ไม้ตะกู ปลูกต้นไม้แก้จน

6 มิถุนายน 2556 ไม้ยืนต้น 0

ไม้ตะกูเป็นไม้เบิกนำที่เจริญเติบโตได้เร็วมากชนิดหนึ่ง ขึ้นเป็นกลุ่มเป็นก้อน ในพื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นไร่ร้าง เป็นไม้ที่มีวัยตัดฟันสั้น สามารถขึ้นได้ในสิ่งแวดล้อมหลายสภาพ ความสามารถในการแตกหน่อสูง หลังจากตัดต้นทิ้งสามารถแตกหน่อขึ้นจากตอได้ถึง 1-4 หน่อ มีปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลงทำลายน้อย
เนื้อไม้สามารถนำไปใช้เป็นไม้แปรรูปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทำเยื่อและกระดาษ ไม้บาง ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด พาร์ติเคิลบอร์ด เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ไม้แบบ ไม้กระดาน ไม้หน้าสาม งานฝีมือ รูปแกะสลัก และใช้ในโรงงานทำไม้ขีดไฟได้ดี

ชื่อพฤกษศาสตร์ : Anthocephalus chinensis Rich. ex Walp.
วงศ์ : Rubiaceae
อันดับ : Gentianales
ชื่อการค้า : ตะกู
ชื่อสามัญ : Bur-flower Tree
ชื่อท้องถิ่นในประเทศไทย : กรองประหยัน (ยะลา) กระทุ่มหรือกระทุ่มบก (กลาง, เหนือ) กว๋าง (ลาว) โกหว่า (ตรัง) แคแสง (ชลบุรี, จันทบุรี) ตะกู (กลาง, สุโขทัย) ตะโกส้ม (ชลบุรี, ชัยภูมิ) ตะโกใหญ่ (ตราด) ตุ้มก้านซ้วง, ตุ้มก้านยาว, ตุ้มเนี่ยงและตุ้มหลวง (เหนือ) ตุ้มขี้หมู (ภาคใต้) ทุ่มพราย (ขอนแก่น) ปะแด๊ะ, เปอแด๊ะและสะพรั่ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ปาแย (มลายู-ปัตตานี)

ลักษณะทั่วไป

  • ตะกูเป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 16-27 เมตร (สำหรับในประเทศไทย ต้นตะกูที่โตเต็มที่ที่พบในป่าธรรมชาติมีขนาดโตทางเส้นรอบวงเพียงอกประมาณ 280 ซม. สูงประมาณ 27 เมตร) เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งตั้งฉากกับลำต้น ส่วนใหญ่ลำต้นเปลาตรง มีการลิดกิ่งเองตามธรรมชาติ (บางถิ่นกำเนิดโดยเฉพาะในแถบประเทศอินเดีย ลำต้นจะไม่เปลาตรงเนื่องจากมีกิ่งขนาดใหญ่ การลิดกิ่งตามธรรมชาติมีน้อย) เปลือกสีเทาปนน้ำตาลค่อนข้างเรียบ เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ใบเดี่ยวเรียงตัวตรงข้ามเป็นคู่ ๆ มีขนาดประมาณ 5-12 x 10-24 ซม. ปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบป้าน เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบมีขนสาก ๆ และมีสีเข้มกว่าทางท้องใบ ท้องใบมีขนนุ่มและจะหลุดร่วงไปเมื่อใบแก่ เส้นแขนงใบมี 7-14 คู่ เห็นชัดทั้งสองด้าน
  • ดอกตะกูมีขนาดเล็กติดกันแน่นอยู่บนช่อดอกแบบ Head สีขาวปนเหลืองหรือสีส้ม กลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกเป็น ช่อกลมเดี่ยวหรือเป็นกระจุกไม่เกิน 2 ช่อ อยู่ตามปลายกิ่ง ผลตะกูเป็นผลเดี่ยวโดยเรียงกันแน่นเป็นก้อนกลมอยู่บนช่อดอก เรียกผลแบบนี้ว่า Fruiting Head มีขนาดความโตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-6 ซม. ผลแก่มีสีเหลืองเข้ม ในผลหนึ่ง ๆ จะมีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมากบรรจุอยู่ภายใน เมล็ดมีขนาดประมาณ 0.44 x 0.66 มม. เมล็ดแห้งหนัก 1 กิโลกรัม มีจำนวนเมล็ดประมาณ 18-26 ล้านเมล็ด
  • ผลแก่เป็นอาหารของสัตว์ป่าจำพวกกวาง เก้ง และนก ซึ่งสัตว์เหล่านี้ช่วยให้การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ (Natural Regeneration) ของไม้ตะกูเกิดขึ้นได้ง่าย เราจึงสามารถพบเห็นกลุ่มไม้ตะกูขึ้นอยู่ทั่วไปในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งๆที่บางแห่งอาจจะมองไม่เห็นแม่ไม้ในบริเวณข้างเคียงเลยก็ตาม

