ชาตรี ต่วนศรีแก้ว ครูเกษตรหัวใจพอเพียง

ครูชำนาญการโรงเรียนสถาพรวิทยา อาจารย์ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาใช้สอนนักเรียนที่สนใจการเกษตร ก็ภาคภูมิใจไม่น้อย เพราะถ่ายทอดแนวคิดให้กับนักเรียนของโรงเรียนสถาพรวิทยา มานานกว่า 27 ปี
โรงเรียนสถาพรวิทยา ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 11 ตำบลลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เปิดสอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย มานานถึง 57 ปีแล้ว

kruchatreea

นับตั้งแต่อาจารย์ชาตรีเข้ามาทำหน้าที่อาจารย์สอนวิชาเกษตร ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนให้เข้าถึงนักเรียนให้ง่ายขึ้น จากเดิมพื้นที่ฝึกปฏิบัติในวิชาเกษตรมีในโรงเรียน ก็ยกระดับออกมาใช้พื้นที่ด้านข้างโรงเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่ของวัดเวฬุวนาราม เพียงเพื่อให้การปฏิบัติในภาคเกษตรของโรงเรียนเป็นสัดส่วนชัดเจน อีกทั้งกิจกรรมบางประเภทของการทำเกษตร เช่น การทำปุ๋ยหมัก ก็อาจส่งกลิ่นรบกวนการเรียนได้

อาจารย์ชาตรี กล่าวว่า วิชาเกษตรเป็นวิชาบังคับของแต่ละชั้นเรียนอยู่แล้ว ซึ่งนักเรียนที่เรียนเฉพาะในวิชาเกษตร อาจารย์จะสอนความรู้ทั่วไป เน้นที่การสร้างแนวคิด เพื่อให้นักเรียนนำไปต่อยอดในการทำการเกษตรเอง นอกจากนี้ ยังเปิดวิชาเลือกเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนที่มีความสนใจในการทำการเกษตรโดยเฉพาะ เช่น วิชาเพาะไส้เดือน วิชาเลี้ยงกบ วิชาเพาะกบ วิชาเพาะเห็ด เป็นต้น วิชาเพิ่มเติมกำหนดให้นักเรียนเรียนสัปดาห์ละ 2 คาบเรียน ซึ่งกำหนดจำนวนนักเรียนแต่ละวิชาไว้ด้วย หากมีนักเรียนสมัครมากกว่าจำนวนที่ต้องการ ก็จะคัดเลือกโดยเลือกจากเด็กนักเรียนที่มีใจรักจริงๆ

kruchatreedek kruchatrees

นอกจากนี้ ยังให้มีกลุ่มยุวเกษตร แต่เปิดรับสมาชิกเพียง 25 คน เท่านั้น และยุวเกษตรเป็นเด็กนักเรียนทุกระดับชั้นที่มีใจรักในงานเกษตรอย่างแท้จริง โดยอาจารย์ชาตรีจะเป็นผู้คัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่สนใจเข้ามาเติมแทนจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จบการศึกษาออกไปในแต่ละปี ซึ่งจำนวนเด็กนักเรียน 25 คน ที่เป็นยุวเกษตรของโรงเรียนนั้น อาจารย์ชาตรีจะจัดส่งไปฝึกอบรม เมื่อมีกิจกรรมร่วมกับอำเภอ จังหวัด และเครือข่ายทางด้านเกษตรอื่นๆ ทั้งนี้ ในการฝึกอบรมทุกครั้งจะจัดให้ผู้ปกครองของเด็กร่วมเดินทางไปด้วย โดยให้เหตุผลว่า ผู้ปกครองเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการส่งเสริมให้บุตรหลานมีความรักในเกษตรกรรม

“การสอนเกษตรของผม ใช้เงินเป็นตัวตั้ง เพื่อเป็นตัวกระตุ้น เป็นแรงจูงใจให้เด็กคิดและทำให้สำเร็จในสิ่งที่ลงมือทำ เด็กนักเรียนต้องมีรายได้ 1,000-1,999 บาท ต่อเทอม จะได้เกรด 1 หากมีรายได้ 2,000-2,999 บาท ต่อเทอม จะได้เกรด 2 หากมีรายได้ 3,000-3,999 บาท ต่อเทอม จะได้เกรด 3 และมีรายได้ 4,000-4,999 บาท ต่อเทอม จะได้เกรด 4”

kruchatreebo

อาจารย์ชาตรี ระบุว่า หลังจากสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนในการทำการเกษตรให้สำเร็จและได้มาเป็นรายได้แล้ว ต้องสอนวิธีการใช้เงิน โดยสอนให้นักเรียนรู้จักการระดมหุ้น การรวมกลุ่มจัดตั้งธนาคารเพื่อออมเงิน และการทำสหกรณ์

