จุลพร นันทพานิช ปลูกป่า ปลูกความคิด

จุลพร นันทพานิช สถาปนิกและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชื่อมั่นในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติ การเรียนการสอนที่ผลักดันให้นักศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และการเลือกใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในบ้านไม้หลังเล็กๆ บนพื้นที่สามไร่ในอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ที่มีทั้งนาข้าว สวนผัก ไม้ยืนต้น และไม้ผลซึ่งเจ้าตัวลงมือสร้างและปลูกด้วยตนเอง ความเชื่อที่นำมาซึ่งบทบาทใหม่ที่ทำมาเป็นเวลาสี่ปีในฐานะ ที่ปรึกษาปลูกป่า เมื่อคนยุคใหม่ที่ใฝ่หาการกลับคืนสู่วิถีธรรมชาติเริ่มเข้ามาขอคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องปลูกต้นไม้ ปลูกบ้าน ไปจนถึงปลูกความคิด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนและ ผาสุก บนพื้นฐานของความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยหนึ่งในผู้ที่มาขอคำปรึกษาจากเขา ก็คือธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับโฆษณามือรางวัลระดับโลก เจ้าของพื้นที่ในซอยอ่อนนุช 51 ที่วันนี้เรามีโอกาสได้เข้ามาเยี่ยมชมความคืบหน้าของโครงการปลูกป่าภายใต้ความดูแลของจุลพร

ทำไมคนยุคนี้จึงอยากหันกลับมาใช้ชีวิตแบบใกล้ชิดธรรมชาติกันมากขึ้น
อย่างเคสพี่ต่อ (ธนญชัย ศรศรีวิชัย) ก็จะชัดเจน คือพี่ต่อทำงานหนัก เป็นคนทำงานโฆษณาที่มีชื่อเสียง แต่เขาก็บอกว่าไม่สนใจชีวิตเหล่านั้นเพราะมันไม่มีสาระ เขาสนใจว่าความมั่นคงของชีวิตมันคืออะไร ก็เลยมาคุยกับผม เขาอยากจะมีพื้นที่ที่มีข้าวกินมีปลากิน ไม่ต้องซื้ออะไร พึ่งตนเองได้ คือถ้าพึ่งตนเองได้ก็จะรู้สึกลึกๆ ว่ามันมั่นคง อย่างผมเองก็รู้สึกว่ามั่นคงกว่าคนทั่วๆ ไป แต่ด้วยความที่ผมใช้ชีวิตแบบนี้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ต้องปรับตัวมากเหมือนคนอื่นๆ แล้วยิ่งเป็นสถาปนิกเราก็รู้จักจัดการเรื่องสภาพแวดล้อมกายภาพ ผมรู้เรื่องต้นไม้เยอะ เพาะปลูกเป็น ก็เอาความรู้เหล่านี้มาประมวลกันแล้วก็แนะนำคนอื่นๆ ที่เข้ามาขอคำปรึกษา

junlaphornmai

ทำไมต้องมีที่ปรึกษาปลูกป่า ถ้าไม่มีความรู้เลยแต่อยากจะปลูกต้นไม้ได้ไหม
ก็ต้องมีความรู้บ้าง มันไม่ได้ยากเย็นอะไร จะรู้เรื่องต้นไม้มันง่ายกว่าไปเซเว่นอีกถ้าคิดจะรู้ ใครจะปลูกก็ต้องใฝ่หาความรู้ก่อนว่าพันธุ์ไม้ท้องถิ่นคืออะไร ถามแท็กซี่ก็ได้ ผมก็ถามบ่อย ทุกคนเป็นอาจารย์ผมหมด คนงานผม ผมก็ยังต้องถามเขา ได้ข้อมูลแล้วก็เอาไปเทียบกับข้อมูลเชิงสากลเอา เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนจากวิชาการอะไร

วิธีให้คำปรึกษาของผมก็จะเป็นธรรมชาติ จริงๆ เขาก็ให้เงินนั่นแหละ เป็นค่าออกแบบ แต่ผมมองมากกว่าการออกแบบ การให้คำปรึกษาของผมคือให้คุณไปคิดแล้วทำเองต่อ ผมจะเน้นที่การปลุกเร้ามากกว่า จะแนะนำเขาว่า เฮ้ย ได้ ไม่ยากหรอก แนะนำให้เกิดกำลังใจ ให้ลงมือทำ ให้เกิดการเรียนรู้เอง ทีนี้เขาก็เบิกบานแล้ว เมื่อฉันทะเกิด วิริยะก็เกิดตาม อย่างพี่ต่อนี่ตอนแรกผมก็ เฮ้ยต่อขุดดินเลยต่อ ตอนหลังเขาก็ เฮ้ยจริงว่ะ ขุดดินมันว่ะพี่ อยากขุดดินไม่อยากอยู่คอนโดแล้ว สนุก เหงื่อออกเยอะ ตัวเบา นอนดี หลับสบาย กินเยอะ แข็งแรง แล้วก็มีแก่นสาร เสียแรงไปก็ได้ผลผลิต ถ้าเสียแรงในฟิตเนสมันไม่ได้ผลผลิต

คืออาจารย์อยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่เด็กๆ
ใช่ แต่ผมโตในตลาดเจริญพาศน์ราษฎร์ฝั่งธนฯ เลยนะ แต่ว่าตอนเด็กๆ ผมต้องไปอยู่ใต้ โตมาเป็นวัยรุ่นก็ไปหาประสบการณ์ ออกค่ายที่อีสาน โชคดีที่ตอนเล็กๆ อยู่กับชนบท เลยมีพื้นฐานอยู่แล้ว แล้วก็ชอบปลูกต้นไม้ ก็ฝึกฝนมาตลอด คือถ้าสนใจอะไรเราก็จะมีความรู้พอกพูนเรื่อยๆ แล้วผมก็สนใจแบบหัวปักหัวปำเสียด้วย ผมสนใจเรื่องเพาะปลูก ต้นไม้ ธรรมชาติ สะสมความรู้มาเรื่อย ทั้งๆ ที่ไม่ได้จบมาทางสายวิทยาศาสตร์ แล้วพอได้ทดลองทำ เห็นผลสำเร็จ ก็เลยคิดว่าต้นไม้น่ะปลูกไปเถอะเพราะว่าเราเคยผ่านมาแล้ว

กระบวนการทำงานเป็นที่ปรึกษาปลูกป่าเป็นอย่างไร
อย่างที่ตรงนี้ผมเริ่มทำตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่ผ่านกระบวนการออกแบบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เริ่มจากการเข้ามาดูพื้นที่ก่อน แล้วก็เข้ามาปรับ มาถมทำทางเดิน แก้ปัญหาเรื่องน้ำเข้าน้ำออก จัดการเรื่องการระบายน้ำผิวดิน เรื่องคูน้ำที่ให้ความชุ่มชื่นของที่ดินทั้งหมด หลังจากนั้นก็มาสำรวจความลาดเท ขุดลำเหมือง ทำทางเดินเพื่อควบคุมการระบายน้ำ แล้วค่อยวางผังว่าส่วนไหนจะเป็นนาข้าว ป่าไม้ ไม้ผล ซึ่งก็ต้องสัมพันธ์กับการใช้สอยด้วย นอกจากนี้ก็มีมิติเรื่องมุมมอง มิติเชิงนิเวศวิทยา มิติเรื่องสุนทรียภาพด้วย จัดวางให้ตรงกับการใช้สอยและมุมมองทางสายตา อย่างอยู่อ่อนนุชนี่ก็ปลูกเป็นป่ายางนารอบๆ คลุมไว้กันเสียงไปเลย แถวนี้กำลังจะมีคอนโดด้วย สูงประมาณ 20 กว่าเมตร ที่ปลูกยางนาก็เพราะว่ามันสูง 40 เมตร เป็นพรรณไม้ที่สูงที่สุดในสังคมพืช ใช้เวลาสิบปีก็เห็นแล้ว แต่ถ้าให้เห็นสูงใหญ่ยักษ์ก็คงต้องร้อยปี เราอาจจะไม่ทันได้เห็นก็ไม่เป็นไร เพราะมันจะเป็นมรดกของสังคมให้ลูกหลาน พื้นที่ตรงนี้ประมาณเจ็ดไร่ พี่ต่อเขาก็วางแผนจะซื้อที่เพิ่มอีกเพื่อให้เป็นปอดของคนเมือง ตั้งใจว่าจะให้เป็นพื้นที่เปิด ใครอยากมาช่วยทำสวนก็มาได้เลย มีจอบมีเสียมเตรียมไว้ให้พร้อม