ลักษณะต้นตะกู

  • เป็นไม้ที่มีลำต้นสูงใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม สูง. 15 30 เมตร
  • เนื้อละเอียดสีเหลืองนวล แข็งแรง น้ำหนักเบา
  • เปลือกสีน้ำตาล ขรุขระเป็นร่องละเอียดตามแนวลำต้น
  • กิ่งแตกเป็นแนวทำมุมกับพื้นดิน วางตำแหน่งเป็นคู่ ในตำแหน่งตรงข้ามกันเป็นช่วง ๆ ตามแนวลำต้น แต่ละช่วงสลับกัน
  • ใบเป็นใบเดี่ยวทรงรีคล้ายใบสัก ผิวเนียนละเอียด แผ่นใบด้านบนมีขนสาก ๆ และมีสีเข้ม ส่วนท้องใบจะมีขนสั้น ๆ แทบมองไม่เห็น แต่สัมผัสนุ่มมืออยู่ด้านล่าง
  • เนื้อใบค่อนข้างหนา ปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบป้าน เป็นเส้นใบชัดทั้งสองด้าน
  • ใบมีกลิ่นหอม ดอกมีสีเขียวอมเหลืองเมื่อแก่จะเป็นสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอม กลุ่มดอกลักษณะกลมใหญ่ ประมาณ 3.5 7 เซนติเมตร จะออกในตำแหน่งปลายกิ่ง ในกลุ่มดอกมีกลีบดอกอัดแน่นจำนวนมากแต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบหยักมนและแผ่ออกเล็กน้อย ใต้กลีบดอกมีกระเปาะเมล็ด 5 กระเปาะ มีเมล็ดข้างใน เมื่อผลแก่เต็มที่จะร่วงลงตามธรรมชาติ
  • เริ่มออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 4 ปี สำหรับต้นที่โตเต็มที่แล้วจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน กันยายน ผลรวมอุ้มน้ำ เกิดจากวงกลีบรองดอกของแต่ละดอกเชื่อมติดต่อกันโดยเรียงกันแน่นเป็นก้อนกลมอยู่บนช่อดอก มีขนาดความโตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 6 เซนติเมตร

ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ
ตะกูพบการกระจายพันธุ์อยู่ในช่วงเส้นรุ้งที่ 9-27 องศาเหนือ ตั้งแต่ประเทศเนปาล ไล่มาทางทิศตะวันออกจนถึงบังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลงไปจนถึงหมู่เกาะปาปัวนิวกินี ในประเทศไทยตะกูมีการกระจายพันธุ์แทบทุกภาคของประเทศ โดยพบที่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก แพร่ กำแพงเพชร อุทัยธานี เลย เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี ตรัง สตูล และภูเก็ต ขึ้นได้ตั้งแต่ที่ราบริมทะเลไปจนถึงระดับความสูง 1,000 เมตร ปริมาณน้ำฝนรายปี 1,000-5,000 มิลลิเมตร โดยมักพบต้นตะกูขึ้นเป็นกลุ่มล้วน ๆ ในป่าดั้งเดิมที่ถูกแผ้วถางแล้วปล่อยทิ้งร้างไว้ หรือสองข้างทางรถยนต์ที่ตัดผ่านป่าที่ค่อนข้างชุ่มชื้น เช่นป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง เป็นต้น

