ตะลิงปลิง เปรี้ยวได้ใจหลากหลายประโยชน์

11 กุมภาพันธ์ 2557 ไม้ผล 0

ตะลิงปลิงเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินโดนิเซีย และพบตามชายทะเลในประเทศบราซิล มีการปลูกในประเทศไทยนานแล้วพบทั่วไปตามสวนและตามบ้าน ออกผลตามกิ่งก้านและลำต้นเป็นพวงแน่นและสวยงาม จึงเป็นที่นิยิมปลูกทั่วไป เป็นไม้ผลใช้บริโภค ตะลิงปลิงอยู่ในสกุลเดียวกับมะเฟือง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa bilimbi L.
วงศ์ Oxalidaceae นับเป็นญาติกับมะเฟือง
ชื่ออื่น ลิงปิ้ง หลิ้งปิ้ง หลี้งตี้ง ลีหมิง เฟืองเทศ มะเฟืองตรน หลิงปลิง (ใต้) กะลิงปริง ปลีมิง ลิงปลิง ลิงปลิง (ระนอง) มูงมัง (เกาะสมุย) บลีมิง (มาเลย์-นราธิวาส) Bilimbi, Bilimbing, Cucumber Tree, Tree Sorrel

talingplings

ตะลิงปลิงเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 5 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปราะหักง่าย เปลือกต้นมีสีชมพู ผิวเรียบมีขนนุ่มปกคลุมตามกิ่ง

  • ใบประกอบแบบขนนก ก้านใบหนึ่งประกอบด้วยใบย่อย 11 – 37 ใบ ใบย่อยรูปหอก ปลายใบแหลม โคนมน จะเรียงจากขนาดเล็กไปหาขนาดใหญ่ ที่โคนจะมีขนาดเล็ก ใบกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 2 – 5 เซนติเมตร มีสีเขียวอ่อนมีขนนุ่มๆ ปกคลุมอยู่
  • ออกดอกเป็นช่อหลายช่อ ตามลำต้นหรือกิ่ง ในแต่ละช่อมีความยาวไม่เกิน 6 นิ้ว ดอกมี 5 กลีบ สีแดงเข้ม กลีบเลี้ยง 5 กลีบเช่นกัน สีเขียวอมชมพู ดอกมีกลิ่น เกสรกลางดอกมีสีเขียว
  • ผลกลมยาวปลายมน ผลยาว 4-6 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร เป็นพูตามยาว ผิวเรียบมีสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีเหลือง เนื้อเหลว ออกเป็นช่อห้อย รสเปรี้ยว เมล็ดแบน
  • เมล็ด มีลักษณะแบนยาวสีขาว

talingplingking talingplingcho talingplingpons

ลูกตะลิงปลิง 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 11 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย

  • เส้นใย 0.3 กรัม
  • แคลเซียม 1 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 6 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 0.2 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 267 หน่วยสากล (IU)
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม
  • ไนอาซีน 0.7 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 2 มิลลิกรัม

สรรพคุณในตำรายาไทย

  • ราก : สรรพคุณแก้พิษร้อนใน กระหายน้ำ ฝาดสมาน บำรุงกระเพาะอาหาร แก้เลือดออกตามกระเพาะอาหาร ลำไส้ ดับพิษร้อนของไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้คัน แก้คางทูม แก้ไขข้ออักเสบ รักษาสิว รักษาซิฟิลิส บรรเทาโรคเกาต์ บรรเทาการอักเสบของลำไส้ใหญ่
  • ใบ : สรรพคุณใช้พอกแก้คัน ที่ประเทศฟิลิปปินส์ใช้พอกรักษาคางทูม โรคข้อรูมาตอยด์ และรักษาสิว ใช้ภายในโดยนำมาต้มดื่มรักษาอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ รักษาซิฟิลิส แก้ไขข้ออักเสบ น้ำต้มใบใช้อาบให้กับผู้ป่วยที่มีไข้
  • ดอก : นำมาชงเป็นชา สรรพคุณแก้ไอ
  • ผล : สรรพคุณเจริญอาหาร บำรุงกระเพาะอาหาร ฝาดสมานและลดไข้ แก้เสมหะเหนียว ฟอกโลหิต ยาบำรุงแก้ปวดมดลูก แก้ไอ บรรเทาโรคริดสีดวงทวาร แก้ลักปิดลักเปิด ชาวเกาะชวากินผลร่วมกับพริกไทยเพื่อขับเหงื่อในผู้มีอาการซึมเศร้า

