ตะบูนขาวเป็นไม้ป่าชายเลนที่ขึ้นปะปนกับไม้หลายประเภท เช่น ไม้โปรงแดง ไม้พังกาหัวสุมดอกแดง พังกาหัวสุมดอกขาว ถั่วดำ ตาตุ่ม และไม้โกงกางใบเล็ก เป็นต้น ความจริงแล้วไม้ชนิดนี้นอกจากจะขึ้นได้ดีในน้ำกร่อยแล้วก็สามารถขึ้นได้ดีในน้ำจืดอีกด้วย แต่พบน้อยมาก ต้นสีเหลืองและมีสีขาวปะปนบ้างเหมือนต้นฝรั่ง ใบมีลักษณะคล้ายใบพาย ปลายมน ดอกหอมยามบ่ายถึงค่ำคืน ผลมีขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่มีเมล็ดอยู่ข้างใน 4 – 17 เมล็ด สีของผลเหมือนลูกทับทิม ลักษณะรากเป็นรากใหญ่แบน บ้างกลมบ้างอยู่บนผิวดินและใต้ดิน และแตกสาขามาก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylocarpus granatum Koenig
ชื่อวงศ์ MELIACEAE
ชื่อเรียกอื่น กระบูน กระบูนขาว ตะบูน (กลาง, ใต้), หยี่เหร่ (ใต้)
ลักษณะ
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงกลาง สูง ๘ – ๒๐ เมตร ไม่ผลัด โคนต้นมีพูพอนแผ่ออกคดเคี้ยวต่อเนื่องกับรากหายใจที่แบนคล้ายแผ่นกระดาน เปลือกเรียบบางใบ ยอดแผ่กว้าง รูปทรงไม่แน่นอน ลำต้นมักคดงอ โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกสีเทาอมขาวน้ำตาลแดง เรียบบาง คล้ายต้นฝรั่งหรือต้นตะแบก รากมีลักษณะแบน แตกสาขามากมายอยู่บนผิวดินและใต้ดิน
- ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อยเรียงตรงข้าม มี 2 คู่ รูปไข่กลับ กว้าง 4.5-5 ซม. ยาว 6-12 ซม. ปลายใบมนโคนใบ สอบเรียว แผ่นใบหนาและเปราะ ขอบใบโค้งลงและเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ 6-9 เส้น ก้านใบสีน้ำตาลสั้น ยาว 0.3-0.5 ซม.
- ดอก สีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมยามบ่ายถึงคํ่า ออกรวมเป็นช่อ แบบช่อแยกแขนงตามซอกใบ กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมสั้น 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ ดอกบานเต็มที่กว้าง 1-1.2 ซม. เกสรเพศผู้ 8 อัน ออกดอกเดือน มี.ค.-เม.ย.
- ผล แห้งแตก ทรงกลมแข็ง สีน้ำตาล ขนาด 15-20 ซม. ก้านผลยาว 3-5 ซม. หนัก 1-2 กก. ซึ่งมีขนาดผลใหญ่ที่สุดในกลุ่มของตะบัน ตะบูนขาวและดำ มีร่องตามยาวตามผล 4 แนว มีเมล็ด รูปร่างเหลี่ยม โค้งปลายแบบประสานเข้าเป็นรูปทรงกลม 4-17 เมล็ดต่อผล สีของผลเหมือนลูกทับทิม ออกผลเดือน มิ.ย.-ก.พ.


การกระจายพันธุ์
พบตามชายฝั่งทะเลในเขตร้อนชื้น ตั้งแต่แอฟริกา เอเชีย จนถึงออสเตรเลีย

การเจริญเติบโต มักขึ้นปะปนกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลายชนิด เช่นไม้พังกา หัวสุมดอกขาว ถั่วดำตาตุ่มทะเลและไม่โกงกางใบเล็กเป็นต้นขึ้นได้ดีในน้ำกร่อยพบบ้างเล็กน้อยในบริเวณน้ำจืด

ประโยชน์
- เนื้อไม้มีสีขาว ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เปลือก ให้น้ำฝาด ย้อมผ้า ผล แก้อหิวาตกโรค
- เปลือกและเมล็ด แก้ท้องร่วง เป็นยาบำรุง และแก้ไอ
- เปลือกไม้จะมีรสฝาดใช้แก้อาการท้องเสีย อาการอักเสบในลำไส้ อาการผิดปกติใน ช่องท้อง ใช้เป็นยาลดไข้ รักษาแผลภายใน หรือ ต้มตำให้ละเอียด พอกแผลสดเป็นหนอง แผลบวม ฟอกช้ำ
- เปลือก และผลนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างทำความสะอาดบาดแผลได้ดี
- ผล นำไปต้มใช้ดื่มแก้ท้องเสีย ป่วงลม หรือ ตากแห้งแล้วเผาไฟ ผสมเห็ดพังกาเผากับน้ำมะพร้าว เป็นยาทาแก้มะเร็งผิวหนัง หรือ ผสมเปลือกพังกา จะทำให้แผลมะเร็งยุบตัวเร็ว
- เมล็ดรับประทานแก้ท้องร่วง
- เปลือก หรือ เมล็ด 1 – 2 เมล็ด ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง ใช้ฝาดสมานแก้ท้องเสีย แก้บิด
- เปลือกไม้ใช้ในการฟอกหนัง สำหรับใช้เป็นพื้นรองเท้า (heavy leather) ใช้ย้อมแห อวน บางครั้งใช้ย้อมสีเสื้อเป็นสีน้ำตาล ทำดินสอ

แหล่งข้อมูล
หนังสือพรรณไม้ในป่าชายเลน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2549.