ทำนาแบบหยอดน้ำตม

12 ธันวาคม 2555 นา 0

ทำนาหยอดน้ำตม ต้นทุนต่ำ กำไรสูง ลดต้นทุน เพิ่มรายได้
ข้าวสวย เป็นแถว ไม่ต้องปักดำ ไม่ต้องหว่าน ไม่ต้องจ้างรถดำ
ข้าวไม่ต้องพักฟื้นระหว่างย้ายปักดำ ไม่ถูกรบกวน เติบโตต่อเนี่อง
ลดการใช้ปุ๋ย ปัจจัยการผลิต อายุข้าวเก็บเกี่ยวได้ไวกว่า ต้นข้่าวสวย เป็นแถวเหมือนนาดำ
ข้าวแข็งแรงเป็นธรรมชาติ

ขั้นตอนโดยสรุปการทำนาหยอดน้ำตม
1. เตรียมดินทำเทือก ปรับพื้นที่นาให้สม่ำเสมอ
2. ระบายน้ำส่วนเกินออกจากนา แต่อย่าให้ผิวดินแห้ง อย่าให้มีบริเวณน้ำขัง (พยายามอย่าให้เป็นเลนลึกเกิน 5 นิ้ว)
3. เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวมาเพาะให้งอก (แช่ 24 ชม. บ่ม 24 ชม.) อย่าให้รากยาวเกินไป อัตราเมล็ดพันธุ์ 6-10 กก./ไร่
4. ก่อนการหยอด ให้ผึ่งเมล็ดพันธุ์ที่เพาะงอกแล้วในที่ร่มประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้กระจายตัวได้ง่าย
5. เติมเมล็ดพันธุ์ในกระบอกลูกกลิ้งแต่ละลูก (ประมาณ 2 กก./กระบอก) อย่าให้เกิน 2 ใน 3 ของความจุ
6. หยอดข้าวในแปลงนา โดยใช้ความเร็วในการลากสม่ำเสมอ
7. ห้ามปล่อยน้ำเข้าในแปลงนาในช่วง 2-3 วันหลังหยอดข้าว เพื่อให้รากแทงลงดิน
8. ควบคุมระดับน้ำในแปลงนาตามความสูงของต้นข้าว เพื่อควบคุมวัชพืช
9. สามารถใช้เครื่องพรวนหญ้า (Rotary Weeder) เพื่อกำจัดวัชพืชและพรวนดินในร่องนาได้

การทำนาหยอดน้ำตม
การทำนาหยอดน้ำตมที่จะให้ได้ผลดีนั้น จะต้องปรับพื้นที่นาให้สม่ำเสมอ มีคันนาล้อมรอบและสามารถควบคุมน้ำได้ การเตรียมดินก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการเตรียมดินในนาดำ หลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ควรปล่อยให้เมล็ดข้าวที่ร่วงหล่นในนามีเวลางอกเป็นต้นข้าว เพื่อลดปัญหาข้าวเรื้อ หรือข้าววัชพืชในนา แล้วจึงไถดะ แล้วปล่อยน้ำเข้าพอให้ดินชุ่มอยู่เสมอ ประมาณ 5-10 วัน เพื่อให้เมล็ดวัชพืช งอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อนเสียก่อนจึงปล่อยน้ำเข้านา แล้วทำการไถแปรและคราด หรือใช้ลูกทุบตี จะช่วยทำลายวัชพืชได้ หากทำเช่นนี้ 1-2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น โดยทิ้งระยะห่างกันประมาณ 4-5 วัน หลังจากไถดะไถแปร และคราดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขังน้ำไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกหญ้าที่เป็นวัชพืชน้ำ เช่น ผักตบ ขาเขียด ทรงกระเทียม ผักปอดและพวกกกเล็ก เป็นต้น งอกเสียก่อน จึงคราดให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ลูกหญ้าจะหลุดลอยไปติดคันนาใต้ทางลม ก็จะสามารถช้อนออกได้หมด เป็นการทำลายวัชพืชวิธีหนึ่ง เมื่อคราดแล้วจึงระบายน้ำออกและปรับเทือกให้สม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่ใช้ลูกทุบหรืออีขลุก ย่ำฟางข้าวให้จมลงไปในดินแทนการไถ หลังจากย่ำแล้วควรเอาน้ำแช่ไว้ ใส่ปุ๋ยคอก และน้ำหมักจุลินทรีย์ ช่วยให้ฟางเน่าเปื่อยจนหมดความร้อนเสียก่อน อย่างน้อย 1 อาทิตย์ แล้วจึงย่ำใหม่ เพราะแก๊สที่เกิดจากการเน่าเปื่อยของฟางจะเป็นอันตรายต่อต้นข้าว จะทำให้รากข้าวดำไม่สามารถหาอาหารได้ หลังจากนั้นจึงระบายน้ำออกเพื่อปรับเทือก

