หม่อนเป็นไม้ยืนต้นจำพวกไม้พุ่ม ที่มีลำต้นใหญ่ ตั้งตรง มีกิ่งก้านมาก ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ขอบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู ผิวใบสากคาย ปลายเรียวแหลมยาว ฐานใบกลม
หรือรูปหัวใจดอกเป็นดอกช่อ ออกที่ซอกใบ และปลายยอด ผลเป็นผลรวม รูปทรงกระบอก มีสีเขียว เมื่อสุกสีม่วงแดงเข้ม เกือบดำ ฉ่ำน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยว
วิธีทำชาใบหม่อน แบบชาเขียว
- เตรียมต้นหม่อนโดยการตัดกิ่งหม่อนให้เหลือแต่กิ่งหลัก เด็ดริดใบออกให้หมด บำรุงต้นด้วยปุ๋ยหมักชีวภาพ รอให้หม่อนแตกยอดออกประมาณ 1 เดือน จะมีกิ่งและใบประมาณ 8-15 ใบต่อกิ่ง
- เก็บใบหม่อนกลางแก่กลางอ่อน (เพลสาด) โดยเก็บใบที่ 4 – 8 จากยอด
- นำใบหม่อนสดมาล้างทำความสะอาด จัดวางใบซ้อนกันให้เป็นแถว แล้วผึ่งลมไว้จนแห้ง
- นำใบหม่อนสดที่แห้งดีแล้วจำนวน 20-25 ใบมาม้วน แล้วหั่นให้มีขนาดไม่เกิน 0.5 ซม. พักไว้
- นำใบหม่อนที่หั่นแล้วมานวด โดยจับเป็นก้อนแล้วกดลงกับพื้นในถาดสแตนเลส พอให้ใบช้ำ แล้วนำใส่กระด้งไม้ไผ่หรือถาดสแตนเลส หมักพักไว้ 30-60 นาที
- นำใบหม่อนที่ผ่านการหมักมานึ่งหรือรวกด้วยน้ำเดือด ให้ใบหม่อนสลดลง พักไว้จนน้ำออกมาจนหมด พอหมาดๆ
- นำใบหม่อนที่หมักใส่กระทะแล้วผัด แนะนำให้ใช้เตาฟืนหรือเตาถ่านจะทำให้ชาหอมแบบธรรมชาติ โดยยกให้ใบหม่อนสัมผัสอากาศแล้วกระจายตัวและตกกลับมาบนกระทะ ช่วงแรกของการผัดเป็นการไล่น้ำออกใช้ไฟค่อนข้างแรง หลังจากน้ำระเหยจนหมดใช้ไฟกลางผัดชาจนใบหม่อนเบาและเริ่มกรอบ ยกกระทะลงตักชาใส่ถาดสแตนเลส พักไว้จนเย็น
- ชาใบหม่อนที่พักไว้จะคืนตัวและคายน้ำออกมา นำชาไปอบด้วยอุณหภูมิ 40-60 องศา ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงจนชาแห้งสนิท
- คัดส่วนของชาที่ไม่ได้คุณภาพออก แล้วนำไปบรรจุในถุงหรือภาชนะปิดสนิท สามารถเก็บได้นาน 1-2 ปี
สรรพคุณของชาใบหม่อน
-ต้านโรคมะเร็ง เหล็ก แคลเซียม สังกะสี เบต้าแคโรทีน และกรดแอสคอร์บิคเป็นสิ่งที่พบได้ในใบหม่อน แร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ ช่วยในการขจัดอนุมูลอิสระและช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็ง
- ลดระดับกลูโคสในเลือด กรดแกลลิคที่อยู่ในใบหม่อน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการปล่อยอินซูลินออกจากเซลล์ตับอ่อน คุณสมบัตินี้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่ย่อยสลายน้ำตาลจากลำไส้ น
- ลดคอเลสเตอรอล การดื่มชาใบหม่อนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 เดือน สามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และลดคอเลสเตอรอลลงได้ ป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
- แก้หวัด อาการเป็นหวัด ปวดศีรษะ ปวดตา ไอ มีไข้และเจ็บคอ การดื่มชาใบหม่อนอุ่นๆ จะช่วยลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย บรรเทาอาการน้ำมูกไหลและคออักเสบ
- ดูแลสุขภาพดวงตา ชาใบหม่อนมีปริมาณวิตามินเอสูง ช่วยดูแลและบรรเทาอาการเครียดของสายตา ป้องกันความเสื่อมของจอตา ช่วยให้วิสัยทัศน์ในการมองชัดเจนมากขึ้น
- ดูแลระบบเลือด ชาใบหม่อนช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำความสะอาดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยทำความสะอาดตับและไต ป้องกันการอุดตันของเลือดและช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างสมดุลของระบบเลือด
- ต้านการอักเสบ มีการศึกษาพบว่าการอักเสบที่เกิดจากโรคเรื้องรัง สามารถดีขึ้นได้โดยการรับประทานชาใบหม่อนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
- ดูแลระบบประสาท แมกนีเซียมที่อยู่ในชาใบหม่อนนั้น มีประโยชน์ช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อและหัวใจ อีกทั้งยังปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ
ผลข้างเคียงจากการดื่มชาใบหม่อน
- น้ำตาลในเลือดต่ำ การดื่มชาใบหม่อน อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจเกิดอาการหิว ปวดศีรษะ วิงเวียน ตามัวและเหงื่อออกมาก
- การรับประทานยา ผู้ที่รับประทานยาเพื่อรักษาโรคเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงชาใบหม่อน หรือหากต้องการรับประทานชาควรปรึกษาแพทย์ก่อน
-ผู้ป่วยไตควรหลีกเลี่ยงชาใบหม่อน เนื่องจากมีโพแทสเซียมสูง อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้
- ภูมิแพ้ การสัมผัสกับลำต้นหรือใบของต้นหม่อน อาจทำให้เกิดการะคายเคืองต่อผิวหนัง และหากสัมผัสแล้วเกิดอาการแพ้ อาจทำให้ชีพจรเต้นเร็ว หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก รวมถึงอาจมีอาการบวมของผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา
- ข้อห้าม ผู้ที่กำลังให้นมบุตร หรือตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มชาใบหม่อน นอกจากนี้ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชาใบหม่อนก่อนเข้ารับการผ่าตัดเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์