ข้าวล้มตอ การทำนาสูตรประหยัด

16 กุมภาพันธ์ 2558 นา 0

มันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครใส่ใจหรือคาดคิดมาก่อนว่า ตอข้าวซึ่งเคยต้องเผาทิ้งหลังการเก็บเกี่ยวนั้น จะสามารถงอกงามเป็นต้นข้าวได้ใหม่ และให้ผลผลิต ได้เท่าครั้งแรก โดยแทบจะไม่ต้องลงทุน

เพราะนิสัยช่างสังเกต ทำให้ละเมียด ครุฑเงิน ชาวอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ค้นพบวิธีทำนา แบบที่เขาเรียกเอาเองว่า “นาข้าวตอ” โดยบังเอิญ และลงมือทดลองปลูกในปีถัดไป แล้วเผยแพร่ ไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันชาวนา ในแถบภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดปทุมธานีต่างทำนาข้าวตอกันทั้งนั้น

การทำนาข้าวตอ หรือที่นักวิชาการเกษตรเรียกอย่างเป็นทางการภายหลังว่า “ข้าวล้มตอ” คือ การทำนาข้าวด้วยตอซังข้าวเดิมแทนการหว่านด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยย่ำตอข้าวเดิมให้ล้มหลังการเกี่ยวข้าว ตามฤดูกาลเสร็จเรียบร้อย ภายในเวลา ๑๐-๑๕ วัน ต้นข้าวรุ่นที่ ๒ จะแตกหน่อขึ้นมาจากกอข้าวเดิม ต้นข้าวที่งอกขึ้นมาใหม่จะเติบโตและให้ผลผลิตเช่นเดียวกับข้าวนาหว่านน้ำตมในครั้งแรก หลังจาก เก็บเกี่ยวข้าวรุ่นที่ ๒ แล้ว (ผลผลิตของนาข้าวตอ) ก็ย่ำตอข้าวอีกรอบหนึ่ง ต้นข้าวจะเติบโต และให้ผลผลิต เป็นรุ่นที่ ๓ โดยไม่ต้องไถพรวนดิน และหว่านกล้า เหมือนการทำนาหว่าน น้ำตม ตามปรกติ เพียงแต่ เกลี่ยฟางข้าว ให้สม่ำเสมอ ย่ำให้ตอข้าวล้ม หลังจากนั้น ๑๐-๑๕ วัน ก็วิดน้ำเข้านา และคอยดูแล เรื่องน้ำไม่ให้ขาด

kawlomtorkon

“ช่วยลดต้นทุนได้เยอะเลยครับ จากเดิมเราหว่านข้าวครั้งหนึ่ง หลังเก็บเกี่ยวเสร็จ ต้องเผา เพื่อกำจัด ตอข้าวเดิม ไม่อย่างนั้นปีต่อไปจะไถพรวนดินไม่ได้ เผาเสร็จก็พักดินไว้ปลูกปีหน้า แต่เราไม่เผา แค่ย่ำให้ตอข้าวล้ม ก็จะได้ผลผลิต อีกสองรุ่น เท่ากับเราลงทุนครั้งเดียว แต่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้สามครั้ง โดยแทบไม่ต้อง ลงทุนอะไรเพิ่มเติมเลย นอกจากค่าน้ำมันไร่ละ ๕-๗ ลิตรเท่านั้น” ละเมียดกล่าว และเล่าว่า แต่เดิม เขาทำนาแบบนาดำ จนถึงปี ๒๕๒๓ จึงเริ่มเปลี่ยนมาเป็นนาหว่านน้ำตม ซึ่งเป็นวิธี ปลูกข้าว ในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวดำ โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว ๒-๓ วัน เมื่อเมล็ดข้าวงอกแล้ว จึงหว่านลงไป ในนาข้าว ที่ทำเทือกไว้ (เตรียมดินด้วยการไถพรวนดิน) จากนั้นก็คอยดูแลเรื่องน้ำ จนกระทั่ง ข้าวแก่พร้อม เก็บเกี่ยว ซึ่งใช้เวลา ๔ เดือน หลังการเก็บเกี่ยวแล้วต้องเผาฟางข้าวเพื่อกำจัดตอข้าว การทำนาหว่าน น้ำตมแบบนี้ ทำได้เพียงปีละครั้ง เท่านั้น

