นวัตกรรมที่ดักหอยเชอรี่

หอยเชอรี่ ศัตรูอันดับหนึ่งของต้นข้าว โดยเฉพาะช่วงเวลาที่กำลังเป็นต้นกล้า หอยเชอรี่จะกัดกินต้นข้าวจนแทบไม่เหลือ เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้สารเคมีในการกำจัดหอยเชอรี่
แต่คุณอัมพร ทรัพย์สกุล หรือพี่ตี๋ ผู้สั่งสมประสบการณ์ในการทำนามากว่าสี่สิบปี เลือกที่จะคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ด้วยวิธีง่ายๆแต่ได้ผล และยังเป็นการช่วยโลกลดมลภาวะได้ด้วย คือการนำขวดพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นที่ดักหอยเชอรี่ นอกจากจะเจ๋งเพราะนำขยะมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว ก็ยังดักจับหอยเชอรี่ได้อยู่หมัด

กว่าจะได้มาซึ่งนวัตกรรมชิ้นนี้ พี่ตี๋ต้องสังเกตและเรียนรู้วงจรชีวิตของหอยเชอรี่จนรู้ว่า หอยเชอรี่จะชอบขึ้นมาวางไข่บนไม้เหนือน้ำประมาณ 1 ฟุต การสังเกตก่อเกิดเป็นนวัตกรรมแบบภูมิปัญญาชาวบ้านชิ้นนี้ขึ้นมา
ลักษณะการทำงานของที่ดักหอยเชอรี่ ละม้ายคล้ายคลึงกับที่ดักจับสัตว์ทั่วๆไป คือเมื่อหอยเชอรี่ไต่ขึ้นมาวางไข่ในขวดแล้ว จะไม่สามารถไต่กลับลงไปในน้ำได้ ทั้งไข่หอยและตัวหอย จะถูกขังเอาไว้ในขวดนี้นั่นเอง

พี่ตี๋นำหอยเชอรี่ที่ได้มาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ ผสมน้ำรดต้นข้าวในนาแทนการใช้ปุ๋ย ทำให้ประหยัดต้นทุนในการทำนาลงไปได้มากกว่าครึ่ง พี่ตี๋บอกว่าจากเดิมที่เคยใช้ปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม ปัจจุบันเมื่อใช้น้ำหมักชีวภาพควบคู่ไปด้วย การใช้ปุ๋ยลดลงเหลือเพียง 10 กิโลกรัมเท่านั้น มันช่างน่าทึ่งเสียจริงๆ
นอกจากจะเป็นนวัตกรรมที่ลดขยะให้โลกแล้ว ยังทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้สารเคมีในการปราบศัตรูพืช แถมหอยที่ได้ยังนำมาแปรรูปเพื่อไปเพิ่มผลผลิตได้อีกด้วย ประโยชน์หลายต่อแบบนี้ ดีทั้งต่อเกษตรกร และสร้างความมั่นใจว่าเราจะได้กินข้าวที่สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อนที่ไม่พึงปรารถนา

cherryna

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด เครื่องมือเกษตร

แสดงความคิดเห็น