ท้าวยายม่อมเป็นพรรณไม้ล้มลุกขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือการแยกหัว ประเทศไทยพบขึ้นกระจายแบบห่างๆ และพบขึ้นหนาแน่นในบางพื้นที่ ยกเว้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้งระดับต่ำ ป่าผลัดใบ ดินเป็นดินทราย และตามป่าชายหาด ดอกและยอดอ่อนนิยมนำมาต้มจิ้มกับน้ำพริกรับประทานได้ หรือนำยอดอ่อนมาผัดกับน้ำกะทิสด ที่ชาวบ้านเรียกว่า ผัดกะทิเท้ายายม่อม โดยนำน้ำกะทิสดไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ จนกะทิข้น จากนั้นให้นำยอดอ่อนใส่ลงไปผัดจนสุก รสชาติจะขมเล็กน้อย มีความหอมมันของกะทิ ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริกกะปิอร่อยมาก แป้งจากหัวใช้เป็นเครื่องประทินผิว ลดสิวฝ้า ทำให้หน้าขาวได้ ด้วยการใช้แป้งเท้ายายม่อมผสมกับน้ำผึ้งแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้สักครู่แล้วค่อยล้างออก หรือนำมาใช้ผัดหน้าแทนแป้งฝุ่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze
วงศ์ : Taccaceae
ชื่ออื่น : ไม้เท้าฤๅษี (ภาคกลาง) สิงโตดำ (กรุงเทพฯ) บุกรอ (ตราด) ปิ้งขม ปิ้งหลวง (เหนือ); พญาเล็งจ้อน, เล็งจ้อนใต้ (เชียงใหม่); พญารากเดียว (ใต้) ไม้เท้าฤาษี (เหนือ ใต้); พมพี (อด); พินพี (เลย); โพพิ่ง (ราชบุรี); หญ้าลิ้นจ้อน (ประจวบคีรีขันธ์); กาซะลอง รดพระธรณี ดอกคาน (ยะลา) ท่าละม่อม เท้ายายม่อมตัวเมีย ปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด
ลักษณะ
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีหัวเป็นแป้ง กลมหรือรี ใบรูปฝ่ามือ มี 3 แฉก แต่ละแฉกเป็นใบประกอบหลายแฉกย่อย ใบรูปฝ่ามือกว้างได้ 120 ซม. ยาว ได้ 70 ซม. ก้านใบยาว 20-170 ซม. รวมกาบใบ ช่อดอกมี 1-2 ช่อ ยาวได้ถึง 170 ซม. แต่ละช่อมี 20-40 ดอก แผ่นกลีบประดับมี 4-12 อัน เรียง 2 วง กลีบขนาดเกือบเท่าๆ กับ รูปไข่ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก สีเขียวเข้ม ยาว 2.5-10 ซม. กลีบประดับรูปเส้นด้ายมี 20-40 อัน สีเขียวขาวอมม่วง ยาว 10-25 ซม. ดอกสีเขียวอมเหลือง กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง วงนอกรูปรีหรือรูปใบหอก ยาว 0.4-0.7 ซม. วงในรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 0.5-0.8 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน ปลายแผ่เป็นแผ่น ก้านเกสรเพศเมียสั้น ปลายเกสรแยกเป็น 3 แฉก ผลมีเนื้อหลายเมล็ด เกือบกลมหรือทรงรี ห้อยลง เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1.5-2.5 ซม. เมล็ดจำนวนมาก
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ใช้ ราก รสจืดขื่น เป็นตัวยาในพิกัดยาเบญจโลกวิเชียรแก้ไข้ แก้พิษสัตว์กัดต่อย ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้ พิษกาฬ ลดความร้อนในร่างกาย กระทุ้งพิษไข้หวัด ไข้เหนือ ขับเสมหะลงสู่เบื้องต่ำ ถอนพิษไข้ทุกชนิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้หืดไอ แก้อาเจียน ดับพิษฝี แก้ไข้เหนือไข้พิษ ไข้กาฬ ตัดไข้จับ แก้ไข้เพื่อดีพิการ แก้พิษงู ราก ใบ แก้หืด ต้น รสจืดเฝื่อน ขับเสมหะให้ลงเบื้องต่ำ ขับพิษไข้ทุกชนิด แก้ร้อนใน
ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้ ราก ผสมใบพิมเสนต้น เหง้าว่านกีบแรด เนระพูสีทั้งต้น ใช้น้ำซาวข้าวและน้ำเกสรบุนนาคเป็นน้ำกระสายยา ปั้นเป็นลูกกลอน กินถอนพิษไข้กาฬ (ไข้ที่มีตุ่มที่ผิวหนัง ตุ่มอาจมีสีดำ)
หัวที่ใช้ทำเป็นแป้งได้ เรียกว่า William’s arrow root แป้งเท้ายายม่อมเป็นอาหารอย่างดีสำหรับคนไข้ที่เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ให้คนไข้รับประทานดี เกิดกำลังและชุ่มชื่นหัวใจ
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ใช่แป้งละลายน้ำดิบ ใส่น้ำตาลกรวด ตั้งไฟกวนจนสุก ให้คนไข้รับประทาน
ป้ายคำ : สมุนไพร