ตะเคียนทอง ไม้ใช้สอยเพื่อเป็นบำนาญชีวิต

28 ธันวาคม 2555 ไม้ยืนต้น 0

ตะเคียนทองเป็นไม้ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ทางตอนใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเซียแถบประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นไม้ในป่าดงดิบขึ้นเป็นหมู่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบ หรือค่อนข้างราบใกล้ฝั่งแม่น้ำ

ตะเคียนทอง
Hopea odorata Roxb.
ตะเคียนทอง มีชื่อพื้นเมืองต่างๆ ดังนี้ กะกี้ โกกี้ (กระเหรี่ยงแถบจังหวัดเชียงใหม่) แคน (ภาคเหนือ) จะเคียน (ภาคเหนือ) จูเค้ โซเก (กระเหรี่ยง จังหวัดกาญจนบุรี) ตะเคียน ตะเคียนทอง ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง) ไพร (ละว้า จังหวัดเชียงใหม่) และมีชื่อพื้นเมือง ภาษาอังกฤษว่า Iron wood ส่วนชื่อ วิทยาศาสตร์ คือ Hopea odorata Roxb. อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae มีถิ่นกำเนิดในป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรังทางภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือของประเทศไทย ขึ้นได้ดีบนที่ราบหรือค่อนข้างราบใกล้ริมน้ำ เป็นไม้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นไม้เด่นของป่าดิบชื้น

takiantree

ลักษณะทั่วไป
ตะเคียนทองเป็นไม้ขนาดใหญ่ สูง 20-40 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอด เป็นพุ่มทึบกลม หรือรูปเจดีย์ต่ำๆ เปลือกหนา สีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ด กระพี้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลแดง ใบ รูปไข่แกมรูปหอก หรือรูปดาบ ขนาด 3-6×10-14 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา ปลายใบเรียว โคนใบบนป้านและเบี้ยว หลังใบมีตุ่มเกลี้ยงๆ อยู่ตามง่ามแขนงใบ เส้นแขนงใบมี 9-13 คู่ ปลายโค้ง แต่ไม่จรดกัน ดอก เล็ก ออกเป็นช่อยาวๆ สีขาวตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลิ่นหอม ก้านช่อดอก ก้านดอก และกลีบรองกลีบดอกมีขนนุ่ม กลีบดอก และกลีบรอง กลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบโคนกลีบเชื่อมติดกัน ผล กลม หรือรูปไข่เกลี้ยง ปลายมน เป็นติ่งคล้ายหนามแหลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร ปีกยาว 1 คู่ รูปใบพาย ปลายปีกกว้างค่อย ๆ เรียวสวนมาทางโคนปีก เส้นปีกความยาวมี 7 เส้น ปีกสั้นมีความยาวไม่เกินความยาวตัวผล ดอกออกระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม ดอกจะไม่ออกทุกปี ช่วงดอกออกมากประมาณ 2-3 ปี/ครั้ง และจะแก่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน

takiandok

ลักษณะเนื้อไม้ สีเหลืองหม่น หรือสีน้ำตาลอมเหลือง มักมีเส้นขาวหรือเทาขาวผ่านเสมอ ซึ่งเป็นท่อน้ำมันหรือยาง เสี้ยนมักสน เนื้อละเอียดปานกลาง แข็ง เหนียว เด้งตัวได้มาก ทนทาน ทนปลวกได้ดี เลื่อย ไสกบ ตกแต่งและชักเงาได้ดีมาก ความถ่วงจำเพาะประมาณ 0.82 (12.6%) เนื้อไม้มีความแข็งประมาณ 625 กก. ความแข็งประมาณ 1,172 กก./ตร.ซม. ความดื้อประมาณ 120,000 กก./ตร.ซม. ความเหนียวประมาณ 4.70 กก.-ม. ความทนทานตามธรรมชาติ ตั้งแต่ 3.0 – 10.5 ปี เฉลี่ยประมาณ 7.7 ปี อาบน้ำยาได้ยาก (ชั้นที่4)

การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ
ตะเคียนทองมีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติทางตอนใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย แถบประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นไม้ในป่าดงดิบ มีการสืบพันธุ์ตามธรรมขาติค่อนข้างต่ำ กล้าไม้มีการเจริญเติบโตได้ 1-3 ปี มักจะถูกไฟคลอกตายในระยะหลัง จึงสมควรที่จะหาทางนำไปขยายปลูกในสวนป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติดั้งเดิมของไม้ตะเคียนทอง ลักษณะของต้นไม้ก็มีส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งต่อการกระจายพันธุ์ กล่าวคือ ตะเคียนทองเป็นไม้เด่นที่มีลำต้นสูง ผลจึงถูกลมพัดพาไปได้ไกล ๆ ประกอบกับเมล็ดมีการ เสื่อมการงอกไว เมื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ความชื้นไม่พอ ไม้ที่ให้ร่มเงา ในระยะแรกไม่มีเมล็ด จะไม่งอกหรืองอกแล้วตายไปในที่สุด ไม้ตะเคียนทองนับวันจึงลดลงเรื่อย ๆ

takianyod

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
ตะเคียนทองเป็นไม้ที่ชอบแสง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปลูกในสภาพสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมของมัน ซึ่งเปลี่ยนไปแล้วจะต้องมีไม้อภิบาลในระยะแรก จนกว่าไม้ตั้งตัวได้แล้วจึงปล่อยให้ขึ้นลำพังได้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการทดลองของธิติและคณะ (2534) ที่ปลูกไม้ตะเคียนทอง ร่วมกับไม้กระถินยักษ์ เปรียบเทียบกับปลูกในที่โล่ง พบว่า ระยะเวลาหกเดือนแรกหลังจากปลูก การรอดตายจะไม่แตกต่างกัน เนื่องจากยังมีความชื้นเพียงพอ แต่หลังจากหนึ่งปีผ่านไปพบว่า ตะเคียนทองที่ปลูกระหว่างกระถินยักษ์ 2×2 เมตร จะมีการรอดตายสูงสุด และในที่โล่งต่ำสุด การเจริญเติบโตก็มีลักษณะในทิศทางเดียวกับการรอดตาย สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสมกับไม้ตะเคียนทอง ควรมีปริมาณน้ำฝน เกินกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี ระยะความสูง 130-300 เมตร และเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์และระบายน้ำดี

การขยายพันธุ์และการผลิตกล้าไม้
การขยายพันธุ์ตะเคียนทองที่ใช้อยู่ในปัจจุบันใช้วิธีผลิตกล้าจากการเพาะเมล็ด เมล็ดตะเคียนทองจัดเป็นพวกที่สูญเสียการงอกไว (Recalcitrant seed) ยิ่งกว่านั้น ตะเคียนทองจะให้เมล็ด 2-3 ปีต่อครั้ง แต่ละครั้งก็ให้เมล็ดไม่มาก เนื่องจากดอกร่วงหล่น เสียก่อนได้รับการผสมเกสร (เจษฎา และคณะ 2527) ทั้งนี้ เนื่องจากโรคและแมลง ฉะนั้น การผลิตกล้าไม้จากเมล็ด จึงมีปัญหาอย่างมากต่อไปคงต้องใช้วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแทน กล้าไม้ตะเคียนทองที่เหมาะสมต่อการปลูกควรเป็นกล้าค้างปี เพราะกล้าจะแกร่ง มีการรอดตายสูง ถ้าใช้กล้าที่เพาะอายุเพียง 3-4 เดือน กล้าจะอ่อนไป ประกอบกับเมื่อนำไป ปลูกได้ก็จวนหมดฤดูฝนแล้ว การรอดตายจึงต่ำเนื่องจากกล้าที่นำมาปลูกได้เมล็ดราวเดือน มีนาคม – เมษายน นำมาเพาะและปลูกได้ก็ราวเดือนสิงหาคม – กันยายน กล้าก็ยังไม่แกร่งพอ อีกทั้งปลายฤดูฝนแล้วจึงไม่นิยมนำไปปลูกในปีเดียวกัน ที่เพาะเมล็ดโดยมากจะนำไปปลูก ในฤดูฝนปีถัดไป

