ขมิ้นชันเป็นพืชสมุนไพรที่มีมาแต่โบราณ แพทย์แผนไทยโบราณได้นำขมิ้นชันมาทำเป็นยาหลายตำรับซึ่งเป็นต้นแบบของยาหลายชนิด ในปัจจุบันนักวิทยาศาตร์ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและทดลองถึงคุณสมบัติทางเคมีของขมิ้นชัน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทางเลือกในการปรุงเป็นยาชนิดต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยได้ศึกษาค้นคว้ามายาวนาน จนมั่นใจได้ว่าสมุนไพรขมิ้นชันเป็นพืชที่มีประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ จนกระทั่งนำขมิ้นชันขึ้นทะเบียนในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma longa L.
ชื่อสามัญ : Turmaric
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่ออื่น : ขมิ้น (ทั่วไป) ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้มิ้น หมิ้น (ภาคใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-90 ซม. เหง้าใต้ดินรูปไข่มีแขนงรูปทรงกระบอกแตกออกด้านข้าง 2 ด้าน ตรงกันข้ามเนื้อในเหง้าสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะ ใบ เดี่ยว แทงออกมาเหง้าเรียงเป็นวงซ้อนทับกันรูปใบหอก กว้าง 12-15 ซม. ยาว 30-40 ซม. ดอก ช่อ แทงออกจากเหง้า แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ รูปทรงกระบอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อนหรือสีนวล บานครั้งละ 3-4 ดอก ผล รูปกลมมี 3 พู
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
เหง้ารูปไข่ มีแง่งแขนงรูปทรงกระบอก หรือคล้ายนิ้วมือ ตรงหรือโค้งเล็กน้อยยาว 4-7 เซนติเมตร กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร หนาประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร ปลายทั้งสองข้างตัด สีภายนอกสีน้ำตาลถึงเหลืองเข้มๆ มีรอยย่นๆตามความยาวของแง่ง มีวงแหวนตามขวาง (leaf scars) บางทีมีแขนงเป็นปุ่มเล็กๆสั้นๆ หรือเห็นเป็นรอยแผลเป็นวงกลมที่ปุ่มนั้นถูกหักออกไป ผิวนอกสีเหลืองถึงสีเหลืองน้ำตาล สีภายในสีเหลืองเข้มหรือสีส้มปนน้ำตาล เป็นมัน แข็งและเหนียว เมื่อบดเป็นผงมีสีเหลืองทองหรือสีเหลืองส้มปนน้ำตาล กลิ่นหอมเฉพาะตัว รสขม ฝาด เฝื่อน เผ็ดเล็กน้อย
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ใช้ภายใน ช่วยเจริญอาหาร ยาบำรุงธาตุ ฟอกเลือด แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่น จุกเสียด ลดน้ำหนัก ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการดีซ่าน แก้อาการวิงเวียน แก้หวัด แก้อาการชัก ลดไข้ ขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องมาน แก้ไข้ผอมแห้ง แก้เสมหะและโลหิตเป็นพิษ โลหิตออกทางทวารหนักและเบา แก้ตกเลือด แก้อาการตาบวม แก้ปวดฟันเหงือกบวม มีฤทธิ์ระงับเชื้อ ต้านวัณโรค ป้องกันโรคหนองใน แก้ท้องเสีย แก้บิด รักษามะเร็งลาม ใช้ภายนอก ช่วยลดอาการฟกช้ำบวม ปวดไหล่และแขน บวมช้ำและปวดบวม แก้ปวดข้อ สมานแผลสดและแผลถลอก ผสมยานวดคลายเส้นแก้เคล็ดขัดยอก แก้น้ำกัดเท้า แก้ชันนะตุ แก้กลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน สมานแผล รักษาฝี แผลพุพอง ลดอาการแพ้ อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ตำใส่แผลห้ามเลือด รักษาผิว บำรุงผิว