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ลักษณะทางนิเวศวิทยา (Ecological aspects)
การเจริญเติบโตของต้นตะกูขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายชนิดที่สำคัญได้แก่ ดิน น้ำ อุณหภูมิ และแสงสว่าง ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นตะกู ได้แก่ ดินตะกอนทับถม ที่มีผิวหน้าดินลึกและระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง ความชื้นในดินเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตของไม้ตะกู ไม้ตะกูจะขึ้นได้ดีในท้องที่ที่มีฝนตกประมาณ 1,500 5,000 มิลลิเมตรต่อปี และมีความชื้นในอากาศไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตของไม้ตะกูอีกปัจจัยหนึ่ง ไม้ตะกูเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิระหว่าง 21 32 องศาเซลเซียส ที่อุณหภูมิสูงกว่า หรือต่ำกว่าช่วงดังกล่าว การเจริญเติบโตของไม้ตะกูจะลดลง แสงเป็นปัจจัยมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของไม้ตะกูอีกชนิดหนึ่งไม่น้อยไปกว่า ดิน น้ำ และอุณหภูมิ นั่นคือ ไม้ตะกูก็เป็นพรรณไม้ที่ต้องการแสงมากชนิดหนึ่ง (light demanding species) การเจริญเติบโตของไม้ตะกู (เทียบจากปริมาณน้ำหนักแห้งทั้งต้น) จะดีที่สุดเมื่อปลูกในที่มีความเข้มของแสงปริมาณ 75% (ของ full daylight) และจะช้าที่สุดเมื่อปลูกในที่ที่มีความเข็มแสงประมาณ 25 % เท่านั้น สำหรับด้านความสูงของไม้ตะกูถ้าปลูกในที่ที่ได้รับแสง 100 % จะสูงที่สุด และไม้ตะกูปลูกในที่ที่ได้รับแสง 25 % จะเตี้ยที่สุด ความยาวนานของแสง (day length) ในช่วง 8, 12 และ 16 ชั่วโมง มีผลต่อความแตกต่างด้านการเจริญเติบโตของกล้าไม้ตะกูน้อยมาก

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ปัจจัยควบคุมการเจริญเติบโตของไม้ตะกู

  1. ปริมาณน้ำฝนและความชื้นของดิน (Rainfall and soil moisture)
    ไม้ตะกูสามารถขึ้นได้ตามธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำฝนรายปี 1,000 5,000 มิลลิเมตร แต่ช่วงที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของไม้ตะกู คือ 1,500 5,000 มิลลิเมตร มีช่วงฤดูแล้งไม่เกิน 3 เดือน ส่วนไม้ตะกูที่ขึ้นในที่แห้งแล้งจะแคระแกร็น มีรูปร่างที่เป็นพุ่ม มีการเจริญเติบโตทางความสูงน้อย และอาจถึงตายได้ในช่วงฤดูร้อน ในทางตรงกันข้ามในพื้นที่ที่มีความชื้นสูงมาก ต้นตะกูจะมีขนาดใหญ่และมีความสูงมาก ซึ่งความใกล้ไกลจากแหล่งน้ำมีผลต่อปริมาณความชื้นในดินด้วย
  2. อุณหภูมิและปริมาณความชื้นในบรรยากาศ (Temperature)
    เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้ตะกู ซึ่งสามารถจะพบไม้ตะกู ได้ในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ 15-35 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือประมาณ 21-32 องศาเซลเซียส ปริมาณความชื้นในบรรยากาศไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ น้ำค้างแข็ง (frost) มีอิทธิพลต่อไม้ตะกู โดยจะทำอันตรายต่อส่วนที่อวบน้ำของไม้ตะกู เช่น ยอด ใบอ่อน และเยื่อเจริญของเปลือก ทำให้เกิดการตายจากยอดลงมา (die-back)
  3. แสง (Light)
    แสง (Light) ไม้ตะกูเป็นไม้ที่ต้องการแสงมากและไม่ทนร่ม ความเข้มแสงที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต และการพัฒนาของกล้าไม้ตะกูจะอยู่ระหว่าง 75 94 % ของปริมาณแสง และกลางวันถ้าได้รับความเข้มแสงน้อยกว่านี้จะทำให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งของไม้ตะกูลดลง
  4. ความลาดชันของพื้นที่และความใกล้ไกลจากแหล่งน้ำ
    ที่สวนป่าตะกูอายุ 17 ปี ของบริษัทไม้ขีดไฟไทยตราพญานาค จำกัด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ต้นตะกูที่รอดตายและเติบโตได้ดีส่วนใหญ่อยู่ตามริมน้ำและบริเวณที่น้ำท่วมถึง ต้นที่ใหญ่ที่สุด วัดเส้นรอบวงที่ระดับอกได้ 255 ซม. หรือมีความเพิ่มพูนทางเส้นผ่าศูนย์กลางระดับอกเท่ากับ 4.72 ซม./ปี ซึ่งจัดว่าโตเร็วมาก แต่เป็นต้นที่อยู่ริมหนองน้ำต้นเดียวเท่านั้น ส่วนต้นที่อยู่บนเนินห่างจากหนองน้ำออกไปจะค่อยๆ โตช้าลงเรื่อยๆ ตามระยะทางที่ห่างจากริมน้ำและความลาดชันของพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น
  5. ธาตุอาหารและค่า pH ของดิน
    ยังไม่มีการศึกษา