takianmaled

การคัดเลือกพื้นที่และการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูก
การปลูกป่าทางภาครัฐยังคงใช้วิธีการปลูกแบบธรรมดา (Extensive) ที่ใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป การเตรียมพื้นที่มีเพียงแต่เก็บริบ เผาริบ เท่านั้น การเจริญเติบโตและกำลังผลิตจึงไม่ดีเท่าที่ควร การปลูกสวนป่าตะเคียนทองก็ยังมีน้อย เนื่องจากขาดเมล็ดและกล้าไม้ อีกทั้งการปลูกตะเคียนทองต้องเตรียมกล้าข้ามปี แผนการปลูกป่าดำเนินการปีต่อปี ไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ฉะนั้น ตะเคียนทองจึงมีแต่ทำการปลูกเพื่องานทดลองเท่านั้น ซึ่งเป็นการปลูกแบบกึ่งประณีต (Semi intensive) เท่านั้น ไม่ถึงขั้นประณีต (Intensive) การปลูกขั้นประณีตจะต้องมีการคัดเลือกพันธุ์อย่างดี เตรียมพื้นที่อย่างประณีต และบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง การปลูกตะเคียนทองในเชิงพาณิชย์ยังไม่มีเพราะการปลูกป่าภาคเอกชนยังขยายตัวไม่มากนัก อีกทั้งไม้ตะเคียนทองเป็นไม้โตช้า เมล็ดและกล้าไม้หาปลูกได้ยาก จึงไม่เป็นที่นิยม

วิธีการปลูกและระยะปลูกที่เหมาะสม
วิธีการปลูกไม้ตะเคียนทองก็เหมือนกับไม้ป่าทั่วๆ ไป กล้าที่ปลูกจะต้องทำให้แกร่งเสียก่อน โดยนำออกไปรับแสงเต็มที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วย้ายปลูกหลังจากฝนตก ถ้าทำได้ ควรนำถังใส่น้ำเข้าไปในพื้นที่ปลูก นำกล้าตะเคียนทองจุ่มลงถังน้ำ เพื่อให้รากดูดซับน้ำไว้จนอิ่มตัวแล้วจึงแกะถุงพลาสติกที่ห่อหุ้มรากออกนำลงหลุมปลูก วิธีการนี้จะช่วยให้กล้าตะเคียนทองรอดตายสูงในกรณีที่ฝนทิ้งช่วง ระยะปลูกที่ใช้กันทั่วไป คือ 4×4 เมตร เหมาะสมกับการปลูกร่วมกับไม้โตเร็วตระกูลถั่วอื่นๆ เพื่อไม้โตเร็วเหล่านั้นสามารถ fixed nitrogen ช่วยให้ไม้ตะเคียนทองเจริญเติบโตดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยอภิบาลด้วย สวนป่าตะเคียนทอง ควรปลูกแบบวนเกษตรจะให้ผลดี เพราะตะเคียนทองเป็นไม้โตช้า เมื่อมีการปลูกพืชควบแล้วมี การเตรียมพื้นที่อย่างดี จะช่วยให้การเจริญเติบโตของไม้ตะเคียนทองดียิ่งขึ้น แล้วยังทำให้ กายภาพของดินดีขึ้นด้วย เพราะมีการไถพรวนเป็นประจำ ในขณะเดียวกันเมื่อปลูกพืชอื่นๆ จะมีการใส่ปุ๋ยทำให้ไม้ตะเคียนทองได้รับปุ๋ยที่ใส่ในพืชควบด้วย ก็ยิ่งช่วยให้การเจริญเติบโตและการรอดตายสูงยิ่งขึ้นสวนป่าตะเคียนทอง อายุ 8 ปี สวนอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าสะแกราช

การบำรุงรักษา
ตะเคียนทอง เป็นไม้ที่ต้องการการบำรุงรักษาในระยะแรกปลูก เพื่อการตั้งตัวเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของไม้ตะเคียนทองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ความชื้นและความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง การบำรุงรักษาจึงต้องมีมากขึ้น ขั้นต่อไปก็ควรมีการใส่ปุ๋ยบ้าง โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัส และเริ่มให้ได้รับแสงเต็มที่

โรค แมลง และศัตรูธรรมชาติ
โรคและแมลง ที่ทำลายสวนป่ายังไม่พบเห็น อาจจะเป็นเพราะการปลูกสร้างสวนป่า ตะเคียนทองยังมีน้อย แต่สำหรับต้นใหญ่ที่ให้ดอกแล้วจะพบว่า ดอกได้ร่วงหล่นก่อนที่จะมี การผสมพันธุ์ อันเนื่องจากโรคและแมลง แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชนิดใด หรืออาจจะเป็นเพราะสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิสูงเกินไป เป็นต้น ซึ่งจะต้องหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