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5)ปรากฏการใช้ขมิ้นชัน ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับยาเหลืองปิดสมุทร มีส่วนประกอบของขมิ้นชันเป็นองค์ประกอบหลัก ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 12 ชนิดในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ นอกจากนี้ยังจัดอยู่ในบัญชียาพัฒนาจากสมุนไพรที่สามารถใช้เดี่ยว เพื่อบรรเทาอาการแน่น จุกเสียด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ใช้ภายใน(ยารับประทาน):
ใช้ภายนอก:
การใช้ขมิ้นรักษาแผล, แมลงกัดต่อย
การใช้ขมิ้นรักษากลาก เกลื้อน
ผสมผงขมิ้นกับน้ำ แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน 2 ครั้งต่อวัน
องค์ประกอบทางเคมี:
สารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ (curcuminoids) ประกอบด้วย เคอร์คิวมิน (curcumin) และอนุพันธ์
น้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) มีสีเหลืองอ่อน สารหลักคือเทอร์เมอโรน (turmerone) 60%, ซิงจิเบอรีน (zingiberene) 25%, borneol เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
มีฤทธิ์ขับลม ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ กระตุ้นการหลั่งสารเมือกมาเคลือบ และยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่างๆ สมานแผลในกระเพาะอาหาร ต้านการอักเสบของลำไส้ใหญ่ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อบิดมีตัว ฆ่าพยาธิ ต้านเชื้อHelicobacter pylori ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ขับน้ำดี แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม รักษาอาการอุจจาระร่วง ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้และมดลูก ป้องกันการเกิดมะเร็งและต้านมะเร็ง ปกป้องตับ ต้านออกซิเดชั่น มีฤทธิ์ต้านการเกิดโรคความจำเสื่อม โดยมีผลป้องกันการถูกทำลายของเซลล์สมอง
การศึกษาทางคลินิก:
รักษาอาการท้องเสีย อาการแน่นจุกเสียด อาหารไม่ย่อย และลดกรด รักษาแผลในทางเดินอาหาร บรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากกระเพาะอาหารเป็นแผลได้ ลดการบีบตัวของลำไส้ รักษาสิว
การศึกษาทางพิษวิทยา:
การศึกษาพิษเฉียบพลันของเหง้าขมิ้นชันในหนูถีบจักร พบว่าหนูที่ได้รับผงขมิ้นขันทางปากในขนาด 10กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่แสดงอาการพิษ และเมื่อให้สารสกัดของเหง้าขมิ้นชันด้วย 50%แอลกอฮอล์ โดยวิธีป้อนทางปาก ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และทางช่องท้องในขนาด 15 กรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลันและหนูถีบจักรไม่ตาย ขนาดของสารสกัดทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อให้โดยวิธีดังกล่าว จึงมีค่ามากกว่า 15กรัม/กิโลกรัม
ข้อควรระวัง:
1. การใช้ขมิ้นเป็นยารักษาโรคกระเพาะ ถ้าใช้ขนาดสูงเกินไป จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะ
2. คนไข้บางคนอาจมีอาการแพ้ขมิ้น โดยมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว นอนไม่หลับ ให้หยุดยา
3.ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการอุดตันของท่อน้ำดี นิ่งในถุงน้ำดี หญิงมีครรภ์
กินขมิ้นชันตามเวลาต่อไปนี้ จะได้ผลโดยตรงกับอวัยวะส่วนนั้น
