คะน้า ผักธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

9 สิงหาคม 2556 พืชผัก 0

คะน้า (Chinese Kale) ผักคะน้าเป็นผักที่เราปลูกเพื่อบริโภคส่วนของใบและลำต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย และมีปลูกกันมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และประเทศไทย คะน้า เป็นผักที่ปลูกได้ทุกท้องที่ และภูมิอากาศ ช่วงระยะเวลาที่ปลูก จนถึงเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 45 วัน ใช้พื้นที่ในการปลูกไม่มากนัก เสียแต่ว่าผักคะน้า จะมีศัตรูพืชมาก โดยเฉพาะหนอนและเพลี้ย

ชื่อสามัญ : Kale
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica albroglabra
ชื่ออื่น : จีนกวางตุ้งเรียกว่า ไก๋หลาน จีนแต้จิ๋วเรียกว่า กำหนำ
ตระกูล Cruciferae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชปีเดียวไม่มีเนื้อไม้สูงได้ถึง 40 เซนติเมตร และสูง 1-2 เมตรเมื่อช่อดอกเจริญเติบโตเต็มที่ ผิวส่วนต่างๆ ของลำต้นมีลักษณะเรียบ และมีนวลจับ ระบบรากเป็นแบบรากแก้ว มีรากแขนงที่แข็งแรง มีลำต้นหลักหนึ่งต้น มีกิ่งแขนงผอมๆ เจริญออกมาทางด้านข้าง หรือส่วนบนของลำต้น การเรียงใบแบบสลับ แผ่นใบหนาแข็งมีก้านใบ ใบกว้างรูปไข่จนถึงเกือบกลม ขอบใบแบบหยักซี่ฟันและมีลักษณะเป็นคลื่นที่โคนใบมีติ่งยื่นออกมาทั้งสองด้าน ใบที่อยู่ทางด้านล่างมีขนาดเล็ก (ภาพที่ 9.26) ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 30-40 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1-2 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว อาจพบดอกสีเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ดอกมี 4 ส่วนครบ มีเกสรเพศผู้ 6 อัน สั้น 2 อัน ยาว 4 อัน ผลแตกแบบผักกาดค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดมีรอยบุ๋มขนาดเล็ก

kanakor

ลักษณะโดยทั่วไป ผักคะน้าเป็นผักอายุ 2 ปี แต่ปลูกเป็นผักฤดูเดียว อายุตั้งแต่หว่านจนถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 45-55 วัน ผักคะน้าสามารถปลูก ได้ตลอดปี แต่เวลาที่ปลูกได้ผลดีที่สุดอยู่ ในช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน คะน้าสามารถขึ้นได้ในดิน แทบทุกชนิดที่มี ความอุดมสมบูรณ์สูง มีความเป็นกรดด่าง ของดินอยู่ระหว่าง 5.5-6.8 และมีความชื้นในดินสูงสม่ำเสมอ

การใช้ประโยชน์
นำส่วนของลำต้น ก้านใบ และใบมารับประทานสด หรือปรุงให้สุกเป็นกับข้าวร่วมกับผักชนิดอื่นหรือเนื้อสัตว์ สามารถรับประทานได้ตั้งแต่ต้นยังมีขนาดเล็กจนกระทั่งออกดอก โดยมีความแข็งของเปลือกลำต้นและแผ่นใบเพิ่มขึ้นตามอายุ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้บริโภค

คุณค่าทางอาหาร
ส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม มีแร่ธาตุอาหารเป็นองค์ประกอบ มากมายหลายชนิดได้แก่

  • วิตามิน เอ 7540 IU
  • วิตามิน ซี 115 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 62 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 2.2 มิลลิกรัม

น้ำหนักแห้ง 10-14 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับอายุ ในการเก็บเกี่ยว เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ดหนัก ประมาณ 3 กรัม

kana

สรรพคุณทางยา : คะน้ามีสารต้านอนุมูลอิสระ คือวิตามินซีและเบต้า-แคโรทีน ซึ่งร่างการจะเปล่ยนเป็นวิตามินเอที่มีผลต่อการบำรุงสายตา เสริมสร้างสุขภาพผิวพรรณและต้านทานการติดเชื้อ คะน้าให้โฟเลตและธาตุเหล็กสูง ซึ่งสารทั้งงสองชนิดนี้จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง

คุณค่าอาหาร : คะน้า 100กรัม ให้พลังงาน 31 กิโลเคลอรี ประกอบด้วย

  • น้ำ 92.1 กรัม
  • โปรตีน 2.7 กรัม
  • ไขมัน 0.5 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 3.8 กรัม
  • เส้นใย 1.6 กรัม
  • แคลเซียม 245 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
  • เบต้า-แคโรทีน 2,512 ไมโครกรัม
  • วิตามินเอ 419 iu.
  • วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี2 0.08 มิลลิกรัม
  • ไนอะซิน 1.0 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 147 มิลลิกรัม

