จำรัส ภูมิถาวร ปราชญ์เกษตรแห่งเมืองภูเก็ต

21 กุมภาพันธ์ 2556 ปราชญ์ของแผ่นดิน 2

คุณลุงจำรัส ภูมิถาวร หรือ แป๊ะจุ่น ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านกู้กู เกษตรกรชาวภูเก็ต ผู้จบเพียง ป.4 แต่สามารถถ่ายทอดความรู้ เป็นครูสร้างอาชีพให้คนทำมาหากินมาแล้วมากมาย เกษตรกรผู้ยึดมั่นในวิถีของตนจนสามารถเป็นแบบอย่างในความพอเพียงท่านนี้ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรผสมผสาน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จนได้รับการยกย่องให้เป็น ปราชญ์เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2550

ชีวิต การศึกษา การเรียนรู้ และการทำงาน

คุณลุงจำรัส ภูมิถาวร ในวัยเด็กครอบครัวฐานะยากจน มีแม่เป็นผู้นำครอบครัว ประกอบอาชีพทำนา ทำขนมขาย เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ และในวัยเด็กเป็นคนที่สนิทกับยายมาก จึงได้รับการถ่ายทอดศิลปะด้านการทำจักรสานและงานหัตถกรรมจากวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร นอกจากนั้นต้องช่วยแม่และญาติทำนา ปลูกผัก ทำให้ได้รับความรู้ที่เป็นพื้นฐานทางด้านเกษตร

จากการได้รับความรู้พื้นฐานการเกษตร เป็นคนรักความสงบ เรียบง่าย ในปี 2514 จึงได้ประกอบอาชีพการเกษตรอย่างจริงจัง เริ่มจากการปลูกพืชผักสวนครัว ทำสวนยางพารา จำนวน 30 ไร่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และเริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสาน ได้เรียนรู้และพัฒนาการจัดวางรูปแบบของสวนในพื้นที่จำกัด มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลอยู่เสมอ โดยเริ่มต้นเข้าสู่ระบบการศึกษาด้วยการเข้ารับการฝึกอบรม ทัศนศึกษา ดูงานที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้นและเรียนรู้พัฒนาความรู้ ความชำนาญของตนเองให้สอดคล้องกับอาชีพ และได้นำความรู้เหล่านั้นบอกต่อเพื่อนบ้านร่วมอาชีพ

จากความมุ่งมั่น ตั้งใจ ใฝ่รู้ดังกล่าว ทำให้สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ลงทุนน้อยออกสู่ตลาด สามารถพึ่งตนเองในวิถีทางเกษตรได้

องค์ความรู้

จำรัส ภูมิถาวรปราชญ์จำรัส ภูมิถาวร เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญในด้านการจัดการเรื่องการเกษตร มีความสามารถในการใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนให้เกิดระบบมากขึ้น โดยดำเนินการดังนี้ ปลูกผักเหมียง มะกอก (เก็บยอด) และมันปูเป็นการแสดงอาณาเขตรอบๆ พื้นที่ของตนเองประมาณ 200 ต้น ปลูกมะพร้าวน้ำหอมไว้บริเวณบ้านพักและตามทางเดิน บริเวณที่เป็นลุ่มได้ขุดสระน้ำขนาดเล็กไว้เลี้ยงปลาดุกและปลาหมอนา ในบ่อปลาหมอก็ทำเป็นแปลงอนุรักษ์พันธุ์กะเปก (หน่อไม้น้ำ) รอบๆ สระน้ำต้นสะเดามาปลูกไว้ บริเวณพื้นที่ทั่วไปในสวนมีการปลูกพืชสวนครัวแซม เช่น ข่า ตะไคร้ ขมิ้น พริก ฯลฯ ซึ่งพืชที่ปลูกเหล่านี้นอกจากใช้บริโภคในครัวเรือนแล้ว สามารถนำขายสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และนอกจากพืชผักแล้ว ครูจำรัส ยังปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เช่น หมากนวล หมากเหลือง ดาหลา เพื่อจำหน่ายให้กับร้านขายต้นไม้ เวลาจัดสวน สำหรับพื้นที่โล่งได้จัดแปลงปลูกพืชแบบไร้ดิน เพื่อเป็นฐานของการศึกษาเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร พืชที่ปลูกเป็นผักสลัดจำพวก กรีนโอ๊คและเร็กเก็ต ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ รอบรับธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตได้ด้วย

