ชุมชนบ้านคลองเรือ ชุมชนคนอยู่ ป่ายัง

โครงสร้างความหลากหลายของชนิดพรรณพืชและปริมาณคาร์บอนในต้นไม้ในเกษตร 4 ชั้น บ้านคลองเรือ ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร

ชุมชนคลองเรือกับธนาคารต้นไม้

สำหรับชุมชนบ้านคลองเรือนั้น ได้เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้เมื่อปี พ.ศ. 2550 ซึ่งนับเป็นธนาคารต้นไม้สาขาแรกของประเทศไทย หรืออาจจะเป็นสาขาแรกของโลกก็ว่าได้ ปัจจุบันธนาคารต้นไม้ของชุมชนบ้านคลองเรือมีนายชัยรัตน์ แว่นแก้ว เป็นประธาน มีสมาชิก 80 ครัวเรือน ปลูกต้นไม้ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 5,000 ต้น ซึ่งประโยชน์หรือผลจากการดำเนินการธนาคารต้นไม้นี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินและฐานะความเป็นอยู่ของชาวชุมชนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ป่าต้นน้ำในชุมชนบ้านคลองเรืออีกด้วย

การเกษตร 4 ชั้น

การเกษตร 4 ชั้นเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านแกนนำชุมชนคนอยู่-ป่ายัง 2 คนคือ นายชัยรัตน์ แว่นแก้ว และนายไพศาล ทรงศิริ ซึ่งนำรูปแบบการเกษตรที่เป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญาจากสวนแบบสวนพ่อเฒ่า สวนสมรม ของชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน และองค์ความรู้เรื่องสังคมพืช ในป่าที่มีการจัดชั้นเรือนยอด 3 ระดับ ได้แก่ ชั้นบน, ชั้นกลาง, และชั้นล่าง มาผสมผสานกับวัฒนธรรมการบริโภคของคนชนบท ที่บริโภคพืชผักผลไม้หลากหลาย ตั้งแต่ยอด ลำต้น ผล จนถึงใต้ดิน (หัว) และประยุกต์เป็นรูปแบบเกษตร 4 ชั้น สามารถใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เกิดการสร้างทดแทนในพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว

ระดับชั้นของพืชทั้ง 4 ระดับ ประกอบด้วยพืชต่างๆ ดังนี้

  • ชั้นที่ 1 ให้เป็นไม้ชั้นบน คือ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่สูงกว่าไม้จำพวกอื่น เช่น สะตอ, มะพร้าว, หมาก ฯลฯ
  • ชั้นที่ 2 ให้เป็นไม้ชั้นกลาง คือ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นต่ำกว่าชั้นที่ 1 เช่น มะนาว, เงาะ, ลางสาด, มังคุด ฯลฯ
  • ชั้นที่ 3 ให้เป็นไม้ชั้นล่าง คือ ชั้นผิวดิน เป็นไม้ที่ลดหลั่นลงมาจากชั้นกลาง เช่น พริก, มะเขือ, ผักหวาน, ผักเหลียง, ชะอม ฯลฯ
  • ชั้นที่ 4 เป็นชั้นใต้ดิน เช่น เผือก, มัน, ขมิ้น, ข่า, ขิง, กลอย ฯลฯ

เกษตร 4 ชั้น เป็นความสัมพันธ์ในการใช้ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ ในรุปแบบการเกษตรเชิงอนุรักษ์ และเป็นรูปแบบการจัดการป่าเชิงรุก เป็นกระบวนการสร้างสังคมพืชที่หลากหลายให้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน โดยอาศัยความสูงและการจัดเรือนยอด ตลอดจนการขยายสายพันธุ์พืชให้หลากหลาย ทำให้ชุมชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสังคมพืชของแต่ละชนิดและเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศให้แก่พื้นที่

โครงการผักป่าอายุยืน

เป็นโครงการหนึ่งภายใต้กรอบโครงการคนอยู่-ป่ายัง เป็นการรวบรวมพันธุ์ผักป่าอายุยืนเพื่อเติมเต็มในพื้นที่เกษตร 4 ชั้น ของบ้านคลองเรือพืชผักที่รวบรวมได้แก่ ผักเหลียง,ผักกูด, เสม็ดชุน, หมรุย, ส้มมวง,ส้มแขก, เป็นต้น กิจกรรมนี้เป็นการรื้อฟื้นพฤติกรรมการบริโภคมีผลต่อสุขภาพอนามัยและทำให้มีไว้บริโภคตลอดปี

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด คนและชุมชน

แสดงความคิดเห็น