ซีรูเลียม พืชคลุมมหัศจรรย์

15 เมษายน 2559 ไม้เลื้อย 0

ซีรูเลียม (Calopogonium caeruleum) เป็นพืชคลุมดินที่เจริญเติบโตในระยะแรกช้าสามารคลุมพื้นที่ได้หนาแน่นภายใน 4 6 เดือน ทนทานต่อร่มเงาได้ดี ไม่ตายในหน้าแล้ง ใบสีเขียวเข้มค่อนข้างหนาและเป็นมัน แผ่นใบมีขน เมล็ดมีสีเขียวอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่ ผิวเมล็ดเรียบเป็นมันวาวมีเมล็ดประมาณ 26,200 เมล็ดต่อกิโลกรัม

พืชคลุมดินที่เรียกกันติดปากว่า ซีรูเลียม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Calopogonium caeruleum มีการนำเข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2519 จนถึงปัจจุบัน ผลจากการทดลองพบว่า สามารถควบคุมวัชพืชได้ดี ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุธาตุอาหารในดิน ช่วยลดการชะล้างและพังทลายของหน้าดิน ลดปัญหาการเกิดไฟไหม้สวนยาง และช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ปัจจุบันการปลูกสร้างสวนยาง ไม้ผลและปาล์มน้ำมัน ประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์และมีปัญหาในการควบคุมและกำจัดวัชพืช มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดวัชพืชมากขึ้น ซีรูเลียมจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ลดลง และหมดไปในที่สุด นอกจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องมีการวิจัยและพัฒนาพืชคลุมซีรูเลียม เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร ช่วยลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้ดีขึ้นต่อไป

ชื่อวิทยาศาสตร์(Scientific name)
ถั่วคลุมดินซีรูเลียมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าCalopogonium caeruleum(Benth.) Sauvalle

ถิ่นกำเนิดและการกระจายตัว
ถั่วซีรูเลียมมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง( Central America) แถบประเทศเม็กซิโก( Mexico) อินดีส์ตะวันตก(West Indies) เขตร้อนตะวันออกตอนใต้ของอเมริกา( tropical South America) ไปจนถึงตอนใต้ของบราซิล( southern Brazil) ต่อมาก็มีการปลูกในออสเตรเลีย และแถบเอเชียตอนใต้ เช่นมาเลเซียและประเทศไทย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ซีรูเลียม(Calopogonium cearuleum (Benth.) Sauvalle ) เป็นพืชคลุมตระกูลถั่ว ประเภทเถาเลื้อยอายุข้ามปี ขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศในดินร่วนทรายและดินเหนียว ยกเว้นบนที่สูงเนื่องจากอากาศหนาวจัด ใบจะแห้ง ดอกและใบจะร่วง ลำต้น เลื้อยบนดินมีขนเห็นไม่ชัด ราก รากที่งอกจากเมล็ดจะเป็นรากแก้ว ส่วนของลำต้นที่สำผัสกับผิวดินจะแตกรากใกล้ข้อใบ เป็นชนิดรากฝอยเกาะยึดผิวดิน ช่วยตรึงในโตรเจนจากอากาศ ดอก สีม่วง ใบ มีสีเขียว เป็นมันค่อนข้างหนาคล้ายใบโพธิ์ เมล็ด มีขนาดใหญ่ เปลือกหุ้มเมล็ดหนา น้ำหนักหนึ่งกิโลกรัมมี 28,000 เมล็ดเป็นพืชคลุมที่ทนต่อโรคแลแมลง ทนต่อสภาพร่มเงาและความแห้งแล้ง
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของซีรูเลียม

ดิน(Soil) ถั่วซีรูเลียมสามารถปรับตัวได้ดีในดินเกือบทุกประเภท และเติบโตได้ในระดับ pH ของดินต่ำถึงระดับ 4.00 สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี ตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสฟอรัส และปูนได้ดีแม้ในดินที่มีสภาพเป็นกรดและไม่ตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ย (acid infertile soils)

