ดินขุยไผ่ ดินใต้โคนกอไผ่ มีใบไผ่ร่วงหล่นทุกวัน ทับถมเป็นเวลานานเกิดการผุพังเน่าเปื่อย จึงมีการสะสมอินทรียวัตถุ เป็นอาหารให้จุลินทรีย์ในดินได้กัดกินและถ่ายมูลออกมาเป็นปุ๋ย เป็นธาตุอาหารบำรุงพืช มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืช เพราะโปร่ง ร่วน อุ้มน้ำได้ดี
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน อธิบายว่า จากการตรวจวิเคราะห์ดินขุยไผ่แล้ว พบข้อดีมี 2 ประการ
ประการแรก ดินใต้โคนกอไผ่ มีใบไผ่ร่วงหล่นทุกวัน ทับถมเป็นเวลานานเกิดการผุพังเน่าเปื่อย จึงมีการสะสมอินทรียวัตถุ เป็นอาหารให้จุลินทรีย์ในดินได้กัดกินและถ่ายมูลออกมาเป็นปุ๋ย เป็นธาตุอาหารบำรุงพืช
มันเลยทำให้ดินรอบๆโคนไผ่ ที่เรียกกันว่า ดินขุยไผ่ มีธาตุอาหารมากกว่าดินทั่วไป
ข้อดีประการที่ 2 คนทั่วไปไม่ค่อยรู้…ดินขุยไผ่มีเชื้อรา ไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยยับยั้งการเกิดของเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรครากเน่า โคนเน่าได้ดี
สารเร่ง พด.3 ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่นำมาแจกจ่ายให้เกษตรกรใช้ นี่ก็ได้มาจากดินขุยไผ่นี่แหละ เพียงแต่เอามาเพาะเลี้ยงให้เชื้อขยายเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพื่อให้มีจำนวนมากพอที่จะนำไปแจกจ่ายให้ชาวสวนผลไม้ โดยเฉพาะชาวสวนทุเรียน
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินบอกว่า ประโยชน์ตรงนี้ ไม่ได้มีไว้ใช้ป้องกันโรคราก-โคนเน่าในทุกทุเรียนอย่างเดียว พืชอื่นๆก็ใช้ได้…เอาดินขุยไผ่มารองกันหลุม หรือใส่ถุงเพาะเมล็ด เพื่อป้องกันโรคราก-โคนเน่าได้หมด
ตรงนี้แหละเป็นคำเฉลยว่า ทำไม ดินขุยไผ่ เอาไปปลูกต้นไม้อะไรก็งอกงาม ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี ไม่ยืนต้นตาย เพราะเอาเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า กิ่งชำ ฝังปักลงไป รากโคนไม่เน่า ต้นไม้ย่อมงอกงามได้ดี
ป้ายคำ : จุลินทรีย์