ตะโก เป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมใช้ทำไม้ดัดมากที่สุด เนื่องจากเป็นไม้พื้นเมืองที่พบตามป่าธรรมชาติทั่วประเทศ ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ง่ายต่อการปลูกเลี้ยง บำรุงรักษา จึงเหมาะที่จะนำมาทำเป็นไม้ดัด ตะโก
ชื่อสามัญ Ebony
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyios rhodcalyx.
วงศ์ EBENACEAE
ชื่ออื่น ตะโกนา, โก, นมงัว, มะโก, มะถ่าน, ไฟผี, พระยาช้างดำ
ลักษณะทั่วไป
ตะโก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วๆ ไป สูงประมาณ 15 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็งและเหนียว อายุยืนยาว ลำต้นมีเปลือกหุ้มสีดำแตกเป็นสะเก็ดหนาๆ ใบเดี่ยวเรียงสลับกันรูปไข่ หรือรูปป้อมๆ โคนใบสอบเป็นรูปลิ่ม ป้อมหรือป้าน ปลายใบโค้งมน ป้าน เว้าเข้า หรือหยักคอดเป็นติ่งสั้นๆ ผิวเกลี้ยงเขียวสด ใบดกและหนาทึบ ดอกจะออกตามง่ามใบ ก้านดอกยาว 13 มม. มีขนนุ่ม ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อๆ ละประมาณ 3 ดอก ดอกเพศเมียออกดอกเดี่ยวๆ ผลกลมเมื่ออ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง โคนและปลายผลมักบุ๋ม มียางมาก รสฝาด นิยมใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
การกระจายพันธุ์
พบกระจายจากพม่าจนถึงภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบทุกภาคตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าละเมาะ และทุ่งนา ที่ระดับความสูง 40-300 ม. ออกดอกและติดผลช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน
การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเนื่องจากโตช้า การตอนกิ่ง หรือใช้วิธีขุดล้อมมาจากธรรมชาติก็ได้
ประโยชน์
เนื้อไม้แข็งแรงใช้ทำเครื่องเรือนและเครื่องใช้ได้ดี ผลอ่อน ใช้ย้อมผ้า แห อวน ผลสุกรับประทานได้มีรสหวานอมฝาด
สรรพคุณด้านสมุนไพร
ผล รสฝาดหวาน แก้ท้องร่วง แก้ตกเลือด แก้มวนท้อง ขับพยาธิ แก้กะษัย แก้ฝี และแผลเน่าเปื่อย
เปลือกผล รสฝาด เผาเป็นถ่านรสเย็น ขับระดูขาว และขับปัสสาวะ
เปลือกต้นและเนื้อไม้ รสเฝื่อนฝาดขม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร แก้มุตกิด ระดูขาว แก้รำมะนาด ปวดฟัน และเป็นยาอายุวัฒนะ
การปลูก
หากปลูกลงดิน ขนาดหลุมปลูก 50x50x50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ดินร่วน อัตรา 1:2 ผสมดินปลูก
หากปลูกใส่กระถาง ควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 1224 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก:ดิน ร่วนอัตรา 1:1 ผสมดินปลูก และควรเปลี่ยนกระถางทุกๆ 23 ปี หรือตามการเจริญเติบโตของต้นตะโกที่ปลูก
การดูแลรักษา
เอกสารอ้างอิง :
1. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544
2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง