ทำน้ำเขียวเลี้ยงปลา

12 มีนาคม 2556 สัตว์ 0

น้ำเขียวเกิดจากตะไคร่น้ำ แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงคือ ตะไคร่ที่เป็นพืชเซลล์เดียวไม่ใช่ตะไคร่ที่เกาะตัวเหมือนขนตามก้อนหินหรือขอบบ่อ ตะไคร่ประเภทเซลล์เดียวเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายในสภาพที่เหมาะสม ก็คือต้องมีแสงแดดที่เพียงพอ และมีแอมโมเนียวิ่งเป็นอาหารชั้นเลิศสำหรับตะไคร่น้ำ วิธีง่ายๆที่จะก่อให้เกิดแอมโมเนียก็คือของเสียที่ถูกขับออกมาจากตัวปลา ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ตะไคร่น้ำหรือน้ำเขียวสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

คลอเรลล่า(Chlorella sp.) เป็นแพลงค์ตอนพืชขนาดเล็กแค่ 2-3 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่ถ้ามีจำนวนมากจะมองเห็นเป็นสีเขียว เซลล์เป็นทรงกลม มีผนังเซลล์หนาสัตว์น้ำวัยอ่อนเมื่อกินข้าไปแล้วไม่สามารถย่อยได้ แต่เป็นอาหารที่ดีของโรติเฟอร์และไรน้ำกร่อย มีทั้งคลอเรลล่าน้ำเค็มและน้ำจืด ชนิดที่เพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารแพลงค์ตอนสัตว์น้ำกร่อยจะอยู่ในช่วงความเค็มระหว่าง 10-20 พีพีที ชอบแสงแดดเพื่อสังเคราะห์อาหาร แต่ไม่ชอบอุณหภูมิสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส เหตุที่ไม่ชอบอุณหภูมิสูง เพราะยิ่งอุณหภูมิสูงเท่าไหรโปรโตซัวก็จะเพิ่มจำนวนเร็วเท่านั้น นอกจากโปรโตซัวแล้วแพลงค์ตอนตัวอื่นโดยเฉพาะกลุ่มไดอะตอม โรติเฟอร์ และไรน้ำกร่อย เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มจำนวนของคลอเรลล่า ทำให้คลอเรลล่าลดจำนวนลง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ โดยการใช้คลอรีนผง 1 กรัมต่อน้ำเลี้ยงหนึ่งตัน หรือคลอรีนน้ำ 7 ซีซีต่อน้ำเลี้ยงหนึ่งตัน แต่ปริมาณนี้อาจจะใช้ไม่ได้ผล เพราะคุณภาพของคลอรีนจะแตกต่างกันมาก ต้องหาปริมาณการใช้ใหม่ให้อยู่ในระดับที่โปรโตชัวและแพลงค์ตอนตัวอื่นตายแต่คลอเรลล่าไม่ตาย ถ้าคลอเรลล่าตายให้ลดปริมาณคลอรีนลงมา