ครูจำรัส ได้เรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การทำเตาอีวาเตะ ซึ่งผลิตด้วยถังน้ำมัน 200 ลิตร หุ้มด้วยดินร่วนปนทราย สามารถให้ความร้อนได้สูงสุดถึง 1,000 องศาเซลเซียส สามารถเผาเครื่องเซรามิกได้ และจากการทำเตาเผาถ่านดังกล่าว สามารถเก็บเศษไม้ต่างๆ มาเผาเป็นถ่านเชื้อเพลิงหุงต้มในครัวเรือน และยังนำเอาผลไม้ต่างๆ เช่น มังคุด สับปะรด ทุเรียน ลูกมะพร้าว และไม้ไผ่ มาเผาเป็นถ่านดูดกลิ่น และถ่านบำบัดซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและรังสีต่างๆ อันมีผลกระทบต่อระบบการทำงานของคลื่นสมอง คลื่นหัวใจและการไหลเวียนของเลือดมีการนำเอาถ่านบำบัดที่ได้มาทำในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ทำเป็นตุ๊กตา ผสมกับเครื่องจักรสาน ทำหมอนเพื่อสุขภาพที่สำคัญคือ การเก็บน้ำส้มควันไม้มาใช้แก้ปัญหาโรคพืชและแมลงในแปลงเกษตร

นอกจากด้านการเกษตรแล้ว ครูจำรัสยังมีความเชี่ยวชาญในการนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาแปรรูปเป็นเครื่องจักรสานและงานหัตถกรรม

รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ใช้ในครัวเรือน มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพซึ่งมีการบริหารแบบสหกรณ์ รวมทั้งเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการจัดการเกษตรแก่กลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ทั้งในและต่างจังหวัด คณะศึกษาดูงาน

jamrusb

นอกจากด้านการเกษตรแล้ว ครูจำรัสยังมีความเชี่ยวชาญในการนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาแปรรูปเป็นเครื่องจักสานและงานหัตถกรรม
รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ใช้ในครัวเรือน มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพซึ่งมีการบริหารแบบสหกรณ์ รวมทั้งเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการจัดการเกษตรแก่กลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ทั้งในและต่างจังหวัด คณะศึกษาดูงาน และร่วมจัดรายการวิทยุ รายการเวทีชาวบ้าน คลื่น FM ๑๐๕.๕ MHz และรายการคลื่นธรรมนำชีวิต ช่วยวิถีชีวินพอเพียง คลื่น FM ๙๔.๒๕ MHz

การถ่ายทอดความรู้
ครูจำรัส ภูมิถาวร ถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรกรรม ดังนี้
การศึกษาในระบบ ถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด
การศึกษานอกระบบ ถ่ายทอดความรู้โดยเป็นวิทยากรให้แก่กลุ่มอาชีพต่างๆ คณะศึกษาดูงานกลุ่มผู้สนใจ
การศึกษาตามอัธยาศัย ถ่ายทอดความรู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร และผู้สนใจเป็นวิทยากรในรายการวิทยุ รายการรายการเวทีชาวบ้าน คลื่น FM ๑๐๕.๕MHzทุกวันอาทิตย์เวลา ๒๐.๐๐-๒๐.๓๐ น. และรายการคลื่นธรรมนำชีวิต ช่วงวิถีที่พอเพียง คลื่นFM ๙๔.๒๕MHz ทุกวันจันทร์ เวลา ๒๐.๐๐-๒๑.๐๐ น.