ละเมียดค้นพบวิธีการทำนาข้าวล้มตอช่วงปี ๒๕๓๙ หลังจากเกี่ยวข้าวในนาหว่านน้ำตมแล้ว ขณะรอเผา ซังข้าว ตามปรกติ เขาสังเกตเห็นต้นข้าว งอกขึ้นมา ตามรอยทาง ที่ล้อรถเกี่ยวข้าว ย่ำผ่าน จึงเกิดความคิดว่า น่าจะหาวิธีปลูกข้าว ในลักษณะเดียวกับ ต้นข้าวที่ขึ้นตาม รอยล้อรถแบบนี้ เขารู้ว่า ถ้าฟางข้าว ปกคลุมดิน หนาเกินไป หน่อข้าวจะไม่สามารถ แทงยอดทะลุขึ้นมาได้ ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้น จากเกลี่ยฟางข้าวให้ทั่ว แล้ว ใช้รถวิ่งทับตอข้าว ในแปลงจนล้มราบคาบ ไม่กี่วัน หลังจากนั้น ต้นข้าวก็แตกออกมา จากโคนกอข้าว ที่อยู่ระดับผิวดิน พร้อมเพรียงกัน ทั้งผืนนา

“ไม่น่าเชื่อว่ามันจะงอกขึ้นใหม่ทั้งแปลง และสม่ำเสมอ เหมือนเราหว่านนาน้ำตม ตามปรกติ”

หลังย่ำตอข้าวประมาณ ๑๐-๑๕ วัน ต้นข้าวจะแตกหน่อและเติบโต มีใบ ๓ ใบ ซึ่งชาวนาทั่วไป ทราบดีว่า เป็นช่วงที่ต้นข้าวต้องการน้ำ เขาจึงต้องสูบน้ำเข้าแปลง เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ของหน่อข้าว และ การแตกราก ของต้นข้าว ที่แตกหน่อ มาจากตอข้าวเดิม จะเร็วกว่าข้าว ที่งอกจากเมล็ด ๑๐ วัน ดังนั้น การทำนาข้าวตอ จึงใช้เวลาตั้งแต่วันที่ข้าวงอก จนกระทั่งแก่จัด น้อยกว่าข้าวที่งอก จากการหว่าน นาน้ำตม ๑๐ วัน

kawlomtortor

หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้จากการทำนาข้าวตอรุ่นแรกแล้ว ยังสามารถทำข้าวล้มตอ ได้อีกหนึ่งรอบ ในแปลงเดิม ด้วยวิธีการเดียวกัน นาข้าวล้มตอแต่ละรุ่นให้ผลผลิตไร่ละ ๑ เกวียน เช่นเดียวกับ ผลผลิตจาก ข้าวนาหว่านน้ำตม เท่ากับว่าในหนึ่งปีสามารถเก็บผลผลิตได้ ๓ ครั้งโดยลงทุนเพียงครั้งเดียว

หลังจากปี ๒๕๓๙ ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ เพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน ต่างลองทำนาข้าวล้มตอ แบบเดียวกัน ด้วยวิธีง่ายๆ คือใช้ล้อยางเก่าๆ ๕-๖ เส้น มาผูกกันเป็นแพ พ่วงเข้ากับรถเกี่ยวข้าว แล้วขับรถ ทับตอข้าว ประมาณ ๓ รอบจนตอข้าวล้ม เพียงไม่กี่วัน ต้นข้าวจะแตกหน่อ อย่างพร้อมเพรียงกัน ราว ๑๐-๑๕ วันหลังจากย่ำตอ ก็วิดน้ำเข้านาข้าว ละเมียดบอกว่า สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องน้ำ หลายคน ที่ลอง ทำนาข้าวตอไม่สำเร็จ เพราะไม่สามารถควบคุมน้ำได้