อย่างไรก็ตาม ฉวีวรรณ (2533) ได้พบ ด้วงยีราฟ (Giraffe weevil) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apoderus notatus F ซึ่งอยู่ในวงศ์ Curculionidae กัดกินใบอ่อนของตะเคียนทองการกำจัดด้วงเหล่านี้กระทำโดยใช้ยาเคมีเซฟวิน หรือทามารอน 50% อีซี ฉีดพ่นในช่วงที่พบตัวเต็มวัย หรือช่วงกันยายน – พฤศจิกายน หรือเก็บใบที่ถูกม้วนเป็นหลอดทำลาย หรือเผาทิ้งเสีย เพื่อทำลายไข่และตัวอ่อน การถางวัชพืชรอบแปลงให้โล่งเตียนจะช่วยทำลายที่อยู่อาศัยของด้วงได้ การฉีดยาฆ่าหญ้าพบว่า ด้วงยีราฟจะไม่เข้าทำลายต้นไม้อีกเลย นอกจากนี้ไฟป่าก็เป็นสาเหตุใหญ่กับไม้ที่มีอายุน้อย 1-3 ปี

การเจริญเติบโต และผลผลิต
ไม้ตะเคียนทองเป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า ต้องการการดูแลรักษาในระยะแรกอย่างดี จากการทดลองของธิติ และคณะ (2534) ได้เปรียบเทียบการปลูกไม้ตะเคียนทองระหว่างไม้กระถินยักษ์ที่มีระยะปลูก 2×2 เมตร และ 2×3 เมตร และในที่โล่งพบว่า ในระยะ 6 เดือนแรก ไม่มีความแตกต่างของการรอดตาย ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีความชื้นเพียงพอ แต่หลังจากหนึ่งปีแล้ว การรอดตายลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ปลูกระหว่างไม้กระถินยักษ์ 2×2 เมตร ให้เปอร์เซ็นต์การรอดตายสูงสุด 50 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาปลูกระหว่างกระถินยักษ์ 2×2 เมตร และที่โล่งเปอร์เซ็นต์การรอดตาย 40 เปอร์เซ็นต์ และ 35 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ หลังจากนั้น การรอดตายลดลงไม่มาก หลังจากปลูกไปแล้ว 12-42 เดือน เดือนที่ 42 เปอร์เซ็นต์การรอดตายจะเหลือ 40, 38 และ 30 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สำหรับการเจริญเติบโตของไม้ตะเคียนทองที่ปลูกระหว่างไม้กระถินยักษ์ตามระยะ ปลูกดังกล่าวข้างต้น ระหว่างปีที่ 1-3 ไม้ที่ปลูกในที่โล่งการเจริญเติบโตทางด้านความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางมีแนวโน้มดีกว่าปลูกระหว่างไม้กระถินยักษ์ 2×2 และ 2×3 เมตร หลังจากนั้น การเจริญเติบโตได้ลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตจะต้องติดตามต่อไป

