ดองดึงเป็นพืชสมุนไพรจำพวกหัว ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคอีสานเรียก พันมหา, หัวขวาน, หัวฟาน หรือดาวดึง ซึ่งต้นดองดึงนั้นเป็นพืชที่อยู่ในแถบทวีปแอฟริกาเขตร้อนและเอเชียเขตร้อน รวมทั้งในประเทศไทยของเราด้วย โดยต้นดองดึงนั้นเป็นพืชสมุนไพรที่ชอบขึ้นอยู่ตามชายป่า ที่โล่ง หรือดินปนทราย ส่วนใหญ่มักจะนิยมนำต้นดองดึงมาปลูกไว้เป็นไม้ประดับเพื่อตกแต่ง และนำไปทำเป็นยาสมุนไพร รวมถึงใช้ในการรักษามะเร็งได้ด้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gloriosa superba L.
ชื่อสามัญ : Flame lily, Climbing lily, Turk’s cap, Superb lily, Gloriosa lily
วงศ์ : Colchicaceae
ชื่ออื่น : ก้ามปู (ชัยนาท); คมขวาน, บ้องขวาน, หัวขวาน (ชลบุรี); ดาวดึงส์, ว่านก้ามปู (ภาคกลาง); พันมหา (นครราชสีมา); มะขาโก้ง (ภาคเหนือ); หมอยหีย่า (อุดรธานี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาล้มลุกอายุหลายปี ยาวได้ถึง 5 เมตร มีเหง้าใต้ดินทรงกระบอกโค้ง ใบเดี่ยวเรียงสลับ หรือเรียงเป็นวงรอบข้อ 1-3 ใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาว 5-15 ซม. ปลายใบเรียวแหลมงอเป็นมือเกาะ ไร้ก้าน ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกใหญ่ ยาว 6-10 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 5 ซม. ดอกมีสีแดงด้านบน หรือตามขอบกลีบ มีสีเหลืองด้านล่าง บางครั้งมีสีเหลืองซีด อมเขียว หรือสีแดงทั้งดอก เกศรเพศผู้มี 6 อัน ก้านยาว 3-5 ซม. อับเรณูยาวประมาณ 1 ซม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.3-0.7 ซม. แยกเป็น 3 แฉก ผลรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 5-10 ซม. แตกตามรอยประสาน เมล็ดกลมสีแดงส้มจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ หัว แป้งที่ได้จากหัว เมล็ด ราก
สรรพคุณ
ราก, หัวดองดึง – แก้โรคเรื้อน คุดทะราด บาดแผล และขับผายลม รับประทานแก้ลมพรรดึก แก้เสมหะ แก้ลมจับโปง ลมเข้าข้อ (รูมาติซั่ม) หัวเข่าปวดบวมได้ดี หัวใช้ต้มรับประทานแก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แก้ลมจุกเสียด
แป้งที่ได้จากหัว, ราก
ข้อควรระวัง
ส่วนที่เป็นพิษ เหง้าและเมล็ด
สารพิษที่พบ colchicine
อาการพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ คลื่นหัวใจผิดปกติจนวัดไม่ได้ อาจจะมีอาการไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตในที่สุด
ตัวอย่างผู้ป่วย – ผู้ป่วยหญิงอายุ 28 ปี รับประทานหัวดองดึงเป็นอาหาร เพราะเข้าใจว่าเป็นกลอย มีอาการอาเจียน ท้องเสีย หลังจากรับประทานไปได้ 2-3 ชั่วโมง เข้าโรงพยาบาลในวันต่อมา มีอาการขาดน้ำและความดันเลือดต่ำวัดไม่ได้ มีไข้ อาเจียนและท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว วันที่ 4 หายใจไม่ได้ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด
การรักษา ต้องรีบพยายามล้างท้อง และรักษาปริมาณ electrolyte ให้สมดุลเพื่อป้องกันการช็อค อาจจำเป็นต้องให้ meperidine (50-100 มิลลิกรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือให้ meperidine ร่วมกับ atropine เพื่อลดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และควรมีเครื่องช่วยหายใจในกรณีที่เกิดการอัมพาตของกล้ามเนื้อ ภาวะการหายใจล้มเหลวหรือช็อค
การแพร่กระจายพันธุ์
ดองดึงมีถิ่นกำเนิดในอัฟริกาเขตร้อน ขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไปในเอเชียเขตร้อน รวมทั้งไทย ตามที่โล่ง ชายป่า ดินปนทราย สามารถขึ้นได้บนดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ จนถึงระดับความสูง 2500 เมตร (ในต่างประเทศ) นอกจากนี้พบปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในประเทศเขตอบอุ่น โดยเฉพาะในเรือนกระจก
การขยายพันธ์ ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้า หรือโดยการแยกหัว
วิธีการปลูก
ดองดึงมีวิธีการปลูกโดยการนำเอาเหง้าหรือหัว มาปลูกลงดิน โดยขุดหลุมปลูกกว้างลึกประมาณ 6 x 6 นิ้ว แล้วผสมดินปลูกกับปุ๋ยหมักใส่ก้นหลุม จึงนำหัวหรือเหง้าดองดึงลงวาง แล้วกลบดินพอมิด รดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 1 สัปดาห์ หัวหรือเหง้าดอกดึงก็จะแตกยอดอ่อน
การดูแลรักษา
แสง ดอกดึงเป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดี ทั้งในที่ที่มีแสงแดดจัด และแสงแดดร่มรำไรใต้ร่มเงา
น้ำ ชอบน้ำปานกลาง แต่การระบายน้ำจะต้องดี น้ำไม่ขังเพราะหากน้ำขังจะทำให้รากเน่า และ ทำให้เกิดความเสียหายแก่เถาดองดึงได้
ดิน ดองดึงชอบขึ้นในดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำได้ดี
ประโยชน์ เหง้าดองดึงมีสารอัลคลอลอย์ดหลายชนิดที่มีพิษถึงเสียชีวิตโดยเฉพาะสาร colchicines ถ้าใช้ในปริมาณน้อยสามารถใช้รักษาโรคเก๊าและมะเร็งได้
ป้ายคำ : สมุนไพร