kawlomtorplang

“หลังย่ำตอข้าวแล้ว ระวังอย่าให้น้ำขังจนกว่าข้าวจะงอก ประมาณ ๑๐-๑๕ วัน หลังจากข้าวงอก และวิดน้ำ เข้านาแล้ว ต้องอย่าให้น้ำขาด ถ้าดินแห้งเกิน ๑๐ วัน ข้าวเปลือก ที่ตกอยู่บนพื้นดิน จะงอกขึ้นมา แทรกกับต้นข้าว ที่งอกจากตอ ทำให้มีข้าวสองรุ่นอยู่ในแปลงเดียวกัน ข้าวสองรุ่น อายุไม่เท่ากัน ก็จะแก่ ไม่เท่ากัน ทำให้เก็บเกี่ยวลำบาก”

การปลูกข้าวโดยใช้ตอซังเดิมเกิดผลดีต่อดินคือ ฟางข้าวที่นวดแล้ว จะเน่าเปื่อยผุพัง เป็นปุ๋ยธรรมชาติ ทำให้ดินร่วนซุยดีขึ้น และช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ครึ่งต่อครึ่ง จากเดิมที่ใช้ปุ๋ยไร่ละ ๕๐ กิโลกรัม (๑ กระสอบ) เหลือเพียง ๒๕ กิโลกรัม ส่งผลให้ลด ต้นทุนการทำนาจากเดิมไร่ละ ๒,๒๐๐ บาท เหลือไร่ละ ๑,๖๐๐ บาทเท่านั้น

kawlomtortai

“ผมไม่รับปากว่าจะเลิกใช้ปุ๋ยเคมีได้ทั้งหมด แต่ก็พยายามอยู่ ปีนี้จะเริ่มทดลองใช้ปุ๋ยชีวภาพ ที่เกษตรอำเภอ มาแนะนำให้ เพราะถ้ายิ่งลดการใช้สารเคมี ได้มากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อพวกผม และผู้บริโภคข้าวเท่านั้น”

นอกจากจะได้ผลผลิตเพิ่มจากเดิมสองเท่าตัวด้วยการลงทุนเพียงไม่กี่บาทแล้ว ข้อดีอีกประการ ของการ ทำนาข้าวล้มตอ คือได้ต้นข้าวที่แข็งแรง และทนทาน ต่อการรบกวนของศัตรูพืช อย่างหอยเชอรี่ และ เพลี้ยไฟ มากกว่าข้าวหว่าน นาน้ำตม ละเมียดอธิบายเรื่องนี้ว่า

“คงเป็นเพราะหอยเชอรี่ชอบกินต้นข้าวอ่อนๆ เวลาเราหว่านนาน้ำตม หอยเชอรี่จะเข้ามาในนาได้ ตั้งแต่ เราหว่าน พอข้าวเริ่มงอกเป็นต้นอ่อน บางทีโดนกินจนเหี้ยนไปหมด แต่การทำนาแบบข้าวล้มตอในรุ่นที่ ๒ กว่าเราจะวิดน้ำเข้านา ข้าวมันก็โตเกินกว่าที่หอยพวกนี้จะกัดกินแล้ว ส่วนเพลี้ยไฟ ผมก็ยังไม่รู้ว่า ทำไมถึงไม่รบกวน”

ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา วิธีการทำนาแบบข้าวล้มตอ เผยแพร่ และได้รับการยอมรับ จากคนทั่วไป อย่างรวดเร็ว ทั้งชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตร มาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปเผยแพร่ ไม่เว้นแต่ละวัน ปัจจุบันพื้นที่ ภาคกลาง เกือบทั้งหมดล้วนทำนาข้าวล้มตอแบบเดียวกับละเมียด ครุฑเงิน โดยเฉพาะ จังหวัดปทุมธานี เรียกว่า ทั้งจังหวัดเลย ก็ว่าได้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตร จากประเทศเวียดนาม ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และจีน ซึ่งทราบวิธีทำนาข้าวล้มตอ จากเว็บไซต์ที่เกษตรอำเภอลาดหลุมแก้ว จัดทำขึ้น ต่างให้ความสนใจ และเข้ามาศึกษาดูงาน เมื่อไม่นานมานี้