สรุปแล้วการปลูกไม้ตะเคียนทองภายใต้เรือนยอดของไม้โตเร็ว มีแนวโน้มว่าไม้โตเร็ว ควรมีระยะการปลูกที่ห่าง การเจริญเติบโตของไม้ตะเคียนทองจึงจะดี อย่างเช่นการทดลองของธิติ และคณะ (2534) พบว่า ปลูกในที่โล่งมีการเจริญเติบโตดีกว่าปลูกภายใต้เรือนยอด กระถินยักษ์ที่มีระยะปลูกชิดกันแค่ 2×2 หรือ 2×3 เมตร ในขณะที่ไม้โตเร็วมีระยะปลูก ห่างมากขึ้นดังการทดลองของ Thai-ngam (1991) พบว่า ไม้โตเร็วระยะปลูก 4×8 เมตร ให้การเจริญเติบโตของไม้ตะเคียนทองดีกว่าระยะปลูกที่ชิดกว่านี้ แต่สำหรับตะเคียนทอง ปลูกในที่โล่งก็ให้ผลของการเจริญเติบโตไม่ค่อยดีนัก ซึ่งเป็นเครื่องชี้ว่าไม้ตะเคียนทองต้องการ ไม้อภิบาลในระยะตั้งตัว และต้องมีระยะที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยควบคุมการเจริญเติบโต ยังขึ้นกับท้องที่ที่ปลูก (site) และพรรณไม้ที่ปลูกร่วมด้วย (species) ซึ่งจะต้องมีการศึกษา ในรายละเอียดให้มากกว่านี้ในเวลาต่อไป การเพิ่มพูนเฉลี่ยรายปีและอายุตัดฟันของไม้ตะเคียนทองยังไม่มีผู้ใดศึกษาทั้งใน ป่าธรรมชาติและสวนป่า อย่างไรก็ตาม ได้ทำการคาดคะเนเอาไว้ในแผนแม่บท กรมป่าไม้ ในส่วนของการพัฒนาการปลูกสร้างสวนป่าไม้ตะเคียนทองจัดอยู่ในไม้โตช้า ความเพิ่มพูน เฉลี่ยรายปีของไม้ชนิดนี้ ถ้าปลูกแบบธรรมดาจะเป็น 0.32-0.64 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ปี แต่ถ้าปลูกแบบกึ่งประณีตและประณีตแล้ว จะเป็น 0.48-0.96 และ 0.80-1.28 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ปี ตามลำดับ ซึ่งความผันแปรนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูกว่า ปลูกที่ภาคไหนของประเทศ ถ้าปลูกทางภาคใต้และภาคตะวันออก ก็จะให้ความเพิ่มพูนมาก ถ้าปลูกที่ภาคตะวันออก-เฉียงเหนือก็จะได้ความเพิ่มพูนน้อย สำหรับอายุการตัดฟันอยู่ที่ 50-100 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเทคนิคการปลูก และพื้นที่ปลูกดังกล่าวข้างต้นการใช้เทคนิคอย่างประณีตสามารถลดอายุตัดฟันได้เกือบครึ่งหนึ่งของการปลูกแบบใช้เทคนิคแบบธรรมดา โดยที่ยังให้ผลผลิตเท่าเดิม

การใช้ประโยชน์
ตะเคียนทอง จัดเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน สะพาน หมอนรองรางรถไฟ ตัวถังรถ เรือนต่างๆ เครื่องเรือน ไม้ชนิดนี้ใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่างที่ต้องการความแข็งแรงทนทาน เหนียว เด้ง ในประเทศไทยนิยมใช้ทำเรือมาด นอกจากประโยชน์ทางเนื้อไม้แล้ว ส่วนอื่นๆของไม้ตะเคียนทองยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก คือ
1. เปลือก ให้นำฝาดชนิด Pyrogallol และ Catechol นอกจากนี้ยังใช้ต้มกับเกลืออมป้องกันฟันหลุด เนื่องจากกินยาเข้าปรอท และต้มกับน้ำชะล้างบาดแผลเรื้อรัง
2. แก่น ใช้ผสมกับยารักษาทางเลือดลม กษัย
3. ดอก เข้าอยู่ในจำพวกเกสรร้อยแปด ใช้ผสมยาทิพย์เกสร
4. ยาง ใช้ผสมน้ำมันทารักษาบาดแผล
5. ชัน ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ยาแนวเรือ และทำน้ำมันชักเงา

ไม้ตะเคียนทอง เนื้อไม้ใช้แปรรูปใช้ในงานก่อสร้าง โครงสร้างที่ใช้รับน้ำหนัก บ้านเรือน สะพาน หมอนรถไฟ ตัวถังรถ เรือ เครื่องเรือน และสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ต้องการความแข็งแรง ทนทาน เนื้อไม้มีน้ำหนัก 753 กก./ลบ.ม. ที่ความชื้น 12 เปอร์เซ็นต์ และมีความถ่วงจำเพาะ 0.637 จากการทดสอบความทนทานของไม้ตะเคียนทองพบว่า ชิ้นไม้ที่ปักทดสอบสามารถให้ความคงทนได้นานกว่า 10 ปี ถ้านำมาทำหมอนรองรางรถไฟสามารถใช้งานได้ 16-18 ปี ถ้าขุดต้นตะเคียนทำเป็นเรือ จะได้นานกว่า 60 ปี แปรรูปนำมาต่อเรือเดินทะเลใช้งานได้ นานกว่า 25 ปี และถ้านำมาเป็นไม้ก่อสร้างในร่ม ทำเฟอร์นิเจอร์จะใช้งานได้นานไม่มีกำหนด (บรรดิษฐ์, 2530)