วนวัฒน์วิธีในการปลูกไม้ตะกู
1. การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เมล็ดตะกูใหม่ ๆ มีการงอกของเมล็ดสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเก็บทิ้งไว้นาน 1 ปี อัตราการงอกจะลดลงเหลือเพียง 5 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมล็ดที่จะนำมาเพาะจะต้องเป็นเมล็ดที่เก็บใหม่เท่านั้น โดยเมล็ดจะเริ่มงอกภายใน 3 4 สัปดาห์ หลังการเพาะ แต่กว่าจะย้ายต้นกล้าลงถุงพลาสติกได้ต้องรอให้อายุ 2 3 เดือน แล้วเลี้ยงต้นกล้าไว้ในถุงย้ายชำอีกอย่างน้อย 4 เดือน จึงจะได้ต้นกล้าสูงประมาณ 25 30 เซนติเมตร ซึ่งพร้อมจะนำไปปลูกได้ ดังนั้นจากเมล็ดไม้ตะกูกว่าจะได้ต้นกล้าที่ใช้ปลูกได้ต้องใช้เวลาประมาณ 7 เดือน ซึ่งยาวนานกว่าการผลิตกล้าไม้กระถินเทพาเล็กน้อย แต่สั้นกว่าการผลิตเหง้าสักซึ่งต้องใช้เวลา 10 12 เดือน หากลงมือหว่านเมล็ดในเดือนพฤศจิกายน ก็จะได้ต้นกล้าที่จะนำไปปลูกในเดือนมิถุนายนของปีถัดไป

tragookla

นอกจากการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ (Reproductive Propagation) ด้วยการเพาะเมล็ดแล้ว ไม้ตะกูยังสามารถขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ (Vegetative Propagation) ด้วยวิธีต่าง ๆ ได้อีก เช่น การตัดยอดปักชำ การต่อกิ่ง การติดตา การเสียบยอด และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมทั้งการแตกหน่อหลังการตัดฟัน (Coppice System)

2. การเตรียมพื้นที่ปลูก
จะต้องเตรียมพื้นที่ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายนเป็นอย่างช้า ควรมีการกำจัดวัชพืช หรือถ้าให้ดีควรทำการไถพรวนพื้นที่ด้วยรถแทรกเตอร์ เพราะนอกจากจะเป็นการพลิกดินให้ร่วนซุยแล้วยังเป็นการกำจัดวัชพืชอีกทางหนึ่ง อันจะส่งผลดีทำให้กล้าไม้ตั้งตัวและเจริญเติบโตได้รวดเร็วขึ้น

tagooyak

3. ระยะปลูก
เนื่องจากไม้ตะกูเป็นไม้ที่โตเร็ว ประกอบกับมีเรือนยอดแผ่กว้างกิ่งตั้งฉากกับลำต้น ระยะปลูกที่เหมาะสมจึงไม่ควรน้อยกว่า 4 x 4 เมตร หรือความหนาแน่นของหมู่ไม้ไม่ควรเกิน 100 ต้นต่อไร่ หากปลูกในระบบวนเกษตรควรใช้ระยะปลูก 3 x 6 เมตร 4 x 6 เมตร หรือ 6 x 6 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชควบคุม และจำนวนปีที่ต้องการปลูกพืชแทรก

4. การบำรุงรักษา
ควรมีการปลูกซ่อม การปราบวัชพืช การทำแนวกันไฟ การชิงเผาเพื่อลดเชื้อเพลิง และการตัดสางขยายระยะเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของไม้ที่เหลือ

tagooplug

โรค แมลง และศัตรูธรรมชาติ
ไม้ตะกูที่ปลูกเป็นสวนป่าโดยเฉพาะสวนป่าที่มีระยะปลูกค่อนข้างถี่หรือหมู่ไม้มีความหนาแน่นสูง มักจะมีปัญหาเรื่องโรค รา และแมลงมากกว่าหมู่ไม้ที่ขึ้นอยู่ห่าง ๆ เป็นกลุ่ม ๆ ตามธรรมชาติ แมลงศัตรูที่สำคัญของไม้ตะกูได้แก่ หนอนม้วนใบ (Margaronia hilararis) หนอนผีเสื้อ (Arthroschista hilararis) และนีมาโทดจำพวก Meloidogyne sp. เกาะทำลายเรือนรากทำให้ต้นไม้ตายได้