วิธีการถ่ายทอดความรู้
ครูจำรัส ภูมิภูถาวร ถ่ายทอดความรู้ด้วยวิธีการ ดังนี้

  • การบรรยายผ่านองค์กรต่างๆ และผู้สนใจโดยตรง
  • การสาธิตโดยการปฏิบัติจริง การฝึกปฏิบัติร่วมกัน
  • การให้ความรู้ผ่านรายการวิทยุ
  • การประชาสัมพันธ์โดยเอกสารจดหมายข่าว
  • ผู้สนใจสามารถเข้าฝึกงานได้
  • การร่วมแสดงผลงานที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน

การที่ครูจำรัส ภูมิภูถาวร เป็นบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรม เป็นผู้สร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับของสังคมและชุมชน จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษษ กระทรวงศึกษาธิการให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษษทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ตามนัยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๔๕

ปัจจุบันนี้กลุ่มเกษตรกรกู้กูร่วมใจเติบโตและแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยมากมายหลายสาขา ตอนนี้ภายในกลุ่มเราสามารถแบ่งย่อยออกเป็นกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งแป๊ะก็เป็นรองประธานชมรมไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดภูเก็ตด้วย สำหรับผู้ที่สนใจ แป๊ะก็สามารถแนะนำได้ว่าต่อไปตลาดจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีพันธุ์เราก็ช่วยสั่งพันธุ์ ช่วยหาแหล่งซื้อแหล่งขายให้ หรืออย่างการปลูกผักไร้ดิน หรือไฮโดรโปนิก ที่ตอนนี้แป๊ะทำอยู่ก็ได้ผ่านการอบรมจากเกษตรจังหวัด ทดลองปลูกมา 2 ปีแล้ว โดยไปขอการสนับสนุนจากทางเกษตรฯ เขาให้โรงเพาะเลี้ยงมา 3 หลัง ตรงนี้แป๊ะไม่ได้คิดทำเพื่ออาชีพของตัวเอง แต่อยากทำเพื่อให้ทุกคนมาเรียนรู้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อจะได้ขยายต่อ นี่มีโครงการจะขยายให้ทั่วทั้งหมู่บ้าน แล้วเราก็จะสามารถกุมตลาดได้ อาจจะเข้าไปติดต่อห้างว่าเราจะส่งผักนี้ให้ตลอดทั้งปี ถ้าทำคนเดียวมันไม่ทัน เราก็ต้องทำหลายๆ เจ้าหมุนเวียนกันส่ง นอกจากนั้น ตอนนี้กลุ่มที่ตั้งเพิ่มขึ้นก็คือกลุ่มสมุนไพร โดยจะมีการจดบันทึกสมุนไพรพื้นบ้านชนิดต่างๆ เอาไว้ ใครมีความรู้เรื่องอะไรก็ให้มาถ่ายทอดและรวบรวมขึ้นทะเบียนไว้กับทางเกษตรฯ เพื่อจะจัดทำเป็นตำราต่อไป เพราะเราไม่ต้องการให้สมุนไพรและความรู้เหล่านี้สูญหายไป นอกจากนั้นก็มี กลุ่มจักสาน กลุ่มผ้าบาติก ซึ่งทางพัฒนาชุมชนได้เข้ามาเปิดโครงการส่งเสริมอาชีพเมื่อหลายปีก่อน แล้วเราก็ทำต่อกันมา พัฒนาฝีมือ ปรับปรุงลาย เราคิดว่าผ้าบาติกไม่จำเป็นต้องเป็นลายปลาอย่างเดียว จึงได้คิดทำผ้าบาติกลายไทยขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของทางกลุ่มเรา โดยทาง อบต.รัษฎาก็เข้ามาช่วยเหลือเงินทุนหมุนเวียนบ้าง ส่วนตลาดของกลุ่มบาติกนี้เราไม่มีหน้าร้าน แต่เราใช้วิธีการผลิตส่งหน่วยงานต่างๆ ที่สั่งมา เช่น อบต. หรือพัฒนาชุมชน ซึ่งเขาจะขายให้ทางอินเตอร์เน็ต เรียกได้ว่ามีตลาดรองรับ มีอนาคต ทุกวันนี้ขาดก็เพียงบุคลากร เพราะของทุกอย่างที่เราทำ ทั้งผัก ทั้งไม้ดอก ทั้งอาหารทะเล แทบจะไม่พอขายกับตลาดอยู่แล้ว