การปรับพื้นที่นาหรือการปรับเทือกให้สม่ำเสมอ จะทำให้ควบคุมน้ำได้สะดวก การงอกของข้าวดีเติบโตสม่ำเสมอ เพราะเมล็ดข้าวมักจะตายถ้าตกลงไปในแอ่งหรือหลุมที่มีน้ำขัง เว้นแต่กรณีดินเป็นกรดจัดละอองดินตกตะกอนเร็วเท่านั้นที่ต้นข้าวสามารถขึ้นได้ แต่ถ้าแปลงใหญ่เกินไปจะทำให้น้ำเกิดคลื่น ทำให้ข้าวหลุดลอยง่าย และข้าวรวมกันเป็นกระจุก ไม่สม่ำเสมอ นอกจากนั้นการปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ ยังช่วยควบคุมการงอกของเมล็ดวัชพืช ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการทำนาหยอดน้ำตมอีกด้วย การปรับพื้นที่ทำเทือก ควรทำก่อนหว่านข้าวหนึ่งวัน เพื่อให้ตะกอนตกดีเสียก่อน แล้วแบ่งกระทงนาออกเป็นแปลงย่อยๆ ขนาดกว้าง 3-5 เมตร ยาวตามความยาวของกระทงนา ทั้งนี้แล้วแต่ความสามารถของคนหว่าน ถ้าคนหว่านมีความชำนาญอาจแบ่งให้กว้าง การแบ่งอาจใช้วิธีแหวกร่อง หรือใช้ไหกระเทียมผูกเชือกลากให้เป็นร่องก็ได้ เพื่อให้น้ำตกลงจากแปลงให้หมด และร่องนี้ยังใช้เป็นทางเดินระหว่างหว่านข้าว หว่านปุ๋ย และพ่นสารเคมีได้ตลอดแปลง โดยไม่ต้องเข้าไปในแปลงย่อยได้อีกด้วย

การเตรียมเมล็ดพันธุ์
โดยจะนำเมล็ดข้าวไปแช่น้ำ 1 คืน แล้วนำผ้าไปคลุมไว้อีก 2 คืน เมื่อเมล็ดข้าวเริ่มงอก ก็จะนำไปหยอดในที่นา

อัตราเมล็ดพันธุ์
อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการทำนาหยอดน้ำตม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ
ถ้ามีการเตรียมดินไว้ดี มีเทือกอ่อนนุ่ม พื้นดินปรับได้ระดับ เมล็ดที่ใช้เพียง 6-10 กิโลกรัมต่อไร่ ก็เพียงพอที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูง

การหยอด
1. การหยอดด้วยมือ
การหยอดให้เดินหยอด ให้เอาไม้บาง คัดแถวดิน ให้เลื่อนออกไป เพื่อเอามือสอดเข้าไปหยิบได้ ซ้าย 3 ขวา 3 ก็ได้หกเม็ด หยอดซ้ายขวาพร้อมกันทีละ 2 เม็ด โดยหยอดเม็ดดินลงไปตรงที่ผูกเชือกสีไว้ แล้วอีก 2 แล้วอีก 2 แล้ว ทำซ้ำอีก อีก 6 เม็ด และอีก 6 เม็ด
การหยอด 6×3 = 18 หลุม จะใช้เวลาประมาณ 30 วินาที เท่านั้น
การเดินนี้ควรมีเชือกขึงที่ผูกระยะ 75 ซม เป็นเครื่องหมายด้วย จะได้แนวข้าวที่ตรง ใครแขนยาวอาจหยอดไม้ละ 8 หลุมก็ได้นะ แต่แขนต้องยาว 175 ซม.
2.การหยอดด้วยเครื่องหยอด
สำหรับโครงสร้างของเครื่อง จะประกอบด้วยต้นฐานรองรับส่วนกลไกหยอดเมล็ดพันธุ์ ใช้วัสดุที่เป็นเหล็กเพื่อรองรับส่วนกลไกหยอดเมล็ดพันธุ์ ที่ใช้วัสดุเป็นท่อพลาสติกเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว นำมาตัดเป็นท่อนยาว 13 ซม. แล้วเจาะเป็นรูครึ่งวงกลมจำนวน 12 รู และส่วนที่ประกอบใช้ สแตนเลสทำเป็นรูปกล่อง โดยท่อนพลาสติกจะหมุนแล้วตักเมล็ดพันธุ์ข้าวจาก กล่องสเตนเลส ลงแปลงปลูก

