ในสมัยหลายสิบปี ที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่ยังไม่มีเชือกฟาง พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดส่วนใหญ่ใช้เชือกกล้วยผูกสินค้า เช่นหมูผัก ต่าง ๆ ให้ลูกค้า โดยใช้ใบตองห่อของก่อนที่จะใช้เชือกกล้วยผูกให้แน่นอีกรอบหนึ่ง โดยเฉพาะคนขายหมูที่เรียกว่าเจ๊กขายหมู ใช้เชือกกล้วยผูกเนื้อหมูทุกเจ้า
ส่วนที่เรียกว่า “เชือกกล้วย” มี 2 อย่าง คือ
อย่างที่ 1 คือก้านใบของใบกล้วย ที่เรียกว่า “ใบตอง”
เมื่อแห้งแล้วมันจะห้อยแนวเดียวกับลำต้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เอาไว้ให้หมาเห่าเล่น ที่เรียกว่า “หมาเห่าใบตองแห้ง” ส่วนมากคนแก่ๆ ป้า ๆ ยาย ๆจะเอามีดมาเสียบปลายไม้รวกสอย มาตัดก้านใบตองแห้งทั้งก้าน หรือ “หูกล้วย” นี้ เอาไปรูดเอาใบตองแห้งออก แล้วแยกขาย ใบตองแห้งก็เอาไปขายพวกมวนยาสูบ หรือไม่ก็เอาไว้ห่อขนมบางอย่างที่ใช้ใบตองแห้ง พวกห่อกะละแม หรือ ทำกระทง เช่นกระทงขนมเข่ง กระทงน้ำจิ้มต่างๆ เช่นน้ำจิ้มหอยทอด น้ำจิิ้มเต้าหู้ทอด น้ำจิ้มฯลฯ ล้วนทำจากใบตองแห้งทั้งสิ้น ส่วนก้านตองแห้ง ก็เอาไปรวมให้ได้ขนาดไล่เลี่ยกัน มัดๆ ละ 50 ก้านบ้าง 100 ก้านบ้าง ขายให้พวกเอาไปทำเชือกใช้ได้ในหลายกิจกรรมเหมือนกัน เช่น มัดของ หรือ มัดกำผัก ฯลฯ
เชือกกล้วยอย่างที่ 2 เชือกกล้วยอีกส่วนได้จากลำต้นของต้นกล้วยที่เรียกว่า “กาบกล้วย” ลอกเอามาตากแดดให้แห้ง ก็เป็นเชือกได้
สมัยนี้ไม่มีใครใช้เชือกกล้วยตามประโยชน์ดั้งเดิมแท้ๆ ของมัน คือเอาเชือกกล้วยไปผูกมัดสิ่งของกันแล้ว มีแต่เอาเชือกกล้วยไปดัดแปลงทำเครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง เช่นทำกระเป๋าหรือภาชนะเก๋ ๆ ใส่ของโชว์ เช่นผลไม้่
แต่ผมเห็นว่าตัวเชือกกล้วเอง ยังมีประโยชน์แก่ชาวสวนเกษตรอยู่บ้าง เพราะเรามีต้นกล้วยเหลือเยอะแยะหมักทำปุ๋ยแล้วก็ยังเหลืออีก และในสวนต้องใช้เชือกผูกของในหลายกิจกรรม เรามาลองทำเชือกจากต้นกล้วยไว้ใช้เองบ้างดีไหม ไม่ยากเลย จะขอเล่าเฉพาะส่วนที่ทำเชือกกล้วยจากต้น หรือ กาบกล้วยนะครับ
1.เอามีดตัดต้นกล้วยที่เราตัดเอาเครือไปขายหรือไปกินแล้ว ให้หัวท้ายดูเหมาะสม จะใช้เชือกแค่ไหนก็ตัดแค่นั้นแล้วกันเอาให้ยาวที่สุด ก็แล้วกัน
2.ลอกกาบกล้วยออกมาจากต้นกล้วย ให้เป็นแผ่น ๆ
3.เอากาบกล้วยขึ้นพาดบนราว ที่อยู่กลางแจ้งให้มันโดนแดดตรง ๆ โดยพาดกาบกล้วย ให้มันเขย่งกัน คือให้ข้างหนึ่งยาวกว่าอีกข้างหนึ่ง
4.เอามีดเล็ก ๆ ที่เรียกว่า มีดบาง มา 1 เล่ม (ทื่อ ๆ หน่อยไม่ต้องคมเพราะมันจะบาดกาบกล้วยทำให้เชือกไม่เท่ากัน )มากรีดข้างที่เราพาดเขย่งไว้ กรีดด้านยาวก่อน ให้เป็นเส้น ๆ กว้าง เส้นละราว 1 เซ็นติเมตร ถ้าทำเชือกเยอะ ก็คงต้องเอาตะปูมาตอกไม้เรียง ๆ กันหลาย ๆ ตัว ทำคล้ายแปรง ๆ ผม(ยักษ์) ตอกตะปูห่างกันประมาณ 1 เซ็นติเมตร ประมาณ 5-6 ตัว ทำเป็นตัวกรีดเชือก (ขออภัย ไม่ได้ทำให้ดู)
5.เมื่อกรีดข้างหนึ่งเสร็จแล้ว ก็ขยับกาบกล้วย เอาพาดราวใหม่ คราวนี้กะให้ชายทั้งสอง เสมอกัน แล้วเอามีดกรีดส่วนที่ยังไม่ได้กรีดให้เป็นส้น ๆ เพื่อให้เป็น เส้นเชือก
6.ปล่อย ตากแดดไว้ประมาณ 2-3 วัน ให้พอแห้ง ถ้าฝนตก ก็ต้องเก็บไม่ให้โดนฝน ไม่งั้นจะขึ้นรา ไม่ต้องตากให้แห้งกรอบนักเพราะเชือกจะขาดง่าย เมื่อแห้งแล้วก็เก็บมัดให้เป็นระเบียบไว้ใช้งานต่อไป
ชาวสวนบางมด หรือ บางช้าง บางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี หรือบางอะไรก็ตามสมัยหลายสิบปีที่แล้ว ที่มีสวนกล้วย แล้วทำสวนน้ำตาลมะพร้าวจะใช้เชือกนี้ควั่นเอาไว้โน้มงวงมะพร้าวสำหรับทำน้ำตาลมะพร้าว ควั่นทำเชือกเส้นเล็กเส้นใหญ่ไว้ต๋งต้นไม้ยามตัดต้นไม้ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเชือกพลาสติก มีแต่เชือกปอ ก็แพง ชาวสวนส่วนใหญ่มักทำเชือกไว้ใช้กันเองแทบทุกบ้านในการทำสวนคงมีหลายโอกาศที่ต้องใช้เชือก ลองควั่นเชือกใช้เองดูถ้าไม่เอาไปเปียกน้ำบ่อย ๆ ก็สามารถใช้ได้ทนนานเหมือนกัน ตอนผมเด็ก ๆ ในบ้านผมก็ใช้แต่เชือกกล้วยสาระพัดอย่างเช่นเดียวกับบ้านชาวสวนอื่นๆ
ป้ายคำ : ภูมิปัญญา