kawlomtordok

“มันไม่มีความเสี่ยงอะไรเลยครับ นาข้าวล้มตอ ลงทุนแค่ ๗๐ บาท เป็นค่าน้ำมัน ๕-๗ ลิตร ตอนย่ำข้าวให้ล้ม แล้วก็ขยันดูแลน้ำไม่ให้ขาดเท่านั้นเอง ชาวบ้านแถวนี้ทำกันทั้งนั้น” สมศักดิ์ เขียวแก่ชาวอำเภอ ลาดหลุมแก้ว ซึ่งเริ่มทำนาข้าวล้มตอในปี ๒๕๔๑ กล่าว

การค้นพบวิธีทำนาแบบข้าวล้มตอยังประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรและทรัพยากรดิน การได้ รับพระราชทาน ปริญญา วิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในปี ๒๕๔๕ (ก่อนหน้านั้นเขาได้รับเกียรติบัตรสมาคมนักประดิษฐ์, โล่เชิดชูภูมิปัญญาเกษตร ฯลฯ) อาจเป็น ความภูมิใจหนึ่ง ของชาวนา ที่จบป.๔ ซึ่งออกตัวอยู่เสมอว่าตัวเอง “ความรู้น้อย อ่านหนังสือ ไม่แตก” อย่างละเมียด ครุฑเงิน แต่สิ่งที่ทำให้เขาภูมิใจยิ่งกว่าคือ การที่เขามีส่วนทำให้พี่น้อง เกษตรกรส่วนใหญ่ มีรายได้เพิ่มขึ้น

“ชาวนาส่วนใหญ่เป็นหนี้ ธ.ก.ส.พอมาทำนาข้าวล้มตอก็พอจะใช้หนี้ได้ หลายคนที่ไม่คิดว่า จะปลดหนี้ได้ ก็ทำได้จริงๆ คนที่มาดูบางคนก็พูดว่า น่าแปลกที่เราทำนามา ตั้งแต่สมัยโบราณ แต่กลับไม่มีใคร คาดคิด ถึงเรื่องง่ายๆ อย่างนี้” ละเมียดกล่าว

การปลูกข้าวแบบล้มตอซัง
” การปลูกข้าวแบบล้มตอซัง” เป็น เทคโนโลยีชาวบ้านซึ่งเกิดจาก ภูมิปัญญาท้องถิ่น (local wisdom หรือ indigenous knowledge) เกษตรกรเป็นผู้ค้นพบโดยบังเอิญ มีเทคนิคและ วิธีการปฏิบัติ โดยไม่ต้องเตรียมดิน และไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ปลูก ซึ่งมีเทคนิคในการปฏิบัติ โดยเกลี่ยฟางข้าวให้กระจายทั่วแปลงและย่ำตอซังให้ราบติดพื้นนา ในขณะที่ดินต้องมีความชื้นหมาด ๆ การปลูกข้าวด้วยวิธีนี้เกษตรกรบางพื้นที่เรียกว่า การปลูกข้าวด้วยตอซัง และนักวิชากาด้านรข้าว เรียกว่า การปลูกข้าวข่มตอ (lodge ratoon rice)