ด้วยภาพความเข้มแข็งของกลุ่มฯ บวกกับภูมิปัญญาและความตั้งใจจริงที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นของแป๊ะสุ่น จึงทำให้มีผู้สนใจเข้ามาขอความรู้และศึกษาดูงานมากขึ้นๆ ทุกวัน บ้านของแป๊ะสุ่นจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผู้เข้ามาจะได้รับความรู้มากมายกลับไป ก็ด้วยความตั้งใจว่าเราจะทำเพื่อชุมชน การทำงานของแป๊ะจึงทำแบบเป็นการสาธิต สอนคนอื่นไปด้วย ไม่ได้ทำเพื่อเราคนเดียว แล้วเราจะไม่หวงตลาด ไม่หวงความรู้ ทุกคนที่เขาต้องการมาเรียนกับเรา เราสอนหมด ที่บ้านนี้เลยกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ข้างหลังนี้จะเป็นสวน ปลูกผักสวนครัว แล้วก็อนุรักษ์หน้าวัวพันธุ์เปลวเทียนภูเก็ต ปลูกผักไร้ดิน และอีกหลายๆ อย่าง เขาก็สามารถมาเรียนรู้วิธีการทำสวนผสมว่าทำอย่างไร แล้วก็เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการจักสาน การทำผ้าบาติก และเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ที่นี่เราก็ใช้ปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก ปุ๋ยเคมีอาจจะมีบ้างบางตัวที่จำเป็นจริงๆ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ใช้ ที่นี่ก็เลยสามารถให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพได้ แป๊ะผ่านการอบรมจากกรมพัฒนาที่ดินเป็นหมอดินอาสาจังหวัดสามารถให้คำปรึกษาเรื่องดินเรื่องปุ๋ยได้ด้วย อย่างบางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าดินของเราปลูกอะไรได้บ้าง ก็สามารถเอาดินมาให้ที่นี่ตรวจได้ก่อนจะไปปลูกพืช จะได้รู้ว่าดินของเราขาดอาหารอะไร ไม่ต้องใส่ปุ๋ยสะเปะสะปะ เราจะให้คำปรึกษา ช่วยวิเคราะห์ดินให้ นอกจากนี้ ปัจจุบันเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกำลังเป็นที่สนใจ ที่นี่จึงเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย อย่างในปีนี้แป๊ะก็ได้รับโล่ห์ของจังหวัดเป็นบุคคลส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเรามาตลอด

นายจำรัส ภูมิภูถาวร
ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านกู้กู ตำบลรัษฎา
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การทำเห็ดครบวงจร การเผาถ่านและการทำน้ำส้มควันไม้
การทำจักสานจากวัสดุธรรมชาติ เช่นใบมะพร้าว ก้านมะพร้าว เชือกกล้วย ฯลฯ
การขยายพันธ์ดอกหน้าวัว (พันธุ์เปลวเทียนภูเก็ต) การขยายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ

9/9 หมู่ 3 ซอยแม่กลิ่น ถนนรัษฎานุสรณ์ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต, 83000
โทร. 086 5931428 และ 0816066328

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

2 ความคิดเห็น

  1. Autumn_live
    บันทึก เมษายน 11, 2556 ใน 13:04

    อยากได้เบอร์โทรติดต่อคุณลุงจำรัสค่ะ

  2. Oranuch Boonchai
    บันทึก มิถุนายน 2, 2556 ใน 00:13

    อยากทราบเรื่องหน่อไม้ หรือ หน่อกเปก จากคุณลุงจำรัสค่ะ

แสดงความคิดเห็น