ricedrumseeder

สำหรับในส่วนขับเคลื่อน ประกอบไปด้วยวงล้อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 110 ซม. มีเพลาติดกับล้อโซ่พร้อมสเตอร์ทำหน้าที่เป็นต้นกำลังให้ส่วนของกลไกการหยอดเมล็ดทำงาน ส่วนการบังคับการทำงานจะใช้วิธีการล็อกแผ่นเหล็กสองแผ่นเข้าหากัน มีสลักบังคับให้ส่วนกลไกหยอดเมล็ดทำงาน หรือหยุดทำงานได้ โดยสามารถใช้เครื่องนี้ร่วมกับรถไถเดินตาม

การดูแลรักษา
การทำนาหยอดน้ำตม จะต้องมีการดูแลให้ต้นข้าวงอกดีโดยพิจารณาถึง
1. พันธุ์ข้าว การใช้พันธุ์ข้าวนาปีซึ่งมีลำต้นสูง ควรจะทำการหว่านข้าวให้ล่า ให้อายุข้าวจากหว่านถึงออกดอกประมาณ 70-80 วัน เนื่องจากความยาวแสงจะลดลง จะทำให้ต้นข้าวเตี้ยลง เนื่องจากถูกจำกัดเวลาในการเจริญเติบโตทางต้นและทางใบ ทำให้ต้นข้าวแข็งขึ้นและไม่ล้มง่าย สำหรับข้าวที่ไม่ไวแสงหรือข้าวนาปรังไม่มีปัญหา เพียงแต่กะระยะให้เก็บเกี่ยวในระยะฝนทิ้งช่วง หรือหมดฝน หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้ข้าวบางพันธุ์ เช่น ปทุมธานี 1 ออกดอกในฤดูหนาวเป็นต้น

2. ระดับน้ำ การจะผลผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตสูงการควบคุมระดับน้ำเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มหว่านจนข้าวแตกกอ ระดับน้ำไม่ควรเกิน 5 เซนติเมตร เมื่อข้าวแตกกอเต็มที่ ระดับน้ำอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องสูบน้ำบ่อยๆ แต่ไม่ควรเกิน 10 เซนติเมตร เพราะถ้าระดับน้ำสูงจะทำให้ต้นข้าวที่แตกกอเต็มที่แล้ว เพิ่มความสูงของต้น และความยาวของใบ โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นเหตุให้ต้นข้าวล้ม เกิดการทำลายของโรคและแมลงได้ง่าย

การปลูกข้าวแบบเป็นแถว (Straight Row Direct Seeding) โดยใช้เครื่องหยอดแถวข้าวงอก (Rice Drum Seeder)เป็นการนำข้อดีของการทำนาดำและนาหว่านมาใช้ มีประโยชน์และข้อดี ดังนี้
– ลดขุั้นตอน ลดต้นทุนการเพาะกล้า ดำนา
– ข้าวไม่ช้ำในขั้นตอนการย้ายกล้า ปักดำ
– ใช้น้ำในการทำนาน้อยกว่านาดำ
– ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยกว่านาหว่าน
– ต้นข้าวมีระยะห่างระหว่างต้นเหมือนนาดำเครื่อง
– แตกกอได้มาก ไม่แย่งอาหารกัน ได้รับแสงแดดเต็มที่
– ต้นข้าวไม่แข่งกันสูง โอกาต้นล้มน้อยลง
– จัดการหญ้าวัชพืชได้ง่าย ด้วย เครื่องพรวนดิน/กำจัดหญ้า (Rotary Weeder) ลดการใช้ยาฆ่าหญ้า
– แปลงนามีสุขอนามัยที่ดี โปร่ง โล่ง โรคพืช แมลงน้อย ลดการใช้ยาฆ่าแมลง
– เดินตรวจแปลงนาได้ง่าย
– ต้นข้าวสม่ำเสมอทั่วแปลงนา เติบโต ออกรวง เมล็ดข้าวสุกสม่ำเสมอพร้อมกัน
– ลดการสูญเสียในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เมื่อเทียบกับนาหว่าน

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด นา

แสดงความคิดเห็น