กลิ่นอายแห่งความเป็นชนบทท่ามกลางหมู่ขุนเขาที่โอบล้อม ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยของแขกผู้มาเยี่ยมเยือนบ้านสามขาตั้งห่างจากตัวเมืองลำปางเป็นระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของถนนสายลำปางเด่นชัยต้นไม้นานายังคงความเขียวขจี อากาศยังคงบริสุทธิ์ บรรยากาศค่อนข้างเงียบสงบ ไม่มีรถราที่วิ่งกันขวักไขว่มากมาย จนดูพลุกพล่านวุ่นวายอย่างในเมือง ผู้คนยังคงแต่งกายเรียบง่าย มีร้านค้าเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ให้ผู้คนได้จับจ่ายสิ่งจำเป็น บ้านเรือนน้อยใหญ่เรียงรายกันอยู่ในพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ ต่างระดับกันไป ตามลักษณะภูมิประเทศ ที่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา…
ชุมชนบ้านสามขา เป็นหมู่บ้านต้นแบบของการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะในเรื่องการทำฝายชะลอน้ำและดักตะกอน โดยเริ่มจากงานประปาไม้ไผ่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน การแก้ป้ญหาหนี้สินที่นำมาสู่งานวิจัยไทบ้านดีเด่น มาถึงการแก้ปัญหา “อ่างเก็บลม” ด้วยการทำ “ฝายใส้ไก่” และฝายกล่อง ที่ประยุกต์จากการออกไปเรียนรู้และการลองผิด-ลองถูก กลายเป็นหมู่บ้านที่มีฝายชะลอน้ำและดักตะกอน กระจายอยู่ทั่วผืนป่ากว่า 3,000 ฝาย การแบ่งป่าออกเป็น 3 โซน เพื่อบริหารจัดการป่าต้นน้ำที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 15,000 ไร่
สภาพปัญหาของชุมชน
ชุมชนบ้านสามขา ประสบปัญหาภัยแล้ง ลำห้วยสามขาที่เคยไหลตลอดปีในหมู่บ้านกลับแห้งขอด น้ำในอ่างเก็บน้ำบ้านสามขามีปริมาณน้อย และมีตะกอนสะสมมาก ปัญหาเกิดจากป่าต้นน้ำถูกทำลาย ไฟป่าที่ถูกจุดจากชาวบ้านเพื่อเก็บผักหวาน เห็ดเผาะ และล่าสัตว์ ทำให้พื้นที่ป่าวิกฤต กระทบถึงน้ำต้นทุนที่มีน้อย ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ชาวบ้านทำนาไม่ได้ผลผลิต เกิดปัญหาต่อรายได้และหนี้สินของทั้งชุมชน ชาวบ้านได้แต่นั่งมองดูปัญหา ขาดปัญญาแก้ไข
สิ่งที่ชาวบ้านต้องการเพื่อแก้ปัญหา คือเสนอให้ทางการมาสร้างอ่างเก็บน้ำ ความคิดที่ขวางหัวชาวบ้านคือ ต้องเผาป่า เก็บผักหวาน เอาแต่อ่าง การสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะถึงมีอ่างเก็บน้ำ แต่ไม่มีน้ำจะให้เก็บ เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ แรงงาน และเวลาอย่างเปล่าประโยชน์ ปัญหาสะสมซ้ำวนจนถึงวิกฤตทางสังคม แต่กลับไม่มีวิธีจัดการที่ดี เกิดเป็นภาวะตึงเครียดภายใน การเห็นปัญหาแต่ไม่มีทางออก สะท้อนถึงการขาดความรู้
จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง
ด้วยคำแนะนำและให้สติจากเครือข่ายพันธมิตร เรื่องแนวทางการใช้ ฝายชะลอความชุ่มชื้น ในการแก้ปัญหา โดยนำต้นแบบจากศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ และชุมชนตัวอย่าง จากชุมชนบ้านป่าสักงาม จ.เชียงใหม่ และชุมชนบ้านเสริมงาม จ.ลำปาง ซึ่งร่วมกันวิจัยงานอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำมาเป็นเวลานาน โดยมีกระบวนการสำคัญคือ หากห้ามคนไม่ให้เผาป่าคงทำได้ยาก แต่ถ้าทำให้พื้นดินชุ่มชื้นจนจุดไฟไม่ติด ป่าก็จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ จุดประกายให้ชุมชนมีการเคลื่อนไหวศึกษาดูงานที่ศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๔๖ ชุมชนเกิดทางเลือกในการแก้ปัญหา เริ่มลุกขึ้นยอมรับความผิดพลาดและข้อจำกัดของตัวเอง กล้าลองผิดลองถูกกับความคิดใหม่ๆ