การปลูกขมิ้นชันมักปลูกกันในช่วงฤดูฝน คือ ช่วงเดือนพฤษภาคมกรกฎาคม หลังจากนั้นจะเก็บเกี่ยวขมิ้นชันเมื่ออายุ 9 -11 เดือน (ธันวาคมกุมภาพันธ์) วิธีการเก็บใช้จอบขุด ถ้าดินแข็งรดน้ำให้ชุ่มก่อน ปล่อยให้ดินแห้งหมาดๆแล้วจึงขุด เมื่อได้หัวขมิ้นชันมาแล้วต้องนำมาเคาะเอาดินออก ตัดแต่งราก แล้วใส่ตะกร้าแกว่งล้างน้ำ ในกรณีที่ต้องการขายขมิ้นสดอาจขายส่วนที่เป็นแง่ง ส่วนหัวแม่ควร เก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ปลูกในฤดูกาลถัดไป ถ้าเป็นขมิ้นที่แก่เต็มที่นิยมทำแห้งเพื่อให้เป็นยารักษาโรค แต่ต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นหลัก สิ่งสำคัญคือห้ามเก็บในระยะที่ขมิ้นเริ่มแตกหน่อ เพราะสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีประโยชน์มีปริมาณต่ำ
ฤดูกาลปลูกขมิ้น
การปลูกขมิ้นชันในประเทศไทย เริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุก ๆ ปี และจะเก็บเกี่ยวหัวขมิ้นในช่วงฤดูหนาวหรือประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งช่วงนี้หัวขมิ้นชันจะแห้งสนิท
ดินและการเตรียมดิน
ขมิ้นชันสามารถขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด แต่ที่เหมาะสมควรเป็นดินที่ระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง ถ้าเป็นดินเหนียวควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 1 ต้น/ไร่ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดิน
การเตรียมดินควรไถพรวนก่อนต้นฤดูฝน และหลังจากพรวนดินให้มีขนาดเล็กลงแล้ว ก็ใช้ไถยกร่องปลูกระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร
การเตรียมหัวพันธุ์ขมิ้นชันสำหรับปลูก
การปลูกขมิ้นชันอาจใช้ท่อนพันธุ์ได้ 2 ลักษณะคือ ใช้หัวแม่ และใช้แง่ง ถ้าปลูกโดยใช้หัวแม่ที่มีรูปร่างคล้ายรูปไข่ขนาดน้ำหนักประมาณ 15-50 กรัม/หัว หัวแม่นี้สามารถให้ผลผลิตประมาณ 3,300 กิโลกรัม/ไร่ ที่ระยะปลูก 75×30 เซนติเมตร ถ้าใช้หัวแม่ขนาดเล็กลง จะลดลงไปตามสัดส่วน ถ้าปลูกด้วยแง่งขนาด 15-30 กรัม/ชิ้น หรือ 7-10 ปล้อง/ชิ้น จะให้ผลผลิตน้ำหนักสดประมาณ 2,800 กิโลกรัม/ไร่
ก่อนนำลงปลูกในแปลงควรแช่ด้วยยากันราและยาฆ่าเพลี้ย เพื่อป้องกันโรคหัวเน่าและกำจัดเพลี้ย ซึ่งอาจติดมากับท่อนพันธุ์และมักจะระบาดมากขึ้นในช่วงปีที่ 2-3 ของการปลูก หากมิได้รับการเอาใจใส่ป้องกันให้ดีก่อนปลูก โดยแช่นานประมาณ 30 นาที ควรระมัดระวังการใช้สารเคมีโดยสวมถุงมือยางที่มีสภาพเรียบร้อยไม่ขาด และควรสวมหน้ากากด้วย ก่อนปลูกขมิ้นชันควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ และวางท่อนพันธุ์ลงในแปลง กลบดินหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังจากนั้นขมิ้นชันจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 30-70 วันหลังปลูก
การใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืช
ขมิ้นชัน เมื่อเริ่มงอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ต้องรีบทำการกำจัดวัชพืช เนื่องจากขมิ้นชันหลังจากงอกจะเจริญเติบโตแข่งกับวัชพืชไม่ได้ และใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อกำจัดวัชพืชครั้งที่ 2 ควรพรวนดินกลบโคนแถวขมิ้นชันด้วย หลังจากนั้นกำจัดวัชพืชอีก 2-3 ครั้งก็พอ