การสอนให้นักเรียนทำการเกษตร อาจารย์ชาตรี มีวิธีการสอนที่แตกต่าง หากต้องการให้นักเรียนปลูกผัก อาจารย์ชาตรีจะให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม จากนั้นนักเรียนต้องเพาะเมล็ดผักเอง ปลูกผักเอง และหากเกิดปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาเอง โดยไม่สอนในเชิงวิชาการมากนัก เพราะการแก้ปัญหาในสิ่งที่ประสบเองจะทำให้นักเรียนมีประสบการณ์และรู้จักพลิกแพลงจนผลิตผลนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ อาจารย์ชาตรี ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ปัญหาที่เกิดระหว่างการปลูกผัก เช่น ใบเหลือง นักเรียนต้องหาสาเหตุใบเหลืองของพืช หากขาดน้ำก็ต้องเติมน้ำ หรือขาดธาตุอาหารชนิดใด ก็นำปุ๋ยมาเติมให้กับพืช เพื่อให้พืชเจริญงอกงามได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ที่นักเรียนนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริง

การทำการเกษตรแต่ละประเภท อาจารย์ชาตรี จะแยกการลงทุนทำการเกษตรของนักเรียนและการทำการเกษตรของโรงเรียนไว้ เพื่อง่ายต่อการคำนวณต้นทุนและกำไร ซึ่งหากเป็นงานเกษตรของโรงเรียน จะนำรายได้เข้าศูนย์เรียนรู้ชุมชนของโรงเรียน แต่ถ้าเป็นการลงทุนโดยนักเรียนเอง รายได้ก็จะให้กับนักเรียน 100 เปอร์เซ็นต์

kruchatreemon kruchatreekai

“ถ้าผลผลิตจากการเกษตรพร้อมจำหน่าย เด็กจะช่วยกันแพ็กใส่ถุง นำไปขายยังตลาด โดยใส่ชุดนักเรียนเดินขาย เพราะชุดนักเรียนเป็นชุดที่สร้างความรู้สึกได้มากที่สุด หากเป็นผักจะแพ็กใส่ถุง แต่เป็นกบจะจ้างคนยำกบ แบ่งค่ายำให้ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปลาดุกก็นำมาย่าง เป็นปลาดุกย่างแพ็กถุงขาย การแปรรูปลักษณะนี้จะช่วยให้การค้าขายคล่องตัวขึ้น และได้กำไรมากกว่าการขายโดยชั่งกิโลกรัม”

พื้นที่สอนวิชาเกษตรทั้งหมดราว 19 ไร่ ปัจจุบันเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นที่ทำการเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ภาคตะวันออก และเป็นสถานที่สำหรับถ่ายทอดการทำการเกษตรให้กับชาวบ้านในชุมชนหรือผู้สนใจ ซึ่งอาจารย์ชาตรีขอให้กลุ่มที่สนใจเป็นกลุ่มเล็กๆ เพราะง่ายต่อสร้างความเข้าใจ

kruchatreedin

ด้านข้างของศูนย์เรียนรู้ชุมชนแห่งนี้ มีบ้านหลังเล็กชั้นเดียวยกพื้น นับจำนวนได้ราว 6 หลัง อาจารย์ชาตรี อธิบายว่า บ้านหลังเล็กที่เห็นเปิดเป็นโฮมสเตย์แต่ยังไม่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการทำโรงครัว เพราะโฮมสเตย์แห่งนี้ ให้ผู้สนใจมาพักทำอาหารรับประทานเอง หากต้องการกินปลาก็มีเบ็ดให้ตกปลา เมื่อได้ปลามาแล้วก็นำไปชั่งกิโล จ่ายเงินให้กับศูนย์ ตามน้ำหนักปลา จากนั้นก็ทำอาหารกินเอง โดยมีผักต่างๆ ภายในศูนย์ ให้เก็บมาทำอาหารรับประทานได้ ซึ่งโฮมสเตย์จะเปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2558

kruchatreeob

ปุ๋ยหมักสูตรครูชาตรี
ปุ๋ยหมักโดยทั่วไปมักมีคุณสมบัติและปริมาณแร่ธาตุน้อยกว่าสารเคมี
เวลาใส่ให้แก่พืชจะตอบสนองช้ามาก(ไม่เหมาะกับคนใจร้อน) ต้องใส่ในปริมาณมาก (ไม่เหมาะกับคนไม่แข็งแรง) ต้องเตรียมการในการผลิตหลายขั้นตอน(ไม่เหมาะกับคนขี้เกียจ) ปุ๋ยเคมีมีเงินซื้อได้ทันที(คนมีเงินแต่คิดไม่เป็น)

