ข้าวโพดข้าวเหนียว หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า ข้าวโพดเทียน ข้าวโพดสาลี เป็นต้น ถือเป็นข้าวโพดที่ได้รับความนิยมรับประทาน และปลูกกันมากในพื้นที่ที่มีระบบน้ำพอเพียงหรือปลูกบนแปลงนาหลังการเก็บ เกี่ยวข้าวเพื่อเป็นรายได้เสริม เนื่องด้วยมีรสหวาน เหนียว ปลูก และดูแลง่าย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ราคาสูง โดยพบปลูกมากในภาคอีสาน กลาง และเหนือ
ข้าวโพดข้าวเหนียวจัดเป็นข้าวโพดรับประทานฝักสดที่ได้รับความนิยมบริโภคมากชนิดหนึ่งมีความอ่อนนุ่ม ไม่ติดฟันรสหวานเล็กน้อย ขนาดฝักพอเหมาะ อายุเก็บเกี่ยวสั้น (55-70 วัน) ปลูกได้ตลอดทั้งปี ในพื้นที่ไร่และในเขตชลประทานเหมาะสมสำหรับเป็นพืชเสริมรายได้ พื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศประมาณ 80,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,300-1,700 กิโลกรัม/ไร่ ใช้บริโภคในท้องถิ่นทั้งหมด ปัญหา ขาดแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และพันธุ์ของทางราชการที่ผลิตไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการของเกษตรกร
แหล่งปลูก
- สภาพพื้นที่
1.1 ปลูกได้ทุกภาคของประเทศ ที่ใกล้แหล่งน้ำสะอาด
1.2 พื้นที่ราบและสม่ำเสมอ มีความลาดเอียงไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์
1.3 ไม่มีน้ำท่วมขัง
1.4 ห่างไกลจากแหล่งมลพิษ
1.5 การคมนาคมสะดวก สามารถนำผลผลิตออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว
- ลักษณะดิน
2.1 ดินร่วน ดินร่วนเหนียวปนทราย หรือดินร่วนปนทราย
2.2 ความอุดมสมบูรณ์สูง มีอินทรียวัตถุสูงกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มากกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ไม่น้อยกว่า 40 ส่วนในล้านส่วน
2.3 การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี
2.4 ระดับหน้าดินลึก 25-30 เซนติเมตร
2.5 ค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 5.5-6.8
- สภาพภูมิอากาศ
3.1 อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 24-35 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส อาจจะมีปัญหาในการผสมเกสร ทำให้การติดเมล็ดไม่ดีเท่าที่ควร
3.2 ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ 1,000-1,200 มิลลิเมตรต่อปี
3.3 มีแสงแดดจัด
- แหล่งน้ำ
4.1 มีน้ำเพียงพอสำหรับใช้เมื่อจำเป็น
4.2 ต้องเป็นน้ำสะอาดปราศจากสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่มีพิษปนเปื้อน
- วางแผนการผลิต
5.1 ข้าวโพดข้าวเหนียวเป็นพืชบริโภคสด สามารถปลูกได้ตลอดปี จำเป็นต้องวางแผนการผลิต เพื่อรักษาคุณภาพ โดยผลิตให้พอกับความต้องการของตลาด
พันธุ์
สำหรับพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวที่ได้มีการปรับปรุงพันธุ์ทั้งโดยหน่วยราชการและบริษัทเอกชนและได้ปล่อยพันธุ์ให้เกษตรกรใช้แล้วมีดังนี้ คือ
- พันธุ์รัชตะ เป็นพันธุ์ผสมเปิด ที่ปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีย์จันทรสถิตย์ เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- พันธุ์สำลีอิสาน เป็นข้าวโพดข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ที่ปล่อยพันธุ์ในปี 2542 เป็นพันธุ์แรกที่ปรับปรุงโดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้มาจากการผสมข้ามชนิดระหว่างข้าวโพดข้าวเหนียวและข้าวโพดซูเปอร์สวิท ที่มียีนด้อยควบคุมแตกต่างกันคือเป็น wxsx (waxy gene) ในข้าวโพดข้าวเหนียวและ sh2 sh2 (shrunken-2 gene) ในข้าวโพดหวานตามลำดับ แล้วรวมยีนทั้งคู่ให้มาแสดงออกในฝักเดียวกัน ทำให้ได้พันธุ์ที่มีลักษณะพิเศษคือ มีรสชาติเหนียวปนหวานในฝักเดียวกัน โดยเมล็ดส่วนใหญ่ประมาณ 3 ส่วน เป็นเมล็ดข้าวโพดข้าวเหนียว จึงมีรสเหนียวนุ่มและเมล็ดอีกหนึ่งส่วนเป็นเมล็ดของข้าวโพดหวานทำให้มีรสหวาน
- พันธุ์แวกซ์-22 เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วแรก (F1-hybrid) ที่ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทซินเจนทาซีดส์จำกัด
