แพทย์หญิงทานทิพย์ ธำรงวรางกูร คุณหมอนักพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน

แพทย์หญิงทานทิพย์ ธำรงวรางกูร คุณหมอนักพัฒนา แห่งมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จังหวัดขอนแก่น ผู้สร้างแนวคิดให้ชาวบ้านหันมาพัฒนาชีวิต ด้วยการพึ่งพาตนเอง ด้วยพบว่าสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่าง มีปัจจัยมาจากปัญหาความยากจน ทัศนคติ และความด้อยโอกาส คุณหมอจึงสนใจในการสร้างสุขภาวะ ออกแบบกิจกรรมสร้างสุขภาพ และการทำเกษตรแบบออมดิน, ออมน้ำ, ออมต้นไม้, ไม่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม จนสามารถช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ ของชุมชนยากจนจำนวน กว่า 70 หมู่บ้าน ให้กลายเป็นหมู่บ้านพึ่งตนเองได้ถึงกว่า 25 หมู่บ้าน นำไปสู่การขยายเครือข่ายพหุภาคี 5 จังหวัด โดยการใช้หลักธรรม นำชีวิตไปสู่ความพอเพียง ติดตามเรื่องราวของแพทย์หญิงที่ไม่ใช่แค่แพทย์รักษาโรค แต่นำพาชุมชนไปสู่ทิศทางของการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และยั่งยืนได้

แพทย์หญิงทานทิพย์ และนายแพทย์อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร คู่ชีวิตคุณหมอนักพัฒนา ผู้กระตุกแนวคิดให้ชาวบ้านหันมาพัฒนาชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเอง ด้วยพบว่าสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างมีปัจจัยมาจากปัญหาความยากจน ทัศนคติ และความด้อยโอกาส ทั้งสองจึงสนใจในการสร้างสุขภาวะ ออกแบบกิจกรรมสร้างสุขภาพและการทำเกษตรแบบออมดิน ออมน้ำ ออมต้นไม้ ไม่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม จนสามารถช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนยากจนจำนวน 70 หมู่บ้าน ให้กลายเป็นหมู่บ้านพึ่งตนเองได้ถึง 25 หมู่บ้าน นำไปสู่การขยายเครือข่ายพหุภาคี 5 จังหวัด โดยการใช้หลักธรรม นำชีวิตไปสู่ความพอเพียง

แพทย์หญิงทานทิพย์ ธำรงวรางกูร เป็นคนกรุงเทพฯ จบแพทย์ศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมรสกับนายแพทย์อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

เรื่องราวของคุณหมอนักพัฒนาทั้งสองท่านนี้ เริ่มต้นเมื่อปี 2529 ปีที่แพทย์หญิงทานทิพย์ เข้ามาประจำที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีประชากร 43,000 คน ร้อยละ 90 ของประชากร มีอาชีพเกษตรกรรม ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพค้าขาย ประมง รับจ้างและรับราชการ

thanthipprof

ปี 2534 ทีมสุขภาพอำเภออุบลรัตน์ ทำวิจัยในหมู่บ้าน พบว่าคนไข้ในช่วงนั้นแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม

  • กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่รักษาหาย ไม่รักษาตาย หรือพิการ กลุ่มนี้มีประมาณร้อยละ23 โรคที่พบในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบ ปอดบวม หรือไข้เลือดออก กลุ่มนี้ต้องการการดูแลจากหมอและพยาบาลอย่างใกล้ชิด
  • กลุ่มที่ 2 รักษาตาย ไม่รักษาหาย หรือที่เรียกกันพื้นๆ ว่าโรคหมอทำ กลุ่มนี้ใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทีมบุคลากร ร่วมกันคิด ช่วยกันทำ อาศัยการจัดการกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้
  • กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย เช่น ไข้หวัดเล็กน้อย
  • กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มรักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย เช่น โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หรือโรคมะเร็งระยะสุดท้าย กลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 นี้รวมกันร้อยละ 76

งานศึกษาวิจัยนี้มีข้อค้นพบที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ สาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บเกิดจากวิกฤตชีวิตในชุมชน การเอาเงินเป็นตัวตั้ง โดยเป็นทั้งตัวชี้วัดและเป็นเป้าหมายของการพัฒนา ผลที่ตามมาทำให้อยากรวย แต่นอกจากไม่รวยแล้ว ยังให้ผลตรงกันข้าม คือมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น รายได้ที่คิดว่าจะได้เพิ่มก็ไม่เพิ่ม ไม่มีเงินออม หนี้สินก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ความอยากรวยทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย
สภาพดินเลว น้ำแล้ง ป่าหมด มลภาวะมากมาย ทั้งจากยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ความที่อยากรวยทำให้ต้องอพยพแรงงานไปที่อื่น ทำให้ครอบครัวแตกกระจาย ชุมชนล่มสลาย เด็กๆ ไม่มีคนดูแล ขาดสารอาหาร เกิดปัญหาเรื่องยาเสพติด ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง เกิดความเครียด ความเหงาและเจ็บป่วย ผู้ที่อพยพแรงงานไปที่อื่นก็ติดโรคเอดส์กลับมา ทุกปัญหาล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตสุขภาพในชุมชนของอำเภออุบลรัตน์