ความชื้น(Humidity) สามารถ ปรับตัวได้ในเขตร้อนชื้นที่มีระดับปริมาณน้ำฝน 1,000-3,000 มิลิเมตรต่อปี อีกทั้งยังทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีฝนตกน้อยถึงระดับ 700 มิลิเมตรต่อปีนั้นคือทนแล้งกว่า C.mucunoides and Pueraria phaseoloides

อุณหภูมิ(Temperature) เติบ โตได้ในเขตร้อนชื้นที่มีระดับอุณหภูมิสูงสุด 25 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 18 องศาเซลเซียส ในตอนกลางวัน และจะมีข้อจำกัดในการเจริญเติบโตที่ระดับอุณหภูมิสูงสุด 35 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 10 องศาเซลเซียส

แสง(Light) ทนร่มเงาได้ดี แต่จะให้ผลผลิตเมื่อได้รับแสง 60-100 เปอร์เซ็นต์

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกพืชคลุมซีรูเลียม
การ วางแผนกำหนดช่วงระยะเวลาในการปลูกที่เหมาะสมก็มีความสำคัญ เพราะว่าในเขตพื้นที่ปลูกยางใหม่ มีช่วงฤดูฝนเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ถ้าปลูกล่าช้าแล้วจะทำให้การเลื้อยของเถาถั่วไม่ทันที่จะคลุมได้เต็มพื้นที่ ก็เข้าสู่ช่วงแล้งเสียก่อนทำให้ชะงักการเจริญเติบโต สู้วัชพืชไม่ได้จากการทดลอง และศึกษาจากการปลูกในพื้นที่จริงของเกษตรกร สามารถกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกได้ดังนี้

  • ระยะการเพาะต้นกล้า ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน
  • ระยะการปลูก ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนสิงหาคม
  • ระยะเจริญเติบโต ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
  • ระยะเริ่มออกดอกและติดฝัก ตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์
  • ระยะฝักแก่และเก็บเกี่ยว ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม
  • ทั้ง นี้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตโดยเฉพาะช่วงเวลาการติดดอก ในแต่ละปีอาจจะเลื่อนช้าออกไปหรือเร็วขึ้นได้ตามช่วงแสงที่ต้นถั่วได้รับใน แต่ละวัน นั้นคือถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็แล้วแต่ความหนาวจะมาเยือนเร็วหรือไม่นั่นเอง

ซีรูเลียม เป็นพืชคลุมดินตระกลูถั่ว อายุข้ามปีและเป็นพืชวันสั้น มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ รากจะมีปมตรึงไนโตรเจนจากอากาศ สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะของลำต้นเป็นเถาเลื้อยแข็งแรง เห็นขนไม่ชัด ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันคล้ายใบโพธิ์ ใบค่อนข้างหนา ดอกเป็นช่อสีม่วง ซีรูเลียมจะเริ่มออกดอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฝักจะมีลักษณะแบนยาวมีสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่ ฝักจะแตกออกมาเองเมื่อแห้งจัด เมล็ดมีขนาดใหญ่ เปลือกหุ้มเมล็ดหนา เมล็ดมีสีเหลืองจนถึงน้ำตาล ผิวเรียบเป็นมัน น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดประมาณ 28,420 เมล็ด ระบบรากมีทั้งรากแก้วและรากฝอย