เทคนิคของวิธีการปลูกข้าวล้มตอซัง ให้ได้ผลผลิตข้าวดีๆ เป็นจำนวนมาก ทำไม่ยาก ครับ เกษตรกรผู้ทำนา ปลูกข้าว หลายคนคงได้ข่าวคราวการทำนาแบบไม่ต้องลงทุน เมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยการทำนาข้าวแบบล้มตอซังมาหลายที่ การทำนาวิธีนี้ทำได้จริงๆ และลดต้นทุนการทำนาข้าวแบบหว่านน้ำตรม ไปได้มากทีเดียว บางคนทดลองแล้วไม่ได้ผล คราวนี้ คนทำนาปลูกข้าวอย่างผมจะแนะเคล็ดลับในการทำนาข้าวแบบล้มตอซัง ให้ดู
ข้าวล้มตอ คือ การทำนาข้าวด้วยตอซังข้าวเดิมแทนการหว่านด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยย่ำตอข้าวเดิมให้ล้มหลังการเกี่ยวข้าว ตามฤดูกาลเสร็จเรียบร้อย ภายในเวลา 10-15 วัน ต้นข้าวรุ่นที่ 2 จะแตกหน่อขึ้นมาจากกอข้าวเดิม

ต้นข้าวที่งอกขึ้นมาใหม่จะเติบโตและให้ผลผลิตเช่นเดียวกับข้าวนาหว่านน้ำตม ในครั้งแรก หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วโดยไม่ต้องไถพรวนดินและหว่านกล้า เหมือนการทำนาหว่านน้ำตม ตามปกติ เพียงแต่เกลี่ยฟางข้าวให้สม่ำเสมอ ย่ำให้ตอข้าวล้ม หลังจากนั้น 10-15 วัน ก็วิดน้ำเข้านาและคอยดูแลน้ำไม่ให้ขาดหลังย่ำตอข้าวแล้ว อย่าให้น้ำขังจนกว่าข้าวจะงอก หลังจากข้าวงอก วิดน้ำเข้านาอย่าให้ดินแห้งเกิน 10 วัน ไม่เช่นนั้นข้าวเปลือกที่ตกอยู่บนพื้นดินในนาจะงอกขึ้นมาแทรกกับต้นข้าวที่ งอกจากตอ ทำให้มีข้าวสองรุ่นอยู่ในแปลงเดียวกัน ข้าวสองรุ่นอายุไม่เท่ากันก็จะแก่ไม่เท่ากันทำให้เก็บเกี่ยวลำบาก

kawlomtorna

การปลูกข้าวโดยใช้ตอซังเดิมเกิดผลดีต่อดินคือ ฟางข้าวที่นวดแล้วจะเน่าเปื่อยผุพังเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ทำให้ดินร่วนซุยดีขึ้น และช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ครึ่งต่อครึ่ง ข้อดีอีกประการของการทำนาข้าวล้มตอ คือได้ต้นข้าวที่แข็งแรง และทนทานต่อการรบกวนของศัตรูพืชอย่างหอยเชอรี่และเพลี้ยไฟมากกว่าข้าวหว่านนาน้ำตม ข้อควรคำนึงในการปลูกข้าวล้มตอซัง คือแปลงนาต้องสม่ำเสมอ พื้นที่ที่เป็นท้องกระทะ แบบตรงกลางลึก ข้าง ๆ เป็นที่ดอน ไม่ควรทำการปลูกข้าวล้มตอซังเพราะจะทำให้มีน้ำขังและจะทำให้ตอซังเน่า ต้นข้าวที่ปลูกครั้งแรกด้วยเมล็ดต้องแข็งแรงปราศจากโรคแมลง

เก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง โดยระบายน้ำออกจากแปลงนา ให้ดินมีความชื้นเหมาะสมประมาณ 50% ทดสอบได้ด้วยการหยิบดินในแปลงนาปั้นเป็นลูกกระสุนได้แสดงว่าความชื่นเหมาะสม

kawlomtortad

การปลูกข้าวตอซัง จะเริ่มตั้งแต่หลังการเก็บเกี่ยว ให้กระจายฟางคลุม ตอซังทั่วแปลงนา ใช้ลูกยางย่ำตอซัง ประมาณ 4 เที่ยว ย่ำให้ราบติดกับพื้นดิน ฟางที่คลุมให้ราบเรียบ อย่าให้ตอซังกระดกขึ้น จากนั้นประมาณ 3-4 วัน ข้าวจะเริ่มแทงหน่อเล็กจากข้อที่ 2-3 หรือปลายตอซังออกมา

