ตำลึง ผักสวนครัวรั้วกินได้

15 กุมภาพันธ์ 2556 พืชผัก, ไม้เลื้อย 0

ตำลึง เป็นผักพื้นบ้านที่คนทั่วไปรู้จักกันมานาน เป็นผักที่มี คุณค่าทางโภชนาการมาก สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น แกงจืด ต้มจิ้มน้ำพริก ใส่ก๋วยเตี๋ยวและต้มเลือดหมู เป็นต้น ในอดีตนั้นเราไม่ จำเป็น ต้องปลูกตำลึงเอาไว้รับประทานเอง เนื่องจากตำลึงมักพบเห็นทั่วไป ตามเถาไม้เลื้อยอื่น ตามพุ่มไม้เตี้ยหรือพุ่มไม้แห้งตาย รวมทั้งขึ้นตามริม รั้วบ้าน จนมีคำกล่าวถึง ตำลึงริมรั้ว อยู่เสมอ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coccinia grandis (L.) Voigt
ชื่อวงศ์ : Cucurbitaceae
ชื่อสามัญ : Ivy Gourd
ชื่ออื่นๆ : ตำลึง (กลาง, นครราขสีมา), ผักแคบ (เหนือ), ผักตำนิน (อีสาน)

ลักษณะพฤกษศาสตร์ : ตำลึงละตำลึงเป็นผักพื้นบ้านหากินได้ทุกหัวระแหง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นตำลึงขึ้นพันไม้อื่นหรือไม่ก็ขึ้นตามริมรั้วจะเรียกผักริมรั้วก็คงไม่ผิด ปกติบ้านใครมีที่มีทางก็แทบไม่ต้องซื้อหาให้เปลือง แต่ถ้าอยู่ในเมืองลองไปเมียงๆมองๆแถวตลาดสดหรือตลาดติดแอร์ดูเถอะ รับรองไม่ผิดหวัง ตำลึงมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก และที่เห็นจะถูกใจคนรักสุขภาพแน่ ๆ ก็คือ ตำลึงมีเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจขาดเลือด นอกจากนี้ยังให้แคลเซียมอีกด้วย ส่วนใครที่มีปัญหาขับถ่าย น่าลองมารับประทานดู เพราะตำลึงมีกากใยที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี

tamlungyod

ตำลึง เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีมือจับ เพื่อเกาะยึดหลักหรือต้นไม้อื่นๆ ลำเถาสีเขียว

ใบ เป็นใบเดี่ยวสลับกันไปตามเถา ฐานใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักแบบฟันเลื้อยตื้นๆ หยักเว้า 5 แฉก เส้นใบแยกจากโคนใบที่จุดเดียวกัน 5-7 เส้น ใบกว้าง 3-4 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร

ดอก เป็นดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ ออกเดี่ยวๆหรือออกเป็นกลุ่ม 2-3 ดอก เป็นไม้ที่ไม่สมบูรณ์เพศ คือ เพศผู้และเพศเมียจะอยู่คนละต้นกัน ซึ่งสังเกตได้จากใบ ถ้าใบหยักมากเป็นเพศผู้ แต่ดอกจะสีขาวทรงกระบอก หัวแฉกเหมือนกัน

ผล มีรูปร่างคล้ายแตงกวา แต่มีขนาดเล็กกว่า ผลที่อ่อนมีสีเขียว และมีลายขาว พอสุกจะกลายเป็นสีแดงสด เนื้อลักษณะสีแดง สามารถรับประทานได้

tamlungloog

การปลูกและการขยายพันธุ์
ตำลึงมีการปลูกและขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ

  • เพาะเมล็ด
  • ปักชำด้วยเถา

การเพาะเมล็ด
มีวิธีการง่าย ๆ ดังนี้

  • เตรียมดินเหมือนปลูกผักทั่วไปผสมปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยคอกก็ได้ นำ ผลตำลึงแก่สีแดงแกะเอาเมล็ดออกมาโรยบนดินที่เตรียมไว้ โรยดินกลบหรือ ใช้ใบไม้แห้งกลบบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่มเช้าเย็น ตำลึงชอบดินชุ่มแต่อย่าให้แฉะ เพราะจะเกิดโรคโคนเน่าได้
  • เมื่อต้นงอกขึ้นมาสักประมาณ 5 ซม. เริ่มมีมือเกาะให้ทำค้าง(เนื่องจากตำลึงเป็นไม้เลื้อย จำเป็นต้องใช้ค้าง เพื่อให้ตำลึงไต่ขึ้นสู่ที่สูงเพื่อ รับแสงแดด ) เหมาะที่สุดคือ ความสูงระดับ 1 เมตรขึ้นไป แต่ไม่ควรสูงเกิน 3 เมตร เพราะจะไม่สะดวกในการเก็บยอดตำลึง โดยใช้ไม้ไผ่ต้นเล็ก 3 ต้น ปัก เป็น 3 เส้า รอบปลายเชือกเข้าไว้ด้วยกัน ผูกด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกปอ ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง หรือหากมีรั้วไม้ระแนง ก็ถือโอกาสใช้ประโยชน์โดยโรยเมล็ดไปตามริมรั้วเลยทีเดียว
  • ตำลึงต้องได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ลมโกรกผ่านได้ ตำลึงจะ สังเคราะห์แสงแดดคายไอน้ำได้เต็มที่ ควรปล่อยให้มดแดงขึ้น เพราะจะช่วยกิน เพลี้ยและแมลงที่จะมากัดกินตำลึง

