชข้ามปี เช่น

  • กกทราย Cyperus iria L.
  • แห้วหมู Cyperus rotundus L. (กก : Sedges)

watchapedkawmoo

วิธีป้องกันกําจัดวัชพืชในพืชผัก
ในการป้องกันกําจัดวัชพืชในพืชผักนั้นมีมากมายหลายวิธี ส่วนมากจะนิยมใช้แบบผสมผสานตั้งแต่ 2 วิธีขึ้นไป แต่ก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของวัชพืช และขนาดของเนื้อที่เพาะปลูก เริ่มต้นหรือการเตรียมพื้นที่ในการปลูกผักนั้นจะต้องเตรียมดินให้ดีก่อนปลูก ผักจะช่วยให้ปัญหาวัชพืชเบาบางลงได้มาก หลังจากไถพรวน เพื่อย่อยหน้าดิน ทําให้ดินร่วนซุยสมํ่าเสมอ และควรเก็บเศษชิ้นส่วนต่างๆ ของวัชพืชออกให้หมด เช่น เหง้าหญ้าคา หัวแห้วหมู ไหลหญ้าชันอากาศ เหง้าหญ้าขน หลังจากนั้นจึงทําแปลงปลูก

  • การใช้จอบถางหรือมือถอน (Machanical Control) (Hand Heoing) หลังจากเกษตรกรรดนํ้าแล้ว จึงทําการถอนวัชพืช แต่ถ้าจะประหยัดเวลาและได้ผลควรถอนวัชพืชในขณะที่วัชพืชยังเล็กอยู่ ใช้ได้ในแปลงหรือเนื้อที่ขนาดเล็ก หรือใช้จอบถาง เพราะต้องเสียเวลามาก และใช้แรงงานมากเช่นกัน
  • การใช้วัสดุคลุมดิน (mulching) วิธีการนี้จะ ทําให้เมล็ดวัชพืชไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ ถ้าได้ก็จะช้ามาก และวิธีนี้ยังช่วยรักษาความชื้นในดินอีกด้วย วัสดุที่ใช้คลุมพวกฟางข้าว ใบหญ้า เปลือกถั่ว ฯลฯ

watchapedtak

วิธีการกำจัดหญ้าหรือวัชพืชในนา
วิธีการกำจัดหญ้าหรือวัชพืชที่ได้ผลที่สุด ซึ่งนอกจากไม่ส่งผลเสียดังกล่าวแล้วยังส่งผลดีแบบยั่งยืนระยะยาวนานอีกด้วย นั่นคือใช้มาตรการปรับเปลี่ยนหรือตัดวงจรปัจจัยพื้นฐานไม่ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าหรือวัชพืชเท่านั้น ได้แก่……
1. ล่อให้งอกแล้วทำลาย :
หลังเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ปล่อยฟางทิ้งไว้ตากแดดจัดอย่างน้อย 15 แดดจัด ระหว่างตากแดดจัดนี้ ถ้ามีฝนตกลงมาให้ยกเลิกจำนวนวันที่ตากแดดก่อนทั้ง หมดแล้วเริ่มนับ 1 ใหม่จนกว่าจะครบอย่างน้อย 15 วัน วัตถุประสงค์ของการตากแดดเพื่อ “ทำลายระยะพักตัว” ของเมล็ดวัชพืชและเมล็ดพืชอื่นๆที่อยู่ในแปลง จากนั้นจึงปล่อยน้ำเข้าพอหน้าดินชื้นโดยไม่ต้องไถ จากนั้นบรรดาพืชทุกชนิด (เมล็ดหญ้า เมล็ดข้าว ร่วงและหน่อวัชพืช) จะงอกขึ้นมา ปล่อยให้พืชทุกอย่างงอกอย่างอิสระหรือเปิดโอกาสให้งอกมากๆ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะเมล็ดวัชพืชบางชนิดงอกเร็ว บางชนิดงอกช้า
หมายเหตุ :
ถ้าไม่ทำลายระยะพักตัวของเมล็ดวัชพืชหรือพืชอื่นๆก่อน โดยหลังเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จใส่น้ำเข้าไปเลยนั้น เมล็ดวัชพืชหรือพืชอื่นๆก็จะไม่งอก เพราะยังไม่ได้ทำลายระยะพักตัว แต่หลังจากนั้น 10-15 วัน เมล็ดเหล่านั้นก็จะเริ่มงอกแล้วเจริญเติบโตคู่กับต้นข้าวต่อไป การไถดินที่มีเมล็ดพืชต่างๆฝังอยู่ เท่ากับเป็นการเติมอ๊อกซิเจนลงไปในเนื้อดินซึ่งจะส่งเสริมการงอกของเมล็ดพันธุ์ต่างๆให้ดียิ่งขึ้น เพราะฉนั้น จึงไม่ควรไถ แต่ปล่อยเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆวางอยู่บนผิวดินอย่างนั้น รอเวลาหมดระยะพักตัวแล้วจึงปล่อยน้ำเข้า หมักฟาง และไถกลบ
(ข้อมูล : สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)

2. ย่ำเพื่อทำลาย :
เมื่อเห็นว่าบรรดาเมล็ดพืชทุกอย่างงอกขึ้นมาแล้ว และบรรดาหน่อวัชพืชต่างๆก็แทงยอดขึ้นมาจากเหง้าหรือไหลทั้งหมดแล้วด้วย ให้ปล่อยน้ำเข้าแล้วลงมือย่ำเทือกครั้งที่ 1 ย่ำเทือกให้ใบและต้นพืช (วัชพืชและข้าว) ทุกอย่างที่ขึ้นมาแหลกสลายลงไปคลุกกับเนื้อดิน เสร็จแล้วไขน้ำออกพอเหลือติดหน้าดิน ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน จะเห็นว่ายังมีวัชพืชบางส่วนงอกขึ้นมาอีกแต่จะน้อยกว่าครั้งแรกหลายเท่า ปล่อยน้ำเข้าแล้วย่ำเทือกรอบ 2 ย่ำเพื่อทำลายใบและต้นวัชพืชเหมือนรอบที่ 1 ย่ำเทือกรอบ 2 เสร็จทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน ให้พิจารณา ถ้ายังมีวัชพืชขึ้นอีกมากก็ให้ไขน้ำเข้าย่ำเทือกรอบ 3 แต่ถ้าเห็นว่าวัชพืชลดลงจนเป็นที่น่าพอใจก็ไม่ต้องย่ำเทือกรอบ 3 ให้เตรียมการลงมือปลูก (หว่าน-ดำ) ได้เลย
หมายเหตุ :
พืชหรือวัชพืชใดๆที่งอกขึ้นมาจากเมล็ด เมื่อ ยอด-ใบ-ต้น ถูกย่ำทำลายไปแล้วจะไม่มีโอกาสงอกหรือเกิดใหม่อีกได้เลยตลอดชีวิต เพราะเมล็ดงอกได้เพียงครั้งเดียว ส่วนหน่อที่งอกขึ้นมาจาก หัว-เหง้า-ไหล ยอดที่งอกขึ้นมานั้นจะพัฒนาเป็น ต้น-ใบ ช่วยสังเคราะห์อาหาร ช่วงที่ยังไม่มีใบช่วยสังเคราะห์อาหารนั้น ต้นวัชพืชจะกินสารอาหารจาก หัว-เหง้า-ไหล ที่สะสมเอาไว้ เมื่อแตกยอดขึ้นมาทีไรเป็นถูกย่ำทำลายทุกครั้ง เพียง 2-3 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วันเท่านั้น สารอาหารในหัว-เหง้า-ไหลที่เคยสะสมไว้หมด หัว-เหง้า-ไหล ก็เน่าสลายหมดโอกาสแตกยอดใหม่อีกตลอดกาล
การใช้จุลินทรีย์เป็นตัวช่วยย่อยสลายเศษ ใบ-ต้น-หัว-เหง้า-ไหล ที่ถูกย่ำให้เปื่อยยุ่ยแล้วกลายเป็นปุ๋ย นอกจากจะไม่ทำลายสภาพโครงสร้างดินแล้วยังปรับปรุงสภาพโครงสร้างดินให้ดีขึ้นอีกด้วย ในขณะที่การใช้สารเคมีหรือสารสังเคราะห์ใดๆ แม้จะช่วยสลายเศษพืชได้แต่กลับทำให้สภาพโครงสร้างของดินเสียและเสียอย่างถาวรอีกด้วย

watchapedtakya

สรุป :