seroliums

ซีรูเลียมอายุยืนทนแล้ง
พืชคลุมทั่วไปไม่สามารถทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ โดยปกติพืชคลุมจะแห้งตายในฤดูร้อนและซากกองพืชคลุมจะเป็นเชื้อเพลิงก่อให้เกิดไฟไหม้สวนยางพารา สวนไม้ผลและสวนปาล์มน้ำมันที่ปลูกพืชคลุมเหล่านี้ จากการศึกษาและประสบการณ์ในการปลูกซีรูเลียมในระหว่างแถวยางพาราและไม้ผล พบว่า ซีรูเลียมมีอายุยืนนานและมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ในภาคใต้ไม่แห้งตายในฤดูร้อน จึงไม่เป็นปัญหาเกิดไฟไหม้สวนยางพารา สำหรับในพื้นที่ปลูกยางพาราใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซีรูเลียมจะทิ้งใบแห้งคลุมผิวดิน อาจเป็นเชื้อเพลิงเกิดไฟไหม้สวนได้ แต่ความรุนแรงจะน้อยกว่าสวนยางพาราที่มีหญ้าคา หรือหญ้าขจรจบปกคลุม

ทนทานแม้อยู่ในร่ม
พืชคลุมทั่วไปไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มเงา โดยปกติพืชคลุมจะเจริญเติบโตได้ดี เมื่อปลูกในระหว่างแถวยางพาราที่ได้รับแสงแดดเต็มที่เมื่อต้นยางพาราเจริญเติบโตมีร่มเงาเกิดขึ้นในระหว่างแถวพืชคลุมอื่นมักจะตาย หรือเจริญเติบโตได้ไม่ดี แต่ซีรูเลียมไม่ตายและยังคงสามารถเจริญเติบโตและควบคุมวัชพืชได้ดีในสภาพร่มเงา

seroliumsog

ใช้ซีรูเลียมลดการใช้สารเคมี
ปัญหาที่สำคัญของการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน คือการควบคุมและกำจัดวัชพืช สารเคมีกำจัดวัชพืชที่ใช้มากในสวนยางพาราปาล์มน้ำมัน และผลไม้ คือ ไกลโฟเสทและพาราควอท ซึ่งประเทศไทยนำเข้ามาในปี พ.ศ. 2554 คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,237 ล้านบาท นอกจากสารเคมีดังกล่าวจะทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินตราแล้ว ยังทำให้เกิดพิษภัยทำลายคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และมีผลทำลายสภาพแวดล้อมคิดเป็นมูลค่าที่ประเมินไม่ได้ การปลูกซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินในระหว่างแถวยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ช่วยลดการใช้สารเคมีควบคุมกำจัดวัชพืชในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้

ป้องกันการชะล้างหน้าดินในสภาพพื้นที่ลาดเท
โดยปกติเมื่อฝนตกในบริเวณสวนยางพารา ทรงพุ่มของต้นยางพาราจะช่วยซับและรับปริมาณน้ำฝนส่วนหนึ่งไว้ที่ใบน้ำฝนบางส่วนจะระเหยไปก่อนลงสู่พื้นดิน บางส่วนของน้ำฝนจะไหลลงมาตามลำต้นและบางส่วนจะตกผ่านทรงพุ่มลงสู่พื้นดิน การปลูกซีรูเลียมในระหว่างแถวยางพาราปาล์มน้ำมันและไม้ผล จะช่วยรับน้ำที่ผ่านทรงพุ่มอีกชั้นหนึ่งได้ดีก่อนลงสู่พื้นดิน เนื่องจากซีรูเลียมมีคุณสมบัติเป็นพืชคลุมดินถาวร มีอายุนานทนต่อสภาพร่มเงามีพื้นที่ใบคลุมดินได้หนาแน่น ซากของพืชคลุมซีรูเลียมที่แห้งตายถูกปลดปล่อยลงดิน เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ช่วยในการดูดซับและเก็บกักน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ซีรูเลียมมีระบบรากฝอยหนาแน่น ช่วยยึดอนุภาคและโครงสร้างของดิน ป้องกันการชะล้างและพังทลายหน้าดินได้ดีขึ้น

seroliumpoom

ซีรูเลียมหายากปัญหาหลักของการวิจัย
ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการวิจัยและพัฒนาคือ เมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมหายากและมีราคาสูง เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมันและไม้ผล ซีรูเลียมออกดอกและติดเมล็ดน้อยมาก จากการศึกษาวิจัยพบว่า พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่ซีรูเลียมออกดอกและติดฝักได้ดี เมื่อมีการทำค้าง และใช้สารพาโคลบิวทราโซล (Paclobutrazol) ควบคุมการเจริญเติบโต มีศักยภาพให้ผลผลิตเมล็ดซีรูเลียมสูงถึง 120 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งราคาซื้อขายเมล็ดซีรูเลียมกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 300 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเมล็ดซีรูเลียมประมาณ 36,000 บาท/ไร่