ปักชำด้วยเถา
การปลูกตำลึงเพื่อการค้านั้นนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ เนื่องจาก ตำลึงจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการเพาะด้วยเมล็ด
วิธีการปักชำ

  • ให้นำเถาที่แก่พอสมควรมาตัดให้ยาว 15 20 ซม. ปักชำในหลุม ปลูกที่ได้เตรียมไว้แล้ว( ลักษณะขั้นตอนการปลูกเหมือนกับหัวข้อการเพาะ เมล็ด ) พอเจริญเติบโตเต็มที่ประมาณ 1 เดือน ก็สามารถเก็บยอดมาปรุงอาหาร ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ตำลึงแตกยอดใหม่ทยอยออกมาตลอดปี ต้องหมั่น เก็บมาบริโภคอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันให้ใส่ปุ๋ยคอก ช่วยเพิ่มเติมอาหารในดิน ประมาณเดือนละครั้ง ต้องหมั่นรดน้ำสม่ำเสมอในหน้าแล้งและหน้าหนาว ส่วนหน้าฝนจะเว้นได้บ้างแต่ต้องช่วยรดน้ำในขณะที่ฝนทิ้งช่วง

การขยายพันธุ์ : เมล็ด ใช้เมล็ดจากผลแก่ หยอดลงในหลุม เมื่อต้นกล้างอก หาไม้ปักเป็นหลัก เพื่อให้ตำลึงเลื่อย ปลูกได้ดีในดินร่วนซุย นอกจากนั้นสามารถนำเถาแก่ปักชำ โดยตัดเถาแก่ขนาด 5-6 นิ้ว ปักในถุงเพาะชำ เมื่อรากและยอดงอก ก็ย้ายไปปลูกในหลุม

การปลูก : พรวนดินให้ร่วนซุยผสมกับปุ๋ยคอก ขุดหลุมและหยอดเมล็ดในหลุม เมื่อต้นกล้าเริ่มงอกหาไม้มาทำเป็นหลักให้ลำต้นเลื้อยพันบนหลัก ไม้ที่ทำเป็นหลักอาจจะปักพิงกับรั้วทะแยงทำมุม 45 – 60 องศา ในระยะแรกพยายามจัดให้ต้นพันไปที่หลักอย่าให้เลื้อยไปตามผิวดิน หมั่นรดน้ำเช้า – เย็น และให้ปุ๋ย 2 – 3 สัปดาห์ต่อหนึ่งครั้ง เมื่อตำลึงทอดยอดยาว หมั่นเด็ดยอดมารับประทาน จะทำให้เกิดยอดใหม่ขึ้นมาแทน

วิธีการปลูกเพื่อการค้า

  1. ขุดร่อง ลึก 15 ซม. กว้าง 30 ซม. ความยาว 10 เมตร
  2. รองพื้นด้วยปุ๋ยคอก แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
  3. นำเถาตำลึงแก่ มาตัดท่อนละ 50 ซม. ฝังหัว-ท้าย ให้ส่วนกลางโผล่ขึ้นจากดิน
  4. ใช้ไม้ไผ่มาทำค้าง ให้มีความสูง 120 ซม. วางแนวเดียวกับร่อง เพื่อให้ตำลึงแตกขึ้นค้างพอดี
  5. สูบน้ำให้ท่วมร่อง ทุก 4 วัน หรือตามสภาพดิน ไม่ให้ดินแห้ง

การเก็บเกี่ยว
หลังจากที่ปลูก 30 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ ความยาว 50 ซม.กำละ 4 ขีด โดยสามารถเก็บได้ทุกๆ 5 วัน ต่อ 1 ร่อง ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกมักจะปลูกจำนวนร่องที่มากพอจะเก็บได้ทุกวัน

เทคนิค
เก็บช่วงเช้ามืด ยอดจะไม่ดำ หนวดจะขาวและห้ามใช้สารเคมีทุกชนิด เพราะตำลึงเป็นพืชที่มีความไวต่อสารเคมีใบจะด้าน หยิก ผลผลิตเสียหายทันที และรวดเร็ว จึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัย

tamlungdok

สรรพคุณ
ตำลึงอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์สูง เช่น สารเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง และหัวใจขาดเลือด มีแคลเซียมช่วยบำรุงกระดูก และฟัน และยังมีฟอสฟอรัส เหล็ก ไนอาซิน วิตามินซีและอื่น ๆ นอกจากนี้ จากการค้นคว้าของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ตำลึงมีเส้นใยอาหารที่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ในกระเพาะอาหาร อีกด้วย สำหรับตำรายาแผนโบราณ ตำลึงถือเป็นยาเย็น ใบช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อาการแพ้ อักเสบ แมลงมีพิษกัดต่อย แก้แสบคัน เจ็บตา ตาแดงและตาแฉะ แก้โรคผิวหนัง และลดน้ำตาลในเลือด

