ข้าวโพดหวาน

1 พฤษภาคม 2559 ไม้พุ่มเตี้ย 0

ข้าวโพดหวาน (sweet corn) เป็นข้าวโพดที่นิยมปลูก และนำมารับประทานมากที่สุดในบรรดาข้าวโพดชนิดต่างๆ เนื่องจากให้ความหวานสูง ไขมันต่ำ สามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร ของหวานหรือแปรรูปได้หลากหลายอย่าง รวมถึงการนิยมรับประทานเป็นอาหารโดยตรงด้วยการต้มหรือคั่ว

ข้าวโพดหวาน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สําคัญอายุเก็บเกี่ยวสั้น ทําให้ปลูกได้ถึง 3 รุ่น ตลอดทั้งปี(หรือ 4 รุ่น ในบางแหล่ง และบางพันธุ์) มีทั้งประเภทที่ปลูกเพื่อจําหน่ายฝักสดและปลูกเพื่อส่งโรงงานเพื่อนําไปแปรรูปได้หลายรูปแบบ เช่น ทําน้ำนมข้าวโพดข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องทั้งฝักหรือเฉพาะเมล็ดแปรรูปทําครีมข้าวโพดหวาน และข้าวโพดหวานแช่แข็งเป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ สามารถส่งไปจําหน่ายยังตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และกลุ่มประเทศในแถบยุโรป ซึ่งมีอัตราเติบโตเพิ่มสูงขึ้นทุกปี นอกจากจะส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดหวานในฤดูกาลแล้ว ยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดหวานในนาข้าวช่วงฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้น

ข้าวโพดหวาน เป็นข้าวโพดที่ปลูกมากทั่วโลก ผู้ปลูกรายใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฮังการี และแคนาดา ส่วนเอเชียมีผู้ปลูกรายใหญ่ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย โดยประเทศไทยมีแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ได้แก่ ภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดหนองคาย นครพนม ภาคกลาง เช่น จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ส่วนภาคใต้ เช่น จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล

kawpodwansfag

เกษตรกรมักปลูกข้าวโพดหวานในฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และตุลาคม และปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม การจำหน่ายผลผลิตมีทั้งการจำหน่ายแก่โรงงานเพื่อแปรรูปเป็นข้าวโพดหวานกระป๋อง การส่งออกต่างประเทศ และนำมาบริโภคภายในประเทศ รูปแบบการจำหน่ายในประเทศมักพบนำฝักสดมาขายตามท้องตลาดการเกษตร ตลาดสด และมักพบการขายเป็นข้าวโพดหวานต้มหรือข้าวโพดหวานย่างไฟตามข้างถนนของพื้นที่แปลงปลูก

ประโยชน์ และคุณค่าทางอาหาร
ฉลอง เกิดศรี และไพโรจน์ สุวรรณจินดา (2551) พบว่า ข้าวโพดหวานต้มช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และมะเร็งได้ ข้าวโพดหวานต้มสามารถปลดปล่อยสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญชื่อ กรดเฟอรูลิก (ferulic acid) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กรดเฟอรูลิกยังนิยมใช้สำหรับต้านการแก่ของเซลล์ ป้องกันเซลล์มะเร็ง โรคหัวใจ ไข้หวัด ต้านผลกระทบจากรังสีอัลตราไวโอเลต ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังจากแสงแดด

kawpodwans

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ข้าวโพดหวานเป็นล้มลุกใบเลี้ยงเดี่ยว อายุสั้น จัดอยู่ในตระกูล Gramineae เป็นพืชตระกูลเดียวกับหญ้าที่ผสมข้ามพันธุ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays Line.Var Saccharata.