จากการศึกษาของ คุณประจักษ์ รื่นฤทธิ์ (2550) พบว่า หนอนกาแฟสีแดง Zeuzera coffeae Nietner ( Cossidae: Lepidoptera) มีการระบาดในแปลงปลูกไม้ตะกูที่สวนป่าไม้ขีดไฟไทยจำกัด โดยเจาะชอนไชกินเนื้อไม้อยู่ภายในขึ้นไปที่ยอดหรือลงสู่ส่วนล่างของลำต้น ซึ่งการป้องกันให้ได้ผลจำเป็นต้องพ่นสารเคมีที่ลำต้นตั้งแต่ช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี โดยพ่นทุก ๆ 1 เดือน

อัตราการเจริญเติบโต
อัตราการเจริญเติบโตของไม้ตะกูในระยะแรก ๆ อาจช้า แต่ต่อมาจะเร็วมาก ภายหลังย้ายปลูกแล้ว 1 ปี อาจสูงถึง 3 เมตร อัตราการเจริญเติบโตทางความสูงโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 2-3 เมตร/ปี ติดต่อกันไปนาน 6-8 ปี การเจริญเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.3-7.6 ซม./ปี

คุณภาพเนื้อไม้
ไม้ตะกูถูกจัดให้อยู่ในประเภทไม้เนื้อแข็งปานกลางแต่ความทนทานตามธรรมชาติต่ำ (ตามหลักเกณฑ์การแบ่งคุณภาพเนื้อไม้ตามมาตรฐานกรมป่าไม้) ในด้านคุณสมบัติในการใช้งาน ทั้งการเลื่อย การไส การเจาะและการกลึง ทำได้ค่อนข้างง่าย ส่วนการยึดเหนี่ยวตะปูมีน้อย การขัดเงาทำได้ง่ายมาก โดยเมื่อเปรียบเทียบความแข็งแรงกับไม้โตเร็วบางชนิด เช่น ยางพารา จำปาป่า กระถินเทพา และ ยูคาลิปตัส แล้ว ไม้ตะกูมีค่าความแข็งแรง ความเหนียวจากการเดาะและความแข็งต่ำที่สุด

tagoomai

การใช้ประโยชน์
ใช้ทำเครื่องเรือนราคาถูก ทำไม้รองยก (พาเลท) ไม้ประสาน กรอบและบานหน้าต่าง งานกลึง แกะสลัก ทำพื้นและฝาที่ใช้งานในร่ม (ใช้ภายนอกไม่ทนทาน) ทำไม้อัด ไม้บาง ก้านไม้ขีดไฟ ไฟเบอร์บอร์ด พาร์ติเคิลบอร์ด แปรงลบกระดานและรองเท้า ในท้องที่ภาคใต้นิยมใช้ทำคอกเลี้ยงสุกร การใช้ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของไม้ตะกู ได้แก่ ใช้ในการทำเยื่อและกระดาษ

tagoosao

ลักษณะเนื้อไม้

  1. เป็นไม้ที่มีสีเหลืองนวล แข็งแรง ทนทาน
  2. เนื้อละเอียด น้ำหนักเบา มีความเหนียว ไม่แตกหักง่าย ขึ้นรูปง่าย
  3. ปลวกหรือมอดไม้ ไม่กินเหมือนไม้สัก จึงนิยมนำมาสร้างบ้าน ทำไม้พื้น ไม้กระดาน เสาบ้าน ประตู หน้าต่าง วงกบ เหมาะสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน เครื่องใช้ในบ้าน ง่ายต่อการทำการแปรรูป ถือเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง จึงถูกนำมาแกะสลักเป็นรูปเคารพต่าง ๆ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกจัดเป็นไม้มงคล เพราะในอินเดียเชื่อกันว่าเป็นต้นไม้ที่โปรดปรานของพระกฤษณะ และชาวอินเดียนิยมนำดอกตะกูไปใช้ในการบูชาเทพเจ้า และยังนิยมนำดอกตะกูไปสกัดเพื่อเป็นส่วนประกอบของหัวน้ำหอม
  4. ถ่านไม้ตะกูมีการติดไฟดีมาก เป็นแท่งไม่แตกไม่หัก ถ่านมีน้ำหนักเบา

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ยืนต้น

แสดงความคิดเห็น