namkheawplanin

วิธีการเลี้ยงคลอเรลล่า
การเพาะเลี้ยงคลอเรลล่าเพื่อเป็นอาหารแก่โรติเฟอร์และไรน้ำกร่อย โดยเลี้ยงในบ่อคอนกรีตหรือถังไฟเบอร์ ขนาดไม่ควรเล็กมาก โดยทั่วไปควรใช้บ่อขนาดตั้งแต่ 0.5 ตันขึ้นไป และต้องมีปริมาตรน้ำเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ของปริมาตรน้ำเลี้ยงโรติเฟอร์และไรน้ำกร่อย บ่อต้องตั้งอยู่กลางแจ้ง ล้างบ่อให้สะอาด ตากให้แห้ง แล้วจึงเติมน้ำทะเลที่ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนแล้วพร้อมปรับความเค็มให้อยู่ที่ระดับ 15-20 พีพีที ใส่พันธุ์คลอเรลล่าที่อัตราส่วน 1-5 ต่อ 5 ของปริมาตรน้ำเลี้ยง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นหัวเชื้อ ปริมาณน้ำจะใช้เต็มบ่อหรือครึ่งบ่อขึ้นอยู่กับปริมาณหัวเชื้อที่มี ถ้ามีน้อยให้เริ่มจากครึ่งบ่อก่อน แล้วค่อยขยายให้เต็มบ่อเมื่อเซลล์หนาแน่นขึ้น จัดให้มีอากาศอย่างเพียงพอ ปุ๋ยที่ใช้เลี้ยงใช้ปุ๋ยสูตร แอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) จำนวน 100 กรัมต่อตัน, ปุ๋ยนา (16-20-0) จำนวน 15 กรัมต่อตัน และยูเรีย (46-0-0) จำนวน 5 กรัมต่อตัน ปริมาณปุ๋ยที่ใช้จะลดลงเมื่อเริ่มสูบน้ำคลอเรลล่าไปใช้เลี้ยงไรน้ำกร่อยคือ ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงครึ่งหนึ่งของอัตราปกติ ทั้งนี้เนื่องจากถ้าปุ๋ยที่ใส่ลงไปคลอเรลล่าใช้ไม่หมด แล้วสูบนำไปใช้เลี้ยงโรติเฟอร์และไรน้ำกร่อยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อโรติเฟอร์และไรน้ำกร่อยได้ ถ้าปริมาตรน้ำเต็มบ่อจะใช้เวลา 3 วันจึงจะสูบนำไปใช้ได้ หรือวัดความโปรงแสงได้ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร การเลี้ยงคลอเรลล่าสามารถจะทำการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการล้างและตากบ่อ ทั้งนี้จะต้องมีการควบคุมการปนเปื้อนของโปรโตซัว แพลงค์ตอนชนิดอื่น โรติเฟอร์ และไรน้ำกร่อยที่มีผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ของคลอเรลล่า ด้วยการเติมคลอรีนผง 65 เปอร์เซ็นต์ ทุกวันในอัตราประมาณ 1 กรัมต่อน้ำ หนึ่งตัน หรือคลอรีนน้ำ 7 ซีซีต่อน้ำหนึ่งตัน ช่วงเวลาการใส่คลอรีนไม่ควรใส่พร้อมกับการใส่ปุ๋ย เพราะจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี และทำให้ประสิทธิภาพของคลอรีนและปุ๋ยลดต่ำลง ควรเว้นระยะเวลาการใส่ให้ห่างกันประมาณ 6 ชั่งโมง

ข้อดี

  • น้ำที่เปี่ยมไปด้วยออกซิเจน ในระหว่างการ Photosynthesis ของพืช คาร์บอนไดออกไซด์และแอมโมเนีย จะถูกใช้ไป ออกซิเจนจะถูกผลิตออกมาแทนที่ ปลาที่ได้รับ ออกซิเจน ในปริมาณที่มากจะเจริญอาหาร โตเร็วและแข็งแรง ผลพลอยได้ก็คือพัฒนาการที่ดีของปลา
  • น้ำที่ปราศจากของเสีย Nitrite และ Nitrate ซึ่งเป็นพิษสำหรับปลา จะถูกกำจัดออกไปในกระบวนการ Photosynthesis
  • ระบบกรองแบบธรรมชาติที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ น้ำเขียวสามารถถูกนำมาใช้แทนที่ระบบกรองที่ต้องลงทุนทั้งเม็ดเงินและเวลาในการดูแลรักษา
  • ช่วยให้สภาพของน้ำไม่แปรปรวน คุณสมบัติที่ดีอีกอย่างของน้ำเขียว คือสามารถทำให้ไม่เกิดการแกว่งตัวอย่างเฉียบพลัน ของค่า pH ในน้ำ และเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำใส น้ำเขียวจะมีการปรับตัวของอุณหภูมิที่ช้ากว่าเมื่อต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุณหภูมิโดยรอบ
  • เป็นแหล่งอาหารชั้นยอด น้ำเขียวมีสัดส่วนของโปรตีน ในจำนวนมาก เและยังมี Carotene ที่เป็นสารเร่งสีแบบธรรมชาติสำหรับปลาอีกด้วย ช่วงฤดูหนาวปลาจะจำศีลและจะไม่มีการให้อาหารหรือเปลี่ยนน้ำเด็ดขาด น้ำเขียวจึงเป็นแหล่งอาหารที่ดี และยังช่วยคงสภาพน้ำในช่วงที่สภาพอากาศเลวร้ายอีกด้วย
  • ช่วยลดความเครียดให้กับปลา ทุกท่านอาจเคยได้ยินว่าเวลาปลาป่วยให้ใส่ยาและปิดบ่อ เพื่อลดความเครียดของปลา น้ำเขียวก็สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนกับการปิดบ่อ เพราะปลาจะมองเห็นแต่สีเขียวและจะไม่แตกตื่นง่ายต่อการเคลื่อนใหวของสิ่งต่างๆรอบข้าง