  • ราก
    ข้าวโพดหวานเป็นพืชไม่มีรากแก้ว มีเพียงระบบรากฝอยที่เจริญจาก 2 ส่วน คือ รากส่วนที่หนึ่ง เจริญมาจากคัพภะ เรียกว่า primary root เป็นรากที่พัฒนาจาก radical มีรากแขนงที่แตกออกจาก primary root เรียกว่า lateral root และระบบรากที่เกิดขึ้นจาก scutellar node เรียกว่า seminal root รากทั้งหมดจะเติบโตในระยะเวลาสั้นในระยะที่ข้าวโพดหวานเป็นต้นกล้า และจะตายเมื่อต้นข้าวโพดเจริญเติบโตมากขึ้น ส่วนที่ 2 เป็นรากที่เจริญจากลำต้น เรียกว่า adventitious root โดยแตกออกจากส่วนข้อช่วงข้อล่างของลำต้น ประมาณข้อที่ 1-2 ซึ่งจะแทงรากลงดิน
  • ลำต้น
    ลำต้นประกอบด้วยข้อ และปล้อง มีลักษณะแก่นเนื้อไม่กลวง บริเวณข้อมีเนื้อเยื่อเจริญที่เป็นจุดกำเนิดของราก (ข้อ 1-2) ตา และกาบใบ มีลักษณะปล้องสั้น ใหญ่ที่โคนต้น และปล้องยาว เล็กตามระยะตามความสูงเพิ่มขึ้น
  • ใบ
    ใบประกอบด้วยกาบใบที่หุ้มลำต้น และแผ่นใบแผ่กาง มีเส้นกลางใบชัดเจน ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวแก่ตามอายุของใบ
  • ช่อดอก
    ช่อดอกตัวผู้ เรียกว่า tassel และช่อดอกตัวเมีย เรียกว่า ear อยู่บนต้นเดียวกัน แต่แยกอยู่คนละดอก โดยช่อดอกตัวผู้จะอยู่ที่ส่วนยอดของลำต้น
    ช่อดอกตัวเมีย เกิดบริเวณตาที่มุมใบบริเวณส่วนบนของข้อ ประมาณข้อที่ 6 นับจากใบธงลงมา ช่อดอกตัวเมียมีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว ที่เรียกว่า ไหม ไหมอ่อนจะมีสีน้ำตาลอ่อนๆ หรือสีเหลืองปน ม่วงอ่อนๆ ผิวเส้นมันค่อนข้างเหนียว เมื่อฝักแก่เส้นนี้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เรียกว่า Corn Silk
  • ฝักข้าวโพด
    ส่วนของฝักจะเป็นส่วนที่พัฒนามาจากช่อดอกตัวเมีย ประกอบด้วยผล และเมล็ด ที่เป็นแบบ caryopsis คือ มีเยื่อหุ้มผลติดกับเยื่อหุ้มเมล็ด ที่มีลักษณะเป็นเยื่อบางใสไม่มีสี เยื่อหุ้มผล และเยื่อหุ้มเมล็ด เรียกรวมกันว่า hull เมล็ดจะเป็นส่วนสะสมแป้งบริเวณส่วนของเอนโดสเปิร์ม การสะสมแป้งจะเต็มที่เมื่อข้าวโพดแก่จัด ซึ่งระยะนี้จะพบแผ่นเยื่อสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำบริเวณโคนเมล็ด

kawpodwandok

ผลผลิตข้าวโพดหวาน
ผลผลิตข้าวโพดหวาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ผลผลิตทางชีวภาพ หมายถึง ผลผลิตโดยรวมของใบ กิ่ง ลำต้น ราก และเมล็ด ซึ่งก็คือ ผลผลิตทางชีวภาพเป็นผลผลิตรวมทุกส่วนของต้นข้าวโพดหวาน
  2. ผลผลิตทางเศรษฐกิจ หมายถึง ผลผลิตของต้นข้าวโพดหวานเฉพาะส่วนที่มนุษย์เก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ เช่น ฝักข้าวโพด ใบข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์ เป็นต้น

สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการปลูก

พื้นที่ปลูก
พื้นที่ปลูก ควรเป็นพื้นที่ราบ มีระดับสม่ำเสมอ และมีความลาดเอียงไม่เกิน 5% ไม่มีน้ำท่วมขัง หากเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง ควรขุดร่องเพื่อระบายน้ำ สำหรับพื้นที่บางส่วนที่เป็นพื้นที่ปลูกพืชหลักในระยะ 1-3 ปีแรก เช่น สวนยางพารา สวนไม้โตเร็ว เป็นต้น สามารถปลูกข้าวโพดแซมได้

ลักษณะดิน
ข้าวโพดหวานชอบดินร่วน ดินร่วนเหนียว ดินร่วนปนทราย ที่ระบายน้ำดีเนื้อดินไม่แน่น ความเป็นกรดด่างประมาณ 5.5 6.5 ควรเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีอินทรียวัตถุ

สภาพภูมิอากาศ
ข้าวโพดหวานชอบแสงแดดจัดตลอดอายุการปลูก อุณหภูมิที่เหมาะสม ประมาณ 24 -35 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000-1,200 มม./ปี ในฤดูฝนช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคมที่มีอากาศเย็นมักทำให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากช่อดอกตัวผู้ไม่กระจายละอองเกสรได้น้อย หากปลูกในช่วงฤดูแล้งจะเป็นการดี เนื่องจากช่อดอกตัวผู้จะกระจายเกสรได้ดีกว่า แต่หากการปลูกในฤดูแล้งจำเป็นต้องมีระบบชลประทาน และนำที่เพียงพอจึงจะให้ผลผลิตดี

แหล่งน้ำ
ข้าวโพดหวานต้องการน้ำที่เพียงพอเพื่อการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำ เช่น บ่อดิน บ่อบาดาล โดยเฉพาะการปลูกในช่วงฤดูแล้งหรือการปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าว แต่พื้นที่ปลูกในช่วงฤดูฝนจะสามารถช่วยให้ข้าวโพดหวานเจริญเติบโตโดยอาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำเพิ่ม

พันธุ์ข้าวโพดหวาน
พันธุ์ข้าวโพดหวานที่ใช้ปลูกควรเป็นข้าวโพดหวานลูกผสม ในตลาดมีหลายพันธุ์ผลิตจากหลายบริษัทให้เลือก ซึ่งสามารถให้ผลผลิตสูง มีขนาดฝักใหญ่เป็นที่ต้องการของตลาด คุณภาพฝักสดดีมาก รสชาติดี กลิ่นหอม นอกจากนี้ยังสามารถปลูกได้ในทุกสภาพแวดล้อมในประเทศไทย เพราะเป็นพันธุ์ที่ปรับปรุงขึ้นโดยใช้เชื้อพันธุกรรมที่มีในประเทศ ทำให้สามารถปรับตัวได้อย่างกว้างขวาง
พันธุ์ที่แนะนํา ได้แก่

  1. พันธุ์ผสมเปิด จะให้ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์ลูกผสม แต่สามารถเก็บเมล็ดไว้ทําพันธุ์ได้เพื่อใช้ปลูกในครั้งต่อไป ได้แก่ พันธุ์ฮาวายเอี้ยนชูการ์, ซูเปอร์สวีท ( ของกรมวิชาการเกษตร ) เป็นต้น
  2. พันธุ์ลูกผสม มีพันธุ์มากมายให้เลือกใช้ให้ผลผลิตสูง แต่ไม่สามารถเก็บเมล็ดทําพันธุ์ได้ต้องซื้อใหม่ทุกครั้งที่จะปลูก ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ของบริษัทเอกชน และมีบางพันธุ์เป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แก่
    พันธุ์อินทรี2 (ติดต่อ โทร. 0-4436-1770-4)
    ชูการ์75 (ติดต่อ โทร. 0-2551-0300 ต่อ 116-118)
    เอทีเอส 5 (ติดต่อ โทร. 0-3465-3298-9)
    ไฮ-บริกซ์ 3, 9 และ 49 เป็นต้น (ไฮ-บริกซ์ 49 ต้านทานโรคใบไหม้แผลใหญ่และโรคราสนิม ไฮ-บริกซ์3 เหมาะทั้งบริโภคฝักสด และบรรจุกระป๋อง ติดต่อ โทร. 0-3626-6319)