  • ราก : แก้ดวงตาเป็นฝ้า ลดความอ้วน แก้ไข้ทุกชนิด ดับพิษทั้งปวง ฝนทาภายนอก แก้ฝีต่างๆ แก้ปวด
  • บวม แก้พิษร้อนภายใน แก้พิษแมลงป่องหรือตะขาบต่อย
  • ต้น : กำจัดกลิ่นตัว น้ำจากต้น รักษาเบาหวาน
  • เปลือกราก : เป็นยาถ่าย ยาระบาย
  • เถา : แก้ฝี ทำให้ฝีสุก แก้ปวดตา แก้โรคตา แก้ตาฝ้า ตาแฉะ แก้พิษอักเสบจากลูกตา ดับพิษร้อน ถอนพิษ เป็นยาโรคผิวหนัง แก้เบาหวาน
  • ใบ : เป็นยาพอกรักษาผิวหนัง รักษามะเร็งเพลิง แก้ท้องอืด แก้ท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด แก้หืด รักษาผื่นคันที่เกิดจากพิษของหมามุ้ย ตำแย บุ้งร่าน ใช้เป็นยาเขียว แก้ไข้ ดับพิษร้อน ถอนพิษทั้งปวง แก้ปวดแสบปวดร้อน ถอนพิษคูน แก้คัน แก้แมลงกัดต่อย แก้ไข้หวัด แก้พิษกาฬ แก้เริม แก้งูสวัด
  • ผล : แก้ฝีแดง
  • ทั้งห้า รักษาโรคผิวหนัง รักษาอาการอักเสบของหลอดลม รักษาเบาหวาน

สรรพคุณทางยาและวิธีใช้

  • รักษาโรคเบาหวาน : ใช้เถาแก่ๆ ประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ หรือน้ำคั้นจากผลดิบ ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จะสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้
  • ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ : ควรรับประทานสด ๆ เพราะเอนไซม์ในตำลึงจะย่อยสลายง่ายเมื่อโดนความร้อน
  • ลดอาการคัน อาการอักเสบเนื่องจากแมลงกัดต่อยและพืชมีพิษ : นำใบตำลึงสด 2-20 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ คั้นเอาน้ำ ทาบริเวณที่เป็นจนกว่าจะหาย (ใช้ได้ดี สำหรับหมดคันไฟ หรือใบตำแย)
  • แผลอักเสบ : ใช้ใบหรือรากสด ตำพอกบริเวณที่เป็น
  • แก้งูสวัด, เริม : ใช้ใบสด 2 กำมือ ล้างให้สะอาด ผสมพิมเสนหรือดินสอพอง 1 ใน 4 ส่วน พอกหรือทาบริเวณที่เกิดอาการ
  • แก้ตาช้ำตาแดง : ตัดเถาเป็นท่อนยาวประมาณ 2 นิ้วนำมาคลึงพอช้ำ แล้วเป่า จะเกิดฟองใช้หยอดตา
  • ทำให้ใบหน้าเต่งตึง : นำยอดตำลึง 1/2 ถ้วย น้ำผึ้งแท้ 1/2 ถ้วย นำมาผสม ปั่นให้ละเอียด พอกหน้า ทิ้งไว้ 20 นาที แล้วล้างออก ทำทุกวันได้จะดีมาก

การปรุงอาหาร
ยอดอ่อนและใบอ่อนของตำลึงนำไปลวกและนึ่งเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกและนำไปปรุงอาหารเป็นแกงเลียง แกงจืด ผัก บางท้องถิ่นชาวบ้านนำผลอ่อนของตำลึงไปดองและนำไปรับประทานกับน้ำพริกหรือปรุงเป็นแกงได้ ยอดอ่อนของตำลึงเป็นผักที่คนไทยนิยมรับประทาน มีจำหน่ายในตลาดสดทุกภาคของเมืองไทย

tamlungyodd

ตำลึงยังมีประโยชน์ ดังนี้ คือ ใบ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน ดับพิษฝี แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้คัน ดอก แก้คัน เมล็ด ตำผสมน้ำมันมะพร้าวทาแก้หิด เถา ใช้น้ำจากเถาหยดตา แก้ตาฟาง ตาแดง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา ดับพิษ แก้อักเสบ ชงกับน้ำดื่มแก้วิงเวียนศีรษะ ราก ดับพิษทั้งปวง แก้ตาฝ้า ลดไข้ แก้อาเจียน น้ำยาง,ต้น,ใบ,ราก แก้โรคเบาหวาน หัว ดับพิษทั้งปวง
ใช้เป็นรักษาอาการแพ้ อักเสบ แมลงกัดต่อย เช่น ยุงกัด ถูกตัวบุ้ง แพ้ละอองข้าว โดยเอาใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กแล้วคั้นน้ำจากใบเอามาทาบริเวณที่มีอาการ พอน้ำแห้งแล้วทาซ้ำบ่อยๆจนกว่าจะหาย

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น