1.ปุ๋ยหมักสูตร 16-16-16 และปุ๋ยหมักชีวภาพสูตร 15-15-15
วัตถุดิบต่อส่วนผสม

  • รำอ่อน 1 ส่วน
  • ดินดี 1 ส่วน
  • แกลบดิบ 1 ส่วน
  • แกลบดำ 1 ส่วน
  • มูลสัตว์ 1 ส่วน
  • พืชตระกูลถั่ว 1 ส่วน

2. ปุ๋ยหมักสูตร 16-20-0
วัตถุดิบต่อส่วนผสม

  • รำอ่อน 1 ส่วน
  • ดินดี 2 ส่วน
  • แกลบดิบ 4 ส่วน
  • แกลบดำ 4 ส่วน
  • มูลสัตว์ 4 ส่วน
  • พืชตระกูลถั่ว 4 ส่วน

ขั้นตอนและวิธีการทำปุ๋ยหมักสูตร

  1. นำส่วนผสมทั้งหมด(ยกเว้นรำอ่อนให้ใส่หลังสุด) นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  2. เกลี่ยส่วนผสมออกเป็นวงกลมแล้วนำน้ำหมักที่ผสมไว้แล้วราดลงไปให้ทั่วกองปุ๋ยโดยให้เปียกพอประมาณ ความชื้นประมาณ 60%
    โดยอัตราส่วนในการผสมน้ำหมักชีวภาพ นำกากน้ำตาล 2 ช้อนแกงลงผสมกับน้ำหมัก 2-8 ช้อน แล้วเติมน้ำ 20 ลิตรคนให้เข้ากันนำใส่บัวรดน้ำรดกองปุ๋ย

ข้อแนะนำและควรปฏิบัติ

  1. ในการผสมปุ๋ยและเก็บปุ๋ยควรทำในร่มหรือในโรงเรือน
  2. ในระยะ 7 วันแรกปุ๋ยจะมีความร้อนสูง ควรพลิกกลับปุ๋ยทุกวันในระยะ 2-7 วันแรก
  3. การเก็บปุ๋ยไม่ควรซ้อนกันเกิน 5 ชั้น
  4. หลังจากปุ๋ยคลายความร้อนแล้วนำไปใช้งานได้
  5. น้ำที่ใช้ผสมกับกากน้ำตาลหรือน้ำหมักให้ใช้น้ำซาวข้าวแทนได้จะทำให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การผลิตปุ๋ยหมักสูตรโคบาชิเทียบเคียงปุ๋ยเคมี46-0-0
วัสดุสำหรับการผลิตปุ๋ยสูตรเทียบเคียงปุ๋ย 46-0-0(โบโบชิ)

  • รำ 1 กระสอบ
  • แกลบดิบ 1 กระสอบ
  • มูลไก่ 1 กระสอบ
  • ขี้ค้างคาว 6 กิโลกรัม
  • น้ำหมักชีวภาพ พด.2 หรือ EM
  • กากน้ำตาล

วิธีการทำ

  1. ผสมรำ แกลบดิบ มูลไก่ ขี้ค้างคาว คนให้เข้าด้วยกันกองบนพื้นราบ
  2. ใช้น้ำหมักชีวภาพ พด. 2 ถ้าไม่มีให้ใช้ EM พร้อมกับใช้กากน้ำตาลรดบนกองขณะผสมวัสดุทำปุ๋ยให้ได้ความชื้นที่ 60 % วัดความชื้นที่เหมาะสมได้จากการกำวัสดุที่ผสมแล้วให้แน่นแล้วปล่อยให้อยู่ในอุ้งมือ ถ้าความชื้น 60 % จะติดกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน
  3. ตักปุ๋ยที่ได้บรรจุใส่ในกระสอบฟาง อย่าใส่จนเต็มกระสอบ จากนั้นมัดปากกระสอบ เก็บเข้าไว้ในที่ร่ม หมั่นกลับกระสอบทุกวัน โดยวันแรกวางกระสอบไว้แนวนอน
  4. จากนั้นกลับกระสอบไปมาวันละ 1 ครั้งจนครบ 7 วัน ในวันที่ 7 ให้วางกระสอบในแนวตั้งจากนั้นเปิดปากกระสอบระบายความร้อนทิ้งไว้อีก 1 คืน จะได้ปุ๋ยหมักโบโบชิสามารถนำไปใช้ได้
    วิธีการนำไปใช้
  5. ใช้หว่านบนแปลงปลูกพืช ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตรแทนการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0

ติดตาม / ติดต่อ
www.facebook.com/เรียนเกษตรง่ายๆกับครูชาตรี

ศูนย์เรียนรู้ชุมชน หรือพื้นที่ดำเนินโครงการเกษตรของโรงเรียนสถาพรวิทยา เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมและศึกษา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ชาตรี ต่วนศรีแก้ว โทรศัพท์ (081) 944-8133

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น