บทเรียนจากฝายชะลอความชุ่มชื้น
ความรู้สำคัญที่ได้จากการศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ คือแนวทางการฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการสร้าง ฝายชะลอความชุ่มชื้น ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำ แต่ประสิทธิภาพสูง ฝายชะลอความชุ่มชื้นสามารถช่วยชะลอการไหลหรือลดความรุนแรงของกระแสน้ำ ช่วยให้น้ำซึมลงสู่ดินบนภูเขาได้มากขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับระบบนิเวศของป่าต้นน้ำ ลดความรุนแรงจากการเกิดไฟป่า และทำให้ป่าเป็นธนาคารน้ำสำหรับชุมชน การเรียนรู้จากผู้อื่นถือเป็นการลดอัตตา เปิดรับความคิดของคนอื่นและพร้อมเรียนรู้จริงจัง เมื่อทางเลือกในการแก้ปัญหามากขึ้น วิธีจัดการปัญหาจึงหลากหลายและยืดหยุ่น
ความตื่นตัวสนใจของชุมชนในการสร้างฝายเริ่มเพิ่มขึ้น มีการแสดงความคิดเห็น เสนอว่าจะทำฝายชะลอความชุ่มชื้นกันอย่างไร จุดไหนของป่าต้นน้ำ เมื่อศึกษาความรู้จากคนอื่น ครั้งแรกเพียงได้ความรู้ ยังไม่ได้ลงมือทำ ครั้งที่สองเริ่มได้คิดตาม เกิดการกลั่นกรอง ยอมรับแนวทางปฏิบัติ การเดินทางไปศึกษาความรู้เพิ่มเติมย้ำๆ ซ้ำๆ บ่อยครั้งมากขึ้น ทำให้ชุมชนถูกแรงกระตุ้น เกิดความอยากในการสร้างฝายเป็นของตนเอง แต่การลงมือทำยังไม่เกิดขึ้น
ทางชุมชนจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล หางบประมาณจากหน่วยราชการมาสนับสนุนค่าจ้างแรงงานทำฝาย โดยแบ่งให้แต่ละหมวดบ้านสร้าง ๒ ฝาย รวมทั้งหมด ๓๓ ฝาย แบ่งเงินเท่าๆ กัน บทเรียนสำคัญของเหตุการณ์นี้คือ เงินไม่ใช่คำตอบในการสร้างฝาย หากคนและความคิดยังไม่พร้อม ทุกอย่างไม่สามารถเกิดได้ ชาวบ้านไม่เกิดความรู้สึกว่าฝายชะลอความชุ่มชื้นเป็นของตนเอง งานก่อสร้างฝายแม้ว่าจะเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่ วิธีคิด แบบที่ต้องการเห็นมาแต่แรกได้เลือนหายไป คือเป็นฝายที่อาศัยโครงการและเงินที่หน่วยงานรัฐหยิบยื่นมาให้จึงเกิดขึ้นได้ บทบาทของชาวบ้านเป็นแค่แรงงานรับจ้าง รอคอยความช่วยเหลือจากส่วนกลาง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น ไม่สามารถขยายผลเป็นการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนได้
พลังเยาวชน เปลี่ยนคน เปลี่ยนความคิด
ย่างเข้าหน้าแล้ง ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เกิดไฟป่าเหมือนในปีก่อนๆ ที่ผ่านมา น้ำในอ่างเก็บน้ำแห้งขอด อากาศร้อนระอุ และเชื่อกันว่าคนในชุมชนบ้านสามขานี่เองที่เป็นคนจุดไฟเผา ไฟป่าคืบคลานเข้ามาใกล้ชุมชนยิ่งขึ้น หากจะแก้ไขต้องแก้ไขที่คนในชุมชนเอง เด็กๆ บ้านสามขาตื่นตระหนกกับปัญหาไฟป่าอย่างมาก ผู้ใหญ่ยังรู้สึกชาชิน กับวัฏจักรไฟป่าที่หมุนเวียนมาทุกปีโดยไม่คิดทำอะไรเพิ่มเติม การศึกษาดูงานเรื่องฝายชะลอความชุ่มชื้นช่วยสร้างความรู้ให้ชุมชน แต่การลงมือทำยังไม่บรรลุผล สิ่งที่ชุมชนขาดคือตัวกระตุ้นปฏิกิริยาให้ลุกขึ้นยืนพึ่งตนเอง แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าการแก้ปัญหาชุมชนสิ่งที่สำคัญและทำได้ยากที่สุดคือการเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่นั่นเอง