ฤดูปลูก
ปลูกได้ตลอดทั้งปี ถ้ามีแหล่งน้ำเพียงพอ ช่วงปลูกที่ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี คือ
– ฤดูหนาว ปลูกระหว่างเดือนพฤศจิกายน – มกราคม
– ต้นฤดูฝน ปลูกระหว่างเดือนพฤษภาคม กรกฎาคม

การเตรียมดิน
การเตรียมดินถือเป็นหัวใจของการปลูกข้าวโพดหวานให้ได้ผลผลิตสูง เพราะถ้าดินมีสภาพดีเหมาะกับการงอกของเมล็ดจะทำให้มีจำนวนต้นต่อไร่สูง ผลผลิตต่อไร่ก็จะสูงตามไปด้วยการเตรียมดินที่ดีควรมีการไถดะและทิ้งตากดินไว้ 3-5 วัน จากนั้นจึงไถแปรเพื่อย่อยดินให้ แตกละเอียดไม่เป็นก้อนใหญ่เหมาะกับการงอกของเมล็ด ควรมีการหว่านปุ๋ยคอกเช่นปุ๋ยขี้ไก่เป็นต้น อัตราประมาณ 1 ตันต่อไร่ก่อนการไถแปร เพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นสามารถอุ้มน้ำได้นานขึ้น และยังเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับข้าวโพดหวาน
การเตรียมดินที่ดี ให้เหมาะกับการงอกของเมล็ดพันธุ์จะทําให้มีจํานวนต้น/ไร่สูง
ผลผลิตก็จะสูงตามไปด้วย ทําได้ดังนี้

  • ปลูกบนพื้นราบ ไถด้วยผานสาม 1 ครั้ง ลึก 20 – 30 เซนติเมตร ตากดิน 7 – 10 วัน
    พรวนด้วยผานเจ็ด 1 ครั้ง เพื่อย่อยดินไม่เป็นก้อนใหญ่ แล้วยกร่องปลูก สูง 25 – 30 เซนติเมตร
    – ถ้าปลูกเป็นแถวเดี่ยว ให้มีระยะระหว่างร่อง 75 เซนติเมตร
    – ถ้าปลูกเป็นแถวคู่ให้มีระยะระหว่างร่อง 120 เซนติเมตร
  • ปลูกบนร่องสวน ร่องสวนกว้าง 4 – 5 เมตร ความยาวตามพื้นที่โดยใช้จอบหรือรถไถเดินตาม เปิดหน้าดินลึก 15 – 20 เซนติเมตร ตากดิน 7 – 10 วัน จึงย่อยดินให้ละเอียดปรับระดับดินให้สม่ำเสมอ แล้วคราดเก็บเศษซากของวัชพืชข้ามปี ออกจากแปลงให้หมด
    ควรใส่ปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยคอก เช่น ปุ๋ยขี้ไก่แห้ง เป็นต้น ในอัตราประมาณ 1 ตัน/ไร่ ก่อนการไถแปร เพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของดิน และยังเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับข้าวโพดหวาน

