ขี้เหล็ก ขมเป็นยา

13 พฤศจิกายน 2556 ไม้ยืนต้น 0

ขี้เหล็ก เดิมเป็นไม้ในบริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นับจากหมู่เกาะต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซียไปจนกระทั่งถึงประเทศศรีลังกาต่อมามีผู้นำเอาไม้ขี้เหล็กไปปลูกในบริเวณต่างๆ สำหรับในประเทศไทยเราจะพบไม้ขี้เหล็กในแทบทุกจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ, ภาคกลาง,ภาคใต้ ชาวบ้านนิยมปลูกไม้ขี้เหล็กเป็นไม้ให้ร่มและเป็นไม้ประดับ ขึ้นได้ในดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia siamea (Lamk.) Irwin et Barneby
ชื่อวงศ์ : Fabaceae (Leguminosae)
ชื่อพ้อง : Cassia florida Vahl, Cassia siamea Lam.
ชื่อสามัญ : Cassod tree, Siamese senna, Thai copperpod, Siamese cassia
ชื่อท้องถิ่น : ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ผักจี้ลี้ (เงี้ยง-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (ปัตตานี) ขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้)

ลักษณะทั่วไป
ขี้เหล็ก เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีใบเขียวตลอดปีและไม่ผลัดใบเมื่อโตเต็มที่ สูงประมาณ 8-18 เมตร ลำต้นไม่ค่อยจะเปลาตรงนัก เปลือกบางเรียบมีสีเทาปนน้ำตาลหรือเขียวปนเทา เมื่อแก่เปลือกนอกอาจ มีสีดำและแตกเป็นเกล็ดตามบริเวณโคนต้น โดยปกติไม้ขี้เหล็กมีกิ่งก้านสาขามากแตกออกรอบลำต้นทุกทิศทาง เรือนยอดแผ่ขยายเป็นพุ่ม

  • ใบ เป็นช่อแบบขนนกติดเรียงสลับ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ละช่อมีใบย่อยรูปขอบขนานแคบ ๆ กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร รูปทรงของใบทั้งหมดเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ก้านใบยาว 1020 เซนติเมตร มีใบย่อย 710 คู่ ก้านใบย่อยยึดติดกับก้านใบใหญ่เป็นคู่ ออกตรงข้าม ใบอ่อนเป็นขนสั้น ๆ เมื่อใบแก่มาก ๆ ขนนี้จะหายไป ใบย่อยที่อยู่ปลายสุดของช่อจะเป็นใบเดี่ยว เนื้อใบเนียนค่อนข้างบาง สีเขียวเข้มเป็นมัน ไม่มีขน โคนใบสอบแคบเข้าเล็กน้อย ปลายใบมนหรือหยักเว้าเข้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ
  • ผล มีลักษณะเป็นฝักแบน ๆ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลและฝักโค้งเล็กน้อย แต่ละฝักมีเมล็ด 2030 เมล็ด เรียงตัวตามขวาง และผลจะแก่เต็มที่ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ส่วนเมล็ดมีขนาดประมาณ 3 x 7 มิลลิเมตร รูปรี แบน สีน้ำตาลเข้มหรือดำ ถ้านำมาชั่ง 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดประมาณ 20,00025,000 เมล็ด
  • ดอก สีเหลืองออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ก้านช่อย่อยมักติดสลับเวียนกัน กลุ่มที่อยู่ทางโคนช่อใหญ่จะมีก้านช่อยาวกว่ากลุ่มดอกจะไปรวมกัน ตามบริเวณปลายช่อย่อย แต่ละกลุ่มมีมากกว่า 10 ดอก ดอกจะออกตามปลายกิ่งเป็นกลุ่มตามความยาวกิ่ง ซึ่งบานไม่พร้อมกัน โดยจะบานจากดอกที่อยู่โคนช่อไปสู่ปลายช่อ และออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

keelektons keelekyod keelekdok
คุณค่าทางอาหารของขึ้เหล็ก
ดอกตูมและใบอ่อนของขี้เหล็ก มีรสขม อาจต้องนำมาคั้นน้ำทิ้งก่อน จึงจะนำมาปรุงอาหาร นิยมใช้ทำแกงกะทิ หรือทานเป็นผักจิ้ม ช่วยระบายท้องได้ดี ทั้งดอกตูมและใบอ่อนมีสารอาหาร เช่น วิตามินเอ วิตามินซี ค่อนข้างสูง ซึ่งในส่วนของดอกจะมากกว่าใบ ส่วนใบขี้เหล็กบ่มรวมกับผลไม้ ช่วยให้ผลไม้สุกเร็ว