junlaphorn

ตอนนี้เริ่มปลูกต้นไม้ยืนต้นบางอย่างที่เป็นไม้ป่าไปบ้างแล้ว ที่ตรงนี้มันก็จะพึ่งพากันเอง ไม่เป็นภาระให้เราต้องไปดูแล หญ้าเราก็ไม่ตัด มีหลายต้นในนี้ที่เรียกแมลงมา แล้วนกก็จะมากินแมลง บางต้นมีพื้นผิวที่สากเดี๋ยวหิ่งห้อยก็จะมาอยู่ วันก่อนผมมานอนกบเขียดร้องกันระงมเลย คือระบบนิเวศมันเริ่มจัดการของมันเองแล้ว เราก็แค่ไปเริ่มต้นวงจรให้มันเท่านั้น เราจะได้ยินเสียงของธรรมชาติ เสียงนกร้อง ทั้งๆ ที่อยู่ริมถนน นอกจากนี้ เรายังต้องไปศึกษาในเชิงมหภาค เก็บข้อมูลภาคสนาม เดี๋ยวต้องไปพายเรือกับพี่ต่อจากตรงนี้ไปออกแม่น้ำบางปะกงโน่นเลย เพื่อดูภูมิประเทศโบราณถ้ามันยังมีเหลืออยู่ ถ้าขับรถไปมันยาก ก็เลยว่าจะพายเรือกันไปสามวัน นอนตามวัดระหว่างทาง เพราะมันอาจมีข้อมูลบางอย่างที่เรายังไม่เห็นไม่รู้ แล้วมันก็สนุกด้วย

ก่อนหน้านี้ที่ตรงนี้เคยเป็นอะไรมาก่อน
เดิมทีเป็นสวนของคนมีเงิน ปลูกต้นอโศกอินเดีย พันธุ์ไม้ต่างถิ่นเยอะ ผมก็ฟันทิ้งไปเยอะ อย่างต้นปาล์มนี่ผมฟันทิ้งเกือบหมด เพราะมันไม่มีประโยชน์ไม่รู้จะเอาไว้ทำไม ก็หวังว่าที่แปลงนี้จะเป็นแบบอย่างให้คนมีเงินในสังคมไทยเรื่องการจัดการสภาพแวดล้อม เพราะหลายคนไปซื้อที่ดินที่มีต้นไม้ท้องถิ่นสวยๆ แล้วก็ไถทิ้งก่อนเลย ให้เป็นที่โล่งๆ เตียนๆ เพราะเขาว่ามันสวย แล้วก็ต้องไปสั่งไม้ขุดล้อมมาปัก ทั้งที่ก่อนหน้านี้มันมีไม้ท้องถิ่นอยู่ การที่คุณจะเอาพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและพืชพันธุ์สูงมาไถทิ้งแล้วทำเป็นภูมิประเทศแบบเมดิเตอร์เรเนียน แบบโพรวองซ์ หรืออะไรที่เป็นพื้นที่แล้งๆ ในฝรั่งเศสน่ะมันน่าสมเพชนะ คือที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพคุณไม่เอา คุณไปทำเป็นที่แล้งๆ แบบยุโรป การทำแบบนั้นมันอาจจะดูมีรสนิยม แต่มันคือความเบาปัญญา ทุกคนคิดว่ามันเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นวิธีที่รุนแรงกับธรรมชาติมาก อยากจะฝากถึงคนมีเงินและคนมีความรู้ในบ้านเมืองเราให้ลองทบทวนดีๆ สำหรับผมทำอย่างนั้นมันไม่เหมาะนะผมคิดอย่างนั้น ทำอะไรกันเช้ยเชย

junlaphornpa

แล้วถ้าเขามองว่าพันธุ์ไม้พื้นถิ่นมันเชยล่ะ
มันไม่เชยหรอก มันจะเชยได้ยังไงในเมื่อเราใช้ตัวชี้วัดทางนิเวศวิทยา ยูเนสโกเองก็ประกาศแล้วว่าคุณควรจะคุ้มครองภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของคุณ ไม่ใช่เที่ยวทำลายทิ้ง

ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมคืออะไร
คือสภาพแวดล้อมที่เป็นแบบท้องถิ่น มีพันธุ์พืชท้องถิ่นอย่างมะพร้าว หมากสง มะม่วง ชมพู่ มีไม้ไผ่ที่มีประโยชน์ในการกินการใช้ แต่ทุกวันนี้บ้านญาติพี่น้องใครมีแบบนี้กลับอายว่ามันเป็นบ้านนอก คนมาทำงานกรุงเทพฯ ผูกไท ถามว่าบ้านอยู่ไหนก็อึกอัก ซักไปซักมาหถึงรู้ว่าบ้านอยู่บุรีรัมย์ จะไปอายทำไม ผมก็บอกเขาว่าคุณน่ะควรจะภูมิใจในความเป็นคนบุรีรัมย์ของคุณนะ เพราะตอนที่บรรพบุรุษคุณทำปราสาทหิน คนกรุงเทพฯ ยังเป็นพวกป่าเถื่อนอยู่เลย ระบบคิดที่ว่าคนกรุงเทพฯ เหนือกว่านี่ผมว่ามันไม่ใช่ จริงๆ แล้วเราด้อยกว่าทุกเรื่อง น้ำท่วมมานี่ช่วยตัวเองไม่ได้ ทุกคนหนีหมด คุณว่านี่มันเหนือกว่ายังไงล่ะ การพึ่งตนเองนี่แทบจะเป็นศูนย์เลยมันจะเหนือเขาไปได้ยังไง เหนือกว่าก็แค่อยู่ใกล้ข้อมูลปลอมๆ มากกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง ผมคิดว่าใครที่มีพื้นฐานมีกำพืดอยู่ต่างจังหวัดควรจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจ การที่อยู่อีสานแต่สอนลูกไม่ให้พูดอีสาน อยู่เหนือไม่ให้พูดเหนือ อยู่ใต้ไม่ให้พูดใต้นี่อย่าทำนะ มันเป็นเรื่องแย่มาก ผมอยากให้เรามีค่านิยมที่เห็นข้อดีของสังคมตัวเอง

ผมว่าตอนนี้สังคมไทยมันเป๋ๆ นะ เขาใหญ่ก็กลายเป็นเมืองแบบคาวบอย สภาพแวดล้อมเป็นตะวันตกปลอมๆ แต่หน้าเราก็ยังเดิมๆ ในขณะที่จิม ทอมป์สัน พยายามอนุรักษ์เรือนท้องถิ่นอีสานไว้ ที่ปากช่องคนไทยกลับรื้อเรือนอีสานออกทำเป็นอิตาลี คนไทยไม่อยากเป็นไทย เพราะสังคมส่วนใหญ่กำลังบอกว่ามันไม่เท่ เท่ต้องเป็นแบบคนกรุงเทพฯ

แล้วการที่เอาอะไรที่ไม่ใช่ของเมืองเรามาลงมันมีผลอย่างไรบ้าง
มีผลอยู่แล้ว อย่างถ้าคุณเลี้ยงเซ็นต์เบอร์นาร์ดในกรุงเทพฯ มันก็ทรมาน เพราะอากาศบ้านเราร้อนมาก คนเลี้ยงก็ลำบากต้องไปติดแอร์ ลำบากกันไปหมด แต่ต้นไม้มันยิ่งกว่านั้นอีก เซ็นต์เบอร์นาร์ดเดี๋ยวมันก็ตาย แต่คุณตัดต้นไม้หมดเท่ากับคุณทำลายระบบนิเวศท้องถิ่นไป แล้วก็ไปสร้างระบบนิเวศขำๆ ขึ้นมา บางโรงเรียนก็เอาปาล์มต่างประเทศซึ่งมันไม่เหมาะมาลง จริงๆ เรามีต้นไม้พื้นถิ่นดีๆ อีกเยอะ ชุมแสง พันจำ โมกมัน โมกหลวง พวกนี้ดีหมดเลย เป็นต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ต้นไม้ในป่าเขตร้อนก็มีตั้งเยอะแยะ มันจะเป็นระบบนิเวศที่จะส่งต่อถึงลูกหลานเรา แต่คนรุ่นเราไปทำลายทิ้งเยอะ