ข้อเสีย

  • การขาด ออกซิเจน
    ในขณะที่ตอนกลางวัน น้ำเขียวจะปล่อย ออกซิเจน ออกมาจำนวนมากและช่วยให้ปลาสดชื่นและเจริญอาหาร แต่ในตอนกลางคืนน้ำเขียวจะแย่ง ออกซิเจน และอาจทำให้เกิดการขาดออกซิเจน ได้แต่โดยรวมแล้ว ปลามักจะมีการเคลื่อนไหวน้อยและกินอาหารน้อยอยู่แล้วจึงไม่ต้องใช้ ออกซิเจน มากเท่าตอนกลางวัน แต่เพื่อความปลอดภัย การเติมอากาศให้เพียงพอจึงเป็นเรื่องสำคัญในตอนกลางคืน
  • แผลเป็นที่เกิดจากออกซิเจน
    บางท่านอาจจะเคยพบว่าเกิดฟองอากาศขึ้นตามครีบและหางบนตัวปลา เมื่อพยายามเขี่ยก็ไม่ออก สาเหตุของอาการดังกล่าวเกิดจากออกซิเจนที่ถูกผลิตออกมาในจำนวนมากโดยน้ำเขียวและได้เกิดการรวมตัวเป็นจำนวนมากในครีบหรือหางของปลาและเกิดภาวะระเบิดออกจากแรงอัดอากาศ ทำให้เกิดแผลเป็นขึ้น
  • มองไม่เห็นปลา
    การมองไม่เห็นปลาที่เราเลี้ยงก็มีความเสี่ยงในการรักษาปลาที่เป็นโรค หากพบอาการป่วยของปลาช้าเกินไป

การทำน้ำเขียวเลี้ยงปลา สามารถใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ได้

การทำปุ๋ยจุลินทรีย์

  1. มูลสัตว์ 1 ส่วน
  2. เศษฟาง หรือ ใบไม้แห้ง 1 ส่วน
  3. รำอ่อนพอประมาณ
  4. แกลบดิบ 0.5 ส่วน
  5. น้ำจุลินทรีย์ (จุลินทรีย์หัวเชื้อ 4 ช้อน + กากน้ำตาล 4 ช้อน + น้ำสะอาด 20 ลิตร)

วิธีการ

  • นำส่วนผสมทั้งหมดผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วค่อยๆราดน้ำจุลินทรีย์ที่ผสมแล้วลงไปเรื่อยๆจนได้ความชื้นที่เหมาะสมประมาณ 50%
  • หมักกองใช้พลาสติกคลุมไว้ในที่ร่ม 5 วัน สามารถนำไปใช้ได้

วิธีการใช้
ทำน้ำเขียวในบ่อเลี้ยงปลา ใส่ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ จำนวน 1-2 กิโลกรัม ทิ้งบ่อไว้ 7 วัน แล้วจึงปล่อยปลาลงเลี้ยง

namkheawstep

การเลี้ยงปลาด้วยวิธีทำน้ำเขียวโดยใช้ขี้ไก่กับปุ๋ยยูเรีย
การเลี้ยงปลาจะได้ผลดีมากน้อยเท่าไร จะขึ้นอยู่กับสิ่งสำคัญก็คือ

  1. ลูกปลาที่ปล่อยต้องมีขนาดใหญ่ แข็งแรงจึงจะสามารถรอดจากศัตรูปลาได้
  2. น้ำในบ่อต้องมีคุณภาพดี มีอาหารธรรมชาติมาก ซึ่งถ้ามีมากจะมีสีเขียว
  3. ควรให้อาหารเสริมอย่างสม่ำเสมอ และให้จำนวนเพียงพอต่อความต้องการของปลาที่อยู่ในบ่อ

การทำน้ำเขียวมีหลายวิธี สามารถทำได้ใช้ต้นทุนต่ำ คือการทำน้ำเขียวด้วยการใส่ขี้ไก่กับปุ๋ยยูเรียลงในบ่อเลี้ยงปลา วิธีทำน้ำเขียว คือ

  1. รวบรวมขี้ไก่แล้วใส่ลงในบ่อปลา
  2. ละลายปุ๋ยยูเรียในน้ำก่อน แล้วจึงใส่ในบ่อปลา ถ้าไม่ละลายปลาจะกินยูเรีย อาจทำให้ปลาตายได้

วิธีการใช้
การใส่ขี้ไก่กับปุ๋ยยูเรียควรใส่สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สัตว์

แสดงความคิดเห็น