การให้น้ำ
แม้ว่าขมิ้นชันจะเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมก็ตามในช่วงต้นฤดูฝน อาจทิ้งช่วงไปขณะที่ขมิ้นชันยังมีขนาดเล็กอยู่ อาจมีอาการเหี่ยวเฉาบ้าง จึงควรให้น้ำชลประทานให้เพียงพอสำหรับความชุ่มชื้น หรืออาจใช้วัตถุคลุมดินเพื่อลดการระเหยของน้ำ และเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนไม่จำเป็นต้องให้น้ำเลย แต่ต้องระมัดระวังน้ำท่วมขังในแปลงเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ขมิ้นเน่าตายได้ ควรเตรียมแปลงให้มีทางระบายน้ำ และต้องรีบจัดการระบายน้ำออกทันทีที่พบว่ามีน้ำท่วมขัง
โรคและแมลงศัตรูพืช
โรคของขมิ้นชันเกิดจากการเน่าของหัวขมิ้นจากน้ำท่วมขัง หรือการให้น้ำมากเกินไป หรือเกิดจากการปลูกซ้ำที่เดิมหลาย ๆ ครั้ง ทำให้เกิดการสะสมโรค โรคที่พบได้แก่ โรคเหง้าและรากเน่าซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคต้นเหี่ยว และโรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา โรคเหล่านี้เมื่อเกิดแล้วรักษายาก จึงควรป้องกันก่อนปลูก การป้องกันโรคที่ดีควรทำโดยการหมุนเวียนแปลงปลูกทุก ๆ ปี
การเก็บเกี่ยว
หลังจากปลูกขมิ้นชันเมื่อช่วงต้นฤดูฝนจนย่างเข้าสู่ฤดูหนาวประมาณปลายเดือนธันวาคม ลำต้นเหนือดินเริ่มแสดงอาการเหี่ยวแห้งจนกระทั่งแห้งสนิท จึงเริ่มทำการเก็บเกี่ยว
ในการเก็บเกี่ยวหัวขมิ้นควรใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น รถแทรคเตอร์ติดผานไถอันเดียว และคนงานเดินตามเก็บหัวขมิ้น จะช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าแรงงาน เนื่องจากการเก็บเกี่ยวเป็นช่วงฤดูแล้งในสภาพดินเหนียว ดินจะแข็ง ทำให้เก็บเกี่ยวยาก อาจให้น้ำพอดินชื้น ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ แล้วจึงเก็บเกี่ยวขมิ้น ในกรณีที่ใช้แรงงานคนงานขุดหัวขมิ้นในดินที่ไม่แข็งเกินไป มักจะขุดได้เฉลี่ยประมาณ 116 กิโลกรัม/วัน/คน
เมื่อทำการเก็บเกี่ยวแล้วต้องนำมาตัดแต่งราก ทำความสะอาดดินออก ในกรณีที่ต้องการขมิ้นสดอาจจะขายส่วนที่เป็นแง่ง ส่วนหัวแม่ควรเก็บไว้เป็นพันธุ์ปลูกในฤดูกาลต่อไป ถ้าจะเตรียมขมิ้นแห้งเพื่อนำไปใช้ทำยารักษาโรคนั้นต้องเป็นขมิ้นชันที่แก่เต็มที่ และต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งต้องมีปริมาณสารสำคัญ (เคอร์คูมิน) ไม่น้อยกว่า 8.64 เปอร์เซ็นต์
วิธีการ ต้องนำหัวขมิ้นชันล้างด้วยน้ำให้สะอาด ตัดแต่งรากออกให้หมด แล้วฝานเป็นชิ้นบาง ๆ นำไปตากแดดในตู้อบแสงอาทิตย์ ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ และเมื่อแห้งสนิทแล้วบรรจุถุงปิดให้สนิท
ขมิ้นสด 5 กิโลกรัม จะได้ขมิ้นแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม นอกจากการเตรียมสำหรับทำยารักษาโรคแล้ว ยังสามารถเตรียมขมิ้นชันเพื่อใช้ในการแต่งสี และแต่งกลิ่นผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด โดยการแต้มแง่งขมิ้นในน้ำเดือดเป็นเวลา 30 นาที จะมีปริมาณเคอร์คูมิน 5.48 เปอร์เซ็นต์ แล้วหั่นก่อนอบแห้ง ในการต้มขมิ้นชันกับน้ำเดือดจะทำให้ประหยัดเวลาในการทำให้แห้งมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับวิธีการผ่านสดแล้วตากแห้งกับแสงแดดและขมิ้นที่ได้ต้องนำไปบดเป็นผงต่อไป
ป้ายคำ : สมุนไพร