การมีคนเจ็บป่วยล้นโรงพยาบาล มีผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลโดยตรง ทำให้รายจ่ายของโรงพยาบาลสูงขึ้น ชาวบ้านยากจนก็ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา โรงพยาบาลมีหนี้สินพอกพูน และเงินออมก็ลดลง การค้นหาแนวทางช่วยชุมชนให้พ้นทุกข์เป็นโจทย์ที่แพทย์หลายคนในโรงพยาบาลช่วยกันหาทางแก้ไข

ปี 2536 คุณหมอทานทิพย์และทีมงานสุขภาพได้มีโอกาสไปเรียนรู้จาก “ปราชญ์ชาวบ้าน” เช่น พ่อมหาอยู่ สุนทรชัย ที่จังหวัดสุรินทร์ พ่อผาย สร้อยสระกลาง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งสองเป็นเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านพหุภาคีภาคอีสาน ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญและนครราชสีมา คุณหมอพบว่าปราชญ์เดินดินเหล่านี้พัฒนาและวิจัยชีวิต จนสามารถหลุดออกจากวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติทางสังคม และวิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยยึดแนวทางชีวิตพอเพียง ทำให้มีรายจ่ายลดลง รายได้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง เงินออมเพิ่มขึ้น มีสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีครอบครัวที่อบอุ่นและเป็นแนวทางพาให้ชุมชนเข้มแข็ง กลายเป็นคนมีอยู่มีกิน มีเพื่อน มีเงิน มีปัญญาในการแก้ปัญหา และที่สำคัญที่สุดคือ มีคุณธรรม มีจิตสาธารณะที่อยากจะเห็นญาติสนิท มิตรสหายและพี่น้องคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นแบบพวกเขาบ้าง

ปี 2538 คุณหมอมีโอกาสทำงานวิจัยและพัฒนาในตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตดี จังหวัดขอนแก่น หลังจากนั้นจึงก่อตั้งศูนย์ค้ำคูณ เพื่อเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของปราชญ์ท้องถิ่นในภาคอีสาน เป็นสถานที่บำบัดรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ที่ฝึกอาชีพนวดแผนโบราณ จำหน่ายยาสมุนไพร เพาะพันธุ์กล้าไม้ ตลอดจนเป็นที่ฝึกอาชีพให้แก่ผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วย

ประสบการณ์จากศูนย์ค้ำคูณ เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณหมอตัดสินใจลาออกจากราชการในปี 2540 เพื่อทุ่มเททำงานเพื่อสังคมได้เต็มที่ ในขณะที่คุณหมออภิสิทธิ์ยังคงทำงานในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ เพื่อหนุนเสริมการทำงานของคุณหมอทานทิพย์

thanthipact

แม้รูปแบบงานจะต่างกัน แต่กลับมีเส้นทางบรรจบกัน คู่ชีวิตทั้งสองตัดสินใจร่วมกันว่าจะการเลือกเป็นนักวิชาการ นักพัฒนาสังคม โดยไม่นำวิชาชีพแพทย์ไปใช้ในเชิงธุรกิจ

“ดิฉันเคยหลงทางเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจตาโต คือเห็นเงินแล้วตาโต ระบบนี้บอกดิฉันว่า ถ้ามีเงินมากก็จะมีความสุขมาก ถ้ามีเงินน้อย ความสุขก็จะน้อยตามไปด้วย ดังนั้นถ้าอยากมีเงินมาก หมอก็จะต้องมีคนไข้มากๆ หมอต้องบอกคนไข้ว่า…เป็นอะไรรีบไปหาหมอ…ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ ทำเช่นนี้ โรงพยาบาลน้ำพองที่ดิฉันเคยอยู่เมื่อปี 2528 และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ที่ดิฉันเป็นหมอและเป็นผู้บริหาร จึงเต็มไปด้วยคนไข้ ทั้งคนไข้ในและคนไข้นอกเวลาราชการ” คุณหมอทานทิพย์ ให้เหตุผลของการตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางชีวิต

หลักธรรมะและความพอเพียง

การเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 14 ปี จนถึงปัจจุบัน ทำให้คุณหมอทานทิพย์และคุณหมออภิสิทธิ์ เริ่มงานเพื่อสังคม เรียกว่า โครงการชุมชนเป็นสุข” ในปี 2545 กำหนดปรัชญาการทำงาน “สร้างสุขภาวะดีที่ยั่งยืน ด้วยวิถีชีวิตที่พอเพียง” โดยนำหลักธรรมะ “4 อ” มาเป็นยุทธวิธีในการทำงาน

  • อ ที่ 1 คือ “อริยสัจ 4” มาเป็นยุทธศาสตร์ในการทำงาน เริ่มจากการหาข้อมูลมาสกัดให้เห็นปัญหาหรือ “ทุกข์” จัดลำดับความสำคัญของปัญหา หาสาเหตุของปัญหาหรือ “สมุทัย” หาทางเลือกในการดับทุกข์หรือ “นิโรธ” และวางแผนงานเพื่อดับทุกข์ หรือ “มรรค” ในขั้นนิโรธและมรรค อาศัยหลัก
  • อ ที่ 2 คือ “อัตตาหิอัตตาโนนาโถ” การมีชีวิตด้วยการพึ่งตนเองบนหลักการ 3 ข้อ คือ รู้จักตนเองถึงความพอดี พอประมาณ ตามศักยภาพของตน ไม่โลภมาก รู้จักใช้เหตุผลในการใช้จ่าย ในการใช้ชีวิต ซึ่งช่วยให้มีเงินเหลือ มีเวลาเหลือ และมีกัลยาณมิตรเหลือ ให้รู้จักการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการออม ทั้งการออมน้ำ ออมดิน ออมสัตว์ ออมต้นไม้ ออมเงิน สั่งสมกัลยาณมิตร สั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหา
  • สั่งสมคุณงามความดีด้วยอิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็น อ ที่ 3
  • อาศัยธรรมะนำทางชีวิต เป็น อ ที่ 4 หรือ อปริหานิยธรรม ธรรมะแห่งความเจริญ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สังคมใดอยากจะเจริญต้องหมั่นประชุมกันเป็นนิจ เริ่มประชุมและเลิกประชุม พร้อมทำกิจที่พึงกระทำโดยพร้อมเพรียงกัน

ผลของการปฏิบัติธรรมตามหลัก “4 อ” จะทำให้เกิดหัวใจธรรมชาติ อยู่แบบธรรมชาติ ให้สรรพสิ่งเกื้อกูลกัน ทำจากเล็กไปหาใหญ่ ทำจากง่ายไปหายาก ไม่นานเกินรอ ชีวิตก็เปลี่ยนไป จนมีอยู่มีกิน มีเพื่อน มีเงิน มีความสุขจากการมีหลักประกันในชีวิตเพิ่มขึ้น มีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมดี มีความภาคภูมิใจ มีอิสรภาพ และมีความสามารถในการอยู่ร่วมกับสรรพสิ่ง ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

เสริมสร้างชุมชนเป็นสุข

หลังภาวะเศรษฐกิจผันผวนในปี 2540 งานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่าภาคชนบทเป็นภาคที่เสียหายน้อยที่สุด ชนบทกลายเป็นที่พึ่งพิงของแรงงานที่หวนกลับบ้านเกิด ผลงานวิจัยและจำนวนแรงงานที่กลับบ้านเกิด ช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นในแนวคิดที่ว่า ชนบทไทยมีทุนทางสังคม ประกอบด้วยหมู่บ้านที่มีภูมิปัญญา มีทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ ช่วยให้เกษตรกรผลิตอาหาร พืชผลหลายชนิดพอเพียงแก่การดำรงชีพ หมู่บ้านจึงควรเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาแบบองค์รวม

แต่ผลการวิจัยเชิงคุณภาพของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ยังไม่สามารถพัฒนาชุมชนชนบทให้มีความสุขได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน เพราะขาดกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องและมีคุณภาพ ดังนั้น “โครงการชุมชนเป็นสุข” จึงเป็นความพยายามเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป โดยอาศัยการวิจัย สำรวจสถานการณ์ การจัดประชุมระดมความคิดจากนักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และเครือข่ายภาคีด้านการพัฒนาสังคม แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นแผนงานกลาง เพื่อนำมาพัฒนาโครงการ มุ่งต่อยอดการพัฒนาสุขภาวะองค์รวมเชื่อมโยงกับปัจจัยแวดล้อม และเน้นการบูรณาการกิจกรรมการพัฒนาที่มีอยู่เดิมแล้ว ให้ไปสู่การเรียนรู้และสุขภาวะ

และเพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวขึ้น จึงมีการจัดตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จังหวัดขอนแก่น โดยคุณหมอทานทิพย์ ทำหน้าที่เลขาธิการมูลนิธิ และยังเป็นผู้จัดการโครงการชุมชนเป็นสุขภาคอีสาน อีกด้วย

ทิศทางของโครงการ คลุมประเด็นหลัก ต่อไปนี้

  • วิธีคิด ใช้ความสุขเป็นตัวตั้งและเงินเป็นตัวแปร ตามโดยเชื่อว่างานคือความสุข ความสุขคืองาน ถ้าอยากมีความสุขก็ทำงาน เดี๋ยวเงินก็มาเอง
    ค้นหาปัจเจกที่สนใจมาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องกับครูชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จ โดยวิธีเรียนรู้จากของจริงแล้วกลับไปปฏิบัติ จนเกิดความสำเร็จ แล้วไปชวนญาติสนิทมิตรสหายมาเรียนรู้และปฏิบัติตามแล้วค่อยๆขยายจากเล็กไปใหญ่ ค่อยๆแก้ปัญหาจากง่ายไปยาก เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตขยายสู่หลากหลายอาชีพในชุมชน
  • ผู้นำ ค่อยๆปรากฏขึ้นจากการรวมตัวร่วมกันเรียนรู้ ช่วยกันคิด ร่วมกันทำจนเกิดผู้นำตามธรรมชาติที่นำหน้าทั้งวิธีคิด และวิธีปฏิบัติ เป็นที่ยอมรับของคนในกลุ่มไปเชื่อมต่อกับผู้นำคนอื่นๆในชุมชน
    มิติการทำงาน มุ่งเน้นสุขภาวะทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญา ครอบคลุมทั้งด้านหลักประกันชีวิต ร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สิ่งแวดล้อมดี มีความภาคภูมิใจ มีอิสรภาพและอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลทั้งระหว่างมนุษย์และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยมิติด้านเศรษฐกิจมุ่งเน้นการลดรายจ่าย และการออมแทนการเพิ่มรายได้และแทนการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทุน
  • ตัวชี้วัด เน้นกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดความสุขของปัจเจกและชุมชนที่มารวมตัวกันทำจนมีตัวชี้วัดสุขภาวะของตนเอง และมีการทบทวนกันเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น รายจ่ายลด หนี้สินลด เงินออมเพิ่ม ดินดีขึ้น น้ำอุดมสมบูรณ์ขึ้น สัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ต้นไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและชนิด ใช้สารเคมีลดลง ครอบครัวใกล้ชิดกัน ชุมชนพึ่งพากันได้ และอยู่ร่วมกันได้

กิจกรรมของมูลนิธิฯ มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่

  • การสร้างองค์ความรู้ เช่น จัดกิจกรรมเวทีประชุมสัญจรไปตามศูนย์เรียนรู้ของปราชญ์ชาวบ้านทุกเดือน เวทีวิจัยชุมชนเพื่อชุมชนโดยปราชญ์ชาวบ้านร่วมกับนักวิชาการที่สนใจ เวทีวิจัยประเมินผลเพื่อให้นักวิชาการที่สนใจ เข้าไปติดตามดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการพัฒนาโดยทีมประเมินผล
  • การเคลื่อนสังคม ต้องอาศัยหลายภาคีมาร่วมด้วยช่วยกันและได้วางยุทธศาสตร์การรวมตัว ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้สู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอของเครือข่ายฯ และภาคีทุกระดับ
  • -การผลักดันเชิงนโยบาย การผลักดันเชิงนโยบายของโครงการชุมชนเป็นสุขนั้นเน้นการผลักดันนโยบายในระดับพื้นที่ ได้แก่การเชื่อมโยงกับองค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานราชการระดับอำเภอ ได้แก่ นายอำเภอ และเกษตรอำเภอ สนับสนุนให้แต่ละศูนย์การเรียนรู้ได้มีการจัดประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกของศูนย์เรียนรู้ และองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อเปิดโอกาสให้เอื้อต่อการผลักดันนโยบาย
  • -การบริหารจัดการโครงการ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จังหวัดขอนแก่น เป็นตัวประสานงานของโครงการ ที่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีบุคลากรทำงาน 17 คน นอกจากนั้น ก็มีทีมงานของโรงพยาบาลอุบลรัตน์ มาร่วมเป็นวิทยากรในกระบวนการ

