ธนาคารน้ำใต้ดิน

12 กรกฏาคม 2559 ภูมิปัญญา 0

แนวคิดการทำธนาคารน้ำใต้ดิน โดยการขุดบ่อลึกเพื่อส่งน้ำกักเก็บไว้ใต้ดิน เพิ่มปริมาณน้ำบาดาล เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ถูกนำไปใช้ใน อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ทำให้ชาวนาเริ่มหันมาสูบน้ำบาดาล เพื่อทำนาปรังในช่วงหน้าแล้ง

thanakarnnams

เป็นครั้งแรกที่นายสมพร อินทะนู เกษตรกรใน ต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ตัดสินใจไถปรับหน้าดินในช่วงหน้าแล้ง เพื่อทำนาปรัง โดยใช้น้ำจากบ่อบาดาล ซึ่งสูบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อนหน้านี้ เขาและชาวนาในพื้นที่มองว่าการขุดบ่อบาดาลใช้เงินทุนสูง และอาจได้น้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาในหน้าแล้ง จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการธนาคารน้ำใต้ดินกับสถาบันวิจัยนิเทศศาสนคุณ ซึ่งพัฒนาองค์ความรู้การขุดบ่อลึกเพื่อส่งน้ำไปกักเก็บไว้ใต้ดิน เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำบาดาลให้มากขึ้น เพียงพอต่อการนำมาใช้ในอนาคต

ต.เก่าขาม เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาการนำน้ำใต้ดินมาใช้ในภาคการเกษตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก แต่ในช่วงฤดูน้ำหลาก เป็นพื้นที่รับน้ำ มีลำห้วยไหลผ่านหลายสาย ซึ่งเอื้อต่อการขุดบ่อดักน้ำให้ไหลลงสู่ใต้ดินตามแนวคิดการทำ ธนาคารน้ำใต้ดิน หรือ Groundwater bank

การขุดบ่อดักน้ำจากผิวดินให้ไหลลงสู่ใต้ดิน ต้องขุดถึงระดับความลึกชั้นหินอุ้มน้ำที่ระดับ 5-10 เมตร โดยตำบลเก่าขามเริ่มขุดเมื่อต้นปี 2558 ปัจจุบันมีจำนวน 10 บ่อ กระจายตามจุดรับน้ำของลำห้วยสายต่าง และที่นาของชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินให้มากขึ้น ส่วนชาวนาที่ต้องการขุดบ่อบาดาลนำน้ำมาใช้ทำการเกษตรสามารถประสานขอความช่วยเหลือจากกรมทหารราบที่ 6 ได้

thanakarnnamkud thanakarnnamsoo

แนวคิดการทำธนาคารน้ำใต้ดินถูกนำมาใช้ในบางพื้นที่ภาคอีสานมานานกว่า 20 ปี แม้จะยังไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ แต่นักวิชาการจากสถาบันวิจัยนิเทศศาสนคุณมองว่าแนวคิดนี้และจะทำให้ระบบน้ำบาดาลมีความมั่นคงยิ่งขึ้น และเป็นอีกทางเลือกในการจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน

thanakarnnambo

โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน หรือ Ground water bank เพื่อการบริหารจัดการน้ำไว้ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ต่อสู้กับปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน โดยเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยนิเทศศาสนคุณ(นิ-เทด-สา-สะ-นะ-คุน) พร้อมด้วยผู้บริหารท้องถิ่นและผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานและผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้แก่คณะจากกรมชลประทาน

โครงการนี้ร่วมดำเนินการกับกรมทหารราบที่ 6 นำร่องพัฒนาขุดบ่อพักน้ำป่าจากลำห้วยต่างๆของเทือกเขาพรมดงรักในช่วงฤดูฝน เพื่อให้น้ำซึมลงสู่ชั้นหิน รวมน้ำไว้เสมือนธนาคารน้ำใต้ดิน ลดผลกระทบจากน้ำท่วมขังในพื้นที่ พร้อมทั้งดำเนินการขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นรัศมี 8 ตารางกิโลเมตร ให้เกษตรกรไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ จนทำให้เกษตรกรนอกเขตชลประทานนับร้อยไร่มีน้ำใช้ทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เช่น ทำไร่มันสำปะหลัง สวนยางพารา รวมถึงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งใช้ระยะเวลาดำเนินการเพียง 1 ปีเศษ ก็สามารถสร้างระบบธนาคารน้ำใต้ดินในชื่อที่ว่า เก่าขามโมเดล พร้อมกับขยายพื้นที่ขุดบ่อกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีบ่อทั้งหมด 11 บ่อ คาดว่า จะมีน้ำใต้ดินกักเก็บอยู่ถึง 10 ล้านลูกบาศก์เมตร

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น