  1. ทำลายวัชพืชด้วยวิธีการบำรุงให้งอกแล้วย่ำทำลาย โดยการทำเทือกหลายๆรอบแต่ละรอบจำนวนวัชพืชจะลดลงและลดลงเรื่อยๆจนกระทั่งหมดไปนั่นเอง
  2. ถอนด้วยมือ หลังจากกำจัดวัชพืชส่วนใหญ่ด้วยวิธีทำเทือกย่ำทำลายแล้ว เมื่อต้นข้าวเจริญเติบโตขึ้นมา วัชพืชประเภทงอกช้าอาจจะยังหลงเหลืออยู่ก็จะงอกขึ้นมาให้เห็นอีก การกำจัดในขั้นตอนนี้ต้องใช้วิธีเดินเข้าไปในแปลงแล้ว “ถอนด้วยมือ” เท่านั้น ซึ่งวิธีถอนด้วยมือนี้นอกจากจะเป็นการกำจัดได้อย่างสิ้นซาก (ไม่มีโอกาสงอกใหม่อีกเลยตลอดชีวิต) แล้ว ยังไม่ทำลายสภาพโครงสร้างดินอีกด้วย ในนาดำช่วยให้การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีถอนด้วยมือทำได้ง่ายกว่านาหว่าน
  3. ป้องกันกำจัดหญ้าหรือวัชพืชตัวใหม่ เมื่อในแปลงนาข้าวไม่มี “เมล็ด-หัว-เหง้า-ไหล” ของวัชพืชที่จะเกิดใหม่ได้แล้ว เมล็ดแก่จากต้นวัชพืชบนคันนาหรือบริเวณข้างแปลงยังสามารถปลิวตามลมเข้าไปในแปลงแล้วเกิดเป็นต้นใหม่ขึ้นมาได้ กรณีนี้แก้ไขโดยการตัดหรือใช้ไม่เรียวฟาดก้านดอก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนเพื่อทำลายดอกตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ให้เป็นดอกแก่แล้วมีเมล็ดขยายพันธุ์ได้การใส่ปุ๋ยคอกมูลสัตว์กินหญ้า (วัว ควาย แพะ) มักมีเมล็ดพันธุ์วัชพืชปนมาด้วยเสมอ กำจัดเมล็ดพันธุ์วัชพืช โดยการหมักนาน 6 เดือน – 1 ปี เพื่ออาศัยจุลินทรีย์ทำลายชีวิตเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก่อน ถ้าไม่มีเวลาหมักก็ให้ใช้เฉพาะ “น้ำมูลสัตว์” หมักก่อนหรือไม่หมักก็ได้ ราดรดลงบนเศษซากพืช (ฟาง ต้นถั่ว วัชพืช) ในแปลงหลัง หรือก่อนไถกลบก็ได้ หลังจากนั้น นอกจากเศษซากพืชจะกลายสภาพเป็นปุ๋ยคอกมูลสัตว์โดยไม่มีเมล็ดวัชพืชหรือพืชใดๆปนเปื้อนมาด้วยแล้ว ยังได้ทำให้คุณภาพของเนื้อปุ๋ยดีกว่ามูลสัตว์ที่มาจากสัตว์โดยตรงอีกด้วย
  4. ข้าววัชพืช คือ วัชพืชชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตได้ดีมากในนาข้าว แต่ในแปลงเกษตรอื่นๆที่แม้จะมีสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานด้านการเกษตรเหมือนนาข้าวกลับไม่เจริญเติบโต มีชื่อตามภาษาท้องถิ่น เช่น ข้าวนก. ข้าวหาง. ข้างเด้ง. ข้าวลายหรือข้าวแดง. ข้าวป่าหรือข้าวละมาน.
    (คำว่า ข้าวนก หมายถึงสายพันธุ์ข้าวที่ใช้เลี้ยงนกเขา หรือ นกสวยงามในกรง………แต่คำว่า ข้าววัชพืช เป็นชื่อที่ทางราชการกำหนด)

ดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า ปัจจุบันนี้ยังไม่มีสารเคมีใดในโลกสามารถกำจัดข้าววัชพืชโดยเฉพาะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์

watchapedtad

ลักษณะเด่นของข้าววัชพืชในแปลงนาข้าว :

  • งอกหลังต้นข้าว (นาหว่าน) 8-10 วัน แต่เจริญเติบโตเร็วกว่าต้นข้าวแล้วเป็นต้นแก่มีเมล็ดขยายพันธุ์ได้ก่อนต้นข้าว หรือ เกิดทีหลังแต่แก่ก่อน
  • สายพันธุ์เดียวกันแต่เมล็ดพันธุ์บางเมล็ดอยู่ได้นาน (1-12 ปี)โดยไม่เสื่อมความงอกในขณะที่บางเมล็ดงอกได้เร็ว หรือ พักตัว/ไม่พักตัว….พักตัวนาน/พักตัวไม่นาน
  • ไม่มีโรคและแมลงศัตรูหรือมีน้อยมาก
  • เปอร์เซ็นต์ความงอกสูงมาก แม้เมล็ดที่ยังแก่ไม่จัดก็สามารถงอได้
  • ปรับตัวให้ต่ำกว่าหรือสูงเท่ากับต้นข้าวเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกกำจัดได้ดี
  • จากเมล็ดข้าววัชพืช 1 เมล็ด ในนาข้าวรุ่นที่ 1 ขยายพันธุ์ต่อเนื่องถึงทำนารุ่นที่ 6 จะมีเมล็ดมากถึง 31,250,000,000 เมล็ด

วิธีกำจัดข้าววัชพืช :

  • ล่อให้งอกแล้วย่ำทำลายด้วยวิธีย่ำเทือก ย่ำซ้ำหลายๆรอบเพื่อกำจัดวงรอบหรือวัฏจักชีวิต
  • เปลี่ยนจากการทำนาหว่านมาเป็นนาดำ ทั้งนี้ นาดำ 1 รุ่น กำจัดข้าววัชพืชได้กว่า 90 % จากนั้นใช้วิธีถอนด้วยมือก็จะทำให้ต้นข้าววัชพืชหมดไปจากแปลงนาได้
  • ถอนด้วยมือ (นาดำทำได้ง่ายกว่านาหว่าน)
  • ป้องกันเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่จากแหล่งภายนอก เช่น เมล็ดพันธุ์ รถเกี่ยว และจากแปลงข้างเคียง

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด วิชาเกษตรพึ่งตน

แสดงความคิดเห็น