ขี้เหล็กเทศ ขี้เหล็กผี ชุมเห็ดเล็ก

11 สิงหาคม 2558 สมุนไพร 0

ขี้เหล็กเทศเป็นพืชปีเดียวแล้วตาย ใบขยี้ดมดูมีกลิ่นเหม็นเขียว ฝักเป็นเส้นตรงทรงกระบอก แบนและมีขอบชัดเจน เปลือกฝักบาง ผลเมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล ฝักหนึ่งมีเมล็ดประมาณ 40 เม็ด เมล็ดกลมรีแบน ปลายด้านหนึ่งค่อนข้างแหลม ผิวนอกเรียบแข็ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia Occidentalis L.
วงศ์ Caesalpiniaceae
ชื่ออื่น ขี้เหล็กเผือก, ผักเห็ด, ลับมืนน้อย, หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กผี, ชุมเห็ดเล็ก, พรมดาน(ภาคกลาง), ผักจี๊ด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); ม่อกังน้ำ, กิมเต่าจี้ (จีน); Coffea Senna

ลักษณะ
ขี้เหล็กเทศเป็นพืชปีเดียวตาย ต้นสูง 1-2 เมตร โคนต้นมีเนื้อไม้แข็ง แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบประกอบออกสลับกัน ก้านใบร่วมยาว 3-5 ซม. โคนใบมีตุ่มนูนขึ้นมา 1 ตุ่ม ใบย่อย 3-5 คู่ คู่ปลายใบมีขนาดใหญ่ คู่ถัดมามีขนาดเล็กลง ใบย่อยลักษณะรี ปลายแหลม ยาว 3-6 ซม. ฐานใบเบี้ยวข้างหนึ่ง ขอบใบเรียบมีขนอ่อนนุ่ม ก้านใบย่อยสั้น ด้านหลังใบมีขนอ่อนนุ่มสั้น ๆ ขยี้ใบดมกลิ่นเหม็นเขียว หูใบเป็นเส้นแหลมหลุดร่วงง่าย ดอกออกเป็นช่อจากง่ามใบ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ลักษณะกลีบรีปลายแหลม มีกลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ ปลายกลีบดอกมนกลม เกสรตัวผู้มี 10 อัน 3 อันที่อยู่ด้านบนจะเสื่อมไปอีก 7 อันที่อยู่รอบ ๆ จะเจริญเติบโตเต็มที่ รังไข่เป็นเส้นโค้ง มีขนสีขาวปกคลุม ก้านเกสรตัวเมียสั้นอยู่ปลายรังไข่ ฝักเป็นเส้นตรงทรงกระบอก แบนและมีขอบชัดเจนทั้ง 2 ด้าน ยาว 6-10 ซม. กว้าง 3-4 มม. มีรอยตามขวางนูนขึ้น เปลือกฝักบาง ผลแก่สำน้ำตาล ฝักหนึ่งมีเมล็ดประมาณ 40 เม็ด เมล็ดกลมรีแบน ปลายด้านหนึ่งค่อนข้างแหลม ผิวนอกเรียบแข็ง ขี้เหล็กเทศพบขึ้นเองตามที่รกร้าง ที่แห้งแล้ง ตามไหล่เขาและริมน้ำลำคลอง

keelektedtona keelekteddoks keelektedchor keelektedfag

ส่วนที่ใช้
ทั้งต้น ใบ ฝัก และเมล็ดใช้เป็นยา
ทั้งต้นหรือใบ ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้
ฝักหรือเมล็ด เก็บเมื่อฝักแก่จัดเป็นสีน้ำตาล ตากแห้ง เด็ดก้านฝักออก หั่นเป็นท่อนเล็ก ๆ หรือแกะเปลือกเอาแต่เมล็ด ตากแห้งเก็บไว้ใช้

สรรพคุณ
ทั้งต้นหรือใบ รสขม เย็นจัด ใช้ขับของเสียออกจากไต แก้บวม ถอนพิษ แก้ไอ หอบ หนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ท้องผูก ปวดหัว ตาแดง แผลบวมอักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย งูกัด
ฝักหรือเมล็ด รสชุ่ม ขม เย็น มีพิษ ทำให้ตาสว่าง ทำให้การขับถ่ายดี แก้ระบบการย่อยไม่ดี ปวดกระเพาะอาหาร ปวดท้อง บิด ท้องผูก ตาบวมแดง วิงเวียน ปวดหัว และถอนพิษ

  • ใบ ราก และเมล็ดเป็นยาถ่าย
  • เมล็ด คั่วให้หอมเกรียม นำมาชงน้ำกิน เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้บวมน้ำ ปวดข้อ แก้โรคเกี่ยวกับหัวใจ ใช้ภายนอกบดเป็นผง ทำเป็นยาขี้ผึ้งทาแก้กลากเกลื้อน ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ช่วยดูดหนองฝี และแก้โรคผิวหนังต่าง ๆ
  • ใบและฝัก ต้มกิน ขับพยาธิ แก้กลากเกลื้อน
  • เปลือกต้น ชงน้ำกินแก้เบาหวาน
  • ราก ใช้ขับพยาธิ ยาชงจากรากเป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ และโรคเกี่ยวกับตับ
    ยาชงจากรากและเปลือก ใช้แก้ไข้มาลาเรีย ปัสสาวะเป็นเลือด หนองใน และบิดที่เกิดจากเชื้อมาลาเรีย
  • ทั้งต้น ทำปุ๋ยพืชสด ให้ปริมาณโปแตสเซียมมากกว่าต้นชุมเห็ดไทย