นอกจากประโยชน์ทางเนื้อไม้แล้ว ยางไม้ตะเคียนทอง ซึ่งมีชื่อการค้าว่า Rock Dammar มีสีเหลือง และมีกลิ่นเล็กน้อย เมื่อถูกอากาศจะจับตัวเป็นก้อนแข็งกลมๆ รอยแตก จะเป็นมันวาว ก้อนยางนี้จะพบตามลำต้นหรือบริเวณที่เจาะสำหรับเอายางและยางที่จับตัวเป็นก้อนแข็งนี้สามารถละลายได้ดีในน้ำมันสนหรือแอลกอฮอล์ คุณภาพของยางที่ได้ไม่ค่อยดีนัก แต่ก็สามารถใช้เป็นน้ำมันชักเงาตบแต่งเครื่องใช้ในร่ม ใช้สำหรับผสมกับวัสดุอื่นๆ เพื่อใช้ในงานต่างๆ เช่น ใช้ทาเคลือบเรือเพื่อรักษาเนื้อไม้และป้องกันเพรียงทำลาย นอกจากนี้ ยางไม้ตะเคียนทองเมื่อนำมาบดเป็นผงใช้เป็นยารักษาบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น ทำยาหม่อง ใช้รักษาบาดแผลหรือบริเวณฟกช้ำของร่างกายในประเทศพม่า (บรรดิษฐ์, 2530) ส่วนใบตะเคียนทองมีสารแทนนินอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักแห้ง ในเปลือกก็มีสารนี้ประกอบอยู่เช่นเดียวกัน คุณสมบัติของแทนนินที่ได้จากไม้ตะเคียนทองนี้ เมื่อนำไปใช้ฟอกหนังจะทำให้ แผ่นหนังแข็งขึ้นกว่าเดิม เหมาะสมกับการใช้งานเฉพาะอย่างได้เป็นอย่างดี ส่วนประโยชน์อื่นๆ ในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น ไม้ตะเคียนทองเป็นไม้ที่ไม่ผลัดใบพร้อมกัน จึงเป็นไม้ที่รักษาความเขียวได้ตลอดปี ช่วยลดก๊าซ CO2 ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นในการรักษาความสมดุลของธรรมชาติ

ข้อจำกัดของไม้ชนิดนี้
ไม้ตะเคียนทองเป็นไม้โตช้าที่ต้องการความชุ่มชื้นและมีไม้อภิบาลให้ขั้นแรกเมื่อไม้ตั้งตัวได้แล้ว จึงทำการเปิดให้รับแสงให้เต็มที่ ปริมาณน้ำฝนก็เป็นข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่ง ควรมีความสูงกว่า 1,500 มิลลิเมตร/ปี ถึงจะเจริญเติบโตได้ดี

ข้อเสนอแนะในการปลูกไม้ตะเคียนทอง
ผู้ที่ต้องการปลูกตะเคียนทองจะต้องหาแหล่งเมล็ดไว้ล่วงหน้า นอกจากนั้น เมล็ด ตะเคียนทองเป็นเมล็ดที่เสื่อมการงอกไว จะต้องติดตามระยะการให้เมล็ดให้ดี เพราะหลังจากเมล็ดร่วงหล่นเกิน 15 วัน เมล็ดก็จะไม่งอก และเมื่อเพาะเมล็ดแล้วจะต้องเก็บกล้าไว้ค้างปี เพราะช่วงฝนแรกที่เพาะเมล็ดตะเคียน กล้าตะเคียนยังไม่แกร่งพอที่จะนำไปปลูกได้ ฉะนั้น ผู้ที่สนใจจะต้องทราบถึงข้อจำกัดเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ตะเคียนทองเป็นไม้ตระกูลยางที่มีคุณค่าสูงทางเศรษฐกิจ จึงน่าจะมีการส่งเสริมให้ช่วยกันปลูกมากๆ มิฉะนั้น ในอนาคตตะเคียนทองอาจจะหมดไปจากป่าก็เป็นได้

ข้อมูลจาก : กรมป่าไม้

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ยืนต้น

แสดงความคิดเห็น