ถ้าให้เปรียบเทียบตึกคอนกรีตกับเรือนไม้
เรือนไม้มันร่มเย็นกว่า ผิวสัมผัสของมือเรากับไม้มันดีกว่านะ ผมอยู่ตึกคอนกรีตไม่ได้ ไม่มีความสุข อยู่แล้วอึดอัด มันมิดชิดเกินไป ระบายความร้อนไม่ดี จริงๆ ถ้าสร้างตึกคอนกรีตให้โปร่งตอบรับกับภูมิอากาศเขตร้อนก็ดีนะ แต่เราไม่ค่อยทำกันเพราะเราก็ไปก็อปบ้านแบบตะวันตกมา

บางคนอยากจะติดแอร์ ถ้าทนร้อนไม่ไหวก็ติดไป แต่ถ้าไม่ติดได้ก็ดีกว่า ข้อแรกง่ายๆ เลยคือเปลืองไฟ เรื่องร้อนนี่เราปรับตัวได้ตามสภาพแวดล้อมรอบๆ อยู่แล้ว การเปิดแอร์คือคุณเอาความเย็นใส่ตัวคุณ เอาความร้อนใส่คนอื่น คอมเพรสเซอร์เป่าความร้อนใส่เพื่อนบ้าน ลึกๆ แล้วมันเห็นแก่ตัวนะ ถึงจะเป็นบ้านประหยัดพลังงานก็ต้องคำนวณเยอะ กว่าจะประหยัดพลังงานได้หมดไปสี่ล้าน คุณกางมุ้งอยู่นี่แหละไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ปลูกต้นไม้เอา ใช้แป้งตรางูทาก่อนนอน จบแล้ว ไม่ต้องคำนวณอะไรยากๆ หรือลงทุนมโหฬาร ผมไม่เคยมีคำว่าลดโลกร้อนอยู่ในหัวเลย มีแค่ว่าต้องประหยัด พวกลดโลกร้อนถุงผ้าลองไปดูสิ ที่บ้านแอร์สี่ห้าตัวทั้งนั้น

อย่างพี่ต่อเองตอนนี้เขาก็ใช้ชีวิตกลางแจ้ง คือผมมีโจทย์หนึ่งว่าไม่ให้พี่ต่อติดแอร์นะ ทีนี้จะปรับตัวยังไง ก็ต้องลองไปอยู่กลางแจ้ง พี่ต่อเขามีข้อดีที่มีความมุ่งมั่น เสาร์อาทิตย์นี่เดินวันละสิบสี่สิบห้ากิโล เขาก็จะบอกสิ่งที่เขาเห็นว่าร่างกายมันปรับตัวกับภูมิอากาศธรรมชาติได้ ไม่ร้อน แล้วก็เริ่มอึดอัดที่จะอยู่ในห้องแอร์ คือทุกคนน่ะฝึกได้หมด เพียงแต่ว่าจะลองฝึกหรือเปล่า ธรรมชาติมนุษย์ถ้าอยู่ในห้องแอร์แล้วก็จะติดสบาย แต่มันไม่ดี เหงื่อไม่ออกมันไม่ดีอยู่แล้ว คนอยู่ห้องแอร์อายุนิดเดียวแต่หน้ามันเหี่ยวลึกๆ นะ เพราะว่าเหงื่อมันทำหน้าที่ชะล้างทำความสะอาดผิว เอาของเสียออกจากร่างกาย แล้วก็ช่วยระบายความร้อน

บ้านที่แม่ทา ทำไมถึงเลือกไปอยู่ตรงนั้น
จริงๆ ผมอยู่อีกที่หนึ่งซึ่งไกลจากตรงนั้นประมาณสิบกิโล และมันเปลี่ยว พอมีลูกก็เลยคิดว่าย้ายมาอยู่ตรงนั้นดีกว่า อยู่หลังโรงเรียนแฟนผมเลย ลูกก็เรียนอยู่โรงเรียนแถวนั้น สะดวกดี แม่ทาเป็นเขตชนบท มีที่นาเก่าที่ถูกทิ้งไว้นาน ดินตรงนั้นไม่ค่อยดี มันแล้ง เป็นดินป่าเต็งรัง ผมก็ปรับหน้าดิน ใส่อินทรียวัตถุเข้าไป ใบจามจุรีให้ไนโตรเจน ขี้เถ้ากับใบกระถินให้ฟอสฟอรัส แค่นี้เองไม่ยากหรอก เรื่องพวกนี้อยู่ในตำราเรียนสมัยประถมอยู่แล้ว สมัยนี้เวลาเรียนก็ทำให้มันดูเป็นเรื่องยากไว้ก่อนจะได้ดูดี จริงๆ เรื่องมันง่ายนิดเดียว