วิธีและปริมาณที่ใช้
ทั้งต้นหรือใบ แห้ง 6-10 กรัม(ใบสดเพิ่ม 1 เท่าตัว) ต้มน้ำหรือคั้นเอาน้ำกิน ใช้ภายนอกตำพอก
ฝักหรือเมล็ด แห้ง 6-10 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกเป็นผงทา

keelektedpon

ตำรับยา

  1. ฝีบวมอักเสบ ใช้ใบตากแห้งบดเป็นผง ผสมน้ำส้มสายชูพอก หรืออาจผสมเหล้าพอกเพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น
  2. งูกัด ใช้ใบสด 1 กำมือ (ประมาณ 30-60 กรัม) ต้มคั้นน้ำกินและกากพอก
  3. แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ใบสดตำพอก
  4. โรคหนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้ทั้งต้นสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน
  5. ตาแดงบวม เห็นพร่ามัว ใช้เมล็ดแห้ง 15-30 กรัม ผสมน้ำตาลกรวด 30 กรัม ชงน้ำกิน
  6. แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เมล็ดที่คั่วให้เกรียมมีกลิ่นหอมบดเป็นผง กินครั้งละ 6-10 กรัม วันละ 2 ครั้ง
  7. ลดความดันเลือดสูง ใช้เมล็ดคั่วให้เกรียมมีกลิ่นหอม บดเป็นผง กินครั้งละ 3 กรัม ผสมน้ำตาลกรวดพอประมาณ ชงน้ำกินเป็นประจำ
  8. แก้โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องผูกเป็นประจำ ระบบย่อยอาหารไม่ดี ใช้เมล็ดที่คั่วจนเหลือง 15-30 กรัม บดเป็นผง กินติดต่อกันประมาณ 10 วัน

ผลรายงานทางคลินิกของจีน

  1. แก้อาการอักเสบภายนอก ใช้ใบตำพอกบริเวณที่เป็นและทั้งต้นสด 30-60 กรัม หรือเมล็ด 15-30 กรัมต้มน้ำกิน จากการรักษาคนไข้เต้านมอักเสบ และคนไข้เป้ฯแผลอักเสบที่จมูกอย่างละ 2 ราย ผึ้งต่อยอักเสบและถุงอัณฑะอักเสบอย่างละ 1 ราย ได้ผลหายทุกราย
  2. แก้ปวดหัวเรื้อรัง ใช้ใบสด 30 กรัม เนื้อหมู 250 กรัม ต้มน้ำกินวันละ 1 ตำรับ จากการรักษาคนไข้มีอาการปวดหัวเรื้อรัง 18 ราย ได้ผลหาย 15 ราย ปวดหัวข้างเดียวจำนวน 10 ราย ได้ผลหาย 9 ราย จากการติดตามสอบถามคนไข้ที่หายจากโรคแล้วครึ่งปี ยังไม่ปรากฏอาการเดิมอีก

keelektedbai

ผลทางเภสัชวิทยา

  1. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อ สารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเธอร์ เบนซิน แอลกอฮอล์ จากใบ ราก และเมล็ด มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus aureus,Bacillus subtilis B. proteus และ Vibrio cholerae ฤทธิ์ฆ่าเชื้อนี้เกิดจากน้ำมันระเหยของพืชนี้ สารสกัดด้วยน้ำของพืชนี้ก็มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด
  2. น้ำต้มจากใบและต้น และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของพืชนี้ มีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้เล็ก และมดลูกของหนูใหญ่ และลดความดันเลือดสุนัขทดลอง นอกจากนี้น้ำต้มจากใบและต้น ยังมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจของกระต่ายเล็กน้อย
    สารสกัดจากต้นขี้เหล็กเทศด้วยแอลกอฮอล์ผสมอีเธอร์ขนาด 100 มก. มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้อัตราปริมาณน้ำปัสสาวะของสุนัขทดลองที่ทำให้สลบและให้น้ำสม่ำเสมอนั้น มีปัสสาวะเพิ่มขึ้น 300% เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ทดลองกลุ่มที่ไม่ให้สารสกัดนี้

keelekteddokkeelektedton

การเป็นพิษ
เมล็ดมีท็อกซาลบูมิน (Toxalbumin) เป็นสารพิษทำให้ถ่ายอย่างแรง นำไปคั่ว พิษจะหายไป
หนูเล็ก หนูใหญ่ และม้า กินเมล็ดหรือฉีด สารสกัดจากเมล็ดจะมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง
สารสกัดด้วยเบนซินจากเมล็ด ฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะเป็นพิษต่อตับและไต
ทั้งต้นที่มีฝักแห้งหนัก 14 กก. ให้แกะกินติดต่อกันมากกว่า 17 วัน มีผลระคายเคืองต่อระบบการย่อยอาหาร
พิษจากการกินเมล็ดหรือรากขี้เหล็กเทศ มีอาการท้องเสีย อาเจียน แก้โดยล้างกระเพาะ โดยให้กินไข่ขาวร่วมกับกรดแทนนิค (tannic acid) และถ่าน ถ้าอาการหนัก อาจให้น้ำเกลือและกลูโคส หรืออาจให้ยาอื่นแก้ตามอาการคนไข้

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สมุนไพร

แสดงความคิดเห็น