หลังย่ำตอซังเกษตรกรต้องตรวจสอบว่าฟางที่คลุมจุดใดหนาให้เอาออก คลุมบาง ๆ ปล่อยทิ้งไว้รอจนกว่าหน่อข้าวงอกขึ้นมามี 2-3 ใบ ซึ่งอายุข้าวจะประมาณ 10 วัน นับจากวันย่ำฟาง สังเกตว่าการเจริญเติบโตจะแตกต่างกันกับข้าวหว่านน้ำตม โดยต้นจะใหญ่กว่า รากจะหนาแน่นกว่า หาอาหารได้ดีกว่า ข้าวล้มตอซังที่สมบูรณ์จะแตกหน่อ 3-4 หน่อ ต่อ 1 ต้นซัง

kawlomtorkaw

สูบน้ำเข้าแปลงนาและใส่น้ำหมักชีวภาพ ในอัตรา 200 ลิตร ต่อพื้นที่ 15 ไร่ พอแฉะ แต่อย่าให้น้ำมากจะทำให้ฟางที่คลุมลอย หลังระบายน้ำเข้า 1 วัน ใส่ปุ๋ยสูตรเร่งการเจริญเติบโต และเร่งขบวนการย่อยสลายของตอซังและฟาง จากนั้นรักษาน้ำในนาไม่ให้รั่ว เพื่อไม่ให้ปุ๋ยที่ใส่สูญหายจากนั้นก็คอยดูแลการเจริญเติบโตของต้นข้าวและรอ วันเก็บเกี่ยว

การปลูกข้าวแบบล้มตอซังจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการเพาะปลูกได้มาก ขณะที่ผลผลิตที่ออกมาไม่ต่างจากการปลูกในครั้งแรก

kawlomtor

การปลูกข้าวแบบล้มตอซัง มีเงื่อนไขและข้อจำกัด ดังนี้

  1. พันธุ์ข้าวที่ปลูกต้องเป็นพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน ทั้งนี้เพราะถ้าหากเป็นข้าวที่มีอายุสั้นเกินไป จะทำให้ต้นตออ่อนบาง ไม่แข็งแรง ไม่เหมาะจะล้มตอซัง
  2. อยู่ในเขตที่มีน้ำชลประทานสมบูรณ์ สามารถดูแลจัดการหรือควบคุมน้ำในแปลงนาในระดับที่ต้องการได้เป็นอย่างดี
  3. พื้นที่นาต้องราบเรียบสม่ำเสมอพอสมควรเมื่อปล่อยน้ำหรือระบายน้ำออกจะทำให้ท่วมหรือแห้งสม่ำเสมอ ป้องกันการเกิดปัญหาตอซังในที่ต่ำจมน้ำและเน่าเสียหาย ทำให้หน่อข้าวไม่งอก
  4. เก็บเกี่ยวข้าวด้วยรถเกี่ยวข้าวในระยะ ” พลับพลึง ” ซึ่งต้นข้าวจะยังสดไม่แห้งเกินไปเวลาใช้ทำเป็น ” ต้นพันธุ์(clone) ” หน่อข้าวจะแตกเป็นต้นข้าวใหม่ที่แข็งแรงและเจริญเติบโตดี
  5. เกลี่ยฟางคลุมตอซังให้สม่ำเสมอทั้งแปลง
  6. ตอซังที่ใช้ปลูกข้าวแบบล้มตอซังต้องไม่มีโรคและแมลงรบกวน ถ้ามีโรคและแมลงรบกวนต้องไถทิ้ง เตรียมดินและปลูกแบบหว่านน้ำตมใหม่
  7. การปลูกแบบล้มตอซังไม่ต้องหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวเสริม เพราะข้าวจะมีอายุเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน 2 รุ่น คือ อายุ 90 วัน และ 120 วัน ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วมีข้าวเขียวเจือปน ทำให้ขายได้ราคาต่ำ

ที่มา
คอลัมน์ “โลกใบใหญ่” นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๒๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด นา

แสดงความคิดเห็น