talingplingdok

งานวิจัยปัจจุบัน
– น้ำต้มใบลดน้ำตาลและไตรกลีเซอไรด์ในหนูเบาหวาน
งานวิจัยที่ประเทศสิงคโปร์ทำการทดสอบคุณสมบัติ ในการลดน้ำตาลและลดไขมันของสารสกัดเอทานอลของ ใบตะลิงปลิง ขั้นแรกพบว่าเมื่อได้รับสารสกัดเอทานอล 125 มก./กก. วันละ 2 เวลา 14 วัน เปรียบเทียบกับยาเมตฟอร์มิน (metformin) 500 มก./กก. เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่า

talingpling

หนูที่ได้สารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงมีน้ำตาลในเลือดลดลงครึ่งหนึ่ง มีไตรกลีเซอไรด์ลดลงร้อยละ 130 มีปริมาณไขมันที่ดี (เอชดีแอลคอเลสเตอรอล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และลดระดับไลพิดเพอร์ออกซิเดชั่นของไต ผลดังกล่าวมีทิศทางเดียวกันกับหนูที่ได้รับเมตฟอร์มิน เห็นชัดว่าสารสกัดดังกล่าวมีผล ลด anti-atherogenic index และสัดส่วนเอชดีแอลคอเลสเตอรอลทั้งหมดในสัตว์ทดลอง

เมื่อนำสารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงข้างต้น ไปแยกต่อเป็นสารสกัดน้ำ บิวทานอล และเอทิลอะซีเทต โดยทดสอบเป็นเวลานานในหนูเบาหวานที่เหนี่ยวนำด้วยสเตร็ปโทโซโทซิน ที่ได้รับอาหารไขมันสูง พบว่า หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำและบิวทานอล (125 มก./กก. วันละ 2 ครั้งนาน 14 วัน) จากใบตะลิงปลิงมีปริมาณกลูโคสและไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดต่ำกว่าในหนูกลุ่มควบคุม หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำมีไกลโคเจนในตับสูงกว่าหนูกลุ่มควบคุม

หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำและบิวทานอลไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับของคอเลสเตอรอลและเอชดีแอลคอเลสเตอรอลแต่อย่างใด เมื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood glucose) ในหนูทดลองพบว่า ในวันที่ 7 และ 14 หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำและบิวทานอล มีค่าน้ำตาลในเลือดลดลง โดยหนูทั้ง 2 กลุ่มมีปริมาณอินซูลินสูงขึ้นในวันที่ 14 อย่างมีนัยสำคัญ สรุปว่าสารสกัดน้ำของสารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงมีผลในการลดปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือดสัตว์ทดลองได้ดี

– สารสกัดเอทานอลใบตะลิงปลิงแก้คัน
สารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงลดอาการผื่นแดงของผิวหนังในสัตว์ทดลอง การศึกษาที่ประเทศฟิลิปปินส์ใช้สารสกัดเอทานอล 10% ของใบตะลิงปลิงผสมในสูตรขี้ผึ้ง การทดสอบภาวะแพ้ที่ผิวหนัง ในหนู ที่มีผื่นแดงเทียบกับยาทาแก้แพ้ พบว่าขี้ผึ้งตะลิงปลิงลดอาการบวมแดงได้ใน 7ชั่วโมง กลุ่มทายาอาการหายไปใน 14 ชั่วโมง ส่วนกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับอะไรอาการผื่นแดงหายไปใน 23 ชั่วโมง