การศึกษาการขยายพันธุ์ โดยวิธีปักชำเพาะเมล็ดในถุงพลาสติกเพื่อผลิตต้นกล้า และการปรับปรุงเทคนิคการปลูกเพื่อลดการใช้เมล็ดพันธุ์และต้นกล้าต่อไร่ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียม การกำหนดนโยบายและแนวทางพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมเป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญ ระดมแนวความคิดของนักวิชาการ เร่งรัดให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมเพิ่มขึ้น

seroliummed

ซีรูเลียม เป็นพืชคลุมดินตระกูลถั่วที่มีคุณสมบัติเด่นในการเจริญเติบโตและสามารถคลุมดินได้หนาแน่นเจริญเติบโตได้ดีแม้ในสภาพร่มเงา ช่วยรักษาความชื้นในดิน ประโยชน์ของพืชคลุมซีรูเลียม ที่เห็นได้ชัดมีอยู่หลายประการได้แก่

  1. เพิ่มอินทรียวัตถุและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน จากการศึกษาพืชคลุมซีรุเลียมในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน เป็นเวลา 5 ปี พบว่าการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมเพียงอย่างเดียว ทำให้มีปริมาณอินทรียวัตถุจากเศษซากพืชคลุมสูงถึง 3.48 ตัน และมีปริมาณธาตุอาหารที่คืนให้แก่ดิน ได้แก่ ไนโตรเจน 81.0 กก./ไร่ ฟอสฟอรัส 5.9 กก./ไร่ โปแตสเซียม 24.8 กก./ไร่ แมกนีเซียม 8.6 กก./ไร่ และแคลเซียม 63.6 กก./ไร่
  2. สามารถคลุมวัชพืชได้ดี เมื่อพืชคลุมซีรูเลียมเจริญเติบโตเต็มที่ จะคลุมดินได้หนาแน่น จนวัชพืชอื่นไม่สามารถเจริญเติบโตได้
  3. ช่วยป้องกันการชะล้างและการพังทลายของดิน พืชคลุมซีรูเลียมมีระบบรากฝอยที่หนาแน่น ช่วยยึดอนุภาคและโครงสร้างของดินได้ดี ทำให้ช่วยป้องกันการชะล้างและพังทลายของหน้าดินได้ดีขึ้น
  4. มีอายุยืนและทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง พืชคลุมทั่วไปไม่ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง พืชคลุมจะแห้งตายในฤดูร้อน และซากกองพืชคลุมจะเป็นเชื้อเพลิงก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ ขณะที่พืชคลุมซีรูเลียมมีอายุยืนนาน และมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี
  5. ทนทานต่อสภาพร่มเงา เมื่อต้นยางเจริญเติบโตมีร่มเงาเกิดขึ้นในระหว่างแถว พืชคลุมอื่นที่ปลูกในแถวมักตายหรือโตได้ไม่ดี แต่พืชคลุมซีรูเลียมยังสามารถเจริญเติบโต และควบคุมวัชพืชได้ดีในสภาพร่มเงา

หากผู้อ่านท่านใดสนใจเรื่องราวของซีรูเลียม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ตู้ ปณ. 69 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 หรือโทรศัพท์ได้ที่เบอร์ 0-4520-2187 ในวัน เวลาราชการ

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้เลื้อย

แสดงความคิดเห็น