ถังดักไขมัน

22 พฤศจิกายน 2555 น้ำ, เทคโนโลยี 0

ถังดักไขมันคือ อุปกรณ์สำหรับแยกไขมันไม่ให้ไหลปนไปกับน้ำทิ้งก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลอง ช่วยป้องกันการอุดตันของท่อระบาย และยังเป็นการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วยโดยทั่วไปแล้ว ถังดักไขมันจะถูกออกแบบให้ทำหน้าที่เป็นที่ดักเศษอาหารก่อน จากนั้นน้ำก็จะไหลผ่านส่วนที่ทำหน้าที่ดักไขมันต่อไป

ประโยชน์ที่ได้จากการใช้ถังดักไขมัน
๑. ช่วยบำบัดน้ำเสีย ทำให้น้ำที่ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลองใสสะอาด
๒. สัตว์น้ำมีแหล่งที่อยู่อาศัยดีขึ้น
๓. ช่วยลดกลิ่นเหม็นของแม่น้ำลำคลอง
๔. ป้องกันแม่น้ำลำคลองเน่าเสียในระยะยาว

หลักการทำงานของถังดักไขมัน คือ ขังน้ำเสียไว้ระยะหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้ไขมันและน้ำมันที่ปะปนอยู่ในน้ำลอยขึ้นมาบนผิวหน้า จนสามารถตักออกไปทิ้งได้ ส่วนน้ำที่ถูกแยกเอาไขมันออกก็จะไหลออกทางช่องระบายน้ำออกซึ่งจมอยู่ใต้ระดับไขมัน เพื่อนำน้ำเข้าสู่กระบวนการกรองน้ำต่อไป

การทำงานของถังดักไขมัน

การทำงานของถังดักไขมันมีหลักการง่ายๆ คือ การใช้วิธีแทนที่ของน้ำ คือ น้ำที่อยู่ในถัง จะถูกแทนที่จากน้ำที่ทยอยไลเข้าไปและต้อง ให้น้ำในถังมีเวลาพอที่แยกไขมันกับน้ำดี ออกจากกัน จึงจำเป็นต้องมีแผงกั้นตรงกลาง ระหว่างถังเพื่อลดความเร็วของน้ำที่ไหลผ่าน เข้ามา ไม่ให้กระทบกับการแยกตัวของน้ำ กับไขมันให้มากที่สุด ดังนั้นถังดักไขมันยิ่ง ใหญ่ ยิ่งมีประสิทธิภาพมาก

ถังดักไขมันแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1. ตะแกรงดักเศษอาหาร จะช่วยกรองเศษอาหาร และสิ่งสกปรกต่างๆ เป็นการลด ความสกปรกในขั้นแรก
2. ส่วนแยกไขมันของน้ำ น้ำที่ผ่านการกรองเศษอาหารจะไหลผ่านไปอีกช่องหนึ่งของถัง ด้วยการออกแบบที่เหมาะสมตามทิศทางการไหลของน้ำจะมีประสิทธิภาพในการแยกและสกัด ไขมันที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ
3. ท่ออ่อนระบายไขมัน เมื่อไขมันถูกแยกจากน้ำที่สะสมอยู่ภายในตัวถัง ในระยะเวลา 7-10 วัน ก็สามารถระบายไขมันออกทางท่ออ่อนลงถุง เพื่อนำไปทิ้งต่อไป

น้ำทิ้งจากที่พักอาศัย ร้านค้า ร้านอาหาร ที่ผ่านกระบวนการของถังดักไขมัน จึงเป็นน้ำ ที่ได้มาตรฐาน สามารถระบายลงแหล่งน้ำสาธารณะได้โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษแต่อย่างใด

ถังดักไขมันที่สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุดมี ๓ ประเภท
๑. ถังดักไขมันแบบยั่งยืน ๒ ถัง (ใช้วงขอบซีเมนต์ หรือเรียกว่า ถังส้วม)
๒. ถังดักไขมันแบบ ๒ ชั้น ๓ ถัง (ใช้ถังพลาสติก ๒๐๐ ลิตร)
๓. ถังดักไขมันแบบดูดซึม

ถังดักไขมันแบบยั่งยืน ๒ ถัง
สำหรับการจัดทำถังดักไขมันแบบยั่งยืนนี้ เป็นระบบมาตรฐานและดีที่สุด เนื่องจากสามารถรองรับน้ำได้มากถึงครั้งละ ๒๐๐ ๓๐๐ ลิตร จากการใช้น้ำของ ๓ ๔ ครัวเรือนพร้อมกัน เพราะมีระบบบ่อพักน้ำขนาดใหญ่ถึง ๒ ถัง จึงทำให้สามารถรองรับน้ำได้เพียงพอในแต่ละครั้ง เหมาะสำหรับบ้านที่ใช้น้ำปริมาณมากหรือใช้หลายครัวเรือน งบประมาณ ๓,๐๐๐ บาท
๑.วงซีเมนต์สำเร็จรูป ขนาด ๑ เมตร จำนวน ๔ วง (ใช้ ๒ วงต่อถัง)
๒.ตระกร้ากรองเศษอาหาร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๔ นิ้ว
๓.ฝาปิด ๒ ฝา
๔.ท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว ๑ เส้น
๕.ข้อต่อตรงเกลียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว
๖.อิฐ ๕๐๐- ๖๐๐ ก้อน
๗.ถ่าน ๘-๑๐ ถุง
๘.หินเกล็ด ๑๐๐ ก.ก.

