ทะลายเปล่า หมายถึงส่วนของทะลายปาล์มที่เหลือจากการบีบเอาน้ำมันปาล์ม ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในสวนปาล์มได้อีก เป็นวัสดุคลุมดินที่มีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับปาล์มน้ำมัน ทะลายเปล่า.. มีธาตุ N น้อยกว่า ๑ % มีธาตุ P ๐.๑ % และมี K ๑.๒ %
องค์ประกอบของธาตุอาหารในทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน
ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันเป็นวัสดุอินทรีย์เหลือทิ้งจากการหีบน้ำมัน ซึ่งในการย่อยสลายของทะลายเปล่าโดยจุลินทรีย์จะให้ธาตุอาหารต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าทะลายเปล่าเป็นแหล่งของธาตุอาหารที่สำคัญ ซึ่งสามารถใช้ทดแทนธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีหรือใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุโพแทสเซียม ซึ่งประมาณ 85 กิโลกรัมของทะลายเปล่าเทียบเท่ากับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ 1 กิโลกรัม
ผลของทะลายเปล่าต่อคุณสมบัติของดิน
การใช้ทะลายเปล่าคลุมดินบริเวณรอบโคนต้นปาล์มน้ำมันเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ส่งผลให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพดีขึ้น ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ทำให้ดินเกาะกันเป็นเม็ดดิน ลดความหนาแน่นรวมของดิน (bulk density) ช่วยเพิ่มความจุความชื้นที่เป็นประโยชน์ต่อพืช และเพิ่มอัตราการซึมของน้ำผ่านผิวดิน ช่วยรักษาความชื้นและอุณหภูมิที่ผิวหน้าดิน ลดการไหลบ่าของน้ำที่ผิวดิน และลดการชะล้างพังทลายของดิน จากการศึกษาในประเทศมาเลเซีย ในดิน Oxic Dystropept พื้นที่ 375 ตารางเมตร ระยะเวลา 5 เดือน พบว่า ดินที่ไม่มีสิ่งปกคลุมดิน มีการสูญเสียดินจากการพังทลายของดิน 27.4 กิโลกรัม ในขณะที่ดินที่มีการคลุมดินด้วยทะลายเปล่า มีการสูญเสียดินเท่ากับ 2.3 กิโลกรัมเท่านั้น
การใช้ทะลายเปล่าคลุมดิน นอกจากจะส่งผลดีต่อคุณสมบัติทางกายภาพของดินแล้ว ยังช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมีดินให้ดีขึ้น คือ ทำให้ pH ของดินเพิ่มขึ้น เพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร ส่งเสริมให้ดินมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเจริญเติบโต และทำให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 5-17 %
จากการศึกษาการใช้ทะลายเปล่าคลุมดินตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งปาล์มน้ำมันอายุ 8 ปี ในดินร่วนปนทรายที่ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี พบว่าการคลุมดินด้วยทะลายเปล่าทำให้ pH ของดิน ปริมาณอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในทุกระดับความลึกของชั้นดินเพิ่มขึ้น และยังพบว่า การเพิ่มปริมาณการคลุมดินด้วยทะลายเปล่าทำให้ pH ของดินและความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณธาตุโพแทสเซียมเพิ่มขึ้นด้วย
การใช้ทะลายเปล่าคลุมดินบริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมันตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งปาล์มน้ำมันอายุ 8 ปี ในดินร่วนปนทรายที่ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ทำให้ผลผลิตทะลายสดเพิ่มขึ้นจาก 2.6 ตันต่อไร่ เมื่อไม่ใช้ทะลายเปล่าคลุมดินเป็น 3.1 ตันต่อไร่ เมื่อมีการคลุมดินด้วยทะลายเปล่าปริมาณ 150 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี หรือให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 19.2 % และมีแนวโน้มว่าการตอบสนองผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการใช้ทะลายเปล่าในปริมาณเพิ่มมากขึ้น