ชีวิตมันต้องง่ายนะ แต่มันต้องมีเครื่องมือเยอะ ผมยังพกมีดพร้ากะท้าขวานอยู่เพราะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไปขุดหน่อไม้ ตัดกล้วย เอามาทำกับข้าว หาฟืน เผาถ่าน ที่ตรงนั้นหลักการคือใช้แรงงานในบ้าน ไม่ใช้เครื่องจักร เมื่อใช้แรงงานก็ต้องใช้ความคิด ระบบคิดต้องเยอะเพื่อให้เกิดการออกแบบ พอคิดเราก็จะเจอหนทาง ทุกอย่างมันง่ายหมด ไม่มีอะไรซับซ้อน พื้นที่สามไร่ครึ่ง มีทั้งนาข้าว สวนผัก ไม้ยืนต้น ไม้ผล มะม่วง ลำไย มะละกอ กล้วย พวกนี้ผมไม่ใช้สารเคมีเลย ไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้ยา ไม่ใช้เครื่องจักร ต้องไม่ให้เยอะ อะไรที่รกหัว เป็นภาระนี่ผมไม่เอาเข้าตัวเลย จะเรียกว่าเป็นเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืนก็น่าจะได้ แต่ผมไม่ไปนิยามมัน ขี้เกียจไปทำให้มันยาก ถ้ามีอะไรเหลือก็จะไปแบ่งคนโน้นคนนี้ ไม่ได้เอาไปขายแต่ก็ไม่ถึงกับไม่ต้องซื้ออะไรเลย แต่ถ้าสมมติว่าไม่มีเงินผมก็ไม่ลำบาก จับนู่นหยิบนี่มากินได้

ชีวิตประจำวันทำอะไรบ้าง
ปกติจะตื่นตีสี่ถึงตีห้าครึ่ง ตื่นมาก็เขียนบันทึกเรื่องเมื่อวาน คิดว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ไปตลาดกินกาแฟสักแก้วนึง คุยกับคนนั้นคนนี้ ซื้อของสดกลับมาทำกับข้าวให้ลูกตอนเช้า ส่งลูกไปโรงเรียน แล้วก็ไปดูสวนนิดนึง หลังจากนั้นก็ขับรถหรือขี่จักรยานมาเชียงใหม่ ดูงานที่ทำงานแล้วก็ไปสอนหนังสือ บางวันถ้าอยู่สวน ก็จะไปขี่จักรยานก่อนสักสี่สิบกิโล แล้วค่อยกลับมาดูสวนต่อทั้งวัน สวนมันเป็นภารกิจไม่จบสิ้นนะ และผมก็เป็นคนจดจ่ออยู่กับสวน อยู่แล้วมันมีความผาสุก เวลาว่างก็จะเข้าสวน แล้วก็มีสตูดิโอออกแบบใกล้ๆ มช. ไปเดินป่าขึ้นเขาบ้าง ว่ายน้ำ หรือขี่จักรยาน เพราะว่ามันสนุก ได้เห็น ได้หยุดเจอคนนั้นทักคนนี้ ซื้อกล้วยแขกกินบ้าง ที่จอดก็ไม่ยาก ถ้าขับรถก็ไม่มีทางได้เจอ ผมไม่ได้คิดเรื่องโลกร้อนหรอก แค่อยากขี่

junlaphorns

คนที่อยากจะเปลี่ยนการใช้ชีวิตต้องทำอย่างไรบ้าง
ต้องมีความมุ่งมั่น แล้วที่เหลือคุณทำได้เอง คุณไม่ต้องมาหาผมมาหาผู้รู้อะไรเลย พอมีความมุ่งมั่นคุณก็ไปปฏิบัติ พอไปปฏิบัติแล้วคุณจะรู้ว่าคุณขาดอะไร ถ้าขาดความรู้คุณก็จะไปหาความรู้ด้วยตัวเอง ดังนั้นมุ่งมั่นปุ๊บก็ปฏิบัติเลย ไม่ใช่ว่าอยากเปลี่ยนแล้ว เอ้ยเดี๋ยวก่อน ไปๆ มาๆ เป็นโรคเก๊าโรคความดัน ไปไหนไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้เสียแล้ว คือคุณอยากเปลี่ยนแต่คุณก็ไม่ทำอะไรสักที ผมเห็นเยอะ ที่พูดว่าอยากเปลี่ยนๆ แต่ก็ไม่เปลี่ยน