ในตำราการแพทย์แผนไทยได้มีการบันทึกประโยชน์ของขี้เหล็กในหลายด้าน เช่น ใช้แก้อาการท้องผูก ใช้แก้อาการนอนไม่หลับใช้ทำความสะอาดเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื่นเป็นเงางาม ไม่มีรังแค ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี และบำรุงโลหิต เป็นต้น

ส่วนที่ใช้เป็นยาของขี้เหล็ก คือ ทั้ง ราก ต้น ใบ ดอก ผล สรรพคุณทางยาไทย ดอกตูมและใบอ่อน รสขม ช่วยระบายท้อง ทำให้นอนหลับ ช่วยเจริญอาหาร

keelekcho

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

  • ใบ รสขม ถ่ายพรรดึก ถ่ายกระษัย ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ระดูขาว แก้นิ่ว ตำพอกแก้เหน็บชา แก้บวม บำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต ดองสุราดื่มก่อนนอน แก้นอนไม่หลับ ใบอ่อน, ดอกตูมและแก่น -มีสารกลุ่มแอนทราควิโนนหลายชนิดจึงมีฤทธ์ เป็นยาระบาย ใช้ใบอ่อนครั้งละ 2-3 กำมือ ต้มกับน้ำ 1-1.5 ถ้วย เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว นอกจากนี้ยังพบสารซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนหลับ โดยใช้วิธีนำมาดองเหล้า ดื่มก่อนนอน
  • ดอก รสขม แก้โรคประสาท แก้นอนไม่หลับ แก้หืด แก้รังแค เป็นยาระบาย
  • ฝัก รสขม แก้ไข้พิษเพื่อปิตตะ ไข้เพื่อเสมหะ
  • เปลือกฝัก รสขมเฝื่อน แก้เส้นเอ็นตึง แก้กระษัย
  • เปลือกต้น รสขม แก้กระษัย แก้ริดสีดวงทวาร
  • กระพี้ รสขมเฝื่อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้กระษัยเส้นเอ็น
  • แก่น รสขมเฝื่อน ถ่ายพิษถ่ายเส้น ถ่ายม้าม แก้กระษัย แก้เหน็บชา แก้ไข้เพื่อกระษัย ขับโลหิต แก้เตโชธาตุพิการ ทำให้ตัวเย็น แก้แสบตา แก้กามโรค หนองใส
  • ราก รสขม แก้ไข้ แก้ไข้กลับ ไข้ช้ำ รักษาแผลกามโรค

ประโยชน์ทางยาของขี้เหล็ก มีสารชื่อว่า บาราคอล(BaraKol) อยู่ในใบอ่อนและดอกตูม และยังพบว่าสารอัลคาลอยด์(alkaloid) ในใบขี้เหล็ก มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ช่วยให้นอนหลับได้

keelekking

ขี้เหล็กเป็นยารักษาโรค ดังนี้

  • อาการท้องผูก ใช้แก่นขี้เหล็กราว 1 กอบ(ประมาณ 50 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารหรือก่อนนอน
  • อาการนอนไม่หลับ กังวล เบื่ออาหาร ให้ใช้ใบแห้งหนัก 30 กรัม หรือใช้ใบสดหนัก 50 กรัม ต้มเอาน้ำรับประทานก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนทำเป็นยาดองเหล้า ใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่ไว้ 7 วัน คนทุกวันให้น้ำยาสม่ำเสมอ กรองกากยาออก จะได้น้ำยาดองเหล้าขี้เหล็ก ทานครั้งละ 1-2 ช้อนชาก่อนนอน (และอย่ากินเยอะเดี๋ยวเมา)