การปลูก ควรปลูกเป็นแถวเป็นแนวซึ่งสามารถปลูกได้สองวิธี คือ
การปลูกแบบแถวเดี่ยว ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น จำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 7,000-8,500 ต้น จะใช้เมล็ดประมาณ 1.0-1.5 กิโลกรัมต่อไร่

kawpodwanplanbkawpodwanraiakawpodwanraib

การปลูกแบบแถวคู่ มีการยกร่องสูง ระยะระหว่างร่อง 120 เซนติเมตร ปลูกเป็นสองแถวข้างร่อง ระยะห่างกัน 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร1 ต้นต่อหลุม จะมีจำนวนต้นประมาณ 7,000-8,500 ต้นต่อไร่และใช้เมล็ดประมาณ 1.0-1.5 กิโลกรัมต่อไร่ การให้น้ำจะปล่อยน้ำตามร่องซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกดี

kawpodwanplanbbkawpodwanplanc

การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปลูกข้าวโพดหวาน เพราะปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง จึงควรใส่ธาตุอาหารพืช (ปุ๋ย) เพิ่มเติมลงในดิน การใส่ปุ๋ยในข้าวโพดหวานมีขั้นตอนดังนี้
การใส่ปุ๋ยรองพื้น สูตรปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่พร้อมปลูกหรือใส่ขณะเตรียมดิน

หมายเหตุ
ถ้าปลูกด้วยมือ ควรหยอดปุ๋ยที่ก้นหลุมแล้วกลบดินบาง ๆ ก่อนหยอดเมล็ด
ไม่ควรให้ปุ๋ยสัมผัสกับเมล็ดโดยตรงเพราะอาจทำให้เมล็ดเน่าได้
การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 สูตรปุ๋ยยูเรีย อัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่เมื่อข้าวโพดมีอายุ 20-25 วันหลังปลูก โรยข้างต้นในขณะดินมีความชื้นหรือให้น้ำตาม หรือพูนโคนกลบปุ๋ยก็จะเป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัว
การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดมีอายุ 40-45 วันหลังปลูก ถ้าแสดงอาการเหลืองหรือไม่สมบูรณ์ ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างต้นในขณะดินมีความชื้นหรือให้น้ำตาม

การปฏิบัติดูแลรักษาข้าวโพดหวาน
การถอนแยกต้น ควรกระทําหลังจากหยอดเมล็ด 12-14 วัน โดยการถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น
การให้น้ำ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้ขาดน้ำ โดยปล่อยเข้าตามร่องน้ำหรือให้แบบสปริงเกอร์
การกําจัดวัชพืช ทําพร้อมๆ กับการกลบโคนต้นและการให้ปุ๋ยการฉีดพ่นสารป้องกันกําจัดโรคและแมลง การปลูกข้าวโพดหวานต้องระวังในเรื่องของหนอนเจาะฝัก หรือเจาะลําต้น

kawpodwanplane kawpodwanraic

การกำจัดวัชพืช
ถ้าแปลงปลูกข้าวโพดหวานมีวัชพืชขึ้นมากจะทำให้ข้าวโพดไม่สมบูรณ์ ผลผลิตจะลดลงจึงควรมีการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก วิธีการกำจัดวัชพืชสามารถทำได้ใช้วิธีการเขตกรรม ถ้าหากจำเป็นต้องใช้สารเคมีควรได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่โรงงานผู้ส่งเสริมการปลูก ด้วยการควบคุมวัชพืช ใน 2 แนวทาง ได้แก่ เตรียมดิน การดายหญ้า และการพรวนดินพูนโคน
การควบคุมวัชพืชด้วยการเตรียมดิน เป็นขั้นตอนสำคัญในการปลูกข้าวโพดหวานเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง เพราะดินที่ร่วนซุยจะเหมาะกับการงอกของเมล็ด ทำให้รากหยั่งลึก แทรกตัวในดิน และนำสารอาหาร และแร่ธาตุได้ดี ทำให้ผลผลิตต่อไร่จะสูงตาม
การควบคุมวัชพืชด้วยการดายหญ้า และการพรวนดินพูนโคน โดยการถากด้วยจอบให้วัชพืชหลุดจากดิน หลังจากนั้น ทำการพูนโคนต้นด้วยจอบจากดินบริเวณร่องแปลงให้สูงขึ้น โดยทั่วไปการดายหญ้า และพูนโคนนิยมทำหลังจากต้นข้าวโพดหวานงอกแล้ว 3-4 สัปดาห์ ซึ่งพร้อมกับการใส่ปุ๋ยครั้งแรกพอดี