คะน้านอกจากจะนิยมบริโภคในแถบทวีปเอเชียแล้วยังนิยมปลูก และบริโภคในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว เช่น ในทวีปยุโรปและอเมริกาด้วย ดังนั้นจึงสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทดังนี้

  1. คะน้าธรรมดา หรือคะน้าใบมีลักษณะใบกลมใหญ่ลำต้นสูงมาก ประมาณ 90 ซม. นิยมตัดใบไปบริโภคเรื่อย ๆ จากล่างขึ้นบน ไม่นิยมตัดทั้งต้น
  2. คะน้าต้น หรือคะน้ายอดปลูกเอาต้นขนาดเล็กสูงประมาณ 20 25 ซม. นิยมตัดไปบริโภคทั้งต้น หรือทั้งยอด
  3. คะน้าใบฝอย มีขนาดลำต้นไม่สูงมากนักมีลักษณะขอบใบหยักย่นเป็นฝอย ๆ ก้านใบยาว นิยมใช้เป็นผักสดประดับจานหรือประกอบสลัด
  4. คะน้าฝรั่ง มีลักษณะลำต้นสูง แผ่นใบแผ่กว้างเรียงซ้อนกันเป็นรูปกลม จนดูคล้ายว่าใบที่ยอดจะห่อหัวได้เหมือนกะหล่ำปลี แต่จะไม่ห่อ

สำหรับพันธุ์คะน้าที่นิยมปลูกในบ้านเรานั้น สามารถแบ่งออกใหญ่ ๆ ได้ 3 พันธุ์ ดังนี้

  1. พันธุ์ใบกลม ลักษณะใบกว้าง ปล้องสั้น ปลายใบมน ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย เช่นพันธุ์ฝางเบอร์ 1
  2. พันธุ์ใบแหลม ลักษณะใบแคบกว่าปลายใบแหลมข้อห่าง ผิวใบเรียบ เช่นพันธุ์ ทีแอล 20
  3. พันธุ์ก้าน ลักษณะใบเหมือนพันธุ์ใบแหลม แต่จำนวนใบต่อต้นน้อยกว่า ปล้องยาวกว่า ปลายใบแหลม ผิวใบเรียบ เช่น พันธุ์แม่โจ้ 1

การเตรียมดินปลูกคะน้า
มีการไถพรวนอย่างดี ตากดินไว้ 7-10 วัน ผสมปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้วให้มาก ย่อยดินให้ละเอียดโดยเฉพาะ ในแปลงเพาะต้องย่อยหน้าดินให้ละเอียด

kanalek

การปลูก คะน้า (Chinese Kale)
การเพาะกล้าและย้ายกล้า
หลังจากเตรียมแปลงเพาะแล้ว ให้หว่านเมล็ดให้ กระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง แล้วกลบด้วยปุ๋ยหมัก หนา 0.5-1.0 ซ.ม. เสร็จแล้วรดน้าด้วยบัวฝอยละเอียดคลุมด้วยฟางบางๆ
การปลูกลงแปลง ให้ไถดินลึกประมาณ 20-30 ซ.ม. พรวนและย่อยดินให้ละเอียด ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้เรียบร้อย แล้วหยอดเมล็ดลงบนแปลงโดยใช้ระยะระหว่าง หลุม 25 ซ.ม. ระยะระหว่างแถวห่าง 40 ซ.ม. หยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ดกลบดินหนา 0.5 ซ.ม. เมื่อต้นกล้าอายุได้ 15-20 วัน แยกให้เหลือหลุมละต้น

การดูแลรักษา คะน้า

การใส่ปุ๋ย เนื่องจากคะน้าเป็นผักกินใบและต้น จึงควรใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง การใส่ปุ๋ยแบ่งใส่ 2-3 ครั้งครั้งแรกใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นขณะเตรียมดิน
คลุกเคล้าลงไปในดินให้ทั่ว ครั้งที่2 และ3 ใส่เมื่อคะน้ามีอายุประมาณ 20 และ30 วัน โดยใส่ในอัตรา30-40 กก./ไร่ หลังจากถอนแยกแล้ว การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 อาจใส่ปุ๋ย ไนโตรเจน เช่นยูเรียก็ได้ โดยใส่ต้นละ1.5 กรัม
การให้น้ำ ควรรดน้ำเช้าเย็น คะน้าเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ เพราะต้นคะน้ามีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้นคะน้าที่ขาดน้ำจะชะงักการเจริญเติบโต
การพรวนดินกำจัดวัชพืช ควรทำอย่างสม่ำเสมอโยเฉพาะในระยะแรกๆ มีความจำเป็นมาก

kanapao

การเก็บเกี่ยว คะน้า (Chinese Kale)

คะน้าที่ปลูกในบ้านเรามีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45-55 วันหลังปลูก ซึ่งเป็นคะน้าที่โตเต็มที่ นอกจากนี้เรายังได้คะน้าอ่อน หรือที่เรียกว่ายอดคะน้า ซึ่งได้จากการถอนแยกขณะที่มีอายุประมาณ 30 วัน

kanaton

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น