SONY DSC

ประโยชน์

  • การใช้ประโยชน์ทางด้านเนื้อไม้ แปรรูปใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น เสา รอด ตง เครื่องเรือนอย่างดี, เป็นฟืนให้ความร้อน 4,441 แคลอรี่/กรัม ถ้าเป็นถ่านให้ความร้อนสูง 6,713 – 7,036 แคลอรี่/กรัม
  • การใช้ประโยชน์ทางด้านนิเวศน์ ปลูกเป็นพรรณไม้ปรับปรุงดินเนื่องจากใบมีธาตุไนโตรเจนสูง ช่วยปกคลุมดินและความชื้นได้ดี เป็นพรรณไม้ที่นิยมปลูกเป็นป่าอนุรักษ์ในที่ที่มีความชื้นปานกลาง – สูง
  • การใช้ประโยชน์ทางด้านโภชนาการ ดอกและดอกอ่อนใช้รับประทานได้ ใช้ทำแกงขี้เหล็กได้
  • การใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร
    • ดอก รักษาโรคเส้นประสาท นอนไม่หลับ ทำให้หลับสบาย รักษาโรคหืด รักษาโรคโลหิตพิการ ผายธาตุ รักษารังแค ขับพยาธิ
    • ราก รักษาไข้ รักษาโรคเหน็บชา ทาแก้เส้นอัมพฤกษ์ให้หย่อน แก้ฟกช้ำ แก้ไข้บำรุงธาตุ ไข้ผิดสำแดง
    • ลำต้นและกิ่ง เป็นยาระบาย รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคกระษัย แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ขับระดูขาว
    • ทั้งต้น แก้กระษัย ดับพิษไข้ แก้พิษเสมหะ รักษาโรคหนองใน รักษาอาการตัวเหลือง เป็นยาระบาย บำรุงน้ำดี ทำให้เส้นเอ็นหย่อน
    • เปลือกต้น รักษาโรคริดสีดวงทวาร โรคหิด แก้กระษัยใช้เป็นยาระบาย
    • กระพี้ รสขมเฝื่อน แก้ร้อนกระสับกระส่าย บำรุงโลหิต คุมกำเนิด
    • ใบ รักษาโรคบิด รักษาโรคเบาหวาน แก้ร้อนใน รักษาฝีมะม่วง รักษาโรคเหน็บชา ลดความดันโลหิตสูง ขับพยาธิ เป็นยาระบาย รักษาอาการ นอนไม่หลับ
    • ฝัก แก้พิษไข้เพื่อน้ำดี พิษไข้เพื่อเสมหะ แก้ลมขึ้นเบื้องสูง เบื้องบน โลหิตขึ้นเบื้องบน ทำให้ระส่ำระสายในท้อง
    • เปลือกฝัก แก้เส้นเอ็นพิการ
    • ใบแก่ ใช้ทำปุ๋ยหมัก

keelekbai

ข้อเสนอแนะและข้อควรระวัง

  1. เมื่อนำขี้เหล็กนี้มาสมุนไพร ซึ่งใช้ในการรักษาอาการท้องผูกนั้น ห้ามใช้เป็นประจำหรือบ่อยเกินไป โดยเฉพาะเพื่อจุดประสงค์ต้องการให้รูปร่างระหง แล้วควรรับประทานยาสมุนไพรในเวลาก่อนนอน
  2. ขนาดของการใช้อาจเพิ่มหรือลดลงได้เล็กน้อย ขึ้นอยู่กับ อายุ อย่างเด็กหรือผู้ที่มีธาตุเบา ควรใช้สมุนไพรขนาดลดลง ส่วนผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวหรอืผู้ที่มีธาตุหนัก ควรเพิ่มสมุนไพรเล็กน้อย
  3. นอกจากนี้ ห้ามใช้ในบุคคลที่กำลังตั้งครรภ์แก่และผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

keelekkla

ขี้เหล็กเป็นผักพื้นบ้านและเป็นอาหารพื้นเมืองของไทย ที่ปลูกได้ง่ายและสามารถเติบโตได้เองตามธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจ ใส่มากนัก จึงเป็นยาสมุนไพรที่ปลอดสารพิษมากคุณค่าทางสารอาหารและยา เราจึงควรหันมาส่งเสริมการบริโภคให้แพร่หลายมากขึ้น

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ยืนต้น

แสดงความคิดเห็น