ผลแห่งความเพียร

  • ด้านสิ่งแวดล้อม มีการทำเกษตรผสมผสานเพิ่มขึ้นในแบบ “เกษตรประณีต 1 ไร่” ให้ความสำคัญเรื่องการออมน้ำมากขึ้น ลดการใช้สารเคมี สารกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าหญ้า นำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยคอกมาใช้มากขึ้น มีการปลูกพืชบำรุงดิน ดูแลอนุรักษ์ธรรมชาติโดยการออมต้นไม้ มีการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ใช้สอยเพิ่มขึ้นจากเดิม ส่งผลให้จำนวนไม้ใช้สอยต่อครัวเรือนมีจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในปี 2549 มีบันทึกของมูลนิธิฯ ว่าคุณหมอทานทิพย์ มีส่วนในการส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นในอำเภออุบลรัตน์ประมาณ 350,000 ต้น และในระดับพหุภาคี 5 จังหวัด มีไม้ยืนต้นจากการดำเนินงานของมูลนิธิฯ จำนวน 1,800,000 ต้น
  • ด้านเศรษฐกิจ พบว่าหนี้สินของเกษตรกรต้นแบบมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่เงินออมเพิ่มขึ้น และเกษตรกรต้นแบบเกือบครึ่งหนึ่งทำบัญชีรับ-จ่ายของครัวเรือนทุกเดือน สิ่งที่ค่อนข้างเด่นชัดคือ การลดรายจ่าย ด้านอาหารลงได้ โดยใช้พืชผักและสัตว์จากเรือกสวน ไร่นา ซึ่งมีเพิ่มขึ้น สำหรับการออมสัตว์ พบว่าโดยเฉลี่ยมีการออมสัตว์เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงสัตว์อื่นเพิ่มขึ้น
  • ด้านสังคม พบว่ามีครอบครัวเกษตรกรต้นแบบ มีสมาชิกครอบครัวกลับมาจากการไปค้าแรงงานที่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น แม้เกษตรกรนอกเครือข่ายฯ ก็มีการอพยพกลับมาท้องถิ่นเช่นกัน การกลับมาของสมาชิกในครอบครัวของเครือข่ายฯ จะมาช่วยเหลืองานด้านการเกษตรกรรมของครอบครัว มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น มีสัดส่วนของครอบครัวที่เลิกเล่นการพนันเพิ่มขึ้น เป็นดัชนีที่บอกถึงความสุขที่เพิ่มขึ้น
  • ด้านสุขภาพ สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง การเจ็บป่วยลดลง การเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ก็ลดลงเช่นกัน
  • ด้านวัฒนธรรม มีการรวมกลุ่ม และกลุ่มมีกิจกรรมช่วยแก้ปัญหาให้สมาชิก จากการสังเกตและร่วมกิจกรรมเครือข่ายฯ ได้เห็นถึงการมีน้ำใจต่อกันของเกษตรกรต้นแบบ เช่น มีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน ร่วมแรงช่วยเหลืองานของสมาชิกเครือข่ายฯ

ตลอดระยะเวลาของการทำงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายพหุภาคี 5 จังหวัด คุณหมอทานทิพย์ คุณหมออภิสิทธิ์และทีมงาน ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากปราชญ์ชาวบ้าน มาประยุกต์ใช้ ขยายผลในอำเภออุบลรัตน์อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ทั้งด้านวิธีคิดและวิธีปฏิบัติ มีเครือข่ายทุกระดับ จัดเวทีเด็ก ให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้ และปฏิบัติ ทำให้กลุ่มเด็กรักถิ่นอุบลรัตน์ มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่

หมู่บ้านซึ่งเป็นเครือข่ายในชุมชนที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ในระดับประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่ บ้านคำปลาหลาย บ้านหนองผือ บ้านพระพุทธบาท บ้านห้วยทราย บ้านจระเข้ บ้านโนนสะอาด บ้านทรัพย์สมบูรณ์ บ้านกุดเชียงมี บ้านโนนราศรี และศูนย์ค้ำคูณ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2539 เพื่อเป็นสถานที่บำบัดรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ตลอดจนเป็นที่ฝึกอาชีพให้แก่ผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วย

14 ปีของการเคลื่อนงานเพื่อสังคม แพทย์หญิงทานทิพย์และนายแพทย์อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ได้ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนยากจน จำนวน 70 หมู่บ้าน ให้กลายเป็นหมู่บ้านพึ่งตนเองได้ในปัจจุบันถึง 25 หมู่บ้าน เป็นผู้กระตุกแนวคิดให้ชาวบ้านสนใจการพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเอง

tkumkoon

มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดีจังหวัดขอนแก่น
โรงพยาบาลอุบลรัตน์ ต.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 40250
โทร. 043 446 113

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น