ถังแรก
ถังดักไขมัน ที่ฝาปิดถังแรก ให้เจาะรูพอดีช่องวางตะกร้าเพื่อดักเศษอาหารที่ไหลลงมากับน้ำจากในอ่างล้างจาน ภายในถัง มีน้ำที่ไม่มีเศษอาหารปนอยู่เลย แต่จะมีเพียงไขมันที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำเท่านั้น

การดูแลรักษา ถังดักไขมันถังแรก
๑. ควรหมั่นตักไขมันออกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อลดการอุดตัน และ ใช้น้ำหมักชีวภาพเติมลงไป เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ และไขมัน
๒. ตรวจทำความสะอาดถังและท่อระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอหากมีไขมันเกาะอยู่ เป็นก้อนหรือเป็นคราบ ต้องทำตามข้อ ๑ ถี่ขึ้น

ถังดักไขมัน ถังที่สอง
เมื่อเปิดฝาออกแล้ว จะเห็นชั้นกรองน้ำ และมีปลายท่อพีวีซี ขนาด ๒ นิ้ว เจาะทะลุข้างถังที่สองเข้ามา น้ำจากถังดัก ถังแรกจะไหลมาตามท่อนี้ แล้วผ่านชั้นกรองที่จัดเรียงไว้ เปลี่ยนเป็นน้ำที่ใสสะอาดลงสู่แหล่งน้ำโดยที่ไม่มีไขมันปนเปื้อน

ชั้นกรองประกอบด้วย
ชั้นบนสุด อิฐ ๑/๒ ส่วน
ชั้นสอง หิน ๑ ส่วน
ชั้นสาม อิฐ ๑/๒ ส่วน
ชั้นสี่ ถ่าน ๒ ส่วน
ชั้นล่างสุด อิฐ ๑/๒ ส่วน

ถังดักไขมัน ๒ ชั้น แบบ ๓ ถัง
ใช้ถังพลาสติก ขนาด ๒๐๐ ลิตร ๓ ถัง ถังดักไขมัน เป็นแบบ ๓ ถัง ซึ่งใน ๒ ถังแรกจะดักไขมันได้ถึง ๒ ครั้ง (น่าจะใช้กรณีมีพื้นที่ที่วางถังจำกัดและมีการล้างภาชนะมาก) ใช้แผ่นวงซีเมนต์ปิดทับ ทนแดดทนฝนดี

เมื่อเปิดฝาออก จะเห็นปริมาณไขมันที่ล้นจากถังแรก ไป ถังสอง อย่างชัดเจน ถังดักไขมัน ถังที่ ๓ ซึ่งเป็นถังกรองน้ำที่ไหลมาจากถังที่ ๒ ซึ่งภายในถังที่ ๓ นี้ จะประกอบไปด้วย อิฐ , หิน , ถ่าน ตามแบบถังวงขอบซีเมนต์ดักไขมันชุดแรก

คุณภาพของน้ำทิ้งหลังจากผ่านการดักไขมัน และ การกรองด้วยหลักการง่ายๆ คือ ให้น้ำไหลผ่านชั้นกรอง อิฐ หิน ถ่าน ซึ่งจะเป็นตัวดูดซับความสกปรกของน้ำอีกชั้นหนึ่ง ทำให้น้ำทิ้งที่ไหลออกจากถังกรองที่ ๓ นี้ สะอาดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ถังดักไขมัน แบบดูดซึม
ถังดักไขมันแบบดูดซึม กรณีมีพื้นที่จำกัด หรือ อยากให้บริเวณที่ตั้งถังดักไขมัน ดูสะอาดตา ก็อาจจะใช้แบบนี้ก็ได้ ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในชุมชนชนบท ใช้หลักการลักน้ำตามธรรมชาติและซึมลงดิน ป้องกันน้ำท่วมขังใต้ถุนบ้าน เหมาะกับบ้านใต้ถุนสูง น้ำท่วมไม่ถึง

เอกสารประกอบถังดักไขมัน
1. ถังดักไขมัน
2.ถังดักไขมัน ใครคิดว่าไม่สำคัญ

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด น้ำ

แสดงความคิดเห็น