- พันธุ์บิ๊กไวท์ เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วคราว (F1-hybrid) ที่ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทอีสเวส ซีดส์ จำกัด
- พันธุ์ท๊อปไวท์ เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วแรก (F1-hybrid) ที่ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทเจียไต๋ จำกัด
- พันธุ์ข้าวเหนียวสลับสี เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วแรก (F1-hybrid) พันธุ์ใหม่ล่าสุดที่ปรับปรุงพันธุ์โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะปล่อยพันธุ์อย่างเป็นทางการในปี 2547 นี้ เป็นข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมพันธุ์แรกที่มีเมล็ดสองสีคือสีขาวและสีเหลืองสลับกันอยู่ในฝักเดียวกัน ปรับปรุงมาจากการผสมข้ามชนิดระหว่างข้าวโพดข้าวเหนียวและข้าวโพดซูเปอร์สวิท ที่มียีนต้อยควบคุมแตกต่างกันคือเป็น wxwx (waxy gene) ในข้าวโพดข้าวเหนียวและ sh2 sh2 (shrunken-2 gene) ในข้าวโพดหวานตามลำดับ แล้วรวมยีนทั้งสองคู่ให้มาแสดงออกในฝักเดียวกัน ทำให้ได้พันธุ์ที่มีลักษณะพิเศษคือ มีรสชาติเหนียวปนหวานในฝักเดียวกัน โดยเมล็ดส่วนใหญ่ประมาณ 3 ส่วน เป็นเมล็ดข้าวโพดข้าวเหนียว จึงมีรสเหนียวนุ่มและเมล็ดอีกหนึ่งส่วนเป็นเมล็ดของข้าวโพดหวานทำให้มีรสหวาน
การปลูก
1. ฤดูปลูก
1.1 ปลูกได้ตลอดทั้งปี ถ้าทีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับใช้เมื่อจำเป็น
1.2 ช่วงปลูกที่ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี ควรอยู่ในฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม หรือต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
2. การเตรียมดิน
2.1 ปลูกบนพื้นที่ราบ ไถด้วยผาลสาม 1 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน พรวนด้วยผาลเจ็ด 1 ครั้ง แล้วยกร่องปลูกสูง 25-30 เซนติเมตร ถ้าปลูกแถวเดียว ยกร่องให้มีระยะระหว่างร่อง 75 เซนติเมตร ถ้าปลูกเป็นแถวคู่ ยกร่องให้มีระยะระหว่างร่อง 120 เซนติเมตร
2.2 ปลูกบนร่องสวน เป็นการปลูกบนร่องสวนกว้าง 4-5 เมตร ตามความยาวของพื้นที่ โดยใช้จอบหรือรถไถเดินตามเปิดหน้าดินลึก 15-20 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน ย่อยดินด้วยแรงงาน
2.3 ปรับระดับดินให้สม่ำเสมอ แล้วคราดเก็บเศษซากราก เหง้า หัวและไหล ของวัชพืชข้ามปี ออกจากแปลง
2.4 วิเคราะห์ดินก่อนปลูก
- ) ถ้าดินมีค่าความเป็นกรดด่างต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาว อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบ
- ) ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.5 ก่อนพรวนดิน ให้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้ว อัตรา 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ หว่านพืชบำรุงดิน เช่น ถั่วเขียว อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบในระยะติดฝักหรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตของพืชบำรุงดิน
3. วิธีการปลูก
ก่อนปลูกทุกครั้ง ต้องคลุมเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้าง
3.1 ปลูกบนพื้นที่ราบ
- ) เมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกสูงกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ให้หยอด 1 เมล็ดต่อหลุม ใช้เมล็ดพันธุ์ 1.0-1.5 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเมล็ดพันธุ์มีความงอกต่ำกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ควรหนอดเมล็ด 1-2 เมล็ดต่อหลุม ใช้เมล็ดพันธุ์ 1.5-2.0 กิโลกรัมต่อไร่
- ) อัตราปลูกที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคฝักสดประมาณ 8,500-11,000 ต้นต่อไร่
- ) ถ้าปลูกเป็นแถวเดี่ยว ใช้ระยะระหว่างหลุม 25 เซนติเมตร ถ้าปลูกเป็นแถวคู่ ให้ปลูกข้างสันร่องแบบสลับฟันปลา ใช้ระยะระหว่างหลุม 25-30 เซนติเมตร
- ) เมื่อข้าวโพดข้าวเหนียวมีอายุประมาณ 14 วัน ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น
3.2 ปลูกแบบร่องสวน
- ) ระยะปลูก 50X50 เซนติเมตร ปลูกลึก 3-5 เซนติเมตร หยอดเมล็ดจำนวน 2-3 เมล็ดต่อหลุม แล้วกลบด้วยดิน
- ) เมื่อข้าวโพดข้าวเหนียว อายุประมาณ 14 วัน ถอนแยกให้เหลือ 2 ต้นต่อหลุม จำนวน 6,500-8,500 ต้นต่อไร่
4. การดูแลรักษา
4.1 การให้ปุ๋ย
- ) ถ้าดินมีอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมต่ำกว่า ตามที่ระบุในข้อ 1.2 ให้ใส่ปุ๋ย สำหรับดินร่วน หรือดินเหนียวปนทราย รองก้นร่องพร้อมปลูก
- ) เมื่อข้าวโพดข้าวเหนียวอายุ 20 วัน ให้ปุ๋ยโรยข้างต้นหรือข้างแถว แล้วพรวนกลบ
- ) ในกรณีที่มีการระบายน้ำดี แต่ข้าวโพดข้าวเหนียวมีลักษณะต้นเตี้ยและใบเหลือง ควรใส่ปุ๋ยเมื่อข้าวโพดข้าวเหนียวอายุ 40-45 วัน
4.2 การให้น้ำ
– ให้น้ำบนพื้นที่ราบ สามารถให้น้ำทั้งแบบตามร่อง หรือแบบพ่นฝอย แต่การให้น้ำแบบพ่นฝอยจะประหยัดกว่าการให้น้ำตามร่อง
- ) การให้น้ำแบบพ่นฝอย ควรให้ทุก 7-10 วัน ตลอดฤดูปลูก
- ) การให้น้ำตามร่อง ควรให้น้ำสูงถึงระดับเศษ 3 ส่วน 4 ของร่อง เพื่อให้เมล็ดงอกสม่ำเสมอ หลังจากนั้นให้น้ำทุก 3-5 วัน สำหรับดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย หรือ 7-10 วัน สำหรับดินร่วนเหนียวปนทรายไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในแปลงนานเกิน 24 ชั่วโมง เพราะข้าวโพดข้าวเหนียวจะชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงหรืออาจตาย
– ให้น้ำบนร่องสวน ให้น้ำโดยการตักน้ำสาด หรือใช้เครื่องสูบน้ำวางในเรือขนาดเล็ก สูบน้ำในร่อง
– ควรให้น้ำทันทีหลังปลูกและหลังให้ปุ๋ยทุกครั้ง
– ถ้าใบข้าวโพดข้าวเหนียวเหี่ยวหรือม้วน ในช่วงเช้าหรือเย็น แสดงว่าขาดน้ำ ต้องให้น้ำทันที ควรระวังอย่าให้ขาดน้ำในข่วงผสมเกสรและติดเมล็ด เพราะจะทำให้ผลผลิตลดลงมาก
5. สุขลักษณะและความสะอาด
- 5.1 ควรเก็บวัชพืช โดยเฉพาะที่เป็นโรค เผาทำลายนอกแปลงปลูก อุปกรณ์ ได้แก่ มีด จอบ เครื่องพ่นสารกำจัดศัตรูพืช และภาชนะที่ใช้เก็บผลผลิต
- 5.2 หลังใช้งานแล้วต้องทำความสะอาด หากเกิดการชำรุดควรทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
- 5.3 เก็บสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีไว้ในที่ปลอดภัย และปิดกุญแจโรงเก็บ
6. การเก็บเกี่ยว
6.1 ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
- ) เก็บเกี่ยว 18-20 วัน หลังออกไหม 50 เปอร์เซ็นต์
- ) สังเกตจากสีของไหมจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม
- ) เมื่อใช้มือบีบส่วนปลายฝักจะยุบตัวได้ง่าย
- ) เมื่อฉีกเปลือกข้าวโพดฝักบนสุด เมล็ดจะมีสีเหลืองอ่อน ถ้าใช้เล็บกดที่เมล็ดปลายฝักจะมีน้ำนมไหลออกมา แสดงว่าอีกสองวันจะต้องเก็บเกี่ยว
6.2 วิธีการเก็บเกี่ยว
ใช้มือหักฝักสดให้ถึงบริเวณก้านฝักที่ติดลำต้น
7 วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
7.1 การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
- ) หลังเก็บเกี่ยวให้รีบนำฝักข้าวโพดข้าวเหนียวเข้าในที่ร่ม เพื่อไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง
- ) สถานที่เก็บชั่วคราว ควรมีการถ่ายเทอากาศดี ห่างไกลจากสิ่งปฏิกูล สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และมูลสัตว์ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
- ) ไม่ควรกองสุมฝักข้าวโพดข้าวเหนียวสูงเกินไป ควรมีการถ่ายเทอากาศภายในกองบรรจุเพื่อขนส่ง กระสอบต้องผ่านการล้างทำความสะอาด ปากกระสอบตัดแต่งให้เรียบร้อยก่อนใช้บรรจุข้าวโพดข้าวเหนียว
7.2 การขนส่ง
- ) เตรียมการเรื่องผู้รับซื้อและยานพาหนะในการขนส่งไว้ล่วงหน้าก่อนเก็บเกี่ยว
- ) รถบรรทุกต้องสะอาดและเหมาะสมกับปริมาณข้าวโพดข้าวเหนียว ไม่ควรเป็นรถที่ใช้บรรทุกดิน สัตว์ มูลสัตว์ สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือปุ๋ยเคมี เพราะอาจมีการปนเปื้อน ยกเว้นจะมีการทำความสะอาด ที่เหมาะสมก่อนนำมาบรรทุก
- ) ควรขนส่งฝักข้าวโพดข้าวเหนียวให้ถึงปลายทางภายใน 24 ชั่วโมง หลังการเก็บเกี่ยว และถ้าเป้นไปได้ควรขนส่งในเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อนในเวลากลางคืน