หลักการ “ขาดทุน” คือ “กำไร” (Our loss is our gain) คือ การดำเนินงานที่ยึดผลสำเร็จแห่งความ “คุ้มค่า” มากกว่า “คุ้มทุน” คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนรวมมากกว่าผลสำเร็จที่เป็นตัวเลขอันเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มคนส่วนน้อย เล็งเห็นผลที่ได้จากการลงทุนเพื่อประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ อันได้แก่ ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนซึ่งตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ ซึ่งถ้าหากพิจารณาตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว อาจจะถือว่าเป็นการลงทุนที่ขาดทุนหรือไม่คุ้มทุน
ก็แปลว่า ขาดทุน คือ เป็นการได้กำไรของเรา หรือการขาดทุนของเรา เป็นการได้กำไรของเรา ท่านนักเศรษฐกิจคงร้องว่า ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นไปอย่างนั้น ก็เห็นว่านักเศรษฐกิจก็ยิ้ม ยิ้ม ๆ ว่า อะไร พูดอย่างนี้ “การขาดทุนของเรา เป็นการได้กำไรของเรา” หรือเราได้กำไร แต่พูดภาษาอังกฤษมันสั้นกว่า งั้นก็ต้องขยายว่าภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร ภาษาอังกฤษ Our หมายความว่า ของเรา Our Loss .. Loss ก็การเสียหาย, การขาดทุน Our Loss Is .. Is ก็เป็น Our Loss Is Our .. Our ก็คือของเรา “Our Loss Is Our Gain” ..Gain ก็คือกำไรหรือที่ได้ ส่วนที่เป็นรายรับ ก็ตกลงบอกกับเขาว่า “Our Loss Is Our Gain” ขาดทุนของเราเป็นกำไรของเรา หรือว่า เราขาดทุน เราก็ ได้กำไร เวลาพูดไปแล้วเขาก็บอกว่า “ขอย้ำ ขอซ้ำอีกที” ก็พูดซ้ำอีกที เขาก็นั่งเฉยไปอีก ก็หมายความว่าต้องการ การอธิบาย เราก็อธิบาย อธิบายว่า ถ้าเราทำอะไรที่เป็นการกระทำแล้วก็เราเสีย แต่ในที่สุดก็ ไอ้ที่เราเสียนั้นมันเป็น “การได้”..
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔
จากพระราชดำรัสดังกล่าว คือหลักการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรไทย การให้ และ การเสียสละ เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือความอยู่ดีมีสุขของราษฎร ซึ่งสามารถสะท้องให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนได้ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทาน แก่ตัวแทนของปวงชนชาวไทยที่ได้เข้าเฝ้าฯถวายพระพรเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระ ชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความตอนหนึ่งว่า
… ประเทศต่างๆ ในโลกในระยะ ๓ ปีมานี้ คนที่ก่อตั้งประเทศที่มีหลักทฤษฎีในอุดมคติที่ใช้ในการปกครองประเทศล้วนแต่ ล่มสลายลงไปแล้ว เมืองไทยของเราจะสลายลงไปหรือ เมืองไทยนับว่าอยู่ได้มาอย่างดี เมื่อประมาณ ๑๐ วันก่อน มีชาวต่างประเทศมาขอพบ เพื่อขอโอวาทเกี่ยวกับการปกครองประเทศว่าจะทำอย่างไร จึงได้แนะนำว่า ให้ปกครองแบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคี มีเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอด ไม่เหลือกับคนที่ทำตามวิชาการที่เวลาปิดตำราแล้วไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ลงท้ายก็ต้องเปิดหน้าแรกเริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง ถ้าเราใช้ตำราแบบอะลุ้มอะล่วยกัน ในที่สุดก็เป็นการดี ให้โอวาทเขาไปว่า ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา นักเศรษฐศาสตร์คงค้านว่าไม่ใช่ แต่เราอธิบายได้ว่า ถ้าเราทำอะไรที่เราเสีย แต่ในที่สุดที่เราเสียนั้น เป็นการได้ทางอ้อม ตรงกับงานของรัฐบาลโดยตรง เงินของรัฐบาลหรืออีกนัยหนึ่งคือเงินของประชาชน ถ้าอยากให้ประชาชนอยู่ดี กินดี ก็ต้องลงทุนต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงินเป็นร้อย พัน หมื่นล้าน ถ้าทำไปเป็นการจ่ายเงินของรัฐบาล แต่ในไม่ช้าประชาชนจะได้รับผล ราษฎรอยู่ดีกินดีขึ้น ราษฎรได้กำไรไป ถ้าราษฎรมีรายได้รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก เพื่อให้รัฐบาลได้ทำโครงการต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ถ้ารู้ รัก สามัคคี รู้เสียสละ คือการได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้…
การลงทุนลงแรงบางอย่าง หากคิดในแง่ตัวเลขกำไรขาดทุน อาจไม่คุ้ม เช่น การลงทุนโครงการเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับชนบทห่างไกล แต่หากวันข้างหน้า ผู้คนสามารถมีอาชีพ “พึ่งพาตนเอง” ได้ เด็กๆเติบโตเป็น”กำลังสำคัญ”พัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองได้ ถือเป็นกำไรแผ่นดินทั้งทางตรงและทางอ้อม
ป้ายคำ : เศรษฐกิจพอเพียง