kawpodwanpland

การให้น้ำ
ระยะที่ข้าวโพดหวานขาดน้ำไม่ได้คือระยะ 7 วันแรกหลังปลูก เป็นระยะที่ข้าวโพดกำลังงอก ถ้าข้าวโพดหวานขาดน้ำช่วงนี้จะทำให้การงอกไม่ดี จำนวนต้นต่อพื้นที่ก็จะน้อยลงจะทำให้ผลผลิตลดลงไปด้วย ระยะที่ขาดน้ำไม่ได้อีกช่วงหนึ่งคือระยะออกดอก การขาดน้ำในช่วงนี้จะมีผลทำให้การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ การติดเมล็ดจะไม่ดี ติดเมล็ดไม่เต็มถึงปลายหรือติดเมล็ดเป็นบางส่วน ซึ่งฝักที่ได้จะขายได้ราคาต่ำ โดยปกติถ้าเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ควรให้น้ำทุก 3-5 วัน ขึ้นกับสภาพต้นข้าวโพดและสภาพอากาศ แต่ช่วงที่ควรให้น้ำถี่ขึ้นคือช่วงที่ข้าวโพดกำลังงอกและช่วงออกดอก

kawpodwanplana

การเก็บเกี่ยว
หลักการเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานข้าวโพดหวานจะมีคุณภาพดีและหวาน ไม่ว่าจะเป็นส่งโรงงานหรือจําหน่ายฝักสด ควรเลือกเก็บเกี่ยวในระยะที่มีน้ำตาลสูงที่สุด และคุณภาพดีที่สุด หรือระยะที่เรียกว่าระยะน้ำนม หากเลยระยะนี้ไปแล้ว ปริมาณน้ำตาลจะลดลงและมีแป้งเพิ่มขึ้นการเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานมีหลักพิจารณาง่ายๆ คือ นับอายุหลังจากวันหยอดเมล็ด

kawpodwanplog
วิธีการนี้ ต้องทราบอายุของข้าวโพดหวานแต่ละพันธุ์ว่าเป็นพันธุ์ หนัก เบา หรือปานกลาง เช่น พันธุ์เบา อายุ55 – 65 วัน พันธุ์ปานกลาง อายุ70 – 85 วัน พันธุ์หนักอายุตั้งแต่90 วันขึ้นไปเก็บสุ่มตัวอย่างในแปลงมาตรวจดู วิธีนี้แน่นอนและนิยมทํากันมากที่สุด การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวาน ควรเก็บเกี่ยวในเวลาเช้าตรู่และรีบส่งตลาดทันที ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมงเพราะจะทําให้น้ำตาลลดลง
โดยปกติข้าวโพดหวานจะเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุประมาณ 70-75 วันหลังปลูก แต่ระยะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวที่สุด คือ ระยะ 18-20 วันหลังข้าวโพดออกไหม 50% (ข้าวโพด 100 ต้นมีไหม 50 ต้น) ข้าวโพดหวานพันธุ์ ไฮ-บริกซ์ 10 จะเก็บเกี่ยวที่อายุประมาณ 68-70 วัน และพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 จะเก็บเกี่ยวที่อายุประมาณ 65-68 วันหลังปลูก แต่ถ้าปลูกในช่วงอากาศหนาวเย็นอายุการเก็บเกี่ยวอาจจะยืดออกไปอีก หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วควรรีบส่งโรงงานหรือจำหน่ายโดยเร็ว เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ หากขาดน้ำจะมีผลต่อเมล็ดและน้ำหนักของฝัก

ที่มา
กรมส่งเสริมการเกษตร

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้พุ่มเตี้ย

แสดงความคิดเห็น