การนำทะลายเปล่าไปใช้ประโยชน์
การนำทะลายเปล่ามาใช้คลุมดินในสวนปาล์มน้ำมัน ช่วยให้ปาล์มน้ำมันมีการเจริญเติบโตและผลผลิตเพิ่มขึ้น สามารถใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีหรือใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีก็ได้ การนำทะลายเปล่ามาใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีเป็นการส่งเสริมกัน ทำให้ได้ประโยชน์จากธาตุอาหาร ขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายคุณสมบัติของดิน เป็นการอนุรักษ์ดินหรือรักษาถาวรภาพของดินให้คงอยู่ได้นาน ๆ ซึ่งการใช้ทะลายเปล่าคลุมดินตั้งแต่เริ่มปลูกปาล์มน้ำมันหรือระยะที่ปาล์มน้ำมันยังเล็กอยู่(immaturity) จะช่วยส่งเสริมให้ดินมีสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน และช่วยให้ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีแรกที่ปาล์มน้ำมันโตเต็มที่ (maturity)
ก่อนที่จะนำทะลายเปล่ามาใส่คลุมดินในสวนปาล์มน้ำมัน ทะลายเปล่าที่นำมาจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มน้ำมัน ควรนำมากองทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ก่อน เนื่องจากขณะที่กำลังย่อยสลายอยู่จะทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และความร้อนเกิดขึ้นในปริมาณมาก ขณะเดียวกันจุลินทรีย์อาจจะดึงธาตุอาหารจากดินมาใช้ในการสร้างเซลล์จุลินทรีย์ ทำให้เกิดการแข่งขันการดูดธาตุอาหารระหว่างพืชกับจุลินทรีย์ขึ้นได้ และเพื่อลดอัตราส่วนของคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C/N ratio) ให้เหลือประมาณ 20 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ การกองทะลายเปล่าทิ้งไว้ยังมีประโยชน์ในการลดความชื้นลง ทำให้น้ำหนักและปริมาตรลดลง ซึ่งจะทำให้สะดวกในการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายทะลายเปล่าไปใส่คลุมดินในสวนปาล์มน้ำมัน
จากการศึกษาคุณสมบัติทางเคมีดิน ภายหลังจากที่มีการใช้ทะลายเปล่าคลุมดินร่วมกับปุ๋ยเคมีติดต่อกันตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งปาล์มน้ำมันอายุ 8 ปี พบว่า การใช้ทะลายเปล่าคลุมดินร่วมกับปุ๋ยเคมี ทำให้ pH ของดินเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว และ pH ของดินที่เพิ่มขึ้นจะผันแปรตามปริมาณทะลายเปล่าที่เพิ่มขึ้นคือ ดินที่ใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว มี pH 4.1 แต่การใสทะลายเปล่าร่วมด้วยปริมาณ 150 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี ทำให้ pH เพิ่มขึ้นเท่ากับ 5.0
นอกจากนี้ การใช้ทะลายเปล่าคลุมดินร่วมกับปุ๋ยเคมียัง ทำให้อินทรียวัตถุในดินและธาตุอื่น ๆ เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และ แมกนีเซียม เพิ่มขึ้น และสามารถลดปัญหาการตรึงฟอสฟอรัสจากปุ๋ยเคมี ทำให้ฟอสฟอรัสเป็นประโยชน์ต่อพืชได้มากขึ้น การใส่ทะลายเปล่าร่วมกับปุ๋ยเคมีทำให้ pH ของดินเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันฟอสฟอรัสในรูปของอินทรีย์ฟอสฟอรัสจากทะลายเปล่าจะไปทำให้ปริมาณฟอสฟอรัสที่ละลายได้ในดิน (soluble P) เพิ่มขึ้นทำให้ลดการดูดยึดฟอสฟอรัส ขณะเดียวกันการปลดปล่อยธาตุอาหารก็เพิ่มขึ้น(mineralization) ดังนั้นการใช้ทะลายเปล่าร่วมกับปุ๋ยเคมีจึงเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมี และทำให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน
ป้ายคำ : อินทรีย์วัตถุ