กลุ่มเยาวชนซึ่งทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ เกิดความตื่นตัวกับปัญหาไฟป่าและน้ำแล้ง จึงรวมกันปรึกษา และตกลงว่าจะลงมือสร้างฝายกันเอง ตามที่เคยเรียนรู้จากชุมชนอื่น ฝายชะลอความชุ่มชื้นฝายแรกของเยาวชนบ้านสามขาจึงเกิดขึ้นในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๗ บริเวณด้านหลังของอาคารติ๊บปาละปัญญา เด็กและเยาวชน ๑๙ คนมาช่วยกันสร้าง ช่วยกันขนหินมาถมเป็นฝายง่ายๆ นับเป็นการเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่ไม่ได้มีความสำคัญนักในสายผู้ใหญ่
ฝายชะลอความชุ่มชื้นที่เยาวชนร่วมกันสร้างขึ้น นับเป็นการกระตุกให้ผู้ใหญ่มองเห็นว่า แม้ไม่มีงบประมาณก็ทำได้ แม้แต่เด็กก็ยังลุกขึ้นมาทำฝายโดยไม่ต้องหวังพึ่งผู้ใหญ่ ฝายที่เด็กๆ สร้างขึ้น อาจยังไม่เห็นผลทันทีในเรื่องการป้องกันไฟป่าและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ แต่ส่งผลทันทีต่อความคิดของคนภายในชุมชนบ้านสามขา ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจยอมรับความสามารถเด็ก เพราะขณะที่ผู้ใหญ่ไม่ยอมลุกขึ้นมาแก้ปัญหาอะไรเสียที ส่วนเด็กกล้าจะลุกขึ้นมาพึ่งตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง ลองผิดลองถูกโดยไม่ต้องอายและไม่ต้องรอข้ออ้างใดๆ
เด็กๆ ได้ตั้งคำถามใหญ่กลับไปยังผู้ใหญ่ในชุมชนแล้วว่า ทำไมเด็กทำได้ ผู้ใหญ่ทำไม่ได้ ทำไมเด็กไม่ต้องรออะไร แต่ผู้ใหญ่ต้องรออะไร ทำไมเด็กลุกขึ้นพึ่งตนเอง ทำไมผู้ใหญ่รอคอยความช่วยเหลือ ทำไมเด็กรักป่าชุมชน รักท้องถิ่นของเขา ทำไมผู้ใหญ่ไม่รักป่าชุมชน ไม่รักท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเองบ้างเชียวหรือ คำถามแรงๆ ผ่านการกระทำของเด็ก ฝายชะลอความชุ่มชื้นตัวแรกของเยาวชนบ้านสามขา จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญเรื่องการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นบ้านสามขา
ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมเรียนรู้ ลงมือทำ
ต่อมาฝายหลังโรงเรียนได้ผล เริ่มมีน้ำซึมสะสม จากแอ่งน้ำที่เคยแห้งขอดทุกปีกลับมีน้ำขังอยู่ เด็กๆ ภูมิใจในฝายที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างขึ้น ได้เห็นปู ปลา บริเวณฝาย แสดงว่าความชุ่มชื้นเริ่มคืนกลับมาสู่พื้นที่ ทำให้สัตว์เล็กๆ มาอยู่อาศัยหากินกัน ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของฝายชะลอความชุ่มชื้น หันมาร่วมแรงร่วมใจลงมือทำกันอย่างจริงจัง และมองเห็นคุณค่าของเด็กและเยาวชนกันมากขึ้น จึงพูดคุยกันในเวทีประชาคม จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยกลุ่มผู้ใหญ่ ๓๐ คน จาก ๑๖ หมวดบ้าน จะขึ้นไปสร้างฝายกันในบริเวณป่าต้นน้ำ ซึ่งต้องเดินลึกเข้าไปในภูเขามากกว่า ทำงานลำบากกว่า ส่วนเด็ก เยาวชน และกลุ่มแม่บ้านก็ไปทำกันในบริเวณใกล้ๆ กว่า ค่อยทำสะสมกันเป็นแรมปี จำนวนฝายชะลอความชุ่มชื้นจึงเพิ่มจำนวนเป็น ๕๔๓ ฝาย
จากความร่วมแรงร่วมใจ เกิดเป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ชาวบ้านเปลี่ยนความเชื่อที่ว่าทำอ่างเก็บน้ำจะดีกว่า หันมาเชื่อแนวคิดเรื่องการทำฝายชะลอความชุ่มชื้น เปลี่ยนวิธีคิดจากรอคอยความช่วยเหลือ หันมาพึ่งตนเองมากขึ้น เปลี่ยนพฤติกรรมจากการนอนดูไฟไหม้ป่า น้ำไม่มี โดยลุกขึ้นฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ชาวบ้านเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของฝายทุกตัวที่ช่วยกันสร้างขึ้น หากชำรุดจัดการซ่อมแซมกันเอง ตั้งกรรมการขึ้นมาคอยดูแลและคิดวางแผนงานในระยะยาวร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ชุมชนบ้านสามขา จึงมีการวางระบบจัดการเหมืองฝาย โดยมีแก่เหมืองคอยดูแลการจัดสรรน้ำให้แก่สมาชิกตามความเหมาะสม