– น้ำคั้นผลตะลิงปลิงมีฤทธิ์คุมกำเนิด
งานวิจัยที่ฟิลิปปินส์เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวว่ามีการ ใช้น้ำคั้นผลตะลิงปลิงเพื่อคุมกำเนิดสุกร เมื่อให้น้ำคั้นจากผล 200 กรัม (ได้ 15 มิลลิลิตร) กับหนูอายุ 8 เดือนทุกวัน 10 วันก่อนผสมพันธุ์ 10 วันระหว่างผสมพันธุ์และหลังผสมพันธุ์ พบว่าร้อยละ 60 ของหนูที่ได้รับสารจากผลตะลิงปลิงไม่ติดลูก พบสเตอรอยด์ไกลโคไซด์และกรดออกซาลิกในน้ำคั้นที่ใช้ เชื่อว่าสารทั้งสองมีส่วนในการออกฤทธิ์คุมกำเนิดดังกล่าว

ตะลิงปลิงเป็นพรรณไม้ท้องถิ่นของประเทศในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังพบในประเทศบราซิล ในเมืองไทยเป็นไม้ที่ชาวบ้านนำมาปลูกตามบ้าน ตะลิงปลิงชอบดินร่วนปนทราย ตะลิงปลิงขยายพันธุ์ได้หลายวิธี คือ การเพาะเมล็ด การติดตา การต่อกิ่ง การทาบกิ่งและการตอนกิ่ง การตอนกิ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและดีกว่าวิธีอื่น

การปลูกและดูแลรักษา
ตะลิงปลิงปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินร่วนปนทราย ระบายนำ้ดี แต่ไม่ทนนำ้ท่วมขังเป็นเวลานาน นิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง ซึ่งต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทรงพุ่มสูงใหญ่ และแข็งแรงกว่าต้นที่ได้ตอนกิ่ง แต่จะใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะมีดอกมีผล ขณะที่ต้นจากการตอนกิ่งจะให้ผลหลังจากการปลูกลงดิน 5-8เดือน หลังจากปลูกได้นาน 3-4 เดือนควรหมั่นตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่ม ถ้าไม่ต้องการให้ต้นสูงมากก็ตัดส่วนยอดออกเพื่อให้แตกกิ่งข้าง ๆ จะช่วยให้เก็บผลได้ง่าย ควรใส่ปุ๋ยคอกทุก 3 เดือน

talingplingpol

น้ำตะลิงปลิงสด
ส่วนผสม

  • ตะลิงปลิง ประมาณ 1/2 ก.ก.
  • น้ำตาล 2 ถ้วย น้ำ 3 1/2 ถ้วย
  • เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

  1. เอาน้ำกับน้ำตาลตั้งไฟพอเดือดละลายดีก็ยกลง ทิ้งให้เย็น
  2. ล้างตะลิงปลิงให้สะอาด เอาขั้วออกและหั่นเอาเมล็ดออก หั่นขนาดไหนก็ได้เดี๋ยวก็จะปั่นแล้ว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
  3. เอาตะลิงปลิงใส่เครื่องปั่น 1 ส่วน และเติมน้ำเชื่อมไปครึ่งหนึ่ง จนถึงจุดที่ปั่นแล้วไม่ล้นเครื่องปั่น เติมเกลือ 1/2 ช้อนโต๊ะ ปั่นละเอียดมากๆ เทส่วนผสมที่ปั่นได้ลงในตะแกรง กรองเอากากออก ทำแบบเดิมกับตะลิงปลิงและน้ำเชื่อมส่วนที่เหลือ จะได้น้ำตะลิงปลิงที่รสเข้มข้น ประมาณเหยือก 1 ลิตร ลองชิมดูถ้าชอบรสเค็มต้องเติมเกลืออีกนิดหนึ่ง ถ้าอยากให้หวานน้อยลงก็เติมน้ำสุกเย็น กะดูให้รสหวาน เปรี้ยวกำลังดีเมื่อผสมกับน้ำแข็งเกล็ดแล้ว

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น