แต่ละคนก็คงจะมีวิธีที่แตกต่างกันไป สถานการณ์ใครสถานการณ์มันนะ จะบอกว่าผมอยากจะเปลี่ยนครับ อ.จุลพร มีสูตรตายตัว 20 ข้อไหมครับ ถ้าผมบอกสูตรไป 20 ข้อแล้วเขาทำตามเขาก็ไม่สัมฤทธิผลหรอก เพราะเขาไม่ใช่ผม

แล้วถ้าอาชีพ สังคม หรือค่านิยมมันไม่ไปทางเดียวกับสิ่งที่อยากจะทำล่ะ
ถ้าอยากเปลี่ยนก็ต้องมีความมุ่งมั่น พอมีความมุ่งมั่นมันก็จะเจอหนทาง แต่เพราะมีความมุ่งมั่นไม่พอก็เลยยังไม่ยอมออกมา มันไม่ใช่ว่าต้องมีเงินนะ ถ้าคิดว่าวิถีชีวิตแบบนี้ฉันไม่เอาแล้ว จะไปอยู่ในเขตชนบท อยากพึ่งตัวเองมากขึ้น อยากหุงหาอาหาร ก็ทำได้นะ เพราะเรายังมียีนส์ของการอยู่กับธรรมชาติอยู่ บางคนบอกว่าอยู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เกิด คุณพ่อคุณแม่ก็เกิดกรุงเทพฯ แล้วปู่ย่าตายายคุณล่ะ บางคนมาจากจีน มาจากซัวเถา ถ้าอย่างนั้นคุณปู่คุณอาจจะเป็นชาวนาทำนาอยู่ซัวเถาก็ได้ หรือบางคนปู่ย่าตายายก็เคยทำสวนทำไร่อยู่ต่างจังหวัด นี่นับขึ้นไปแค่สามรุ่นเอง เราก็แค่รุ่นหลาน เพราะฉะนั้นทุกคนมีทักษะของการอยู่กับธรรมชาติหมดนั่นแหละ ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถกลับไปอยู่กับธรรมชาติได้ อยู่ที่ว่าจะทำหรือเปล่า แต่ถ้าหลังจากนี้อีกสักสิบรุ่นผมก็ไม่รู้ว่าเราจะวิวัฒน์ไปถึงจุดไหน

ธรรมชาติสอนอะไรเราบ้าง
ธรรมชาติสอนทั้งหมด เป็นแม่บทของการมีชีวิต ก่อนที่เผ่าพันธุ์มนุษย์จะเกิด ต้นไม้มันเกิดมาก่อนแล้ว เผ่าพันธุ์มนุษย์เราวิวัฒน์มาท่ามกลางต้นไม้ พอวิวัฒน์มามากๆ ก็ดันไปตัดเขาทิ้ง ทุกวันนี้ก็เลยผันผวนกันไปหมด ความผันผวนหลายอย่างเกิดจากการที่คุณไปกำจัดธรรมชาติรอบตัวเองทิ้ง เหมือนกับเนื้อสมันที่มีป่าทุ่งละเมาะดีๆ ก็ไปกัดทิ้งหมด ก็เลยโดนนายพรานล่าได้ง่ายๆ ก็เลยสูญพันธุ์

junlaphornnan

ผมรู้สึกว่าสาระสำคัญของการมีชีวิตที่ดีมันกำลังถูกมองข้ามไปเรื่อยๆ ทีละนิด เรื่องง่ายๆ เรากลับไปทำให้มันยากขึ้นไปหมด และในความยากนั้นมันก็มัดคอตัวเองตาย เกิดวิกฤตอย่างน้ำท่วมก็ช่วยตัวเองไม่ได้ก็ต้องไปเดือดร้อนหาเรือมา

เรื่อง: ณัฏฐนิช ตัณมานะศิริ
ภาพ: อดิเดช ชัยวัฒนกุล + …

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น