วางกฏระเบียบการใช้น้ำเพื่อเพาะปลูก โดยเปิดน้ำจากบนลงล่าง ต้องให้ ๕๐ เหมืองแรก ทำนาเสร็จก่อน แล้วปล่อยให้เหมืองต่อไป น้ำเกินจากนาด้านบน ไหลลงล่างพอดี เพื่อจัดการไม่ให้ทะเลาะแย่งชิงน้ำกัน ผู้ใช้น้ำต้องทำการลอกเหมืองของตน หากละเลย ไม่รับผิดชอบ ต้องโดนไหม เอาน้ำไม่ได้ แก่เหมืองไม่เปิดน้ำให้ เอากฏหมู่ดูแล หากทำผิด ๑ คน การตัดสินใจไม่ได้โยนให้พ่อหลวง แต่กรรมการน้ำจะเป็นคณะช่วยดูแลตรวจสอบกันเอง เมื่อลงความเห็นร่วมกันว่าผิดจริง จึงแจ้งพ่อหลวงและแก่เหมืองให้จัดการ
ขยายผลสู่ความยั่งยืน
ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ๒๕๔๙ ชุมชนบ้านสามขาและเครือข่าย ได้ร่วมกันสร้างฝายเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๙๕๑ ฝาย และเพิ่มเป็น ๒,๐๓๔ ฝาย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ฝายชะลอความชุ่มชื้นเกิดผล สภาพป่าฟื้นฟู พื้นดินมีความชุ่มชื้น น้ำตามลำห้วยกลับมามีตลอดทั้งปี คนในหมู่บ้านเปลี่ยนความคิด ต้องการสร้างฝายมากกว่าสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยตั้งเป้าสร้างฝายจำนวน ๓,๐๐๐ ฝาย เกิดเวทีเครือข่ายที่ร่วมกันตั้งคำถามว่า ชุมชนสร้างฝายเพื่อประโยชน์อะไร ต้องสร้างอย่างไร ตรงไหน ท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมอย่างไร สอดคล้องกับหลักยึดหรือไม่ จะพัฒนาแนวทางสร้างฝายอย่างไรให้เกิดประโยชน์จริง นอกจากนี้ชุมชนยังได้ทำแนวกันไฟป่า จัดชุดตรวจเวรยามในการดับไฟป่า โดยกำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ห้ามตัดไม้โดยเด็ดขาด ๑๒,๐๐๐ ไร่ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำ และได้กันเขตป่าชุมชนไว้เป็นเขตตัดไม้ใช้สอยได้ตามความจำเป็น มีระเบียบการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชม เช่น ห้ามตัดไม้ในเขตป่าอนุรักษ์ การห้ามนำสัตว์เลี้ยง วัว ควาย ขึ้นไปในเขตต้นน้ำ ห้ามจับสัตว์น้ำในเขตอนุรักษ์ มีการใช้ประโยชน์จากป่าเป็นแหล่งอาหารได้ เช่น เห็ด ผลไม้ป่า หน่อไม้ ผัก สมุนไพรต่างๆ
แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การรุกเข้ามาเก็บหาของป่า และไฟป่าที่เกิดจากชุมชนข้างเคียง จึงคิดว่าต้องทำแนวกันไฟยั่งยืน คือ สร้างเครือข่ายเพื่อนบ้าน และเครือข่ายลุ่มน้ำจาง ให้เกิดกระบวนการคิด ลงมือสร้างฝาย และแนวกันไฟ ร่วมกันดูแลป่าต้นน้ำของตนเอง เมื่อป่าคืนความอุดมสมบูรณ์ สรรพชีวิตกลับมาสู่ป่า ชุมชนต่างๆ จะมีทรัพยากรธรรมชาติต้นทุนของท้องถิ่น และเรียนรู้การอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ
ความแตกต่างของฝายชะลอความชุ่มชื้น ชุมชนบ้านสามขา คือเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ มากกว่าเรืองของจำนวนฝาย ชุมชนเกิดปัญญาด้วยการลงมือทำ สั่งสมบทเรียนและประสบการณ์ กระทั่งสามารถมองปัญหาและแก้ไขในระยะยาวเพิ่มขึ้น พัฒนาความคิดในการพึ่งตนเอง ส่งเสริมและปลูกฝังความคิดเรื่องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำสู่ชุมชนและท้องถิ่นใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง ขยายเครือข่ายแนวร่วมเพื่อให้ธรรมชาติและระบบนิเวศของชุมชนฟื้นคืน ท้องถิ่นและเครือข่ายเกิดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ที่มา
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)
http://www.baansamkha.com/
ป้ายคำ : พึ่งตนเอง, ศูนย์เรียนรู้, เศรษฐกิจพอเพียง